ยุบทิ้ง‘คนดีศรีสภา’ เหตุไร้ผู้ทรงเกียรติคู่ควร อนาถ!ฉายา‘สภาอับปาง’

งามหน้า! ฉายาสภาประจำปี 2564 สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาอับปาง สะท้อนการทำงานของทั่นผู้ทรงเกียรติที่ไม่ยึดประโยชน์ประชาชนและประเทศเป็นที่ตั้ง ส่วนสภาสูงเป็นผู้เฒ่าเฝ้ามรดก คสช. ผู้นำฝ่ายค้านได้ฉายา "สมพงษ์ตกสวรรค์" ส่วนชลน่านคว้าดาวเด่น อึ้ง! ยกเลิกตำแหน่งคนดีศรีสภาเพราะไม่มีคนคู่ควร

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 ธ.ค. ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาได้เปิดเผยฉายาของรัฐสภาประจำปี 2564 เพื่อสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ประกอบด้วย ฉายาสภาผู้แทนราษฎร ว่าเป็นสภาอับปาง เนื่องจากสภาเปรียบเสมือนเรือขนาดใหญ่ ที่บรรทุกความรับผิดชอบชีวิตของประชาชนและงานบริหารราชการแผ่นดิน แต่พบว่าเรือสภาลำนี้ในรอบปี 2564 กลับประสบปัญหาสภาล่ม อับปาง โดยเริ่มตั้งแต่ปลายสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา สมัยแรก และหนักข้อขึ้นตลอดเดือน พ.ย.และ ธ.ค. ซึ่งตามปกติปัญหาสภาล่มไม่ใช่เรื่องปกติ แต่สภาชุดนี้กลับทำให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นความซ้ำซาก เพราะ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลไม่ตระหนักถึงหน้าที่ของ ส.ส. ประกอบกับตายใจว่าตนเองเป็นเสียงข้างมาก จึงเข้าร่วมประชุมสภาน้อย ขณะเดียวกัน ส.ส.ฝ่ายค้านมัวแต่จ้องเล่นเกมการเมือง ฉะนั้นการที่สภาอับปางบ่อยกว่าเรือล่ม จึงเป็นการสะท้อนว่า ส.ส.ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยึดถือประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

สำหรับฉายาวุฒิสภานั้นคือ ผู้เฒ่าเฝ้ามรดก (คสช.) เพราะ ส.ว.ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ถูกมองว่าคอยทำหน้าที่ปกป้องเฝ้ารักษามรดกที่เป็นโครงสร้างและกลไกสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญหลายครั้งที่ถูก ส.ว.โหวตคว่ำ ใครที่คิดจะทำหรือแก้ไขกฎหมายที่มีผลกระทบต่อกลไกอำนาจของ คสช. จะถูกผู้เฒ่า ส.ว.ต่อต้านขัดขวางไปหมด เหมือนกับคอยพิทักษ์มรดกของ คสช.ให้อยู่สืบต่อไป ส่วนฉายานายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร คือ ชวนพลังท่อม ซึ่งได้มาจากการติดตามการทำงานของนายชวน ทั้งการนั่งเป็นประธานบนบัลลังก์ในการประชุมสภา และการประชุมรัฐสภาที่นั่งควบคุมการประชุมได้อย่างยาวนาน และหลังเสร็จจากงานประธานก็ปฏิบัติภารกิจอื่นๆอีกมากมาย ราวกับคนเคี้ยวใบกระท่อมที่จะมีเรี่ยวแรง อึด ถึก และทนมากเป็นพิเศษ

ส่วนฉายานายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน ส.ว.คือ ร่างทรง เพราะนายพรเพชรทำงานให้ คสช.มายาวนาน ตั้งแต่สมัยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนมาถึงปัจจุบัน แต่บทบาทของนายพรเพชรกลับไม่มีความโดดเด่น ทั้งที่เป็นถึงประมุขสภาสูง และยังถูกมองว่าคอยสนองความต้องการของรัฐบาลอย่างเดียว ตำแหน่งประมุขสภาสูงจึงเป็นเพียงหัวโขนทางการเมือง แต่ไม่มีอำนาจแท้จริง ไม่ต่างจากร่างทรงที่ถูกฝ่ายกุมอำนาจกุมบังเหียน

ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภายังได้ตั้งฉายานายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย (พท.) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ว่าสมพงษ์ตกสวรรค์ แม้ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ จากนายสมพงษ์เป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่านก็ตาม แต่ นพ.ชลน่านเพิ่งเข้ามาและยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ ซึ่งนายสมพงษ์ได้ตำแหน่งมาเพราะมีคนมอบให้ นอนมาแบบแบเบอร์ ไร้คู่แข่ง แต่ครั้นได้รับตำแหน่งกลับไร้บทบาท ไม่โดดเด่น มิหนำซ้ำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ยังพลาด เช่น ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายสมพงษ์ก็เอ่ยชื่อ-นามสกุล พล.อ.ประยุทธ์ ผิดติดต่อกัน 2-3 ครั้ง และในการประชุมใหญ่สามัญพรรค พท. นายสมพงษ์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เท่ากับหลุดจากตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ โดยปริยาย จึงเปรียบได้ว่าเป็นสมพงษ์ตกสวรรค์

ขณะที่ดาวเด่นแห่งปีคือ นพ.ชลน่าน ซึ่งมีบทบาทในวิปฝ่ายค้านมานาน แต่กลับพลาดตำแหน่งสำคัญๆ แต่สุดท้ายผลงานเข้าตาผู้ใหญ่ในพรรค พท. จนได้รับการผลักดันให้เป็นหัวหน้าพรรค และขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ส่วนดาวดับ คือ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีตประธานวิปรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาท สมาชิกทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างให้ความเชื่อถือและความเกรงใจ แต่ปรากฏว่าบทบาทนายวิรัชในฐานะประธานวิปรัฐบาล ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธภาพ หลายครั้งเกิดเหตุความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.ภายในพรรค พปชร. รวมถึงความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากคดีทุจริตสนามฟุตซอลโรงเรียนใน จ.นครราชสีมา สมัยเป็น ส.ส.สังกัดพรรค พท. ทำให้เขาเป็นดาวดับ

สำหรับเหตุการณ์เด่นแห่งปีคือ แผนกบฏการเมืองล้มนายกฯ ช่วงปลายเดือน ส.ค. ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก 6 รัฐมนตรี แต่ไฮไลต์กลับอยู่ที่นอกห้องประชุม เมื่อมีรายงานข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมัยนั้นเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ เดินสายล็อบบี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ให้ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ความลับถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน กลายเป็นข่าวใหญ่โตซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ลูกพรรคเดินเกมล็อบบี้ ส.ส.ในพรรคของตัวเอง เพื่อโค่นล้มนายกฯ และเหตุการณ์นี้นำมาสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างนายกฯ กับ ร.อ.ธรรมนัส และหลังเหตุการณ์นั้นไม่นานมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาปลด ร.อ.ธรรมนัสออกจากตำแหน่ง รมช. และจนถึงทุกวันนี้ความรู้สึกกินแหนงแคลงใจก็ยังคงอยู่

ด้านวาทะแห่งปีคือ วัคซีนเต็มแขน ซึ่งเป็นคำชี้แจงของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข เกี่ยวกับวัคซีนในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือน ก.พ.2564 ว่า “ไตรมาส 3 วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทยอยู่เต็มโรงพยาบาลแล้วครับ อยู่เต็มแขนของพี่น้องประชาชนคนไทยแล้ว” ภายหลังจากที่ชี้แจงในสภา ได้กลายเป็นไวรัลในสังคมที่คุยว่าจะมีวัคซีนเต็มแขน แต่สุดท้ายวัคซีนไม่มาตามนัด เกิดการขาดแคลนวัคซีน ทำให้ประชาชนต้องดิ้นรนขวนขวายหาวัคซีนกันเอง จนกระทั่งช่วงปลายปีวัคซีนจึงเริ่มเข้ามาตามกำหนด

ส่วนคู่กัดแห่งปี ได้แก่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. และนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งในการประชุมรัฐสภา ทั้งสองคนนี้มักโต้เถียงกันบ่อยครั้ง โดยล่าสุดคือในวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มรีโซลูชั่น ซึ่งนายเสรีกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “โลงศพเขาไม่ได้ใส่คนแก่ แต่โลงศพเอาไว้ใส่คนตาย และคนตายบางทีอายุน้อยก็ตายได้” ทำให้นายวิโรจน์สวนว่า “ที่บอกว่าโลงศพเอาไว้ใส่คนตาย ผมว่าไม่เกี่ยวเลย ผมขอแก้ว่าโลงศพเอาไว้ใส่คนปากอย่างท่าน” และนายเสรีโต้กลับอีกครั้งว่า “พอดีคุณวิโรจน์ปากเหมือนผม”

“คนดีศรีสภา ยกเลิกตำแหน่งนี้ถาวร เพราะเป็นเวลาหลายปีแล้วที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาไม่ได้มอบตำแหน่งคนดีศรีสภาให้กับสมาชิกรัฐสภา เนื่องจากท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนใดที่จะเป็นแบบตัวอย่างที่ดีในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น สื่อมวลชนประจำรัฐสภาจึงมีความเห็นร่วมกันว่าสมควรยกเลิกตำแหน่งนี้เป็นการถาวร จนกว่าในอนาคตจะมีสมาชิกรัฐสภาที่มีความประพฤติที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวต่อไป”

นพ.ชลน่านกล่าวถึงการเป็นดาวเด่นสภาประจำปี 2564 ว่า ขอบคุณสื่อมวลชนทุกคนที่ช่วยกันโหวตให้ ส่วนฉายาสภาผู้แทนราษฎรที่ตั้งว่าสภาอับปาง มองว่า ความหมายก็เป็นแบบนั้นจริงๆ เพราะมันไม่มีความชอบธรรม ทำลายสภาจนกระทั่งรั่วไปหมดแล้ว และการประชุมสภาก็ล่มอยู่บ่อยครั้ง

นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม และรองหัวหน้าพรรค พท.กล่าวถึงฉายาสภาอับปาง ว่าเหตุที่ทำให้สภาล่มอยู่บ่อยๆ คือองค์ประชุมไม่ครบ เนื่องจาก ส.ส.รัฐบาลมาไม่ถึงครึ่ง ส่วนเหตุการณ์แห่งปีคือ แผนกบฏล้มเก้าอี้นายกฯ นั้น ในปี 2565 ฝ่ายค้านก็จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ก็จะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ได้อีก และจะส่งผลไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ที่จะยุบสภาในปีหน้า

ส่วนนายเสรีกล่าวถึงฉายาคู่กัดแห่งปีว่า เป็นธรรมเนียมที่นักข่าวเขาเสนอฉายามาทุกปีอยู่แล้ว โดยฉายาเหล่านี้ก็เป็นภาพสะท้อนว่าในสายตานักข่าว ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกน้อยใจกับฉายาเป็นเรื่องธรรมดา ส่วนฉายาของ ส.ว.นั้นคงไม่ชี้แจงอะไร เพราะข้อเท็จจริง คสช.เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว. เพียงแต่เราต้องทำงานตามเหตุผล สิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนส่วนรวม แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเราว่าจะทำให้ประชาชนไว้ใจหรือเห็นว่าทำประโยชน์เพื่อประชาชนได้หรือไม่ ส่วนตัวก็จะเดินหน้าทำหน้าที่ต่อไปให้ดีที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง