ในหลวงทรงห่วง น้ำท่วมด้ามขวาน ปัตตานีอ่วมหนัก

ผบ.ตร.เผยในหลวงทรงห่วงใยสถานการณ์น้ำท่วมใต้ ทุกอย่างอยู่ในพระเนตรพระกรรณ “เศรษฐา” สั่ง มท.-กษ.-สธ.-หน่วยงานมั่นคงเร่งช่วยเหลือ ยันพร้อมเยียวยา ตอนนี้มอบถุงยังชีพแล้ว 40 ล้านบาท "ปัตตานี" ยังอ่วมหนัก เทศบาลเมืองติดธงแดงพรึ่บ

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2566 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พร้อมคณะ เดินทางไปยัง ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจ พร้อมมอบสิ่งของยังชีพแก่ข้าราชการตำรวจ และครอบครัวซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ขณะเดียวกันได้มอบถุงยังชีพ และข้าวกล่องปรุงสดจากรถครัวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดสถานการณ์อุทกภัยขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นมาอย่างต่อเนื่อง และแม้ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่ อ.รามัน จ.ยะลา ฝนจะได้หยุดตกแล้ว ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรีลดระดับลง แต่ยังคงต้องมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด

“ทุกอย่างอยู่ในพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด พระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเดินทางมามอบถุงยังชีพตั้งแต่แรก และให้กำลังพลจิตอาสาเข้ามาดูแลประชาชน" พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ระบุ

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทวีตข้อความผ่าน X ถึงสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดชายแดนใต้ว่า ขณะนี้มวลน้ำไหลไปที่จังหวัดปัตตานี ทำให้จังหวัดมีน้ำท่วมสูง ย้ำให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานความมั่นคง ร่วมกันช่วยเหลือประชาชนในทุกด้าน ทั้งอาหาร น้ำ ของใช้จำเป็น และยา

“หลังจากน้ำลดประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจะได้รับการเยียวยาฟื้นฟูทันที โดยกองทุนผู้ประสบภัย สำนักนายกฯ ที่จะดำเนินการตามระเบียบ ซึ่งเบื้องต้นใช้เงินมาช่วยเหลือพี่น้องประชาชน โดยการมอบถุงยังชีพไปแล้วกว่า 40 ล้านบาท”

ด้าน น.ส.ตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. ห่วงใยประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ได้กำชับให้บุคลากรทางการแพทย์ระดมความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ทั้งการรักษาพยาบาล ดูแลในศูนย์อพยพให้พักอาศัยชั่วคราว พร้อมแสดงความเห็นใจและส่งกำลังใจไปถึงบุคลากร สธ.ในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับความยากลำบาก ซึ่งกองสาธารณสุขฉุกเฉินได้รายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ว่า ขณะนี้สถานการณ์มีแนวโน้มลดลงทุกจังหวัด  มีรายงานผู้เสียชีวิตสะสม 12 ราย แบ่งเป็นนราธิวาส 8  ราย ยะลา 3 ราย และปัตตานี 1 ราย

น.ส.ตรีชฎากล่าวว่า สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบ 34 แห่ง อยู่ในนราธิวาส 11 แห่ง ยะลา 12  แห่ง ปัตตานี 11 แห่ง แบ่งเป็น รพ. 2 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) 1 แห่ง รพ.สต. 31 แห่ง  จำนวนนี้เปิดบริการปกติ 7 แห่ง เปิดบริการบางส่วน 1  แห่ง ปิดบริการ 26 แห่ง ได้แก่ สสอ.ยะลา 1 แห่ง รพ.สต. 25 แห่ง (ยะลา 11 แห่ง นราธิวาส 4 แห่ง และปัตตานี 10 แห่ง) ทั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อน  ส่วนกลางได้สนับสนุนยาช่วยเหลือผู้ประสบภัย 8 รายการ  จำนวน 4,200 ชุด ชุดยาแพทย์แผนไทย 372 ชุด จัดส่งแล้ว 1,200 ชุด อยู่ระหว่างดำเนินการ 3,372 ชุด  ให้การดูแลประชาชนในศูนย์อพยพที่เปิดเพิ่มขึ้น รองรับได้  6,881 คน แบ่งเป็นนราธิวาสเปิด 30 แห่ง รองรับ  2,608 คน ยะลาเปิด 3 แห่ง รองรับ 1,531 คน สงขลาเปิด 1 แห่ง รองรับ 186 คน และปัตตานีเปิด 9  แห่ง รองรับ 2,556 คน ซึ่งได้แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังโรคระบาดในศูนย์ผู้อพยพด้วย

ด้าน พล.ต.ท.ยงเกียรติ มนปราณีต ผบช.ตชด. และ พ.ต.อ.พหล เกตุแก้ว รอง ผบช.ตำรวจตระเวนชายแดน  ภาค 4 รักษาราชการแทนผู้บังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 4 ได้บินสำรวจสภาพพื้นที่ทั้งใน จ.สงขลา และต่อเนื่องไปยังในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุด โดยในส่วนของ อ.หาดใหญ่ ทั้งในตัวเมืองและพื้นที่รอบนอกยังไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำ แม้ว่าสภาพอากาศในพื้นที่ จ.สงขลาในขณะนี้ต้องเผชิญกับฝนที่ตกลงมา แต่สภาพน้ำในคลองสายหลักเช่นคลองอู่ตะเภา ที่ไหลผ่านเมืองหาดใหญ่ และคลองระบายน้ำ ร.1 ยังอยู่ในภาวะปกติ

ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่ จ.ปัตตานียังคงวิกฤต หลังน้ำจากแม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรี ไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ขยายวงกว้างขึ้นอีก ล่าสุดในพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี ระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เข้าท่วมถนนย่านเศรษฐกิจภายในตัวเมืองปัตตานีเกือบทุกสาย โดยเฉพาะ ถ.หนองจิก ซึ่งเป็นถนนสายเข้าเมืองปัตตานี เป็นที่ตั้งของโรงแรมและห้างสรรพสินค้า ระดับน้ำสูงกว่า 50  เซนติเมตร ในขณะที่เทศบาลเมืองปัตตานีนำธงแดงมาติดตั้งไว้ที่สะพานเดชานุชิต และใช้เครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากถนนอย่างเร่งด่วน โดยนำเครื่องสูบน้ำจำนวน 66 ตัวติดตั้งไว้ตามจุดต่างๆ รอบตัวเมืองปัตตานีเพื่อเร่งระบายน้ำ เตรียมรับระดับน้ำที่คาดว่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมประกาศเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด และเตือนบุตรหลานไม่ให้ออกมาเล่นน้ำช่วงนี้ เนื่องจากกระแสน้ำแรงและเชี่ยวกรากอาจเป็นอันตรายได้ สำหรับในตัวเมืองปัตตานี มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 6 ตำบล รวม 14 หมู่บ้าน  1,767 ครัวเรือน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 6,603 ราย

ส่วนที่ อ.รามัน จ.ยะลา หลังสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงหลงเหลือไว้ซึ่งเศษซากปรักหักพังความเสียหาย ชาวบ้านในพื้นที่ ต.อาซ่องเผยว่า ในวันที่น้ำพัดเข้ามาเป็นเวลาที่รวดเร็วมาก ไม่สามารถขนของหนีออกมาได้ทัน ไม่ว่าจะเป็นทะเบียนบ้าน เอกสารราชการ ตลอดจนเสื้อผ้าหรือสิ่งของมีค่า ดีใจที่ภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชาวบ้านใกล้เคียงนำอาหารปรุงสำเร็จและน้ำดื่มเข้ามาแจกจ่าย ซึ่งขณะนี้ยังขาดสิ่งสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา หรือระบบไฟฟ้าส่องสว่าง มีเพียงแสงสว่างจากเสาไฟสาธารณะริมถนนที่ช่วยให้มองเห็นได้ในยามค่ำคืน รวมทั้งยาสามัญประจำบ้านและยารักษาโรคน้ำกัดเท้า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง