ปปช.จัดทีมเด็ดจับตาดิจิทัล!

ป.ป.ช.ลุยฟอร์มทีมคณะทำงานเกาะติด "ดิจิทัลวอลเล็ต" สะพัดทาบอดีตรองผู้ว่าฯ ธปท.-กลุ่ม 99 นักเศรษฐศาสตร์-ทีดีอาร์ไอ-ทีม ศก.เพื่อไทย “กิตติ” ตอบรับเอาด้วย เผย "เศรษฐา" เคาะเองแจก 1 หมื่น หลังชง 2 ทางเลือก ยันโอน 3 งวดดีกว่าจ่ายรอบเดียว แนะออก พ.ร.ก.ไปเลยถ้าติดล็อกข้อกฎหมาย "กิตติรัตน์" ออกโรงสอนนิยาม "เงินเลว" เลิกด้อยค่าเงินดิจิทัล

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วันที่ 11 ต.ค. มีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาศึกษาติดตามการดำเนินนโยบายโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000  บาท ของรัฐบาล โดยให้เชิญนักวิชาการ  ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน   ด้านเศรษฐศาสตร์ และตัวแทนธนาคารแห่งประเทศไทย มาร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการดังกล่าว

มีรายงานว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา  เจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ช.ได้เริ่มมีการประสานงาน ติดต่อไปยังบุคคลต่างๆ ที่เป็นนักวิชาการ อดีตผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นักเศรษฐศาสตร์ในกลุ่ม 99 นักเศรษฐศาสตร์ที่ลงชื่อออกแถลงการณ์คัดค้านนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งนำโดยสองอดีตผู้ว่าฯ รวมถึงบุคคลที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ทั้งในเชิงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ให้มาร่วมเป็นคณะกรรมการชุดดังกล่าวแล้ว แต่รายชื่อยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ 

ทั้งนี้ มีข่าวว่าอดีตรองผู้ว่าฯ ธปท. ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 99 นักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งได้รับการติดต่อจากสำนักงาน ป.ป.ช. มีท่าทีพร้อมจะร่วมเป็นอนุกรรมการด้วย นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.ยังอยู่ระหว่างทาบทามอีกหลายคน เช่น นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย โดยเคยให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายแจกเงินดิจิทัลมีเดิมพันสูง 5.6 แสนล้านบาท เกรงว่าไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตยั่งยืน และเสี่ยงเจอปัญหาขาดดุลแฝด อาจทำให้หนี้สาธารณะพุ่ง

ขณะเดียวกันยังได้ทาบทามนายกิตติ ลิ่มสกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หนึ่งในคณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายพรรคเพื่อไทย ที่มีส่วนร่วมในการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคตั้งแต่แรกเริ่ม และยังเป็นอดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย อดีตอาจารย์คณะเศรษศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแสดงความไม่เห็นด้วยที่จะโอนเงินรอบเดียว 10,000 บาท เพราะจะทำให้เกิดสภาวะเงินเฟ้อสูง โดยเห็นว่าควรโอนให้หลายรอบ ซึ่งเบื้องต้นนายกิตติได้ตอบรับที่จะไปร่วมเป็นอนุกรรมการของสำนักงาน ป.ป.ช.แล้ว

ทางด้านนายกิตติให้สัมภาษณ์ว่า   สำนักงาน ป.ป.ช.จะมีการตั้งคณะอนุกรรมการ โดยให้มีบุคคลจากหลายฝ่ายมาร่วมเป็นอนุกรรมการ ทั้งที่เห็นเหมือนกันและเห็นแตกต่างกัน ในเรื่องดิจิทัลวอลเล็ตได้มาพูดคุยกันด้วยหลักวิชาการ และจะให้มีการใช้เทคโนโลยีแบบจำลองข้อมูลจริง เท่าที่ทราบสำนักงาน ป.ป.ช.จะเรียกหลายคนมาที่มีความรู้เรื่องนี้ แล้วก็ทำแพลตฟอร์มออกมาโดยมีข้อเสนอในเรื่องนี้ โดยจะมีการเปิดเผยข้อมูลข้อเสนอดังกล่าวต่อประชาชนด้วย เพื่อให้ประชาชนรับรู้รับทราบ เช่น ข้อเสนอว่ารัฐบาลควรทำอย่างไร หรือการทำเรื่องนี้มีจุดดี จุดบอดอย่างไร ที่จะทำให้ประชาชน นักวิชาการ ชนชั้นกลาง รู้สึกคลายใจ

'กิตติ' ตอบรับ ป.ป.ช.

 “อย่างผมที่เห็นด้วยกับดิจิทัลวอลเล็ตร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ได้รับการติดต่อจากสำนักงาน ป.ป.ช. ผมถามเขาไปว่า ผมยังเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ผมจะไปร่วมได้หรือ เขาบอกว่าอยากให้มา แต่พรรคไม่ได้แต่งตั้งผมเข้าไป ก็ต้องขออนุญาต หากไม่มีใคร ผมก็จะไป แต่หากมีคนอื่น พรรคก็ส่งไปแทนได้ แต่ผมจะเข้าไปให้ข้อมูลทางวิชาการเท่านั้น”นายกิตติระบุ

เมื่อถามว่า หากรัฐบาลจะเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ตต่อไปจะมีปัญหาอะไรในอนาคตหรือไม่ นายกิตติกล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวในการทำดิจิทัลวอลเล็ต ที่เสนอให้แบ่งการโอนเงินเป็น 2-3 งวด ไม่ใช่โอนรอบเดียว 10,000 บาท หากทำตามที่เสนอดังกล่าว จะใช้งบประมาณหลักที่มาจากภาษีอากร ที่เป็นเงินแผ่นดิน ซึ่งคือเงินที่เก็บจากประชาชน ในรูปรายรับภาษีอากร และทำในรูปแบบของ Income Transfers หรือการโอนทางการคลังให้กับประชาชน ที่รัฐบาลต่างๆ ทำอยู่แล้ว เช่น โครงการคนละครึ่ง ดังนั้น ยืนยันว่าทำได้ ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่ได้ทำผิดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ใช้ตามช่องทางมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 แต่ไม่ต้องใช้ทันที ตั้งเรื่องให้รัฐบาลเป็นผู้ให้คนสุดท้าย ทำไว้เป็นปีก็ได้แล้วค่อยมาแลกเป็นเงินสด การหมุนเงินจากรายรับภาษีอากรทำได้ และไม่เป็นหนี้สาธารณะ

นายกิตติกล่าวด้วยว่า สุดท้ายหากทำไม่ได้ด้วยติดขัดข้อกฎหมาย อาจต้องพิจารณาว่าจะสามารถออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ได้หรือไม่ เพราะตามกฎหมายการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ การที่ดิจิทัลวอลเล็ตให้ใช้โทเคนดิจิทัล หรือสิทธิที่เหมือนกับเป็นคูปอง หากทำได้ หรือทำไม่ได้อย่างไร ให้ตีความออกมา เลยทำให้สำนักงาน ป.ป.ช.มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาว่าได้หรือไม่ได้ หากไม่ได้ก็ต้องเป็น  พ.ร.ก. เหมือนสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้วนำ พ.ร.ก.เข้าสภา ออกมาเป็น พ.ร.บ.ต่อไป อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ดีหาก ป.ป.ช.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาได้ หลังจากนั้นเสนอให้สำนักงาน ป.ป.ช.เปิดเวทีให้ประชาชนเข้ามาร่วมเสนอความเห็นโดยคุยกันด้วยเหตุผล พูดด้วยหลักวิชาการ

 “ตอนที่เริ่มทำนโยบาย พรรคเพื่อไทยเห็นสภาพเศรษฐกิจประเทศไทยต้องมีการกระตุ้น จึงเกิดแนวคิดกระตุ้นด้วยดิจิทัลวอลเล็ต ผมไปคำนวณภาพรวมทั้งระบบไปเสนอคณะทำงานของพรรคเพื่อไทย ว่าหากโอนให้ทีเดียว 10,000 บาท กับให้ 5,000 บาท ผลจะออกมาอย่างไร ก็พบว่า ถ้าทำออกมาไม่ว่าจะเป็น 10,000 บาท หรือ 5,000 บาท ต่างทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทั้งสองออปชัน แต่ว่าหากไม่ต้องใช้เงินเยอะ 5,000 บาทก็เพียงพอ แต่ตอนนั้นนายกฯ เศรษฐาตัดสินใจเลือกเคาะมาที่ตัวเลข 10,000 บาท” นายกิตติระบุ

ขณะที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย   ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า นักเศรษฐศาสตร์การเงินคนหนึ่งชื่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ซึ่งรู้จักมักคุ้นกับนางสาวรสนา โตสิตระกูล ผ่านความชื่นชอบหลงใหลในศิลปะการดนตรี ได้อ่านความคิดของนักเศรษฐศาสตร์การเงินอีกคนหนึ่ง และนำความคิดด้อยค่าเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่าเป็นเงินเลว (Bad Money) มาชี้นำ น.ส.รสนา

'โต้ง' โต้ดิจิทัล 'เงินดี'

นายกิตติรัตน์ระบุว่า คำว่า "เงินเลว" เป็นคำที่ผู้บริหารการคลังของอังกฤษ คือ Sir Thomas Gresham ใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1558 (พ.ศ.2101) แต่มาโด่งดังจนเป็นรู้จักกันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ว่า Gresham's Law ใน ค.ศ.ที่ 19 ซึ่งหากจะพยายามนำมาใช้กับกรณีนี้ ตนตีความในทางบวกได้ว่า เงินที่ว่าเลวนั้น สามารถทำหน้าที่ของการเป็นตัวกลางของการจับจ่ายใช้สอยที่ดีเมื่อลดความน่าเก็บสะสม ซึ่งทุกคนย่อมทราบดีว่าในยามที่เราจำเป็นต้องกระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การมีเงิน หรือรับเงินไปแล้วถูกใช้จ่ายในกรอบเวลา และใช้จ่ายไปกับสิ่งที่พึงประสงค์ จะกระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี เงินเลวจึงเป็นเงินที่ดี ตามภารกิจได้ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 16 เม.ย.2566 ฮ่องกงได้แจกเงินให้กับประชาชนทุกคน 5,000 เหรียญฮ่องกง หรือประมาณคนละ 23,000 บาท โดยรับเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต

"นักเศรษฐศาสตร์ท่านนั้น ไม่ได้ติดตามข่าวสารเศรษฐกิจการเงินในต่างประเทศบ้างเลยหรือครับ ท่านคิดไหมว่าการมอบเงินดิจิทัลที่มีเงื่อนไขการใช้จ่ายที่ถูกด้อยค่าว่าเป็น "เงินเลว" นั้น แท้ที่จริงเป็น "เงินดี (Good Money)" ตามภารกิจกระตุ้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ท่านบิดเบือนด้อยค่าดิจิทัลวอลเล็ต ให้คุณรสนาเข้าใจผิดจนตกอกตกใจนำไปถ่ายทอดกับมิตรสหายผู้หวังดีกับประเทศชาติทำไม หากคุณรสนายังไม่คลายความสงสัย ผมยินดีไปขอพบเพื่อปุจฉา วิสัชนา ผมช้ำใจทุกครั้ง ที่มีคนเรียกเราว่า "กะลาแลนด์" คือขยับซ้ายก็ไม่เอา  ขยับขวาก็ไม่ยอม เอาแต่จมปลักทับปัญหาไว้ เราอย่าปล่อยให้ผู้คนส่วนใหญ่ แต่เสียงเบา ต้องลำบากยากจนแบบไม่คิดแก้ไขกันเลยนะครับ" นายกิตติรัตน์ระบุ

นายชนินทร์ รุ่งแสง กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตประธานกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ธปท.ทำรายงานออกมาว่าไทยมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ทำให้ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจกลุ่มที่เปราะบางที่ลดลง ประกอบกับหน่วยงานต่างๆ นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าตัวคูณทางการคลังของโครงการแจกเงินดิจิทัลนี้อยู่ที่ราว 0.3-0.9 สะท้อนการใช้เงินที่ไม่มีประสิทธิภาพ และจะทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้นในระยะยาว ดังนั้น ไทยจึงมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะโดนลดระดับความน่าเชื่อถือ หากโดนลดเกรดจริงๆ อาจทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของประเทศและภาคเอกชนสูงขึ้น นักลงทุนสูญเสียความมั่นใจ ส่งผลให้การลงทุนในประเทศลดลงทั้งในเศรษฐกิจจริงและตลาดทุน ทั้งนี้การที่รัฐบาลยืนยันเดินหน้าทำนโยบายนี้ต่อนั้น ไม่ผิด เพราะรักษาคำพูดต่อประชาชน แต่อย่าละทิ้งสิ่งสำคัญที่สุด คือผลประโยชน์ของประเทศชาติ ขอให้นายกฯ ลองเลือกเดินได้ ระหว่างจะถอยเพื่อชาติ หรือเดินหน้ารักษาคำพูดเพื่อตัวเองและพรรคเพื่อไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อผุด13อรหันต์นิรโทษ

กรมคุกร่อนแถลงการณ์ ยันทัณฑสถานราชทัณฑ์ช่วยชีวิต ‘บุ้ง ทะลุวัง‘ ตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเต็มกำลัง