ตั้งวงชำแหละรธน. เป็นศัตรูประชาชน

ม.ธรรมศาสตร์ ๐ ตั้งวงชำแหละ รธน.60   หัวข้อหยามจัด! เทียบเป็นกะลา อดีตคณบดีนิติฯ มธ.ระบุเป็นอาวุธทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน ไม่ใช่นิติสงคราม เพราะกระทำฝ่ายเดียว หนุนร่าง  รธน.ฉบับใหม่ทำลายกลไกให้สิ้นซาก

     เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 ที่ห้องอเนกประสงค์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญจัดเสวนาหัวข้อ “ออกจากกะลาไปหารัฐธรรมนูญใหม่” โดยนายมุนินทร์ พงศาปาน อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า ปัญหารัฐธรรมนูญ 60 ที่ชัดเจนที่สุดคือ เราเลือกตั้งมีเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งจำนวนมาก แต่สุดท้ายประชาชนต้องมาลุ้นกันทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรี จนเกิดคำถามว่าทำไมประชาชนที่ใช้สิทธิแสดงเจตจำนงชัดเจนแล้วยังไม่สามารถได้รัฐบาลมาง่ายๆ 

     เขากล่าวว่า เพื่อบริหารราชการแผนดินในระบบแบบที่ควรจะเป็น ซึ่งกฎหมายต่อให้เขียนดีอย่างไร แต่หากขาดความชอบธรรมในที่มา ก็จะทำให้กฎหมายนั้นขาดความชอบธรรม รัฐธรรมนูญ 60 มีความซับซ้อนที่สุด เป็นความซับซ้อนในแง่ลบ เปรียบเป็นวรรณกรรมที่คนร่างสมควรได้รับรางวัลอย่างมาก ที่พยายามสร้างกลไกรักษาอำนาจได้ยาวนานที่สุด เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การให้อำนาจ ส.ว.ที่มากเกินไป รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญ ที่ถูกออกแบบมาให้เป็นอุปสรรคต่อการแสดงเจตจำนงของประชาชนจากคนเพียงไม่กี่คน แต่หลายครั้งกลไกที่เขาวางไว้ก็เกิดปัญหาเอง ฉะนั้นเราต้องสนับสนุนให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อทำลายกลไกเหล่านั้นให้สิ้นซาก ให้การเมืองเดินไปได้ด้วยเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง”

     "สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ผมไม่อยากเรียกว่านิติสงคราม เพราะเป็นการกระทำจากฝ่ายเดียว โดยที่ประชาชนถูกกระทำอยู่ตลอด มีการใช้อาวุธทางกฎหมายทำลายเจตนารมณ์ของประชาชนทุกครั้ง ปัญหาที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญไม่เคยรับรู้ถึงความไม่พอใจของประชาชน" นายมุนินทร์กล่าว

     ด้านนายสามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า มีกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญ 60 จำนวนมาก อาทิ กลุ่มเกษตรกรรายย่อย กลุ่มแรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ นักศึกษา ผู้มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่สงบชายแดนภาคใต้ กลุ่มนักกิจกรรมต่างๆ และกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด เป็นต้น นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 60 ยังเป็นรัฐธรรมนูญปราบฝ่ายตรงข้าม กำกับควบคุมประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง

     ขณะที่ น.ส.ณัฐพร อาจหาญ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 40 มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน ทำให้มีคำว่า ประชาชนอยู่ในรัฐธรรมนูญเต็มไปหมด มีความยึดโยงสิทธิเสรีภาพประชาชนสูงมาก

     "จึงไม่แปลกที่รัฐธรรมนูญ 60 จะเต็มไปด้วยคำว่าบทบาทอำนาจของรัฐ เพราะการร่างรัฐธรรมนูญในตอนนั้น มีแต่กลุ่มชนชั้นนำและนายทุน ส่งต่อสิ่งต่างๆ มาอยู่ในรัฐธรรมนูญ 60 และยุทธศาสตร์ชาติเต็มไปหมด ซึ่งมีผลต่อแนวนโยบายของรัฐทั้งหมด เพราะคนเขียนไม่ได้มาจากประชาชน เกิดการผูกขาดอำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด นอกจากนี้ยังเกิดการคุกคามของฝ่ายความมั่นคง และการเติบโตของ กอ.รมน. ซึ่งมีบทบาทมากขึ้นในการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกมิติ"

     น.ส.ณัฐพรระบุว่า เราจึงไม่สามารถปฏิเสธถึงที่มาและความไม่ชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ 60 ได้ จึงเห็นว่าควรต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะหลายมาตราปิดกั้นลิดรอนสิทธิเสรีภาพและการดำรงชีวิตของประชาชน ทุกคนควรมีส่วนร่วมในการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญร่วมกัน

     นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาที่เห็นชัดเจนคือการเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ประชาชนเลือกแล้วว่าจะให้ใครบริหารประเทศ เจตจำนงของประชาชนจบแล้วตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ไม่ใช่ชัยชนะของพรรคก้าวไกลหรือพรรคเพื่อไทย แต่เป็นชัยชนะของประชาชน เป็นชัยชนะของ 24 ล้านเสียง ซึ่งทุกคนอยากเห็น

     "พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย 8 พรรค อย่าหลงกลเขาในเกมนี้ อย่าทะเลาะกัน ไม่ว่าอะไรจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต หรือ ส.ว.จะโหวตสวน ขอให้ยึดประชาชนเป็นจุดร่วม ทั้ง 8 พรรคต้องจับมือกันให้แน่นปกป้องเจตนารมณ์ของประชาชน” นายจตุภัทร์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง