สว.ติดใจ3ประเด็นพ่อค้า แนะมาสแตนด์บายตอบ

สว.เสียงยังไม่นิ่ง ชี้มี 3 ปมที่ยังข้องใจพ่อค้าขายบ้าน ทั้ง “ปมนอมินีซื้อขายที่ดิน-เก็บค่าผ่านทางสะพาน-จ่อฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง” แนะ “เศรษฐา” มารอสแตนด์บายที่รัฐสภาวันโหวตเพื่อมาตอบคำถามดีกว่า ระบุหากให้พรรคเพื่อไทยแจงแทนเสียมากกว่าได้

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2566 ยังคงมีการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในการประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 22 ส.ค. อย่างต่อเนื่อง โดยนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สว. กล่าวว่า แนวทางการโหวตนายกฯ ทั้ง สส.และ สว.ต่างมีแนวทางเหมือนกัน คือสนับสนุนบุคคลที่มาจากพรรคการเมืองที่รวมเสียง สส.ได้มากที่สุด แล้วเสนอชื่อมาให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา แต่เมื่อมีประเด็นเรื่องตัวบุคคลที่พรรคการเมืองเสียงข้างมากเสนอชื่อมาก็จำเป็นต้องลงรายละเอียดใน 2 ส่วนสำคัญคือ 1.บุคคลที่จะมาเป็นนายกฯ  ต้องเป็นมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ คือหากไม่ใช่ตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือมีเรื่องต่อศาล เช่นกรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรรคก้าวไกล ก็ไม่มีปัญหาอะไร และ 2.คุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต เพราะการเป็นผู้นำประเทศต้องเป็นผู้นำพาองคาพยพของประเทศ เมื่อมีประเด็นที่มีประชาชนร้องเรียน หรือข้อมูลมาเปิดเผย เช่นที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองชี้ประเด็นไว้หลายเรื่อง หรือสมัยเป็นผู้บริหารบริษัทมหาชน แล้วมีกรณีทำสะพานในที่สาธารณะแล้วเรียกเก็บเงินค่าผ่านทาง เรื่องเหล่านี้ต้องชัดเจน อธิบายได้ว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือไม่ได้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน หรือไม่มีความซื่อสัตย์ตามที่ถูกกล่าวหา

   นายดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า ยังมีเรื่องนโยบายสำคัญต่างๆ ที่บอกว่าจะเข้ามาดำเนินการ หากเป็นรัฐบาลก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำความชัดเจน ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทยบอกว่า วันแรกในการประชุมคณะรัฐมนตรีจะให้ทำประชามติเพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทำให้รัฐธรรมนูญปัจจุบันหายไป เรื่องนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่คนทั้งประเทศ และ สว.-สส.ต้องมาขบคิดเหมือนกัน เพราะเป็นเรื่องสำคัญ คำว่าให้มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เขาต้องตอบคำถามให้ได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ดีอย่างไร แล้วการแก้ไขเป็นประโยชน์กับประชาชนมีอะไรบ้าง  ประเด็นดังกล่าวมันสำคัญมากจนไม่สามารถใช้วิธีการแก้เป็นรายมาตราอย่างไร

“การที่คนซึ่งจะมาเป็นนายกฯ แล้วมาประกาศแบบนี้ โดยอาจจะยังไม่มีวิธีคิดที่ชัดเจนออกมาก่อน ก็เป็นข้อสงสัย ข้อกังวล ที่อาจจะไม่ได้รับความเห็นชอบ หากไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน” นายดิเรกฤทธิ์ระบุ

เมื่อถามถึงกรณีวิปสามฝ่ายมีความเห็นว่าบุคคลที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ  ไม่จำเป็นต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ในวันที่ 22 ส.ค.นี้ นายดิเรกฤทธิ์กล่าวว่า การพิจารณาญัตติต่างๆ ของรัฐสภาสามารถให้ผู้เกี่ยวข้องที่ไม่ได้เป็น สส.และ สว.เข้าชี้แจงได้ ในเมื่อสมาชิกรัฐสภาจะโหวตเลือกเขาเป็นนายกฯ แต่ไม่ได้อยู่ในที่ประชุม ก็อาจไม่ได้รับความเป็นธรรม และสมาชิกจะไม่ได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนประกอบการลงมติ เมื่อวันนั้นคาดว่าเขาจะมารอสแตนด์บายอยู่นอกห้องประชุมอยู่แล้ว ก็ควรอนุญาตให้เข้ามาชี้แจง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับเขา เพราะแม้จะมีการชี้แจงผ่านสาธารณะไปบ้างแล้ว แต่อาจมีสมาชิกซักถามเพิ่มเติม

 “การที่เขามาหรือไม่มา ถามว่าใครเสียประโยชน์ เขาเสียประโยชน์ ในทางที่เป็นไปได้เขาน่าจะหารือผู้เกี่ยวข้อง ว่าวันอังคารนี้จะไปรอสแตนด์บาย แล้วจากนั้น ถ้าได้รับอนุญาตก็เข้าไปแสดงวิสัยทัศน์ และเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาได้ซักถาม แต่หากเขาคิดไม่อยากมา เขาก็ต้องมั่นใจว่าตัวแทนของเขา พรรคการเมืองที่เสนอชื่อ ต้องมีข้อมูลที่จะอธิบายแทนเขาได้ และมีน้ำหนักมากพอที่สมาชิกรัฐสภาจะเชื่อได้” นายดิเรกฤทธิ์กล่าว 

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สว. กล่าวว่า การลงมติในวันที่ 22 ส.ค.นี้ จะลงมติแบบเดิม คืองดออกเสียง เหมือนกับที่เคยลงมติตอนมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องอำนาจ สว.ในการโหวตนายกฯ ดังนั้นก็ต้องลงมติแบบเดิมไปตลอด ซึ่งการงดออกเสียงดังกล่าว ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเสนอชื่อใครมาให้โหวตเป็นนายกฯ

“ประเมินว่าการลงมติโหวตนายกฯ น่าจะผ่านไปได้ เพราะรวมเสียงกันได้กว่า  300 เสียง ก็ทำให้ขาดเสียงจาก สว.อีกแค่ไม่ถึง 60 เสียง และตอนโหวตนายกฯ ครั้งแรก ก็มี สว.ไปโหวตให้นายพิธามาแล้ว 13 เสียง ส่วนข้อไม่สบายใจของ สว.เรื่องแก้มาตรา 112 คราวนี้ก็ปลดออกไปแล้ว โหวตรอบนี้เสียง สว.น่าจะได้ไม่ต่ำกว่าร้อย เพราะทุกพรรคการเมืองบอกไม่แตะเรื่อง 112 แล้วจะเอาเหตุผลอะไรไม่เลือกเขา” นายวัลลภกล่าว

ขณะที่นายอนุสิษฐ คุณากร สว. กล่าวถึงเรื่องการโหวตให้นายเศรษฐาว่า หากข้อมูลชัดเจนก็คงไม่น่ามีปัญหาอะไร แม้นายเศรษฐาไม่จำเป็นต้องมาแสดงวิสัยทัศน์ แต่ที่สำคัญคือ หากมีคำถามเกิดขึ้นกับนายเศรษฐา แล้วนายเศรษฐาไม่ได้มาตอบ แล้วผลร้ายเกิดกับตัวนายเศรษฐา ก็ต้องรับผลนั้นไป แต่หากมีคำถาม แล้วผลร้ายไม่เกิดขึ้น โดยที่ สส.พรรคเพื่อไทยช่วยกันชี้แจงแทนในที่ประชุม มันก็มีความเป็นไปได้

นายอนุสิษฐกล่าวว่า อยากให้นายเศรษฐามาที่รัฐสภาด้วยในวันโหวตนายกฯ เผื่อมีอะไรก็จะได้ชี้แจง หาก สว.มีคำถาม แล้วนายเศรษฐาไม่ได้มาตอบ จะทำให้ สว.คิดอย่างไร และประชาชนที่ติดตามการถ่ายทอดสดอยู่จะคิดอย่างไร เพราะหากมีคำอธิบาย ก็เป็นเรื่องที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำให้หลายคนได้เข้าใจ แต่ก็อาจเป็นไปได้ที่นายเศรษฐาอาจแถลงในวันที่ 21 ส.ค.นี้ก่อนก็ได้ เราก็ต้องดูสถานการณ์

   “ผมเชื่อว่า สว.เขาไม่ได้มีธงอะไร เพราะเขาก็อยากให้มีการตั้งรัฐบาลให้ได้เร็วที่สุด แต่การโหวตเป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคน ผมคงไม่สามารถไปตอบแทน สว.คนอื่นได้” นายอนุสิษฐกล่าว

ถามถึงกรณีที่พรรค พท.ประกาศว่าหากตั้งรัฐบาลสำเร็จในการประชุม ครม.นัดแรก จะมีมติให้ทำประชามติเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายอนุสิษฐยอมรับว่าเป็นข้อห่วงใย ซึ่งไม่ได้มีแค่เฉพาะกับ สว. แต่ทั้งนักธุรกิจ นักวิชาการ ข้าราชการ และประชาชนคนไทยทั่วไป ที่อาจคิดว่าหากจะแก้ไขจะไปในทิศทางไหน เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ใช่เป็นกฎหมายของพรรคการเมือง การเลือก ส.ส.ร.โดยให้เลือกจากประชาชน โดยไม่มีผู้มีความรู้ความสามารถ มีความเข้าใจในบริบท ของการดูแลรักษาชาติบ้านเมือง การดูแลรักษาความมั่นคงของประเทศ มันก็จะกลายเป็นจุดอ่อน อย่าคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของประเทศ เท่านั้นเอง แต่ต้องคิดว่าสิ่งที่ตัวเองจะทำ ต้องทำเพื่อรักษาชาติบ้านเมือง เอาความมั่นคงของรัฐเป็นตัวตั้ง

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สว. กล่าวว่า ได้ตัดสินใจได้แล้วว่าจะโหวตอย่างไร แต่ขอหารือกันกับกลุ่ม สว.ด้วยกันก่อน ซึ่งท่าทีของ สว.ส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนจากอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่นายเศรษฐาถูกนายชูวิทย์ร้องเรียน และนายเศรษฐาได้ตอบโต้  โดย สว.หลายคนมีคำตอบในใจแล้ว แต่ส่วนตัวยังติดใจในเรื่องจริยธรรมของนายเศรษฐาอยู่ ซึ่งเท่าที่ดูเห็นคล้ายๆ กันว่านายเศรษฐาน่าจะบกพร่องด้านคุณธรรม จริยธรรม

ส่วนนายมณเฑียร บุญตัน สว. 1 ใน 13 สว.ที่โหวตเห็นชอบให้นายพิธากล่าวว่า ยังคงยึดหลักการเดิม คือไม่ใช่หน้าที่ของ สว.ในการโหวตเลือกนายกฯ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าเป็นหน้าที่ของ สว.ในการเลือกนายกฯ ด้วย ไม่ใช่เรื่องปกติ ฉะนั้นวิธีการที่จะทำให้การเมืองกลับมาปกติ คือยึดตามเสียงข้างมากในสภา ที่ไม่ว่าจะเป็นเสียงข้างมากจากพรรคไหนก็ตาม หรือแม้ว่าจะชอบหรือไม่ชอบใครก็ตาม

“ผมสนับสนุนให้ตัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ออก แต่เมื่อยังตัดไม่ได้ ก็โหวตตามเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร” นายมณเฑียรกล่าว

นายพีระศักดิ์ พอจิต สว. ซึ่งเป็น 1 ใน 13 สว.ที่โหวตเห็นชอบให้นายพิธาเช่นกันกล่าวว่า ยังยึดตามสองหลักการ คือ 1.ต้องได้รับเสียงสนับสนุนข้างมากจาก สส. และ 2.คุณสมบัติแคนดิเดตนายกฯ ว่าเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ ซึ่งก็ต้องดูจากการที่นายชูวิทย์ออกมาแถลงเพิ่มเติมในวันจันทร์ที่ 21 ส.ค. และดูว่านายเศรษฐาจะออกมาชี้แจงอย่างไรบ้าง ส่วนจะสนับสนุนนายเศรษฐาหรือไม่อยู่ที่คุณสมบัติของนายเศรษฐา ว่าจะชี้แจงเพื่อหักล้างข้อกล่าวหาให้กระจ่างได้หรือไม่ หากกระจ่างพร้อมโหวตสนับสนุน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง