‘วันนอร์’เปล่าปิดสภาหนี

ไทยโพสต์ ๐ ทำงานสภามากว่า 40 ปีไม่เคยเจอ "วันนอร์" แจงเลื่อน-ปิดประชุมรัฐสภาไม่ได้หนี แต่ "รังสิมันต์"  ดันเสนอญัตติโหวตเลือกนายกฯ มาแซงวาระแก้รัฐธรรมนูญ ม.272 ย้ำญัตติตกไปแล้วเสนอใหม่ไม่ได้ ให้รอศาล รธน.วินิจฉัย 16 ส.ค. ถามหากมติสภาไม่ตรงกับคำวินิจฉัยศาล รธน. ความเสียหายจะตกที่ใคร

     เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 ที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีสั่งเลื่อนการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคมออกไปก่อน พร้อมกับปิดการประชุมทันทีนั้นว่า    การเปิดประชุมมีประชุมวาระอยู่ 2 เรื่อง   คือการเลือกนายกฯ ซึ่งไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 16 ส.ค.

     ส่วนเรื่องที่ 2 คือการเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งตนตั้งใจให้มีการอภิปรายอย่างเต็มที่ และหากเลื่อนวาระที่ 2 ขึ้นมา สภาก็มีความพร้อมที่จะพิจารณา แต่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมานั้น นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อและรองโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้เสนอญัตติด่วนขึ้นมาเพื่อให้ทบทวนมติที่สภาได้พิจารณาไปเมื่อวันที่ 19 ก.ค. คือญัตติที่ไม่ให้โหวตนายกฯ ซ้ำ ซึ่งเรื่องได้พิจารณาตามข้อบังคับ 151 ไปแล้ว โดยข้อบังคับ 151 ในวรรคแรก ได้ระบุว่า   การลงมติของรัฐสภาถือว่าเด็ดขาด การที่จะมาทบทวนมติที่เด็ดขาดไปแล้ว ตนและสมาชิกหลายท่านเข้าใจว่าไม่สามารถกระทำได้

     ประธานรัฐสภาเผยว่า โดยปกติที่ผ่านมา หากเรื่องอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ สภาก็ยังจะไม่พิจารณาเรื่องนั้น โดยรัฐธรรมนูญมาตรา 211 เขียนไว้ชัดเจนว่า คำวินิจฉัยและคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเด็ดขาด และมีความผูกพันกับรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และองค์กรอิสระ เพราะฉะนั้นการที่เราจะตัดหน้าไปพิจารณาวันที่ 4 ส.ค. ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนว่าจะพิจารณาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 16 ส.ค.

     "หากเราพิจารณาก่อน อาจจะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ เพราะเป็นการย้อนแย้งกับที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาเรื่องเดียวกัน และหากมีการพิจารณาและลงมติ และวันที่ 16 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยไม่ตรงกับมติของสภา ท่านคิดว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นกับใคร หากเรารอให้ถึงวันที่ 16 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาจบแล้ว เราก็สามารถนำเรื่องดังกล่าวมาทบทวนได้ แต่เราต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างแน่นอน"

     นายวันนอร์ระบุว่า เรื่องนี้ในประการแรก ญัตติที่จะทบทวนญัตติของเราเอง ตามที่ข้อบังคับพูดไว้ชัดเจนแล้วนั้น จะกระทำได้หรือไม่ สมควรจะกระทำหรือไม่ ประการที่สอง เรื่องที่เราจะพูด คือเรื่องมติโหวตนายกฯ กระทำซ้ำได้หรือไม่ มันเป็นเรื่องเดียวกันที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวันที่ 16 ส.ค.นี้ และอำนาจศาลรัฐธรรมนูญถือว่าเด็ดขาด  สภาจะพิจารณาอย่างไรก็ตาม หากศาลรัฐธรรมนูญตัดสินออกมาแล้วเราต้องปฏิบัติตาม ซึ่งเราไม่สามารถรู้ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ในฐานะประธานรัฐสภา เราไม่สามารถนำองค์กรให้เกิดปัญหากับองค์กรที่จะตัดสินเรา เราพร้อมจะทำตามสมาชิกถ้าหากว่าข้อเสนอนั้นเป็นข้อเสนอที่ไม่ย้อนแย้ง ซึ่งจะทำให้ความเชื่อถือลดลง

     "ต้องขออภัย ไม่ได้รีบปิดประชุมหนี เพื่อไม่ให้อภิปรายการแก้ไขมาตรา 272 ที่รอเวลาเกือบชั่วโมงเพื่อให้สมาชิกครบ เพื่อให้ได้ประชุม และเลื่อนวาระ 272 ที่พรรคก้าวไกลอยากจะอภิปรายขึ้นมาก่อน ผมก็อยากให้อภิปรายอย่างเต็มที่   แต่สมาชิกไม่ยอมที่จะให้เลื่อนเรื่องนี้มาพิจารณา และเสนอนำเรื่องด่วนที่ไม่ได้อยู่ในวาระขึ้นมาพิจารณา ซึ่งสามารถเสนอได้ แต่เรื่องที่เสนอให้พิจารณาคือ เรื่องของวันที่ 19 ก.ค. ซึ่งคือเรื่องการโหวตนายกฯ โดยตามมาตรา 151 ถือว่าทำไม่ได้ ผมไม่ได้ปฏิบัติเพื่อฝ่ายใดหรือกีดกันฝ่ายใด ไม่งั้นจะรอถึงชั่วโมงเหรอ   เพราะหากสมาชิกไม่ครบแค่ครึ่งชั่วโมงก็ไม่สามารถประชุมได้”

     ทั้งนี้ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวอีกว่า ตนทำงานในสภามากว่า 40 ปี ไม่เคยมีการนำญัตติที่ตกไปแล้วขึ้นมาทบทวน  ยืนยันไม่ได้ปิดประชุมหนี เพราะการเลื่อนประชุมสภาเมื่อวานนี้ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุดของบ้านเมือง ในที่สุดแล้วก็ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้

     เมื่อถามว่า ในวันที่ 17 และ 18 ส.ค.จะมีการประชุมรัฐสภาหรือไม่ ประธานรัฐสภาเผยว่า ต้องดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 16 ส.ค. ถ้าศาลมีคำวินิจฉัยออกมา จะเรียกประชุมรัฐสภาภายใน 3 วัน คือวันที่ 18-19 ส.ค. เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายและความสง่างามของที่ประชุมรัฐสภา หากมีการทบทวนหลายรอบ จะทำให้เกิดการร้องเรียนขึ้นมาอีก และเกิดความไม่สง่างามของรัฐสภา พร้อมย้ำว่า ไม่มีคนอยู่เบื้องหลังเสนอให้เลื่อนการประชุม

     ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ส่วนตัวเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของประธานรัฐสภาเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความถูกต้องตามข้อบังคับของที่ประชุม ที่ให้อำนาจแก่ประธานรัฐสภาไว้    และถ้าปล่อยให้มีการพิจารณาญัตติที่พิจารณาไปก่อนหน้านี้ ต่างฝ่ายก็จะต่างลุกขึ้นอภิปราย ไม่มีใครยอมใคร จนหาข้อสรุปไม่ได้ และประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ก็อยากให้มีความชัดเจนก่อนที่จะหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาพิจารณาในรัฐสภา ดังนั้นตนจึงอยากให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภาในการทำหน้าที่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง