โบ้ยคลังแก้พรบ.ธปท. นายกฯแย้มให้ไปถาม‘พิชัย’ โซเชียลเซฟผู้ว่าฯแบงก์ชาติ

“เศรษฐา” ปัดขัดแย้งแบงก์ชาติ แค่เห็นไม่ตรงกันเรื่องดอกเบี้ยอย่างเดียว บอกไม่เคยพูดแก้กฎหมาย ธปท. แต่อนาคตไม่แน่ขึ้นกับ ก.คลังชง! ท่องคาถาไม่เคยกดดันหรือบีบ แต่ทำเพื่อพี่น้องประชาชน “ภูมิธรรม” ป้องลูกนายใหญ่อีกรอบ อ้าง ธปท.เคยพลาดยุคต้มยำกุ้งก็ย่อมวิจารณ์ได้ ซัด “ศิริกัญญา” อย่าจินตนาการเยอะ “เผ่าภูมิ”  เบี่ยงประเด็น บอกคุมกรอบเงินเฟ้อพลาดเป้าย่อมติติงได้ “สังศิต” ชี้รัฐบาลเข้าข่ายแทรกแซง โลกออนไลน์ผุดเซฟผู้ว่าฯ ธปท. อัด “แพทองธาร” ตื้นเขิน

เมื่อวันจันทร์ที่ 6 พฤษภาคม 2567 ยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ปาฐกถาแสดงความไม่พอใจการทำงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยนายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสขัดแย้ง กับ ธปท.เพราะเป็นอุปสรรคต่อการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ว่า ไม่เคยบอกว่าเป็นอุปสรรคของเงินดิจิทัล หากมีข้อสงสัยก็มีหน้าที่ในการอธิบาย ตรงนี้ไม่ใช่ปัญหา ส่วนที่มีความเห็นต่างกันก็ได้ชี้แจงไปชัดเจนแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า รัฐบาลมีแนวคิดแก้พระราชบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจของผู้ว่าฯ ธปท. นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่ได้มีแนวคิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่ต้องไปดูแล ไม่เคยพูดเลย ประเด็นตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าฯ ธปท. รัฐบาล หรือสภาผู้แทนราษฎร เรามาอยู่ด้วยกัน เพราะว่าเราต้องดูแลพี่น้องประชาชน เรื่องนี้สำคัญสุด ส่วนเรื่องการแก้ไขกฎหมายต้องมีการส่งเรื่องมาจากกระทรวงการคลัง ซึ่งยังไม่เห็นมีการส่งขึ้นมา

“ผมไม่เคยพูด แต่อนาคตผมไม่ทราบ ต้องถามนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง” นายเศรษฐาตอบย้ำ หลังถูกถามมีแนวโน้มจะแก้ไขกฎหมายลดอำนาจความเป็นอิสระของ ธปท.หรือไม่

เมื่อถามว่า นายกฯ บอกว่าไม่เคยมีความขัดแย้งกับ ธปท. แต่ภาพที่ออกมาสื่อถึงความขัดแย้งระหว่างกัน นายกฯ กล่าวว่า อย่าดูที่ภาพดีกว่า ดูที่เนื้องานดีกว่า  อย่างที่บอกเรื่องดอกเบี้ยชัดเจนไม่เคยปฏิเสธ คิดว่าดอกเบี้ยสูงควรจะลด แต่ผู้ว่าฯ ธปท.บอกดอกเบี้ยไม่สูง  ไม่ควรจะลดใช่หรือไม่ ก็ชัดเจน ตนก็ต้องไปหาวิธีการอื่นที่จะบรรเทาทุกข์ของพี่น้องประชาชน โดยเชิญ 4 ธนาคารมาพูดคุย ซึ่งไม่เคยไปมีประเด็นอะไรกับท่านเลย ก็ได้เชิญธนาคารในกำกับอยู่แล้ว ก็ลดไปประมาณ 0.25% ซึ่งได้ขอบคุณไปและก็เดินหน้าบรรเทาทุกข์ของพี่น้องประชาชนต่อไป ไม่ได้มีการไปต่อว่าอะไรผู้ว่าฯ ธปท.

เมื่อถามว่า การที่มีข่าวว่าจะมีการเสนอแก้กฎหมาย ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ารัฐบาลต้องการลดอำนาจผู้ว่าฯ ธปท.  นายเศรษฐากล่าวว่า ต้องไปถามต้นตอของข่าว วันนี้ไม่ได้พูด

ถามย้ำว่า ภาพที่ออกมาเหมือนกดดันให้ผู้ว่าฯ ธปท.ลาออก นายกฯ ตอบทันทีว่า “ผมไม่เคยพูดให้ผู้ว่าฯ ลาออก รวมถึงเรื่องการปลดผู้ว่าฯ ด้วยความเคารพ ถ้าท่านผู้ว่าฯ ฟังอยู่ ผมไม่เคยกดดันนะครับ และไม่เคยพูดด้วยนะครับ ผมกดดันผมอาจมีการพูดคุยถึงเรื่องเนื้องานเป็นหลัก ผมเป็นผู้นำรัฐบาลพูดมาแค่นี้โดยตลอด ก็แค่นี้นะครับ"

เมื่อถามว่า ต่างคนต่างก็ให้สัมภาษณ์ โดยผู้ว่าฯ ธปท.บอกว่านักการเมืองมาแล้วก็ไป ขณะที่ ธปท.ต้องรักษาสภาพการเงินการคลังของประเทศ นายกฯ กล่าวว่า  คงไม่ไปคอมเมนต์เกี่ยวกับว่าใครพูดอะไร แต่คิดว่าตรงนี้ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระ ธปท. รัฐบาล สภา เรามาทำงาน เพื่อใคร เพื่อประชาชน จิตใจยึดโยงกับประชาชนอย่างเดียวและกฎหมาย

อ้างยึดโยงประชาชน

เมื่อถามว่า จะทำอย่างไรให้อุณหภูมิความขัดแย้งลดลง ในเมื่อ ธปท.เป็นกระเป๋าเงินใหญ่ของประเทศ นายเศรษฐากล่าวว่า อุณหภูมิจะถูกลดก็ต่อเมื่อปัญหาของพี่น้องประชาชนถูกแก้ไข

เมื่อถามว่า ต้องเรียกผู้ว่าฯ ธปท.เข้ามาพูดคุยอย่างจริงจังเพื่อลดปัญหาต่างคนต่างพูดหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า  ไม่ได้ต่างคนต่างพูด ตนก็ยึดโยงกับพี่น้องประชาชนอย่างเดียว ผู้ว่าฯ ธปท.ก็พูดเอง มีอะไรสื่อสารก็สื่อสารผ่านกระทรวงการคลัง ขอใช้ว่าให้เป็นไปตามระบบแล้วกัน และจะติดตามผ่านสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งได้มีการสั่งการไปแล้ว และเมื่อวันที่ 5 พ.ค.ก็ได้ให้สัมภาษณ์ย้ำไปแล้ว

เมื่อถามว่า ช่วงแรกๆ นายกฯกับผู้ว่าฯ ธปท.ก็ยกหูคุยกัน นายกฯ กล่าวว่า “ท่านผู้ว่าฯ บอกผมชัดเจนแล้วว่า ไม่อยากให้ผมสื่อสารโดยตรงกับท่าน ให้ผ่านกระทรวงการคลัง ผมก็ทำตามที่ท่านบอกมา และผมก็ไม่ได้เชิญสื่อมวลชนมากล่าวโทษผู้ว่าฯ หรืออะไรเลยใช่ไหม เมื่อท่านถามมาว่าดอกเบี้ยสูงไหม ผมก็บอกว่าดอกเบี้ยสูงก็เท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นคู่กรณีกับผู้ว่าฯ คู่กรณีของผมคือความยากจนของพี่น้องประชาชน และความยากจนเกิดมาจากดอกเบี้ยสูงก็บอกแค่นี้ ถ้าจะเปลี่ยนใจผมอย่างไรก็เปลี่ยนใจผมไม่ได้ ฝ่ายการเมือง ฝ่าย สส. รัฐมนตรี และองค์กรอิสระ อย่าง ธปท.เองก็มีความปรารถนาดีต่อพี่น้องประชาชน แต่มองปัญหาคนละแบบเท่านั้นเอง ซึ่งต่างคนก็ต่างมีหน้าที่ที่ต้องทำซึ่งกันและกัน”

เมื่อถามว่า ดูเหมือนนโยบายการเงินกับการคลังจะไปคนละทาง จะทำให้บริหารงานยากหรือไม่ นายเศรษฐายอมรับว่า ก็ลำบากเหมือนกัน ซึ่งต้องพูดคุยกันอย่างที่ผู้สื่อข่าวเคยแนะนำมา ซึ่งก็พูดผ่าน สศค.ไป

เมื่อถามว่า ถ้าจะพูดอะไรประโยคหนึ่งถึงผู้ว่าฯ ธปท.  อยากจะพูดอะไร นายเศรษฐากล่าวว่า “ไม่ครับ ผมว่าไม่มี  ผมพูดชัดเจนแล้วสิ่งที่เราเห็นด้วยไม่เห็นด้วย อย่าว่าแต่ผู้ว่าฯ ธปท.เลย คนในรัฐบาลเอง คนในพรรคเองก็เป็นผู้ใหญ่ด้วยกันทุกคน นโยบายต่างๆ มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราเป็นผู้ใหญ่แล้วเราก็พูดคุยกันไป อย่าให้มีวาทกรรมว่าจะปลดอะไร มันไม่ใช่ ไม่ได้อยู่ในความคิดเลยแม้กระทั่งนิดเดียว เราอยู่ด้วยกันเป็นผู้ใหญ่ ก็มีความประสงค์ดีกับพี่น้องประชาชน เพราะฉะนั้นความเห็นต่างก็เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว"

เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรกับกระแสโซเชียลที่ติดแฮชแท็ก #เซฟผู้ว่า ธปท. นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มีคอมเมนต์ เพราะมองว่าท่านไม่มีอะไรที่ต้องถูกเซฟ เพราะท่านก็มาถูกต้อง ท่านก็มีหน้าที่ของท่าน ก็ทำงานไป  หลายๆ อย่างที่ท่านทำแล้วตนเห็นด้วยก็มี ก็เหมือนกันหลายๆ อย่างที่ทำเชื่อว่าท่านก็เห็นด้วย และหลายอย่างที่ตนทำก็อาจไม่เห็นด้วย แต่เราเป็นผู้ใหญ่ด้วยกันแล้ว อย่างน้อยนะฝ่ายตนก็มาทำเพื่อประชาชน ไม่ได้มีความตั้งใจไปขัดแย้งกับใคร จึงไม่มีข้อคิดเห็นที่ว่าต้องเซฟ ท่านไม่ต้องการการเซฟ เพราะไม่มีใครจะไปปลดท่าน ไม่มีใครพูด  รัฐมนตรีคนใหม่ก็ไม่ได้พูด ตนก็ไม่ได้พูดใช่ไหม

“ผมยืนยัน ณ ที่นี้ ไม่ว่าจะในสาธารณะหรือส่วนตัวก็ตาม ผมก็พูดแบบนี้แหละเรื่องดอกเบี้ยเรื่องเดียว ผมไม่ได้พูดเรื่องการกำกับดูแลแบงก์หรือหนี้เสียก็ไม่ได้พูด ท่านก็ดูหนี้เสียให้มีอัตราที่ดีแล้ว เราก็เป็นผู้ใหญ่กันแล้ว เรื่องที่มันดีมันถูกต้องก็ไม่ต้องชมกันหรอก ท่านก็ทำของท่านในสิ่งที่ดีไป แต่เราก็ไม่เห็นด้วยในเรื่องการลดดอกเบี้ย ก็ต้องว่ากันไป ซึ่งผมก็มีวิธีการที่จะดูแลปัญหาตรงนี้ เช่น เชิญผู้บริหารธนาคารมาคุย ซึ่งเป็นธนาคารรัฐ เพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน” นายเศรษฐากล่าว

ย้อนยุคต้มยำกุ้ง

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณี น.ส.แพทองธารวิพากษ์วิจารณ์ ธปท.ว่า  เป็นเรื่องปกติธรรมดา ที่หัวหน้าพรรคการเมืองจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์และเสนอแนะ หรือแสดงท่าทีเพื่อตรวจสอบ สถาบันองค์กรต่างๆ ซึ่งสิ่งที่ น.ส.แพทองธารวิพากษ์วิจารณ์แบงก์ชาติเรื่องไม่ยอมปรับดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งมีผลกระทบต่อชีวิตประชาชน ซึ่งสิ่งที่พูดไม่ได้ทำอะไรผิดและไม่ได้เป็นข้อกล่าวหา ทำไมเด็กวิจารณ์แบงก์ชาติไม่ได้  ประชาชนพลเมืองไทยทุกคนสามารถวิพากษ์พร้อมอภิปรายทุกหน่วยงานของรัฐ แบงก์ชาติก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐ ทำไมวิจารณ์ไม่ได้ แตกต่างจากองค์กรอื่นอย่างไร

“ที่ผ่านมาแบงก์ชาติไม่ใช่ว่าไม่เคยทำความผิด แต่เคยทำผิดมาแล้ว ในปี 2540 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เชื่อว่าประชาชนยังจำได้ มันเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแบงก์ชาติก็ผิดได้ เชื่อว่าการวิจารณ์ในลักษณะแบบนี้สามารถทำได้” นายภูมิธรรมกล่าวและว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราจะมาขัดแย้งกับ ธปท. ถึงกับจะเอาเป็นเอาตายกัน แต่ส่วนตัวอยากบอกว่าทำไมแบงก์ชาติวิจารณ์หรือแตะต้องไม่ได้

เมื่อถามถึงกรณี น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ออกมาตั้งคำถามทำนองว่า พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดที่จะแก้ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทยใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมระบุว่า น.ส.ศิริกัญญาเข้ามาทำงานการเมืองเป็นสมัยที่ 2 แล้ว ก็ต้องเข้าใจดีว่าการจัดการแก้ไขปัญหาทั้งหมดต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริง ต้องดูความเป็นจริงไม่ใช่จินตนาการไปเรื่อยๆ น.ส.ศิริกัญญาต้องกลับไปทบทวนดู และลองถามตัวเองดูว่าหากแบงก์ชาติมีปัญหา พรรคก้าวไกลจะพิสูจน์หรือจะเสนอความเห็นที่เป็นทางออกที่ถูกต้องได้ไหม หรือว่าจะเสนอไม่ได้ ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมแบบนี้ ก็พูดมาให้ชัดว่าวิธีการที่ถูกต้องทำยังไง

ขณะที่นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวเช่นกันว่า การตั้งคำถามของ น.ส.แพทองธารถึง ธปท.เป็นสิทธิ เมื่อประสิทธิภาพของนโยบายการเงินที่เกิดจากความอิสระนั้นเป็นที่กังขา และความอิสระของ ธปท.มาพร้อมกับกรอบเงินเฟ้อเป้าหมายที่ 1-3% ตามข้อตกลงกับคลัง แต่ปัจจุบันหลุดกรอบและไม่เป็นไปตามข้อตกลงใช่ไหม เหตุจากระดับดอกเบี้ยนโยบายที่ไม่เหมาะสมหรือไม่

"เมื่อนโยบายการคลังถูกวิจารณ์ เรารับฟังและปรับปรุง นำสู่การปรับเงื่อนไข เราคาดหวังสิ่งเดียวกันจะเกิดขึ้นกับนโยบายการเงิน" นายเผ่าภูมิกล่าว

ธปท.ต้องสนองรัฐบาล

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า  เป็นที่น่าแปลกใจเพราะจนถึงตอนนี้ ธปท.คือหน่วยงานรัฐ และมีภารกิจเป็นธนาคารกลาง ถูกนำมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานว่าเป็นอิสระจากรัฐบาลได้หรือไม่ เพราะข้อเท็จจริงแล้ว ธปท.หรือหน่วยงานรัฐใดๆ ก็ควรดำเนินการทำงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรืออำนวยประโยชน์ต่อการทำงานของรัฐบาลไม่ใช่หรือ

“จากการสัมภาษณ์นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ว่าที่ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เมื่อ 6 พฤษภาคม 2567 ท่านกล่าวว่า ธปท.ต้องทำงานร่วมกับรัฐบาลกำหนดเป้าเงินเฟ้อ และหากเงินเฟ้อไม่เข้าเป้าก็มีหน้าที่ต้องอธิบายและรายงานรัฐบาล ดังนั้น เมื่อพิจารณาภารกิจและหน้าที่ของ ธปท.แล้ว ทุกคนจึงมีสิทธิ์ตั้งคำถามกับ ธปท.ไม่ใช่หรือ”

นายชัยกล่าวอีกว่า มีการตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลต้องการปลดผู้ว่าฯ ธปท. ทั้งที่มีการตอบคำถามในเรื่องนี้หลายครั้ง ว่าไม่อยู่ในความคิดของรัฐบาล รวมทั้งยังมีกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มคนทางการเมืองมาตอบโต้การตั้งคำถามต่อ ธปท.  จึงน่าสงสัยว่าหรือจริงๆ แล้วคำถามเรื่องการแทรกแซงทางการเมือง ความเป็นกลางทางการเมืองต่อธนาคารแห่งประเทศไทยต้องถูกนำมาใช้อีกครั้ง

ด้านนายชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะอดีตรองผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร ธปท. กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ ความพยายามที่รัฐบาลจะแทรกแซงธนาคารกลางมีมาโดยตลอดทั้งไทยหรือต่างประเทศ โดยหลักสากลคือ ธนาคารกลางต้องมีความเป็นกลางและดำเนินนโยบายได้อย่างอิสระ ไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายบริหาร เพราะมีเป้าหมายต่างกัน เป้าหมายของฝ่ายบริหารคือ มองในระยะสั้น ทำอย่างไรให้ได้รับเสียงสนับสนุนในการเลือกตั้งเป็นหลัก ขณะที่เป้าหมายของธนาคารกลางคือต้องสร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณะ ทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ได้มุ่งสร้างความนิยม แต่ต้องรักษาเสถียรภาพของเงินบาท

 “สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ในปัจจุบันดูเหมือนจะไม่เข้าใจหลักการนี้ ไม่เข้าใจเรื่องการมีโครงสร้างธรรมาภิบาล การบริหารที่ดี และดูเป็นประเด็นทางการเมืองที่พยายามโยนความผิดไปให้ ธปท.มากกว่า” นายชัยวัฒน์กล่าว

สำหรับผลกระทบจากกรณี น.ส.แพทองธารที่พูดในเชิงกดดัน ธปท.นั้น นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ส่งผลแน่นอน  ข่าวที่ออกไปก็ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติจะมองว่ารัฐบาลไทยกำลังพยายามแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางหรือไม่ จึงเป็นสิ่งที่ยิ่งทำให้ ธปท.ต้องยืนตรงในหลักการ และหนักแน่นว่าไม่ได้ถูกแทรกแซง ไม่เช่นนั้นจะสูญเสียความเชื่อมั่น

เมื่อถามว่า มีความพยายามแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การเมืองเข้าแทรกแซง ธปท.ได้มากขึ้นหรือไม่นั้น นายชัยวัฒน์มองว่า อาจเป็นไปได้ หากดูจากน้ำเสียงของแกนนำพรรคเพื่อไทยตอนนี้ มีความพยายามนำ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 มาแก้ เพราะกฎหมายให้ความคุ้มครองผู้ว่าฯ ธปท.มากเกินไป ทำให้ปลดยาก  หากอยากจะปลดก็ต้องแก้กฎหมาย

 “ไม่รู้ว่าเป็นเจตนาในการขู่ หรือเจตนาจะทำอย่างนั้นจริงๆ แต่สาเหตุที่มีกฎหมายคุ้มครองผู้ว่าฯ ธปท. เพราะในอดีตก็เคยมีการแทรกแซงจากการเมืองมาหลายครั้ง  และเป็นธรรมเนียมว่าหากมีการแทรกแซงทางการเมือง บังคับให้ผู้ว่าฯ ธปท.ทำสิ่งที่ไม่เห็นด้วยแล้ว ผู้ว่าฯ ธปท.ก็มักจะลาออก ซึ่งรัฐบาลอาจจะอยากกลับไปสู่ในยุคที่ควบคุมผู้ว่าฯ ธปท.ได้ง่าย ปลดง่าย ก็อาจทำให้เขาเล็งไปที่การแก้ไขกฎหมายได้” นายชัยวัฒน์ระบุ

ปชป.ลั่นขวางแก้ กม.ธปท.

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์  (ปชป.) กล่าวว่า พรรคได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด  เนื่องจากมีการส่งสัญญาณผ่านหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึง ธปท.ว่าเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  ซึ่งการส่งสัญญาณดังกล่าวเชื่อว่าผู้ใต้บังคับบัญชา ของหัวหน้าพรรคต้องหาวิธีการเพื่อตอบสนองความต้องการแน่นอน การแก้กฎหมายย่อมเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ซึ่งหากมีการยื่นแก้ไข ในส่วนของพรรคเราไม่เห็นด้วยอย่างแน่นอน เพราะการลดความอิสระของ ธปท. จะส่งผลเสียหายต่อประเทศ

 “การแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาของผู้ว่าฯ ธปท. ด้วยความสุจริตใจเพื่อประโยชน์ของบ้านเมือง เพื่อให้เห็นความคุ้มค่าของงบประมาณแผ่นดิน ถ้ารัฐบาลเห็นว่าการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของผู้ว่าฯ ธปท.เป็นความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง หรือถึงขั้นทุจริตต่อหน้าที่ บกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถ ขอท้าให้รัฐบาลรีบปลดได้เลย” นายราเมศระบุ

นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สว. ในฐานะอดีตรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบัน ระบุว่าตอนยกร่างขึ้นมา ต้องการแยกอำนาจของฝ่ายการเมืองออกจากแบงก์ชาติ เพื่อให้แบงก์ชาติมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายทางการเงิน แล้วให้ รมว.การคลังรับผิดชอบเรื่องทางการคลังไป  ซึ่งเป็นหลักการที่ประเทศในโลกเสรีใช้กันและเป็นที่ยอมรับกันทั้งโลก

 “เมื่อก่อนรัฐบาลมีอำนาจเหนือผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ และเกือบเป็นประเพณีปฏิบัติ ที่ฝ่ายการเมืองจะสามารถแทรกแซงแบงก์ชาติได้ ตอนยกร่างกฎหมาย ธปท. คณะผู้ยกร่างเห็นว่าถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป โอกาสที่แบงก์ชาติจะถูกแทรกแซงก็เกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งหัวใจสำคัญของกฎหมาย ธปท.ปัจจุบันคือ ทำให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงแบงก์ชาติยาก ไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงนโยบายการเงินของประเทศได้ง่ายๆ และตัวผู้ว่าฯ ธปท.ที่เข้ามาทำงานเองก็ต้องมีความสามารถ มีการบริหารงานที่โปร่งใส มีความน่าเชื่อถือ ทำงานโดยสุจริต โดยหากมีพฤติการณ์ไม่สุจริต กฎหมายก็เปิดช่องให้บอร์ด ธปท.ลงโทษผู้ว่าฯ ธปท.ได้”

ถามถึงขณะนี้คนในรัฐบาลออกมาให้สัมภาษณ์กดดันให้ ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงินลดดอกเบี้ยนโยบาย นายสังศิตกล่าวว่า ก็เป็นการแทรกแซง หากเป็นสมัยก่อนเขาปลดผู้ว่าฯ แบงก์ชาติได้แล้ว ซึ่งการดำเนินนโยบายทางการเงินของแบงก์ชาติเป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ไม่สามารถใช้อำนาจไปแทรกแซงได้ แต่การกล่าวอ้างว่าการที่รัฐบาลไปเปลี่ยนแปลงนโยบายของผู้ว่าฯ  ธปท.ไม่ได้ และจะทำให้มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ ทั้งที่เรื่องทางเศรษฐกิจมีตั้งเป็นร้อยเรื่อง ไม่ใช่มีเรื่องนี้เรื่องเดียว แต่มันเป็นเรื่องที่เขาขัดใจ ก็เลยไม่ได้ดั่ใจเท่านั้นเอง

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง และประธานกรรมการด้านวิชาการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า "กรณี น.ส.แพทองธารกล่าวถึงนโยบายการคลังที่รับภาระหนัก ควรมีนโยบายการเงินมาช่วยแบ่งเบาภาระด้วยนั้น เป็นแนวคิดที่ถูกต้อง แต่ที่กล่าวว่า ธปท.เป็นอิสระจากรัฐบาล เป็นปัญหาและอุปสรรคในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นไม่ถูกต้อง เพราะการบริหารนโยบายการเงินต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงในเชิงวิชาการโดยมีความเป็นอิสระ ไม่ใช่ไปคำนึงถึงประโยชน์ทางการเมือง"

รุมสับอุ๊งอิ๊งตื้นเขิน

นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช  โพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องนี้ว่า "คุณอุ๊งอิ๊งเสียรังวัด แสดงให้เห็นถึงวุฒิภาวะการจะเป็นผู้นำของประเทศในอนาคตว่า มีความไม่เหมาะสมกับตำแหน่งนายกฯ ถ้าเปรียบกระดูกทางการเมืองถือว่ายังกระดูกอ่อนมาก เป็นมะม่วงบ่มแก๊ส  และเมื่อเห็นคุณอุ๊งอิ๊งถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างถล่มทลายเช่นนี้ ทำให้นึกถึงนิทานอีสป เรื่องพ่อแม่รังแกฉันขึ้นมาทันที และก่อนผลักดันให้คุณอุ๊งอิ๊งเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศ ตอนนี้ให้คุณอุ๊งอิ๊งได้รับตำแหน่งนางโพยคนที่ 2 ของประเทศไปก่อนก็แล้วกัน"

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี  โพสต์เฟซบุ๊กว่า "การที่รัฐบาลเศรษฐามีความเสี่ยงสูง ที่จะไปไม่ได้เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ก็ต้องมีความจำเป็นต้องหาแพะมารับผิดชอบแทน ดังนั้นการที่ทั้งอุ๊งอิ๊ง และนายเศรษฐารวมหัวกันถล่มแบงก์ชาติ เพราะหากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไปไม่รอด จะได้โทษไปที่ ธปท.ว่าเป็นปัญหาเท่านั้นเอง ลูกไม้แบบนี้เจอบ่อย"

ส่วนนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า "แบงก์ชาติวิจารณ์ได้  แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความรู้ ปราศจากอคติ และมีตรรกะของเหตุผล เช่นบอกว่าประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเยอะ  เพราะการไม่ลดดอกเบี้ยธนาคาร ดูจะเป็นการเชื่อมโยงของสิ่งห่างไกลเกินไป และคนวิจารณ์แบงก์ชาติด้วยตรรกะที่ตื้นเขินก็ย่อมถูกวิจารณ์ได้เช่นกัน"

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ระบุว่า แบงก์ชาติไม่ใช่องค์กรต้องห้าม  วิจารณ์ได้ ไม่ใช่แตะต้องไม่ได้ ไม่เหมือนนักการเมืองบางคน แต่ช่วยบอกหน่อยเค้าทำอะไรผิด ถ้านักการเมืองมีอำนาจเหนือผู้ว่าฯ ธปท. สั่งผู้ว่าฯ ธปท.ได้ ความฉิบหายบังเกิดแน่นอน เงินทุนสำรองเกือบ 3 แสนล้านเหรียญมีหวังจ้องตาไม่กะพริบ ไหนจะทองคำสำรองอีกเกือบ 300 ตัน

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า "คุณแพทองธารคือ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มีบทบาทในรัฐบาลก็คือเฉพาะเรื่อง soft power แต่แสดงปาฐกถาเสมือนหนึ่งว่าตัวเองเป็นนายกฯ คุณแพทองธารไม่เพียงไม่เกรงใจคุณเศรษฐา ซึ่งนั่งฟังอยู่อย่างเจียมเนื้อเจียมตัว แต่ยังไม่เกรงใจพรรคอื่นๆ ที่ร่วมรัฐบาลอยู่เลยแม้แต่น้อย นี่คือรัฐบาลที่ยิ่งวันยิ่งพิลึกกึกกือใช่หรือไม่ เราจะต้องทนอยู่กับความพิลึกกึกกืออย่างนี้ไปได้อีกนานเท่าใด"

เพจบิ๊กแดงแฟนเพจระบุว่า "เรียนพี่น้องประชาชน สมาชิกบิ๊กแดงแฟนเพจทุกท่าน ในขณะที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยกำลังถูกกดดันอย่างหนัก เราต้องอย่าปล่อยให้คนดีต้องโดดเดี่ยว อย่าปล่อยให้คนที่ปกป้องเศรษฐกิจของประเทศไทยต้องโดดเดี่ยว อย่าปล่อยให้คนที่ยืนข้างความถูกต้องต้องโดดเดี่ยว ร่วมกันเป็นลมใต้ปีก ให้กับผู้ว่า ร่วมกันแสดงพลังร่วมกันสนับสนุนคนดีที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อแผ่นดิน โดยการร่วมกันโพสต์และช่วยกันแชร์ภาพนี้และติดแฮชแท็ก  #SAVEผู้ว่าแบงก์ชาติ 1  เสียงช่วยกันแชร์ 1 เสียงช่วยประกาศ 1 เสียงที่ช่วยชาติ คืออำนาจล้างอธรรม".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รบ.ยันไทยเป็นเจ้าภาพจัด Asian Indoor and Martial Arts Games ยันสร้างรายได้ 1 พันล้าน

รบ.ยันความพร้อมไทยเป็นเจ้าภาพจัด Asian Indoor and Martial Arts Games ครั้งที่ 6 เชื่อมั่นต่อยอดความสำเร็จอุตสาหกรรมกีฬาของไทยสร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1 พันล้านบาท

'บุ้ง ทะลุวัง' สังเวยการเมือง บีบรัฐบาลเพื่อไทยเร่งคลี่คลายสถานการณ์

การเสียชีวิตของ น.ส.เนติพร เสน่ห์ หรือ บุ้ง ทะลุวัง จากอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน ระหว่างถูกคุมขังที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์