ยื่น‘พม.’ปรับกฎ ห้ามใช้‘เด็กเล็ก’ ขึ้นเวทีการเมือง

กรุงเทพฯ ๐ ทีมโฆษก รทสช.ยื่นกระทรวง พม.เร่งปรับปรุงกฎกระทรวง ป้องกันการนำเด็กไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองในอนาคต ยกพฤติกรรมมีบางพรรคการเมืองนำเด็ก 10 ขวบขึ้นเวทีปราศรัยสร้างความเกลียดชัง ชี้ผิดหลักสากลของ "อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก"  

     วันที่ 12 สิงหาคม 2566 นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.), นางรัดเกล้า สุวรรณคีรี รองโฆษกพรรครวมไทยสร้างชาติ  และนายณัฐนันท์ กัลยาศิริ อดีตผู้สมัคร สส.กทม.พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  (พม.) เพื่อให้มีการตรวจสอบและเพิ่มข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับกฎกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ เพื่อป้องกันการนำเด็กไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองในอนาคต

     นายพงศ์พลเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์พรรคการเมืองให้เด็กอายุ 10 ขวบขึ้นเวทีปราศรัยทางการเมืองในการชุมนุมทางการเมือง และปรากฏคำปราศรัยด้วยถ้อยคำที่สร้างความเกลียดชัง (hate speech) ซึ่งแทนที่จะมีการห้ามปรามหรือแนะนำให้กระทำในสิ่งที่เหมาะสมกับวัย กลับได้รับการกล่าวและมีท่าทีให้การสนับสนุน เพราะเป็นแนวทางที่พรรคการเมืองและพวกพ้องของตนเองได้รับผลประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว และเกิดการเผยแพร่ต่อสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง

     ทั้งนี้ ยังปรากฏกรณีที่มีกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีความเคลื่อนไหวสอดคล้องและเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง ได้คอยยุยงส่งเสริมเด็กให้ละเมิดหรือฝ่าฝืนกฎระเบียบของโรงเรียน ฝ่าฝืนกฎหมายแผ่นดิน จนถึงขนาดถูกดำเนินคดีในข้อหาร้ายแรง และยังถูกนำเรื่องราวการดำเนินคดีมาเผยแพร่ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเพื่อสร้างคะแนนนิยมและความชอบธรรมให้กับพรรคการเมืองของตนเองและพวกพ้อง โดยปราศจากคำแนะนำให้เด็กประพฤติตนอยู่ในกรอบที่เหมาะสมกับวัยเรียน ซ้ำร้ายยังนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในทางการเมืองโดยใช้เด็กเป็นเครื่องมืออย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเกิดกระแสสังคมกดดันกับเด็กและเกิดความเสียหายกับเด็กและสังคมอย่างประเมินค่ามิได้

     นายพงศ์พลกล่าวด้วยว่า ล่าสุดยังปรากฏข้อมูลมีกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมครอบงำ กดดันให้เด็กกระทำความผิด  ยุยงส่งเสริมให้เด็กกระทำความผิดต่อกฎหมาย แล้วนำกิจกรรมดังกล่าวไปขอรับเงินทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหวจากผู้ที่ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง ไม่หวังดีต่อเด็ก  เข้าข่ายเป็นการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก ทำให้หลายภาคส่วนของสังคมเกิดความกังวลว่าพฤติกรรมดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการแสวงหาประโยชน์จากเด็กโดยมิชอบ ส่งผลเสียต่อเด็ก ทำให้เด็กต้องอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรง ซึ่งอาจกระทบต่อการเรียน สภาพจิตใจและพัฒนาการของเด็กได้ และที่สำคัญเด็กต้องถูกดำเนินคดีโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

     อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดล้วนแล้วผิดหลักสากลของ "อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก" (THE UNITED NATIONS CONVENTION ON THE RIGHTS OF THE CHILD) ที่ไทยลงนามไว้กับองค์การสหประชาชาติเมื่อ พ.ศ.2538 ซึ่งมีใจความว่า เยาวชนควรได้รับการคุ้มครองจากการแสวงหาผลประโยชน์ในทุกรูปแบบ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมายื่นหนังสือถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้มีการตรวจสอบเพิ่มข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับกฎกระทรวง เพื่อป้องกันการนำเด็กไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองในอนาคต.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฤษฎาฉีกหน้าพิชัย ไม่ให้เกียรติร่วมงานไม่ได้ ‘ทักษิณ’โผล่โคราช25พ.ค.

“เศรษฐา” ทัวร์ ประเดิมดูงานโครงการพระราชดำริ ชี้รัฐบาลให้ความสำคัญ ก่อนลุยตรวจสนามบินหัวหิน สั่งเร่งขยายให้จบก่อนไตรมาส 4 แพลมมีไอเดียเปลี่ยนชื่อเป็น