โวขึ้นค่าแรง400 คนทำงานบ้าน ลาคลอด98วัน

เทกระจาด! โฆษกรัฐบาลเผยข่าวดีรัฐบาลประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท/วัน ทุกอาชีพทั่วประเทศ เริ่ม 1 ตุลา.นี้ พร้อมปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการบรรจุใหม่ ขึ้นเงินบำนาญขั้นต่ำ ตั้งเเต่ 1 พ.ค. ด้าน "จับกัง 1"  เผยให้สิทธิลาคลอด 98 วัน ได้รับค่าจ้าง 45 วัน ห้ามเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ มีผลบังคับใช้แล้ว

วันที่ 2 พฤษภาคม 2567 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี   เปิดเผยว่า ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจยกระดับวิถีชีวิตประชาชนของนายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี สั่งการกำหนดแนวทางจนเกิดเป็นผลความสำเร็จ โดยได้ประกาศข่าวดีสำหรับผู้ใช้แรงงานไทย เตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการทยอยปรับขึ้น เริ่มวันที่ 1  ตุลาคม 2567 นี้

โฆษกรัฐบาลเผยว่า กระทรวงแรงงานจะนำประเด็นเรื่องการปรับค่าแรงขั้นต่ำเข้าหารือต่อที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ทั้งนี้  การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศนั้น กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่าจะมีการหารือร่วมกับคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี เพื่อศึกษาข้อมูลต่างๆ ว่ากิจการใดมีความพร้อมหรือยังไม่พร้อม และถ้าหากยังไม่พร้อม ต้องทำอย่างไรให้พร้อม ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 5-6 เดือน ในการประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ยังไม่พร้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการประเภท SME ที่เป็นผู้ถือครองจำนวนแรงงานมากที่สุด

ขณะที่การปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุในกลุ่มข้าราชการพลเรือน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566  มีผลบังคับใช้เเล้ว เป็นปีที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 และปีที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 โดยรัฐบาลจะทยอยปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุตามคุณวุฒิ  ได้เเก่ ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับปริญญาตรีจะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 18,000 บาท ผู้ที่ปฏิบัติงานในตำแหน่งที่ใช้คุณวุฒิระดับ ปวช. จะมีเงินเดือนไม่น้อยกว่า 11,000 บาท ภายใน 2 ปี และปรับอัตราเงินเดือนของคุณวุฒิอื่น ๆ ให้สอดคล้องกัน รวมทั้งปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุดังกล่าวภายในช่วงระยะเวลาเดียวกันด้วย

 “นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญสูงสุดกับคุณภาพชีวิตของพี่น้องคนทำงาน ซึ่งทุกคนควรมีเงินเดือน ค่าแรงที่เป็นธรรม ลูกจ้างอยู่ได้ นายจ้างอยู่ได้ เศรษฐกิจดี รวมทั้งสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาตลอดคือ ความปลอดภัยในการทำงาน  การเข้าถึงระบบสวัสดิการ การคุ้มครอง หลักประกันทางสังคมที่เหมาะสม ทั้งนี้ สำหรับรัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับคนทำงานในทุกๆ วัน เพราะพี่น้องคนทำงานเป็นกลุ่มคนสำคัญ ที่ช่วยให้ประเทศเดินหน้า ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ รัฐบาลมุ่งมั่นเพิ่มโอกาสในสังคม เพิ่มเงินในกระเป๋า ของพี่น้องคนทำงาน” นายชัยกล่าว

ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้ตระหนักถึงความสำคัญของแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ที่สุด มีจำนวนมากกว่า 20  ล้านคน ให้สามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานในการประกอบอาชีพ มีหลักประกันสังคม มีความปลอดภัยในการทำงาน เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกจ้างซึ่งทำงานบ้าน ซึ่งการคุ้มครองตามกฎหมายยังไม่ครอบคลุมและยังไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน จึงเร่งผลักดันกฎหมายให้ขยายความคุ้มครองให้ลูกจ้างซึ่งทำงานบ้านได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา

นายพิพัฒน์กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 15  (พ.ศ.2567) ตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งขณะนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 30  เมษายน 2567 เพิ่มการคุ้มครองให้กับลูกจ้างซึ่งทำงานบ้าน 11 เรื่อง ได้แก่ 1.มีเวลาทำงานไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน 2.มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง 3.มีสิทธิลากิจธุระอันจำเป็น 4.ห้ามลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงานเวลา 22.00-06.00 น. ทำล่วงเวลา หรือวันหยุด 5.ลูกจ้างหญิงลาคลอดได้ 98 วัน 6.ห้ามเลิกจ้างเพราะเหตุมีครรภ์ 7.ให้นายจ้างแจ้งการใช้แรงงานเด็ก 8.ลูกจ้างเด็กมีสิทธิฝึกอบรมโดยได้รับค่าจ้าง 30 วัน 9.ลูกจ้างหญิงได้รับค่าจ้างลาคลอด 45 วัน 10.ห้ามนายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด 11.ลูกจ้างได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งขณะนี้มีผลบังคับใช้แล้ว

"เรามุ่งผลักดันกฎหมายให้ออกมาตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบให้ตรงจุดที่สุด เพื่อเป็นหลักประกันทางสังคมในการพัฒนาชีวิตคุณภาพแรงงานนอกระบบในมิติต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานให้ดีขึ้นต่อไป" นายพิพัฒน์ กล่าว

ขณะที่ นายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่โฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวว่าขอให้ตน  “เย็นให้พอ รอให้ได้” ในเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีที่ประกอบด้วยผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนฝ่ายรัฐบาล ดังนั้น ฝ่ายการเมืองหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจึงไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายหรือทำอะไรได้ตามอำเภอใจ พร้อมขออย่าให้ตนนำพี่น้องแรงงานมาอ้างเพื่อเรียกคะแนนให้ตัวเองหรือสร้างความขัดแย้งนั้น

นายเซียกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีตั้งเป้าหมายว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาทต่อวัน ให้ได้ภายในปี 2567 ขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานก็ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นเมื่อวานนี้ว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้  การออกมาพูดเช่นนี้ก็ยังไม่ผ่านมติที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างเช่นกัน ถ้าโฆษกกระทรวงแรงงานกล่าวว่าขอให้ตน “เย็นให้พอ รอให้ได้” เพราะรัฐบาลนี้ทำงานโดยยึดหลักกฎหมาย แล้วรัฐบาลจะออกมาให้คำมั่นเช่นนี้ได้อย่างไร นี่คือ ความย้อนแย้งหรือไม่ แล้วจะไม่ให้ตนกล่าวว่าเป็นการให้ความหวังกับพี่น้องแรงงานแบบลมๆ แล้งๆ ได้อย่างไร

นายเซียกล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์นี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลเศรษฐาให้ความหวังกับพี่น้องแรงงานแบบลมๆ แล้งๆ เช่น เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2567 รัฐบาลออกข่าวตีปี๊บใหญ่โตว่าได้อนุมัติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวันแล้วใน 10 จังหวัด แต่ที่จริงเป็นการขึ้นแค่บางพื้นที่ในจังหวัดนั้นๆ และขึ้นเฉพาะธุรกิจโรงแรม 4 ดาว ที่มีลูกจ้าง 50 คนขึ้นไป อีกทั้งพื้นที่ที่ปรับขึ้นส่วนใหญ่ก็เป็นพื้นที่เมืองที่ปกติได้รับค่าแรงเกิน 400 บาทอยู่แล้ว

ขณะที่เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ก็มีข่าวว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานจะประกาศเซอร์ไพรส์ใหญ่ในวันแรงงานสากล 1 พฤษภาคม โดยจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท ซึ่งสุดท้ายต้องออกมาแก้ข่าวว่าเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน นี่คือความสับสนและความไม่ชัดเจนที่รัฐบาลเศรษฐาก่อขึ้นเอง ให้ความหวังกับพี่น้องแรงงานเอง เมื่อมีพี่น้องแรงงานและผู้ประกอบการ SME สะท้อนข้อกังวลจากความไม่แน่นอนเช่นนี้ขึ้นมา ตนก็แค่สื่อสารความทุกข์ร้อนเหล่านั้นออกไป แล้วจะมาบอกให้ตน “เย็นให้พอ รอให้ได้” ได้อย่างไร

 “ท่านโฆษกฯ อย่าพูดเพื่อเอาใจนายโดยไม่ลืมหูลืมตา ขอให้รัฐบาล รัฐมนตรี รวมถึงท่านโฆษกฯ ออกมาจากห้องแอร์ เปิดใจมองเรื่องนี้ให้รอบด้าน รับฟังเสียงพี่น้องแรงงานบ้าง ยอมรับความจริงว่าจากสภาพค่าครองชีพปัจจุบัน ค่าแรงขั้นต่ำต้องสูงขึ้นกว่านี้ได้แล้ว ความเดือดร้อนของพี่น้องแรงงานรอไม่ได้ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเทอมลูก ค่าเช่าบ้าน ค่าสินค้าอุปโภคบริโภค มันรอไม่ได้ ต้องจ่ายเป็นประจำ ท่านให้สัญญาครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ผิดสัญญาครั้งแล้วครั้งเล่า แล้วมาบอกให้ผมกับพี่น้องแรงงาน ‘เย็นให้พอ รอให้ได้’ ใครจะมาเย็นกับท่านครับ” นายเซียกล่าวทิ้งท้าย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง