กฤษฎีกาฉีกหน้ารบ. ยังไม่ส่งกู้มาแจกให้ตีความ เสี่ยนิดยกเรื่องหนี้ย้ำวิกฤต

เลขาฯ กฤษฎีกาโอด! ถูกด่าฟรีทั้งที่รัฐบาลยังไม่ส่งคำถามเรื่องกู้มาแจกมาให้ตีความ แจงขั้นตอนยิบ แค่มีมติจากคณะกรรมการดิจิทัลเรื่องยังค้างอยู่ที่คลัง ปัดไม่มีหน้าที่ตีความว่าวิกฤตหรือไม่ “เศรษฐา” ตอกย้ำที่ประชุมเพื่อไทยแจกเงินจำเป็นเร่งด่วน ผงะ! เสี่ยนิดบอกเรื่องหนี้น่ากลัวอีกแล้ว นัดแถลงใหญ่ 12 ธ.ค. รัฐมนตรีเพื่อไทยเมินเสียง “ธนาธร-ศิริกัญญา” ชัยชนะดุซัดนายกฯ ตระบัดสัตย์ไหนไม่บอกกู้มาแจก “สมชัย” แฉชัดๆ ต้นตอทำจีดีพีต่ำ อัด รบ.อย่าหยิบฉวยตัวเลขมาพูดเอาแต่ได้ “สมชาย” นำทีมนักวิชาการยกมือหนุนดิจิทัล

เมื่อวันอังคารที่ 21 พ.ย.2566 ยังคงมีความต่อเนื่องในโครงการแจกเงิน 10,000 บาท ผ่านแอปเป๋าตังในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต เมื่อนายปกรณ์ นิลประพันธ์  เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ได้พบกับนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในกรณีที่รัฐบาลมีข้อสอบถามเรื่องการออกพระราชบัญญัติกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยได้สอบถามว่าจะมีหนังสือมาถึงกฤษฎีกาว่าทำได้หรือไม่ เมื่อไหร่ และได้คำตอบจากรัฐมนตรีว่ากำลังดูอยู่

นายปกรณ์กล่าวว่า ขออธิบายขั้นตอนเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันว่า เมื่อคณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่มีมติให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการ ถามมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากพบเงื่อนไขจะสามารถกู้ได้หรือไม่เท่านั้น โดยมติมีเพียงแค่นั้น ยังไม่ได้ไปถึงขั้นตอนยกร่างกฏหมาย ขอย้ำว่าเป็นการให้ถามคำถามเท่านั้น เมื่อส่งคำถามมาแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามปกติ โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษแต่อย่างใด ทุกอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเข้าเงื่อนไขก็ทำได้ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ทำไม่ได้ คำตอบมีเพียงเท่านั้น หากสามารถทำได้ก็จะยกร่างกฎหมายอีกขั้นตอนหนึ่ง

 “เมื่อเช้าผมทวงถามจากรัฐมนตรีเรื่องนี้ เพราะผมถูกด่าว่าทำงานช้า ทั้งที่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงผม ทางสภาพัฒน์ก็รอ เพราะนึกว่าเรื่องได้ส่งมาที่ผมแล้ว ทุกคนคิดแบบนี้ แต่ปรากฏว่านักข่าวรู้มากกว่าผมอีก” นายปกรณ์ระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า สภาพัฒน์บอกว่าถ้ากฤษฎีกาให้ความเห็นมาว่าถ้า ครม.ไปต่อทางนี้ไม่ได้ อาจมีทางอื่นหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ไม่รู้ เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องคิด ไม่ใช่เรื่องของตนเอง และกฤษฎีกาให้คำแนะนำไม่ได้ เพราะไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักกฎหมาย โดยกฎหมายที่จะนำมาพิจารณาประกอบพิจารณา มีทั้งรัฐธรรมนูญ เรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน และยังมีกฎหมายหลายฉบับประกอบ เช่น กฎหมายงบประมาณ  กฎหมายการเงินการคลัง กฎหมายหนี้สาธารณะ พ.ร.บ.เงินตรา จึงไม่สามารถตอบแทนได้ว่าวิกฤตหรือไม่วิกฤต

เมื่อถามว่า รัฐบาลฝากความหวังไว้ที่กฤษฎีกา ถ้าวิธีออก พ.ร.บ.กู้เงินไม่ได้ จะใช้ช่องทางใดได้บ้าง นายปกรณ์กล่าวว่า การจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งไม่รู้ ไม่สามารถตอบแทนได้ ส่วนคำถามที่ว่าทำอย่างไรให้ทำได้ ไม่ควรมาถาม เพราะไม่ใช่คนกำหนดนโยบาย ก็ไม่ใช่หน้าที่ ขอย้ำว่าเรื่องวิกฤตหรือไม่วิกฤตไม่ใช่หน้าที่ของกฤษฎีกา แต่เป็นหน้าที่ของ ครม.ที่จะหาข้อมูลมาสนับสนุน ที่โต้เถียงกันก็ไม่รู้

เมื่อถามกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ารัฐบาลกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ นายปกรณ์กล่าวว่า  เรื่องยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการไปร้องล่วงหน้าก่อนหรือไม่ก็ไม่ทราบ เพราะกรรมการยังไม่มีมติ

ด้านนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกรณีนายปกรณ์ระบุว่ายังไม่ได้รับหนังสือสอบถามความเห็นเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ว่ายังไม่ทราบ ยังไม่คุยเรื่องนี้ ปล่อยให้เขาทำงานกันไป

เมื่อถามว่า นายกฯ ต้องไปจี้ ไปติดตามหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็จี้ติดตามทุกเรื่อง

'เศรษฐา' ฟุ้งเรื่องแก้หนี้

เมื่อถามต่อว่า นายปกรณ์ระบุว่าตอนนี้เหมือนถูกด่าฟรี นายกฯ กล่าวว่า “ผมไม่เห็นมีใครไปขอโทษ จะใช้คำว่าด่าได้อย่างไร เลขาฯ กฤษฎีกาและทุกคนก็ทำงานกัน"

ต่อมาในช่วงเย็น มีการประชุมพรรคเพื่อไทย นายเศรษฐามาร่วมประชุมและกล่าวว่า ไม่ได้มาในฐานะนายกฯ แต่มาในฐานะสมาชิกพรรค ที่อยากมาฟังเพราะ  สส. คือตัวแทนประชาชน ซึ่งนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม สส.สุรินทร์ ได้จุดประกายเรื่องหนี้นอกระบบ ซึ่งตนก็จะไปสานต่อ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ โดยหนี้นอกระบบอาจใหญ่กว่าหนี้ในระบบด้วย ซึ่งเราจะประชุมกันวันที่ 28 พ.ย. และจะนำคำพูดของนายครูมานิตย์ที่ไปพูดคุยกับนายอำเภอและผู้กำกับหรือผู้การจังหวัดด้วย เพื่อเรียกลูกหนี้กับเจ้าหนี้มาและขจัดปัญหานี้ออกไป

นายเศรษฐากล่าวต่อว่า เรื่องการกำจัดหนี้นอกระบบเป็นเรื่องใหญ่มากๆ  ได้ไปดูในหลายๆ ตัวเลขก็น่ากลัว และจากการที่ สส.หลายคนได้พูดถึงเรื่องนี้ เชื่อว่าหากนโยบายนี้ได้ถูกนำออกไปปฏิบัติจริงๆ เราก็ต้องพึ่งทาง สส.ไปช่วยกันดูแล ติดตามผลงานดูแลประชาชนต่อไป ส่วนหนี้ในระบบรัฐบาลมีหลายนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายช่วยเหลือหนี้ครู เอสเอ็มอี ตำรวจ และในหลาย ๆภาคส่วนที่ประสบปัญหามา โดยจะแถลงข่าวใหญ่ในวันที่ 12 ธ.ค. ซึ่งหวังว่าทั้งหมดจะช่วยแก้ไขหนี้ทั้งในและนอกระบบอย่างบูรณาการ ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น นอกจากนี้ ในวันที่ 8 ธ.ค. จะประชุมร่วมกับผู้กำกับใหม่กับนายอำเภอ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกที่จะประชุมกันที่อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี

 “มีหลายคนเสนอว่าน่าจะพูดเรื่องยาเสพติดด้วยเลย แต่ผมคิดว่ายังไม่ถึงเวลา เพราะขอให้เรามีการพูดกันถึงเรื่องหนี้นอกระบบอย่างเดียวดีกว่า จะได้เป็นเรื่องของการโฟกัส และทั้ง 2 หน่วยงานจะได้ตั้งใจในการทำงาน ส่วนเรื่องยาเสพติด ถ้ามีนโยบายหรือการปราบปรามที่เราชัดเจน เราก็จะนำมาพูดคุยกันอีกต่อไป”นายเศรษฐากล่าว

นายเศรษฐากล่าวถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตว่า มีผู้สื่อข่าวอยู่เยอะ ก็ไม่อยากพูดถึงนโยบายนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ต้องพูด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น เชื่อว่า สส.ของเราในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน เข้าใจถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกระตุ้นเศรษฐกิจมากๆ อย่างรวดเร็วให้เกิดขึ้นได้ ตรงนี้ก็ต้องขอฝากไว้ด้วย ทั้งนี้ เลขาฯ สภาพัฒน์บอกกับตนเองโดยตรง ว่านึกว่าจะเห็นจีดีพีขึ้นเลข 2 แต่ปรากฏว่าเป็น 1.5 ซึ่งถือว่าต่ำมาก ต่ำจริงๆ เป็นตัวเลขที่ฟังดูแล้วน่าตกใจ ดังนั้นขอย้ำอีกครั้งว่านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเป็นเรื่องจำเป็น สำคัญและเร่งด่วนสำหรับประเทศนี้

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ระบุพร้อมแชร์ข้อมูลพรรคเพื่อไทยกรณีเงินดิจิทัลวอลเล็ตว่า เรื่องนี้อย่าไปพูดถึงเลย มีเรื่องอื่นน่าสนใจมากกว่า โดยวันนี้สภาพัฒน์ระบุว่าตัวเลขจีดีพีของประเทศตกต่ำเยอะ และเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ส่วนเรื่องที่นักการเมืองพูดไปพูดมาไม่ควรคุยแล้ว วันนี้คุยเรื่องปัญหาบ้านเมืองดีกว่า พูดเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ ซึ่งจีดีพีที่ออกมาต่ำกว่าเป้าหมายต้องรีบแก้ไข หากปล่อยไปแบบนี้เรื่อยๆ จะเป็นปัญหา ไม่ต้องบอกอกกันแล้วว่าเศรษฐกิจดีหรือไม่ดี เพราะตัวเลขที่ออกมาต้องมาหาทางออกร่วมกัน ทั้งปัญหาที่ประชาชนจะต้องเจอ และที่ภาคธุรกิจต้องเจอ

รัฐมนตรี พท.เมินเสียง 'ศิริกัญญา'

เมื่อถามถึงกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาตอบโต้ว่าตัวเลขจีดีพีที่ออกมาเป็นของภาคอุตสาหกรรมมากกว่าการบริโภคของประชาชน นายภูมิธรรมกล่าวว่า น.ส.ศิริกัญญาควรไปคุยกับสภาพัฒน์ เพราะเราไม่ได้เป็นคนเสนอตัวเลข วันนี้รัฐบาลฟังจากที่สภาพัฒน์พูด เพราะเป็นคนที่ดูตัวเลขทั้งหมด ส่วนใครไม่เห็นด้วยให้ไปชี้แจงกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ส่วนรัฐบาลมีหน้าที่ทำงานอย่างเต็มที่

ส่วนนายจุลพันธ์ปฏิเสธแสดงความเห็นกรณี น.ส.ศิริกัญญา โดยระบุว่า ยังไม่ได้ฟังสิ่งที่ น.ส.ศิริกัญญาพูด ขอให้ไปฟังตัวเลขของสภาพัฒน์ก็แล้วกัน

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และการเมืองพรรค พท. และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ระบุว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มซบเซาหนัก หลังจากสภาพัฒน์ประกาศตัวเลขจีดีพีในไตรมาส 3 ขยายได้เพียง 1.5% และการที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยตลอด 10 ปีเศรษฐกิจขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 1.8-1.9% เท่านั้น ซึ่งต่ำมาก และต่ำที่สุดในอาเซียน ไทยถูกขนานนามจากสื่อต่างประเทศว่าเป็นคนป่วยของเอเชียตั้งแต่ก่อนจะเกิดวิกฤตการณ์ไวรัสโควิดเสียอีก และยืนยันการอยู่ในภาวะกบต้ม เป็นตามทฤษฎีกบต้มที่ได้เคยเตือนไว้แล้วตั้งแต่ปี 2559 และถูก พล.อ.ประยุทธ์ส่งคนมาฟ้องในปี 2560 เป็นหลักฐานการเตือน แต่สำนักอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้ว ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องกระโดดให้พ้นภาวะกบต้มนี้ โดยต้องเร่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวให้ได้ 5% ตามศักยภาพตามที่ธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ และเอดีบี ได้เคยระบุไว้

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร.ได้กำชับเรื่องอะไรเป็นพิเศษกับพรรคบ้างหรือไม่ ว่า พล.อ.ประวิตรก็ได้ประชุมกับผู้บริหารพรรคทุกวันจันทร์อยู่แล้ว อย่างเมื่อวันที่ 20 พ.ย.ก็ได้หารือประเด็นที่เป็นพิเศษในปัจจุบัน เช่น โครงการเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ทำอย่างไรว่าเราจะทำอย่างไร ประชาชนจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่า พล.อ.ประวิตรเห็นด้วยในโครงการนี้หรือไม่ นายสันติกล่าวว่า หัวหน้าก็บอกว่าพี่น้องประชาชนตอนนี้เศรษฐกิจก็ฝืดนิดหน่อย ถ้าประชาชนได้เงิน 1 หมื่นบาท ประชาชนก็ดีใจ ก็อยากได้ แต่ว่าก็ต้องดู ถ้าหากกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายการเงินการธนาคาร อะไรต่างๆ ถ้าไม่ติดขัด ท่านก็บอกว่าก็ดี ประชาชนได้จับจ่ายใช้สอย แต่หากติดรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายต่างๆ ก็คงจะต้องหาช่องทางอื่นๆ ด้วย

นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช รักษาการรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเป็นหนี้สาธารณะ 11 ล้านล้านบาท เฉพาะหนี้ของรัฐบาล 9.7 ล้านล้าน รัฐวิสาหกิจอีก 1.7 ล้านล้านบาท วันนี้ทั้งนักวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมายืนยันว่าไม่เห็นด้วยที่จะกู้เงิน เพราะประเทศยังไม่ถึงวิกฤต นี่เป็นการกู้มาเพื่อสนองนโยบายพรรคการเมืองหนึ่ง ตอนนี้ พ.ร.บ.เงินกู้ก็มีคนไปยื่นร้องต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินถึง 5 คน เพราะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และ พ.ร.บ.วินัยงานเงินการคลังข้อที่ 53

ซัดนายกฯ ตระบัดสัตย์

 “เรื่องนี้ถ้านายกฯ ยังดื้อดันที่จะนำเสนอเข้าสภาแล้วโยนบาปให้สภาผู้แทนราษฎรในวันที่สภาไม่ผ่านร่างให้ ผมว่านายกฯ ไร้วุฒิภาวะ ไม่มีวุฒิภาวะในการทำงาน ต้องเอาข้อเท็จจริงมาพูดวันที่ประกาศหาเสียงบอกว่าจะไม่กู้เงิน จะหารายได้มาแจกพี่น้องประชาชน วันนี้ผ่านเวลาไปแค่ 70 วัน นายกฯ ตระบัดสัตย์ กลืนน้ำลาย ถ่มน้ำลายใส่หน้าตัวเองแล้วจะบอกว่ากู้เงิน 500,000 ล้านบาท นี่ผมไม่เห็นด้วย” นายชัยชนะกล่าว

นายชัยชนะยังเรียกร้องไปถึง สส.ทุกคนว่า ถ้า พ.ร.บ.เงินกู้นี้เข้ามาต้องโหวตไม่เห็นด้วย เพื่อไม่สร้างภาระหนี้ให้กับประเทศมากกว่านี้ เราไม่ได้ขัดขวางในการที่ประชาชนจะได้เงิน แต่วิธีการที่จะได้เงินนายกฯ ต้องทำตามคำพูด คือไม่กู้เงิน และหาเงินมาจ่ายให้กับประชาชน

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ที่ปรึกษา กมธ.ติดตามงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ในหัวข้อ “สภาพัฒน์ลืมบอกอะไรรัฐบาลไหม” ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 3 ที่สภาพัฒน์ระบุว่า โตแค่ 1.5 ที่ทำให้เกิดเสียงประสานจากฝ่ายรัฐบาลว่าวิกฤตแล้ว เป็นเหตุผลต้องหนุนเรื่องกู้ 500,000 ล้าน มาแจกประชาชน เพื่อแก้วิกฤต จีดีพีตกต่ำ สาเหตุที่เป็นทำให้จีดีพีต่ำ คืออุปโภคภาครัฐ -4.9 การส่งออกสินค้า -3.1 และการลงทุนภาครัฐ -2.6 ในขณะที่ตัวช่วยให้เป็นบวก คือ การบริโภคของเอกชน +8.1 และการส่งออกบริการที่ +23.1 แปลว่าประชาชนเขามีเงินบริโภคมากขึ้น 8.1% ในขณะที่รัฐบาลใช้จ่ายน้อยลง 4.9% เลยพานดึงจีดีพีต่ำเตี้ย รัฐบาลอุปโภคติดลบ เพราะอะไร การลงทุนของรัฐติดลบเพราะอะไร คำตอบคือ งบประมาณแผ่นดินปี 2567 ล่าช้าถึง 7 เดือน แทนที่จะเริ่มจ่ายได้ตั้งแต่ ต.ค.2566 กว่าจะจ่ายได้คือ พ.ค.2567

“การติดลบเรื่องการอุปโภคภาครัฐบาล และการลงทุนภาครัฐบาล ยังคงมีต่อไปจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และหากไม่วางแผนการจัดซื้อจัดจ้างให้ดี มัวแต่ห่วงเรื่องกู้มาแจก ไตรมาส 4 ปี 2567 ก็ยังติดลบ เลิกนิสัยหยิบฉวยตัวเลขมาพูดเอาแต่ได้ แล้วพูดความจริงกับประชาชนน่าจะดีกว่า” นายสมชัยโพสต์

นักวิชาการหนุนดิจิทัล

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา เพราะขยายตัวช้ามา และมีอัตราการเติบโตไทยต่ำที่สุดในอาเซียน นโยบายเงินดิจิทัลของรัฐบาลจะช่วยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น อย่ากังวลเกินเหตุ โดยรัฐบาลควรดำเนินมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การลดหนี้สาธารณะ มาตรการด้านภาษีต่างๆ ที่สำคัญต้องเร่งปรับโครงสร้างทางการแข่งขันของประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและดึงนักลงทุนเข้ามาในประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC เป็นต้น

 “เศรษฐกิจไทยปี 2567 ในภาพรวมคงจะฟื้นประมาณ 3.2-3.3% แต่ว่าถ้ามีเงินดิจิทัลขึ้นมา อาจจะทำให้มีโอกาสเติบโตถึง 4.5-5% แม้ว่าหลายฝ่ายอาจกังวลว่าการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ในจำนวนเงินดังกล่าว อาจทำให้หนี้สาธารณะของไทยเพิ่มขึ้น แต่อยากให้มองว่าอย่ากังวลจนเกินเหตุ เพราะเงินดิจิทัลจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้แน่นอน โดยเฉพาะในระยะสั้น และยังมีอีกหลายมาตรการที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย จะทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวพ้นจากปัญหาไปได้” รศ.ดร.สมชายกล่าว

รศ.ดร.พิสิฐ บุญศรีเมือง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม  คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวเช่นกันว่า มั่นใจว่านโยบายเงินดิจิทัลไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังจะช่วยเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้คนในประเทศ ถือว่าเป็นกุศโลบายในการสอนให้ผู้คนใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชีวิตประจำวัน ซึ่งนโยบายนี้มาส่งเสริมได้ดี และจะยิ่งเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยเกิดสังคมไร้เงินสดมากขึ้น

ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร นักเศรษฐศาสตร์ ในฐานะรองประธานเลขาธิการหอการค้าไทย-จีน กล่าวว่า เงินดิจิทัลจะช่วยเพิ่มทักษะความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีด้านการเงินอีกให้กับคนไทยเพิ่มมากขึ้นใน 2 ประเด็นคือ ประเด็นแรกจะทำให้คนไทยมีทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพราะตอนนี้ประเทศจีนไปไกลมาก ไทยยังวิ่งตามหลัง  ฉะนั้นโครงการนี้จะเป็นการปรับฐานคนไทยให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะด้านดิจิทัลในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายไปในกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท เป็นการเตรียมความพร้อมในการขยับประเทศเข้าไปสู่โลกอนาคต และประเด็นที่สอง เงินดิจิทัลจะทำให้คนไทยมีประสิทธิภาพการจัดการเรื่องการเงินและเป็นการสนับสนุนให้คนไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้นในอนาคตเช่นเดียวกับจีน ที่มีการจับจ่ายผ่าน Alipay และ WeChat Pay ดังนั้นไทยเราต้องมีการปรับตัว เดินหน้าที่จะพัฒนาทักษะการใช้เงินดิจิทัลให้กับประชาชนคนไทยมากยิ่งขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง