ย้ำไม่เอาพรรคแก้ม.112 สว.เมินสส.ติดต่อขอคุย

สว.ส่วนใหญ่ประสานเสียงยังคงไม่เอาพรรคแก้ ม.112 "สมชาย" เผยมี สส.เพื่อไทยติดต่อขอคุย แต่บอกว่าไม่ต้องมาพบ แนะหากจะแยกขั้วก็เอาให้ชัด ส่วน "เสรี" ย้ำจุดยืนเดิม ไม่เอาพรรคการเมืองที่จ้องแก้ รธน.หมวดพระมหากษัตริย์ "หมอพรทิพย์" เผยควรจะเลือกนายกฯ ให้เร็วที่สุด 

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2566 นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยเชิญพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบันมาพูดคุย ซึ่งทุกพรรคยืนยันว่าจะสบายใจกว่าในการโหวตสนับสนุน ถ้าไม่มีพรรคก้าวไกลมาร่วมรัฐบาลว่า จุดยืนชัดเจนไม่ไปยุ่งเกี่ยวหรือก้าวก่ายการจัดตั้งรัฐบาล แต่จะไม่โหวต ไม่สนับสนุนให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ผู้อยู่เบื้องหลัง และพรรคก้าวไกลทั้งนั้น

"ถ้าเขาสลัดพรรคก้าวไกลแล้วมาจัดตั้งรัฐบาล ผมจำเป็นต้องโหวตให้ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะเดินไปไม่ได้ บ้านเมืองจะต้องมีนายกรัฐมนตรี ต้องมีรัฐบาล"

สว.ผู้นี้บอกว่า การจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่มีพรรคก้าวไกลนั้น ต่อไปถ้าจัดตั้งได้จริงๆ ก็อยากจะฝากไว้ว่าไม่เกี่ยวกับ สว. ขอดักคอไว้ก่อนว่า สว.สนับสนุนรัฐบาลนี้ขึ้นมา แล้วไปทำอะไรที่มันไม่ถูกกฎหมายหรือทุจริต สว.ไม่เกี่ยว เพียงแต่ว่าถ้ามีรัฐบาลแล้วก็ต้องทำให้ดี ให้บ้านเมืองเกิดความสงบเจริญรุ่งเรือง

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยตั้งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ มาเจรจากับ สว. ได้รับการติดต่อมาบ้างหรือไม่ นายกิตติศักดิ์กล่าวว่า คงมาพบผู้ใหญ่ ตนเป็นแค่เด็กคงไม่มาคุย มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่จะไปคุยด้วย

ถามว่า หากการโหวตรอบนี้ไม่มีพรรคก้าวไกลร่วมอยู่ด้วยในรัฐบาล แต่มีชื่อนายเศรษฐา ทวีสิน หรือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะโหวตให้ทันทีหรือไม่ นายกิตติศักดิ์ยืนยันว่าไม่มีธง แต่ถ้าไม่มีพรรคก้าวไกลแล้วให้บ้านเมืองเดินไปได้ ไม่เช่นนั้นก็จะติดอยู่อย่างนี้ ซึ่งบังเอิญว่าการโหวตนายกฯ ต้องใช้เสียงของ สว. ถ้าเป็นอย่างนั้นตนพร้อมโหวตให้

ด้านนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับการติดต่อจากคนของพรรคเพื่อไทยจริง แต่ตอบกลับไปว่าไม่ต้องมาพบ เนื่องจากเห็นว่าพรรคเพื่อไทยมีการเชิญพรรคการเมืองอื่นไปพูดคุย หากจะแยกขั้วหรือสลับข้างก็ต้องเอาให้ชัด ถ้ายังไม่ชัดก็ต้องเลื่อนออกไป เข้าใจว่า สว.มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี แต่หากให้มาพบก็จะเหมือนกับเขามาสมัครองค์กรอิสระแล้ววิ่งเต้นกับเรา เป็นการไม่เหมาะสม ซึ่งตอนที่พรรคก้าวไกลจะมาขอพบก็ตอบในแบบเดียวกัน

เมื่อถามว่า ถ้าพรรคเพื่อไทยยังไม่ชัดเจนว่าจะเอาหรือไม่เอาพรรคก้าวไกล การมาคุยกับ สว.จะไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนใช่หรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า เราไม่ได้ติดที่จะมีหรือไม่มีพรรคก้าวไกล แต่ติดที่นโยบายมาตรา 112 และความมั่นคงแห่งรัฐ การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ที่มีแนวคิดอันตราย รวมถึงการทำประชามติขอแยกตัวเป็นรัฐปัตตานี

 “เราไม่ได้รังเกียจพรรคก้าวไกล แต่ขอให้เขาเลิกนโยบายไปได้หรือไม่ในบางเรื่อง ถ้าเลือกได้เราก็ยินดี แต่จะให้เราไปโหวตคว่ำก้าวไกล แล้วไปเปลี่ยนสูตร แบบนี้ไม่เอา มันไม่ใช่หน้าที่เรา ผมก็เห็นว่าไปชวนพรรคภูมิใจไทย  พลังประชารัฐ มาคุยกันเยอะแยะไปหมด คุณจะเอายังไงคุณก็ต้องบอกเรา เหมือนผมเป็นแขกไปร่วมงานแต่งงาน คุณจะเอาเจ้าสาวคนไหนก็ต้องเอาให้เคลียร์” นายสมชายกล่าว

ขณะที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยไม่จำเป็นต้องมา เพราะจุดยืนของ สว. ชัดเจนแล้วว่า หากมีพรรคการเมืองใดที่จะแก้รัฐธรรมนูญในหมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 หรือแก้ไขกฎหมายใดที่จะไปกระทบต่อสถาบันหลักของชาติ สว.จะไม่สนับสนุน และหากมีการพูดคุยกับคณะเจรจาของพรรคเพื่อไทยก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีบทบัญญัติถึงการทำหน้าที่ของ สว. ที่จะต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติของพรรคการเมือง ดังนั้น จึงเห็นว่าพรรคเพื่อไทยไม่ต้องเดินทางมาพูดคุยกับ สว.เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา

นายพีระศักดิ์ พอจิต สมาชิกวุฒิสภา ยอมรับว่า ช่วง 2-3 วันมานี้มี สส.บางพรรคติดต่อมาพูดคุยเรื่องการโหวตนายกฯ ครั้งต่อไป แต่ยังไม่ตัดสินใจไปในทางหนึ่งทางใด เนื่องจาก ณ วันนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนต่างๆ ออกมา ทั้งเรื่องพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็ยังอยู่ในช่วงเจรจาพูดคุย ขณะที่ 8 พรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลเดิมก็ยังมีอยู่ ดังนั้นสถานการณ์จึงยังไม่รู้ว่า แคนดิเดตนายกฯ คนไหนจะถูกเสนอชื่อขึ้นมาในการโหวตครั้งต่อไป อีกทั้ง กำหนดนัดโหวตนายกฯ วันที่ 27 ก.ค.นี้จะถูกเลื่อนออกไปหรือเปล่าก็ยังไม่ทราบ

ส่วน แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมที่พรรคเพื่อไทยติดต่อขอคะแนนเสียง สว.ว่า ไม่มีคำว่าเหมาะสม ตอนนี้ทุกคนพยายามหาทางแก้ปัญหา หาทางออกให้ประเทศ คงพยายามเต็มที่

ส่วนมองว่าขัดต่อบทบัญญัติ สว.ในการคุยกับพรรคการเมืองหรือไม่ พญ.คุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า มีแค่ข้อกำหนดที่เราทำหน้าที่กลั่นกรอง ไม่ใช่ห้ามการพูดคุย ซึ่งคุยนอกรอบก็คงคุยกันอยู่ เป็นการแสดงเจตจำนงที่ดี ทำอย่างเปิดเผย โดยส่วนตัวไม่มีใครติดต่อมา

พญ.คุณหญิงพรทิพย์ยังชี้แจงถึงจุดยืนเดิมของตนก่อนหน้านี้ เพราะมีความขัดแย้งค่อนข้างมาก เราก็เห็นด้วยในหลักที่ สว.ไม่ควรมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี แต่พอหลังเลือกตั้งมาเกิดสิ่งที่ไม่อาจจะเคลื่อนได้ เหมือนกับไม่ทันได้แก้ก่อนก็มีการเลือกตั้ง พร้อมย้ำว่าโดยส่วนตนติดเรื่อง ม.112 เพราะเชื่อว่าประชาชนเดือดร้อนเรื่องปากท้อง และการคอร์รัปชัน ไม่ใช่เรื่องการไปยุ่งเกี่ยวการละเมิดสถาบัน พอพ้นจุดนั้นไปแล้วก็ต้องขอเป็นกำลังใจให้เขาแก้ปัญหา วันที่ 27 ก.ค.นี้จะเป็นอย่างไรยังนึกไม่ออก

ถามว่า มองอย่างไรที่อาจจะมีการเลื่อนการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค.นี้ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ฟังจากสื่อว่า สว.หลายคนอยากให้เลื่อน แต่ส่วนตัวคิดว่าอยากให้ได้รัฐบาลโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือการเดินหน้าโหวตไปก่อน ให้เป็นไปตามครรลอง ตามเสียงข้างมาก เป็นผู้ที่จัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ใช่สวิตช์กลับไปเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะแย่มาพอสมควรแล้ว

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา เผยว่า พรรคใดที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรได้ ตนเองก็พร้อมจะลงมติสนับสนุนให้ เพราะจุดยืนของตนไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ส่วนกรณีที่มีผู้แสดงความคิดเห็น ให้สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้หมดวาระแล้วจึงค่อยเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น นายวันชัยเห็นว่า เป็นเพียงการเสียดสีหรือประชดประชันที่เกิดขึ้น แต่บ้านเมืองไม่สามารถรอได้ และเชื่อว่าความสามารถของพรรคเพื่อไทยน่าจะสามารถประสานเสียงทุกภาคส่วนเพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้ และ สว.ก็มีความหวังที่จะเห็นรัฐบาลจัดตั้งสำเร็จ และไม่ต้องการเป็นตัวถ่วงทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วุ่น!ส่อรื้อระเบียบเลือกสว.

ระเบียบแนะนำตัว สว.ส่อวุ่น! ตุลาการศาล ปค.ผู้แถลงคดีเสนอองค์คณะเพิกถอน 5 ปมแนะนำตัว แจกเอกสารได้เฉพาะในกลุ่มไม่เกิน 2 หน้า

ประเดิมรับสมัครสว. กลุ่มการเมืองส่อฮั้วยึดเก้าอี้

ประเดิมอย่างเป็นทางการวันแรกสำหรับการรับสมัครรับเลือกเป็น สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ภายหลังจาก สว.ชุดบทเฉพาะกาล 250 คนได้หมดวาระเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดย สว.ชุดใหม่จะต้องสรรหาให้ได้จำนวน 200 คน โดยเลือกกัน 3 ระดับ เริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ เลือกวันที่ 9 มิ.ย.2567, ระดับจังหวัด เลือกวันที่ 16 มิ.ย.2567, ระดับประเทศ เลือกวันที่ 26 มิ.ย.2567