เคาะค่ารถไฟฟ้า20บาทถึง30พย.67

ครม.ไฟเขียวค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย รถไฟชานเมืองสายสีแดง-สีม่วง "สุริยะ" ได้หน้านั่งรถไฟโชว์ คาดวันแรกมีผู้โดยสาร 2 สายรวม 1 แสนคนต่อวัน ยันเชื่อมข้ามระบบใช้ได้ 1 พ.ย.นี้ ส่วน พ.ร.บ.ตั๋วร่วมจ่อชง ครม.ไฟเขียวภายในปีนี้ "เศรษฐา" ดีใจบอกแล้วว่าทำได้

เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสายตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ดังนี้

1.อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง 20 บาท เฉพาะสายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) (เริ่มต้นเมื่อระบบมีความพร้อม จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567)

2.เห็นชอบหลักการมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สูงสุด 20 บาท ตามนโยบายรัฐบาล (เริ่มต้นเมื่อระบบมีความพร้อม จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567)

3.ให้กระทรวงคมนาคมประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐ และคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป

"การดำเนินการตามมาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง สายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์-ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์-รังสิต) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย และรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาใช้บริการสาธารณะ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้แก่ประชาชน ลดภาวะมลพิษ และการใช้พลังงานภายในประเทศ สนับสนุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค จากการเพิ่มการเดินทางของประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อยกกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เท่าเทียมในการเข้าถึงระบบส่งสาธารณะ" นายคารมย้ำ

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวว่า ให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคมแถลงรายละเอียด จุดใหญ่คือ 20 บาทตลอดสาย ซึ่งประชาชนได้ประโยชน์ อะไรที่ทำได้เราทำก่อน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการมองว่าทำได้เร็วกว่าที่คาดไว้ นายกฯ ตอบว่า แล้วแต่คนมอง แต่ถ้ามองอย่างนี้ตนก็ดีใจ เพราะบางคนบอกว่ายังทำไม่ได้ทั้งหมด บางคนมีความคาดหวัง อยากให้ทำให้หมดในเวลาเดียวกัน แต่วันนี้ทำได้แค่นี้ อะไรทำได้ก็ทำก่อน ประชาชนจะได้ใช้ก่อนในเวลาที่เหมาะสม 

เมื่อถามว่า ค่ารถไฟฟ้าสายอื่นๆ จะมีแผนดำเนินการเมื่อไหร่ นายกฯ เผยว่ากำลังดูอยู่ โดยให้นายสุริยะเป็นผู้ให้รายละเอียด 

ที่สถานีกลางบางซื่อ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ถือเป็นนโยบาย Quick Win นโยบายแรก ตามที่พรรคเพื่อไทยได้หาเสียงไว้กับพี่น้องประชาชน และตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดทุกหน่วยงานให้ทำงานอย่างเร็วที่สุดตามที่ท่านนายกฯ ได้เคยกล่าวไว้

นายสุริยะกล่าวต่อว่า ตนและผู้บริหารกระทรวงคมนาคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เดินทางมาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ซึ่งเป็นสถานีต้นสายของโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่ได้เริ่มประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายเฉพาะของแต่ละสายก่อนในวันนี้ จากเดิมเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 66 เคยประกาศไว้ว่าจะเริ่มใช้นโยบายในช่วงปลายปี 2566 หรือภายใน 90 วัน เพื่อมอบเป็นของขวัญแก่ประชาชน แต่ด้วยภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากสถานการณ์ความวุ่นวายในต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน มีผลโดยตรงต่อผู้ใช้รถยนต์ จึงเริ่มประกาศใช้วันนี้ หรือใช้เวลาเพียง 38 วันเท่านั้น

 “รัฐบาลโดยกระทรวงคมนาคม จึงประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย หรือปรับลดจากอัตราค่าโดยสารปัจจุบัน เริ่มต้น 14 บาท สูงสุดไม่เกิน 42 บาท เหลืออัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 20 บาทเฉพาะของแต่ละสาย ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ (16 ต.ค. 66) เป็นต้นไป โดยจะนำร่อง 2 โครงการ คือโครงการรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร จำนวน 16 สถานี และโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน (สายธานีรัถยา) ระยะทาง 26 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี และช่วงบางซื่อ-รังสิต (สายนครวิถี) ระยะทาง 15 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี” นายสุริยะกล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้า MRT  สายสีม่วง กับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงนั้น กำหนดอัตราค่าโดยสารของทั้ง 2 สาย สูงสุดไม่เกิน 20 บาท โดยจะต้องเปลี่ยนถ่ายระบบ ณ สถานีบางซ่อน ภายในระยะเวลา 30 นาที และในเบื้องต้นจะต้องใช้บัตรโดยสารใบเดียวกัน หรือบัตร EMV Contactless เท่านั้น โดยในระยะแรกหากข้ามระบบยังคงต้องชำระอัตราค่าโดยสารของแต่ละสายก่อน เนื่องจากในขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบหรือซอฟต์แวร์ คาดว่าจะเปิดให้บริการเชื่อมต่อรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงในอัตราสูงสุดไม่เกิน 20 บาทตลอดสายในวันที่ 1 พ.ย. 2566

 “วันแรกของการประกาศใช้นโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย คาดการณ์ว่าจะมีผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีม่วงกว่า 100,000 คน/เที่ยว/วัน แบ่งเป็นรถไฟฟ้าสายสีแดง 30,000 คน/เที่ยว/วัน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง 70,000 คน/เที่ยว/วัน ปัจจุบันสายสีม่วงมีผู้ใช้บริการ 7 หมื่นคน และสีแดง 2.5 หมื่นคนต่อวัน" นายสุริยะกล่าว

นายสุริยะกล่าวอีกว่า ขณะที่ในเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นๆ นั้น หลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาร่วมกับภาคเอกชน เพื่อดำเนินการนโยบายค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายให้ครอบคลุมโครงข่ายในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลในทุกเส้นทาง ตามเป้าหมายภายใน 2 ปีนับจากนี้ต่อไป ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างการเร่งรัดผลักดันร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อทำให้ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้าแต่ละรายหันมาใช้บัตรโดยสารรูปแบบเดียวกันทำได้ง่ายขึ้น ประชาชนไม่ต้องเสียค่าแรกเข้าหลายครั้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชนได้ ซึ่งขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ คาดว่าเสนอ ครม.พิจารณาภายในปี 2566 หลังจากนั้นจะเข้าสู่การนำร่างกฎหมายไปพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลากว่า 1 ปี ก่อนที่กฎหมายจะผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ ซึ่งสามารถทำให้บัตรตั๋วร่วมหรือบัตรใบเดียวสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะเชื่อมต่อกันได้ทุกโหมดการเดินทาง เช่น รถไฟฟ้า รถเมล์ และเรือ อย่างไรก็ตาม เมื่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านจะเป็นกลไกนำไปเจรจากับเอกชน และจะสามารถจัดตั้งกองทุนหารายได้ชดเชยให้แก่ผู้ประกอบการได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง