ไม่ขวางแตะทักษิณ ปธ.สภาฯชี้โยงงบอภิปรายได้/ก.ก.ชำแหละ4วิกฤต

“ฝ่ายค้าน” จ่อซัดรัฐบาลอ้างวิกฤตตั้งงบฯ แต่เดินตามรอย "ลุงตู่" แบบปกติ อัดตีเช็คเปล่า “งบกลาง” ใส่มือนายกฯ 6 แสนล้านเพิ่มจากปี 66 กว่า 1.6 หมื่น ล. แถมไม่ตอบโจทย์นโยบายหาเสียง พลิกดู "ไร้ซอฟต์พาวเวอร์" ทั้งที่ตีปี๊บจัดเวทีสร้างภาพ "อิ๊งค์" ด้าน "วันนอร์" เผยเนื้อหาโยงทักษิณสามารถอภิปรายได้ "นายกฯ"  เปิดทำเนียบฯ ทำบุญ-อวยพรปีใหม่ ถกรมต.พรรคเร่งประชาสัมพันธ์งานให้ปัง  รอฤกษ์นอนทำเนียบฯ หลัง 7 ม.ค.

วันที่ 2 ม.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง พร้อม พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน ภริยา เดินทางถึงทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็นประธานพิธีทำบุญเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ที่ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี (ครม.) สักการะพระพรหมบนตึกไทยคู่ฟ้า และเดินลงมาสักการะศาลพระภูมิเจ้าที่ ศาลตาศาลยาย สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบฯ เพื่อความเป็นสิริมงคลในวันขึ้นปีใหม่ จากนั้นให้สัมภาษณ์ว่า ได้ขอพรให้บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง และชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น ขอให้มีแรงบันดาลใจเยอะๆ ในการทำงาน และยังได้ขอพรให้กับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะด้วย ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เมื่อกี้ทำบุญ สมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ ได้ถามว่าเหนื่อยไหม ซึ่งตนก็ได้หัวเราะไป ส่วนที่ช่วงใส่บาตรได้มีการสนทนาธรรมกับพระมหาธีราจารย์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะอยู่นานนั้น เพราะท่านรู้จักกับคุณหมอ (พญ.พักตร์พิไล ทวีสิน) และคุณแม่ของคุณหมอ

เมื่อถามว่า ที่บอกว่าได้ฤกษ์นอนทำเนียบฯ วันที่ 7 ม.ค. เป็นฤกษ์อย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ไม่ทราบว่า ทำไมต้องเป็นวันที่ 7 ม.ค. แต่ฤกษ์มาอย่างนั้น คุณจะถามหรือว่าฤกษ์ทำไมมาอย่างนั้น           เมื่อถามว่า แสดงว่าเป็นวันที่ดีใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ก็หวังว่าเป็นอย่างนั้น และวันที่ 7 ม.ค.ถือเป็นวันแรกที่สามารถเข้านอนได้ แต่อาจเป็นวันที่ 9 ม.ค., 12 ม.ค. หรือ 14 ม.ค. ตนไม่แน่ใจ จำไม่ได้ ต้องไปดูอีกที แต่จะนอนก่อนวันที่ 7 ม.ค. ไม่ได้เพราะเป็นฤกษ์ 

นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์หลังการประชุม ครม.ว่า ได้ขอให้ ครม.น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานในโอกาสวันขึ้นปีใหม่มาเป็นแนวทางในการทำงาน และเป็นปีมหามงคลด้วย เนื่องจากจะมีพระราชพิธีเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ หรือ 72 พรรษา ซึ่งเรามีแผนงานที่ชัดเจน ก็ขอให้คณะกรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดดำเนินงานอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะเกี่ยวกับเรื่องของศาสตร์การทำงาน และการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราควรต้องทำตาม และการหารือต่อกับรัฐมนตรีในส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้านั้น ก็ไม่ได้มีอะไรที่จะต้องกำชับเป็นพิเศษ เพียงแต่ไม่ได้เจอกันมาประมาณ 1 เดือน ซึ่งการพูดคุยเป็นการกำชับในเรื่องของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ที่จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา และเรื่องของพื้นที่ในการดูแลพี่น้องประชาชน

 “เราจะต้องไม่ลืมว่ารัฐมนตรีทุกคนนั้นอยู่ในตำแหน่งฝ่ายบริหาร ก็ต้องพยายามเตือนกันว่าจะต้องลงพื้นที่ด้วย อย่าลืมพี่น้องประชาชน เพราะหลายท่านก็เป็น สส.อยู่เช่นกัน วันนี้ถือเป็นการพูดคุยกันมากกว่า และเป็นการสื่อสารทั้งสองทาง รัฐมนตรีเองก็อาจจะอยากสื่อสารอะไรให้ผมทราบด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ผมจะสื่อสารเพียงฝ่ายเดียว เราอยู่ด้วยกัน เป็นพาร์ตเนอร์กัน ก็ต้องพูดคุยกันตลอด”

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการหารือในลักษณะกระชับมิตรกันด้วยหรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า ขอบคุณที่เตือน เพราะในครั้งต่อไป นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นเจ้าภาพในงานเลี้ยงครั้งต่อไป ก็ยังไม่ได้มีการชวนเลย เดี๋ยวสื่อต้องทวงท่านเองก็แล้วกัน

 “แหม! คนที่เขาจะเลี้ยงเขายังไม่ชวนเลย เดี๋ยวคงต้องไปทวงท่านอนุทินกันด้วยแล้วกัน ผมก็อยากให้ท่านเลี้ยงอยู่เหมือนกัน ยินดีอยู่แล้ว บังเอิญในช่วงส่งท้ายปีเก่าได้เจอกับท่านที่หัวหิน ก็ลืมทวงไปหน่อย แต่เชื่อว่าท่านก็อยากกินอยู่ แต่บังเอิญว่ายังยุ่งๆ กัน อยากทานครับ” นายกฯ กล่าว

ผบ.เหล่าทัพอวยพรปีใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศในช่วงบ่ายว่า นายกฯ ได้เปิดโอกาสให้ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด,  พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ.,  พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ.,  พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. เข้าอวยพรปีใหม่ โดย ผบ.ทร.เปิดเผยสั้นๆว่า ขอให้นายกฯ มีกำลังในการพัฒนาประเทศต่อไป จากนั้นข้าราชการสำนักนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เข้าอวยพร พร้อมเปิดเผยว่า  นายกฯ ได้กล่าวขอบคุณสำหรับการทำงานที่ผ่านมา ถ้าหากนายกฯ ช่วยเหลืออะไรได้ก็เต็มใจ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี​และ​รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​พาณิชย์​ กล่าวถึงการที่นายกฯ หารือกับรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าไม่ได้เป็นการเรียกประชุม โดยปกติเราจะมีการรับประทานอาหารกันร่วมกัน ซึ่งวันนี้นายกรัฐมนตรี​ได้เน้นย้ำว่าพวกเรามีงานทำเยอะ แต่การประชาสัมพันธ์​มีไม่มาก เพราะฉะนั้นจึงอยากให้ทุกคนพูดในสิ่งที่ตัวเองทำ โดยเฉพาะ​อย่างยิ่งที่เราได้ทำงานมา 2-3 เดือนนี้ ก็เริ่มมีผลงานออกมามากขึ้นทั้งเรื่องที่ดินที่มีการแจกจ่าย หรืออย่างเรื่องเรือประมง ก็ทำกฎหมาย​ 19 ฉบับ เป็นการแก้ไขระเบียบ​ต่างๆ วันนี้จึงมีผลทำให้ชาวประมงเริ่มออกเรือได้  ฉะนั้นพอหลังจากปีใหม่มาผลงานต่างๆก็จะเริ่มเห็นมากขึ้น 

 “มี 2 ประเด็นที่ยังไม่เห็นเป็นผลงาน เพราะเป็นการไปรื้อเรื่องเก่าที่เป็นปัญหา อีกส่วนหนึ่งคืองานวางโครงสร้าง ฉะนั้นเป็นการแก้เรื่องเก่าว่างเรื่องใหม่ จึงไม่คิดว่าที่ทำมาไม่ได้มีผลงาน เพียงแต่ว่าหลังจากนี้จะเริ่มปรากฏ​ผลงานมากขึ้น อยากให้ทุกฝ่ายได้ประชาสัมพันธ์​สิ่งที่ทำ ไม่ได้เป็นการคุยเรื่องที่เกินจริง แต่จะเป็นการนำผลงานที่เป็นรูปธรรมให้ประชาชนได้รับรู้มากขึ้น และสิ่งที่ทำอยู่แล้วนายกรัฐมนตรี​ก็ได้ให้กำลังใจ ในปีนี้ก็เป็นปีที่เราทำงานหนักเพิ่ม​ขึ้น​ เพราะเราจะเริ่มคลาย​กฎระเบียบ​ต่างๆ ในวันนี้ถือว่าเราไปเสริม​กำลังกายกำลังใจมาพร้อมที่จะทำงาน”

นายภูมิธรรมยังกล่าวกรณีกระแสข่าวการปรับคณะรัฐมนตรี โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  จะเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่า ได้ยินเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง ได้ยินมาตลอด แต่ยังไม่เคยเป็นจริง เป็นเรื่องที่มีทัศนะกันไป ไม่ได้มีปัญหาอะไร ตอนนี้ ครม.ไม่ได้คิดเรื่องปรับอะไร เราทำงานกันอย่างเต็มที่ ทุกพรรคไม่มีปัญหานี้ ในคณะรัฐมนตรีไม่เคยได้ยิน มีแต่สื่อถาม ยืนยันไม่มีอะไรเป็นสัญญาณเช่นนั้น และยืนยันไม่ทำให้การทำงานวอกแวก เพราะเราอยู่กับความเป็นจริง ความเป็นจริงตอนนี้เราร่วมมือกันดี ประสานงานกันดี และเสียงที่ได้ยินเป็นเสียงจากภายนอกที่อาจไม่เข้าใจสิ่งที่เป็นอยู่ เมื่อถามว่าทำไมกระแสข่าวนี้ถึงมีมาตลอด นายภูมิธรรมกล่าวว่า คนที่รู้ดีที่สุดน่าจะเป็นสื่อ เมื่อถามย้ำว่าคิดว่า น.ส.แพทองธาร เหมาะเข้ามาในสถานการณ์ตอนนี้หรือไม่ นายภูมิธรรมตอบว่า น.ส.แพทองธาร กำลังทำหน้าที่หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเรามียุทธศาสตร์การเดิน 3 ขา คือ พรรค  สภา รัฐบาล ทั้งสามส่วนทำงานเพื่อประชาชน ทุกฝ่ายมีบทบาทหน้าที่ของตัวเอง คิดว่าถ้าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงคือให้มันจบกระบวนการที่ทำงานนี้อยู่ ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปถึงจุดนั้นค่อยว่ากัน ตอนนี้ยังไกลเหมือนกันที่จะไปถึงจุดที่มีการสอบถาม

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ตนเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถชี้แจงได้ทุกประเด็นและทุกข้อสงสัย โดยไม่มีอะไรที่น่าเป็นห่วง เพราะทุกอย่างเดินหน้าด้วยเหตุผลและความถูกต้อง ขณะนี้งบประมาณปี 67 ได้เกิดความล่าช้า ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน รวมถึงภาคเอกชนมีความกังวลว่าความล่าช้า อาจกระทบต่อการนำงบประมาณไปกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นทุกฝ่ายควรช่วยกันเดินหน้าเพื่อให้งบประมาณสามารถนำมาขับเคลื่อนงานได้เร็ว ทันความต้องการของพี่น้องประชาชน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าว น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มาเป็นรัฐมนตรีว่า ให้ความเห็นไม่ได้ เพราะไม่ใช่พรรคที่ตนเกี่ยวข้อง ต้องไปถามจากพรรคเพื่อไทย แต่ น.ส.แพทองธารก็เป็นหัวหน้าพรรค แล้วลูกพรรคยังเป็นรัฐมนตรีได้เลย ทำไมหัวหน้าพรรคจะเป็นไม่ได้ เป็นยิ่งกว่านั้นยังได้เลย เมื่อถามว่ามั่นใจว่า น.ส.แพทองธารมีศักยภาพมากพอใช่หรือไม่  นายอนุทินกล่าวว่า น.ส.แพทองธาร เป็นหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อถามย้ำว่า คิดว่า น.ส.แพทองธารเหมาะกับกระทรวงไหน นายอนุทินกล่าวว่า ถามเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับพรรคภูมิใจไทยดีกว่า

สำหรับการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ที่จะเข้าสภาวันที่ 3-5 ม.ค.นั้น กระทรวงมหาดไทยเป็นกระทรวงที่ดูแลสารทุกข์สุกดิบให้ประชาชนทุกเรื่อง และส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่อธิบายได้ เพราะได้งบมาเท่าไหร่ก็ลงพื้นที่หมด ตัวเลขกว่า 4 แสนล้านอย่าตกใจเลย เพราะเป็นของประชาชน 70-80% ของกระทรวงไม่ถึง 20% เหมือนเป็นการเอางบมาฝากไว้ที่กระทรวงมหาดไทยมากกว่า

ไม่ขวางอภิปรายโยงทักษิณ

ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่เริ่มในวันที่ 3 ม.ค.ว่า ได้มีการแบ่งเวลากันลงตัวแล้ว โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน  รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ได้เชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาหารือ และจะเริ่มประชุมตั้งแต่เวลา 09.30 น.เป็นต้นไป ทั้งนี้ ไม่รู้สึกกังวลว่าจะมีการใช้เวทีนี้เป็นเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจย่อยๆ เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป สมาชิกทุกคนพัฒนาแล้ว จึงเชื่อมั่นว่าจะอภิปรายงบประมาณตามสาระสำคัญ และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

 “การอภิปรายในสภามีการพัฒนาไปมาก อยากให้ประชาชนได้ฟังการชี้แจงถึงการใช้จ่ายงบประมาณจากทางรัฐบาล ว่าจะใช้งบประมาณอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ขณะที่ฝ่ายค้านมีอะไรที่ตำหนิจริงๆ เพื่อให้รัฐบาลแก้ไข ก็เป็นเรื่องธรรมดาของสภา โดยจะใช้เวลา 3 วันที่กำหนดไว้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก็จะได้เห็นการพัฒนาในรูปแบบใหม่ที่ฝ่ายค้านและรัฐบาลตั้งใจจะทำให้เกิดประโยชน์ และในส่วนของสภาก็จะเปิดโอกาสให้อภิปรายอย่างเต็มที่ตามข้อบังคับการประชุม”

เมื่อถามว่า หากมีการอภิปรายงบประมาณของกรมราชทัณฑ์ และมีการพาดพิงถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะเปิดโอกาสให้พูดหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการอภิปรายเรื่องของงบประมาณ หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงกับงบประมาณก็สามารถที่จะอภิปรายได้ แต่หากไม่เกี่ยวกับงบประมาณก็ต้องเอาไว้ไปอภิปรายตอนที่มีการเสนอญัตติ กระทู้ หรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะในช่วง 3 วันนี้เป็นเรื่องของงบประมาณ 2567 จึงเชื่อว่าทุกคนคงทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการอภิปรายน่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่ได้มีการกำชับอะไรกับสมาชิกเป็นพิเศษ เพราะสภาในยุคนี้มีการพัฒนาไปเยอะ คงไม่จำเป็นเหมือนสมัยก่อนที่จะต้องมีองครักษ์พิทักษ์รัฐบาล คอยประท้วงเรื่องโน้นเรื่องนี้ ตอนนี้ไม่ค่อยมีการประท้วงอะไรมากมาย ทุกอย่างเป็นไปตามข้อบังคับ ซึ่งตนคิดว่าเข้ายุคของสภาที่มีการปฏิรูปพัฒนา เราก็ต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องผิดหวัง

ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวย้ำว่า กรอบเวลาในการอภิปรายงบประมาณ 67 แบ่งค่อนข้างชัดเจน ซึ่งประธานไม่ต้องคอยดูว่าแต่ละคนใช้เวลาเท่าไหร่ เพราะจะมีการควบคุมกันเอง โดยรัฐบาล สส.และ ครม.ใช้เวลา 20 ชั่วโมง ขณะที่ฝ่ายค้าน ตั้งแต่ผู้นำฝ่ายค้านฯ หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน และสมาชิก จะได้เวลา 20 ชั่วโมง ส่วนการอำนวยการประชุมของประธานสภาฯและรองประธานสภาฯ ก็ไม่น่าจะเกิน 3 ชั่วโมง คาดว่าในวันสุดท้ายของการอภิปรายคือวันที่ 5 ม.ค.น่าจะลงมติรับหลักการได้ในเวลา 22.00 น. เพราะจะต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ ขึ้นมาเพื่อที่จะนัดหมายการทำงานกันต่อไป จะได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา 105 วัน เพราะถือว่าช้ามาพอสมควร จึงคิดว่าน่าจะเสร็จก่อน 105 วัน

  ต่อข้อถามว่า ฝ่ายค้านท้วงติงว่า รัฐบาลรวบรัดเวลาในการพิจารณา ทำให้มีเวลาศึกษารายละเอียดร่าง พ.ร.บ.งบฯ น้อยนั้น นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เข้าใจ แต่เรื่องของเวลาเป็นเรื่องที่ตกลงกันเองของสมาชิก ซึ่งสภาพร้อมที่จะกำหนดเวลา เพราะสภาเป็นของสมาชิกทุกคน ไม่ใช่ของรัฐบาลและฝ่ายค้าน ดังนั้นต้องตกลงกัน เมื่อรัฐบาลส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มาแล้วก็มีการปรึกษาหารือกัน และตกลงว่าจะประชุมพิจารณาในวันที่ 3-5 ม.ค. ก็ปฏิบัติตามนี้ได้ เพราะสัปดาห์ถัดไปสมาชิกมีภาระในเรื่องของวันเด็ก ซึ่ง สส.ไม่อยากประชุมใกล้วันเด็ก เนื่องจากต้องเตรียมไปร่วมงาน และทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลา เพราะช่วง 3 วันที่มีอยู่ ไม่ใช่ว่าทุกคนจะอภิปรายพร้อมกัน แต่คนที่อภิปรายวันแรกอาจจะมีเวลากระชั้นหน่อย ส่วนคนที่อภิปรายวันถัดไป ก็มีเวลาในการศึกษา และแต่ละคนก็ไม่ใช่จะอภิปรายงบประมาณทั้งหมด แต่ละคนก็แบ่งกัน จึงเชื่อว่าทั้งหมดน่าจะเป็นไปด้วยดี

เมื่อถามว่า จะมีการกำชับ สส.อย่างไรเพื่อป้องกันข้อครหาการเรียกรับเงิน ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ยุคนี้ไม่มีแล้ว เพราะเป็นยุคของคนรุ่นใหม่ และประชาชนก็ตรวจสอบอยู่ เห็นหรือไม่ว่าใครที่ทำอะไรไม่ดี ไม่ว่าจะเรียกทรัพย์ ตบทรัพย์ หรือทำอะไรไม่ดีก็จะไม่ได้รับเลือกเข้ามาเป็น สส.อีกในรอบต่อไป

รัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า  ไม่มีความกังวล เพราะข้อมูลการใช้งบประมาณฯ ทางรัฐมนตรีได้ส่งหัวข้อสำคัญเตรียมอภิปรายแล้ว สิ่งสำคัญคือพรรคเพื่อไทยมี สส.รุ่นใหม่ เรียนรู้ได้ไว หลังจากทราบงบประมาณก็ได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง มีความมั่นใจมากกว่าทุกครั้ง มีการเตรียมตัวอย่างดี เชื่อว่าไม่มีปัญหา ส่วนถ้าหากมีการอภิปรายงบประมาณของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณ ชินวัตรนั้น ที่ผ่านมามีหลายคนออกมาพูดถึง ว่ามีการเอื้อประโยชน์ ก็ต้องไปดูในกฎหมาย เพราะระเบียบออกมาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว ซึ่งนายทักษิณเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับอานิสงส์ในการออกกฎหมาย หากจะมาเล่นเรื่องนี้ เพื่อทำลายนักโทษคนอื่นๆ ก็ต้องยกเลิกด้วยทั้งหมดใช่หรือไม่ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการทำเพื่อนายทักษิณ อะไรที่มันมีอยู่แล้ว ไม่ควรไปแตะต้องให้เกิดปัญหา ส่วนตัวเชื่อว่านักการเมืองรุ่นใหม่ ต้องไม่นำเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณในสภามาพูด ขณะที่ฝ่ายค้านอย่างก้าวไกล ถือว่าเตรียมตัวมาดี ทางรัฐบาลก็ต้องฟัง

ชำแหละจัดงบวิกฤตจริงไหม

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ในการประชุมวิปฝ่ายค้านวันที่ 2 ม.ค.2567 เชิญ 3 หน่วยงาน ได้แก่  กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ   สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชี้แจงถึงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีสาระสำคัญอย่างไร และมีเหตุผลการปรับเปลี่ยนงบประมาณด้านต่างๆ อย่างไร ส่วนที่ฝ่ายรัฐบาลขอให้การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ครั้งนี้ไม่ให้โยงถึงนายทักษิณนั้น คิดว่าไม่เกี่ยวข้องอะไร สส.ทุกคนทราบอยู่แล้วว่าวาระที่จำเป็นและเกี่ยวข้องก็ต้องค่อยพูดถึง ถ้าวาระที่ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความจำเป็นต้องเอ่ยถึงบุคคลภายนอก

นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า แม้สัปดาห์ที่แล้วไม่มีการประชุมวิปฝ่ายค้าน แต่ได้โทรศัพท์แจ้งพรรคการเมืองต่างๆ ถึงการแบ่งเวลา โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้ 200นาที, พรรคไทยสร้างไทย 1 ชั่วโมง,  พรรคเป็นธรรม 20 นาที ส่วนพรรคเล็ก อย่างพรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคใหม่ ได้เวลาพรรคละ 10 นาที ส่วนการจัดหมวดหมู่อภิปรายนั้น พรรคก้าวไกลประกาศไปแล้วว่าเตรียมการอภิปรายคือวิกฤติแบบใดทำไมจัดงบแบบนี้ เพราะรัฐบาลบอกตลอดเวลาว่า ประเทศไทยอยู่ในวิกฤตต้องกู้เงินมาทำโครงการต่างๆ การทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่สุดท้ายการกระทำสะท้อนออกมาผ่านการจัดทำงบประมาณว่า รัฐบาลมองประเทศมีวิกฤตจริงหรือไม่ เท่าที่ดูยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในการจัดสรรงบประมาณเปลี่ยนไปจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากเท่าไร เราเข้าใจดีว่า รัฐบาลเพิ่งมาบริหารประเทศได้ไม่กี่เดือน แต่ต้องบอกว่าตอนที่รัฐบาลรับตำแหน่งร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 67 พร้อมเข้าสภาอยู่แล้ว แต่เมื่อล่าช้ามาขนาดนี้ เราจึงคาดหวังเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญว่า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว และทิศทางการหาเสียงแตกต่างจากรัฐบาลที่แล้วพอสมควร

เมื่อถามว่า ช่วงหยุดปีใหม่ ฝ่ายค้านได้ศึกษาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เห็นความผิดปกติอย่างไรบ้าง นายปกรณ์วุฒิตอบว่า ความผิดปกติคือความปกติเพราะจัดงบเหมือนปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่แน่ใจว่า 3 เดือนที่ผ่านมา กว่าร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี 67 จะเข้าสภา และกว่าจะบังคับใช้ได้ มีความล่าช้าไปครึ่งปี ก็เหมือนปกติ แทบไม่เปลี่ยนแปลงอะไร การอภิปรายระหว่างวันที่ 3-5 ม.ค.2567 นี้ ฝ่ายค้านวางไว้หลายด้าน เช่น วิกฤตเศรษฐกิจปากท้องที่พรรคเพื่อไทยเน้นย้ำอย่างมากว่าเราอยู่ในวิกฤตเศรษฐกิจ ฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นว่าการบอกว่ามีวิกฤตเศรษฐกิจแล้วจัดงบแบบนี้หรือ รวมถึงงบด้านสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำที่พรรคการเมืองพูดถึงวิกฤตความเหลื่อมล้ำ แต่การจัดงบไม่สามารถบรรเทาความเหลื่อมล้ำในประเทศได้เลย และวิกฤตทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่เด็กเกิดน้อย การศึกษาของเยาวชนเติบโตจนเป็นแรงงานด้านต่างๆ เราได้งบประมาณเพื่อรองรับการเติบโตของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศที่รัฐมนตรีเพิ่งออกมาพูดถึงอัตราเด็กเกิดต่ำ อาจกระทบในอนาคต การจัดงบประมาณสะท้อนวิกฤตปัญหาเหล่านี้หรือไม่

 นายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ จะชี้ให้เห็นว่างบประมาณที่จะใช้จ่ายเพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ตั้งแต่ประกาศหาเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งบรรจุในคำแถลงนโยบายรัฐบาลนั้น ขาดการให้ความสำคัญในการใช้งบประมาณเป็นเครื่องมือเพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลสัมฤทธิ์ จนกลายเป็นว่าสิ่งที่รัฐบาลหาเสียงไว้กับประชาชนนั้นเหมือนกับเป็นการตีเช็คเปล่า โดยหวังอาศัยชื่อเสียงเก่าๆ เพื่อจะรักษาแบรนด์ของพรรคเพื่อไทยเอาไว้ว่าเป็นพรรคต้นตำรับด้านประชานิยม เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ปริญญาตรี 25,000 บาท ปรากฏไม่พบงบประมาณรายการใดที่ใช้ผลักดันการขึ้นค่าแรงงานของภาคเอกชน ซึ่งต่างจากท่าทีของนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าไม่มีความสุขเพราะค่าแรงขึ้นน้อยเกินไป ส่วนของค่าแรงภาคราชการ มีหมวดเงินเดือนข้าราชการที่เพิ่มขึ้นมา แต่ก็ยังไม่ถึงตามจำนวนที่ได้หาเสียงไว้

“นโยบายส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ในทุกมิติกลับกลายเป็นว่า นอกจากจะเป็นเวทีให้ชื่อของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ติดหูติดตาประชาชนแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีการวางแผนและงบประมาณไว้อย่างไร ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากว่าขณะนี้ใครที่หยิบจับอะไรได้ก็มาประโคมว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ โดยหวังแค่กระแสครั้งคราวและเงียบหายไป โดยไม่ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์และงบประมาณที่จะใช้ส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นระบบนโยบายรถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย ก็ไม่ปรากฏ รายการแผนงาน และโครงการที่เกี่ยวข้องใน รฟม. รฟท. แต่อาจแฝงอยู่ในหมวดงบชดเชยรายได้ของ รฟม.และ รฟท. ซึ่งไม่ได้จำแนกรายการออกมาให้ปรากฏชัดเจน รวมทั้ง โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ปรากฏว่าไม่มีในรายการของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ แต่อย่างใด ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่ารัฐบาลเมื่อได้ทราบถึงสถานการณ์การเงินการคลัง รวมทั้งข้อจำกัดต่างๆ แล้ว ก็จะล้มเลิกความคิด หรือเปลี่ยนแปลงวิธีการในการดำเนินนโยบายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ในเมื่อมีการบรรจุอยู่ในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลแล้ว ก็ต้องขอให้รัฐบาลตอบคำถามให้ได้”

นายชัยชนะกล่าวต่อว่า สำหรับงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น อยากจะให้ประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด สัดส่วนรายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อรายได้สุทธิของรัฐบาลคงที่อยู่ที่ร้อยละ 29 มา 7 ปีติดต่อกันแล้ว ซึ่งยังคงน้อยกว่าเป้าหมายตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่ร้อยละ 35 ทำให้การจัดการบริการสาธารณะขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังไม่สามารถพัฒนาคุณภาพบริการสาธารณะได้ตามที่กฎหมายกำหนด  รวมทั้งไม่มีความชัดเจน

ทางด้านนายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า การจัดสรรงบประมาณในส่วนของงบกลางนั้น สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563-2567 มีการจัดสรรงบกลางไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 2.9 ล้านล้านบาท เฉลี่ย 5.8 แสนล้านบาทต่อปี โดยในปีงบประมาณ 2567 มีการจัดสรรงบกลางกว่า 6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 16,295 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่มากที่สุดในกลุ่มประเภทรายจ่ายที่ได้รับการจัดสรร โดยส่วนใหญ่เป็นงบประมาณรายจ่ายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐถึงร้อยละ 82.9 และเป็นงบประมาณเพื่อสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจำนวน 98,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 6,100 ล้านบาท จากปี 2566

นายสรรเพชญกล่าวต่อว่า สำหรับงบกลางน่าสังเกตว่าเป็นการตีเช็คเปล่าให้นายกฯ หรือไม่ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่างบส่วนนี้เป็นงบที่ตรวจสอบยากที่สุด และเมื่อย้อนไปฟังคำอภิปรายของ สส. และ ครม. ซึ่งหลายท่านวันนั้นท่านนั่งทำหน้าที่ฝ่ายค้านอยู่ตรงนี้ ท่านวิจารณ์รัฐบาลชุดที่ผ่านมาว่าใช้งบกลางเป็นจำนวนมาก และของบกลางเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี แต่มาวันนี้ท่านกลับทำในสิ่งที่ตนได้พูดไว้ในอดีต และตั้งข้อสังเกตว่าการกระทำแบบนี้เข้าข่ายว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเองหรือไม่  ซึ่งตนในฐานะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ จะติดตามการใช้จ่ายงบประมาณอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของพี่น้องประชาชน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ เยือนโรงงานผลิตผ้าแบรนด์ชั้นนำอิตาลี ต่อยอดภูมิปัญญาผ้าย้อมครามไทยสู่สากล

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานของห้องเสื้อ Zegna เมืองวาลดิลานา (Valdilana) และพบหารือกับนาย Gildo Zegna ผู้บริหารของห้องเสื้อ Zegna