ชักศึก!แม้วจุ้นเมียนมา

สื่อโซเชียลเมียนมาแฉ "น.ช.ทักษิณ" รับเคลียร์วิกฤตเมียนมา ดอดพบกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธ รวมถึง KNU ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. "เศรษฐา" ปัดไม่ทราบ เชื่อทุกคนมีความหวังดี ย้ำจุดยืนไทยต้องการสันติภาพยึดแนวทางอาเซียน รมว.กต.คนใหม่โบ้ยเป็นการคุยกันเองไม่เกี่ยวรัฐบาลไทย ยันพร้อมช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม นักวิชาการกังขาทักษิณไปคุยในฐานะอะไร เตือนอย่าไปแทรกแซงผลประโยชน์ของจีน

เมื่อวันอังคาร เพจ Salween Press ในประเทศเมียนมา เผยว่า ได้รับการเปิดเผยจากนักวิเคราะห์กิจการชาติพันธุ์รายหนึ่งที่ระบุว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ได้พบกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธบางกลุ่ม รวมถึงสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และหารือเกี่ยวกับการช่วยเหลือวิกฤตของเมียนมา

นอกจาก KNU แล้ว RCSS ของสภาฟื้นฟูรัฐฉาน พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเหรี่ยง KNPP เขากล่าวว่าเขาได้พบกับตัวแทนบางคนจาก KNO ขององค์กรแห่งชาติกะฉิ่น และ NUG ของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ เมื่อเดือนมีนาคมและเมษายน

การพบกันขององค์กรต่อต้านอาวุธที่กำลังต่อสู้กับสภาทหารพม่าและอดีตนายกฯ ทักษิณของไทยเกิดขึ้นพร้อมกับช่วงเวลาที่สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมาหรือเอสเอซีกำลังเผชิญวิกฤต

นายทักษิณเชื่อว่าแรงงานของชาวต่างชาติเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญในการเติบโตของเศรษฐกิจไทย รวมถึงโรงงานและอุตสาหกรรมประมงของไทย นายทักษิณเคยคิดที่จะให้ผู้ลี้ภัยจากชายแดนไทยสามารถทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมาย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ไม่ทราบว่ามีการเข้าไปช่วยเจรจาหรือไม่ ในส่วนของไทย กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานด้านความมั่นคงเรามีการพูดคุยกับทุกกลุ่มอยู่แล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของชั้นความลับ และไม่ต้องการที่จะมีการเปิดเผยอะไร เรายืนยันในหลักการเดิมว่าต้องการให้เกิดความสงบสุขและสันติภาพในเมียนมา และประเทศไทยมีความชอบธรรมในการเป็นผู้นำการเจรจา เพราะเรามีเขตชายแดนที่ติดกับเมียนมาจำนวนมาก แต่ยืนยันว่าไทยจะปฏิบัติตามมติของอาเซียนที่ได้กำหนดกรอบขึ้นมา รวมทั้งเรื่องการช่วยเหลือเรื่องสิทธิมนุษยชน ไทยถือเป็นเรื่องสำคัญที่ดูแลอยู่

เมื่อถามว่า รัฐบาลอึดอัดใจหรือไม่ที่นายทักษิณเจรจาคู่ขนานกับรัฐบาลไทย  นายเศรษฐากล่าวว่า “ผมไม่ทราบว่ามีการไปพูดคุยกันหรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่าทุกท่านมีความหวังดีกับประเทศ”

ด้านนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า ก็ได้ทราบข่าวมาเช่นกัน และต้องยอมรับว่านายทักษิณเป็นคนที่กว้างขวางและมีเพื่อนฝูงมาก ซึ่งทางเมียนมาคงเห็นว่านายทักษิณจะสามารถช่วยได้ คงเป็นเรื่องที่ทางเมียนมาคุยกับนายทักษิณ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไทย  อย่างที่ตนบอกไปว่าเพิ่งจะทราบเรื่องดังกล่าว

เมื่อถามว่า จุดยืนของรัฐบาลไทยคือ ต้องการให้เกิดความสงบเรียบร้อยในเมียนมาหรือไม่ นายมาริษกล่าวว่า ถูกต้อง ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้น และที่ผ่านมาไทยเองพยายามที่จะเป็นตัวกลางในการเจรจา อีกทั้งไทยก็ดำเนินการตามกรอบของอาเซียนด้วย ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักการที่ควรจะเป็น บางอย่างกำลังดำเนินการอยู่ ขอยังไม่เปิดเผย แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือไทยต้องการเห็นความสมานฉันท์ ปรองดอง และสันติภาพเกิดขึ้นในเมียนมา เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปอยู่อย่างนี้ประเทศไทยก็ลำบาก ในฐานะที่เรามีพรมแดนเชื่อมติดต่อกันยาวมาก อะไรที่เกิดขึ้นก็จะกระทบกับไทย ฉะนั้นใครที่ช่วยอะไรได้ก็ควรจะช่วย และไม่จำเป็นต้องทำอย่างเป็นทางการ อีกทั้งทางการเมียนมา รัฐบาล ชนกลุ่มน้อย ขอให้นายทักษิณมาช่วย ก็เป็นเรื่องของเขา

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางที่นายทักษิณไปช่วย ตรงกับแนวทางกับกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ นายมาริษกล่าวว่า ยังไม่เห็น เพราะเพิ่งได้ยินจากข่าว จึงไม่ทราบว่ารายละเอียดเป็นอย่างไร และอย่างที่บอกว่าการดำเนินการตรงนี้ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวอะไรกับรัฐบาล เป็นเรื่องที่ทางการเมียนมาไปว่ากันเอง ถือเป็นสิทธิของเขาที่จะไปปรึกษาหารือกับใคร ในส่วนของรัฐบาลก็ดำเนินการในส่วนของเราร่วมกับอาเซียน ขณะเดียวกัน ในการช่วยเหลือสิทธิมนุษยธรรมไทยก็ดำเนินการต่อไปภายใต้กรอบของอาเซียน

เมื่อถามถึงคณะกรรมการฉุกเฉินด้านชายแดนไทย-เมียนมา นายกฯ ได้มอบหมายให้นายมาริษเป็นหัวหน้าชุดหรือมอบหมายให้รองนายกฯ นายมาริษกล่าวว่า อะไรที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย ขอไปพูดคุยกับทางกระทรวงให้เกิดความเหมาะสมก่อนว่าวันนี้นายกฯ ได้มอบนโยบายลงมาเรียบร้อย แต่ขอไปพูดคุยกับฝ่ายปฏิบัติก่อนว่าจะทำอย่างไรให้นโยบายเป็นเนื้อเดียวกัน รวมทั้งกับหน่วยงานด้านความมั่นคงด้วยว่าจะแบ่งงานอย่างไร

ขณะที่ นายภัทร เหมสุข นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า  ทักษิณไปคุยกับกองกำลังที่กำลังรบกับรัฐบาลพม่านั้นด้วยเรื่องอะไร ในฐานะอะไร แล้วรัฐบาลไทยรู้เรื่องนี้ไหม นายกฯ  เศรษฐารู้เรื่องไหม รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยซึ่งในเวลานั้นคือคุณปานปรีย์รู้เรื่องนี้หรือเปล่า ที่สำคัญคือประเทศในกลุ่มอาเซียนรู้เรื่องนี้หรือเปล่า ถ้ารู้แล้วจะมีผลอะไรกับประเทศไทยบ้าง นี่คือการบ้านชิ้นใหญ่ของรัฐบาลและรัฐมนตรีต่างประเทศต้องตอบประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนให้ได้ว่าทักษิณไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้อย่างไร

ที่สำคัญคือรัฐบาลไทยเรายังจะคุยกับรัฐบาลทหารของพม่าที่เป็นรัฐบาลในเวลานี้รู้เรื่องหรือเปล่า หลังจากที่ทักษิณที่ใครๆ ก็รู้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งที่สั่งซ้ายหันขวาหันในพรรคใหญ่แกนนำของรัฐบาลของไทยในเวลานี้ ไปคุยกับกลุ่มกองกำลังที่อยู่อีกฝั่งของความขัดแย้งในประเทศพม่าและรัฐบาลพม่า ปัญหานี้ไม่ใช่กระทบเพียงอาเซียน แต่กระทบจีนแบบเต็มๆ เพราะพม่าคือหลังบ้านของจีน เป็นทางออกสู่ทะเลทางมหาสมุทรอินเดียโดยไม่ต้องพึ่งพาช่องแคบมะละกา กวนตรีนใครก็ได้ แต่อย่าไปกวนตีนจีน อย่าไปแทรกแซงผลประโยชน์ของจีน

ถ้ามองภูมิรัฐศาสตร์ของพื้นที่อาเซียนให้ออก ติดตามความเคลื่อนไหวของข่าวรายวัน จะเห็นว่าทักษิณเป็นได้แค่เพียงมดปลวกหรือแมลงวัน บินเข้ามาตอมปัญหานี้เพื่อจะหาแสงหรืออะไรสักอย่าง เมื่อเทียบกับจีนที่ใช้ทั้งกำลังเงินมหาศาลและกำลังของสงครามตัวแทนเข้าไปแก้ปัญหาในพม่ามาหลายปีแล้ว

ไปนอนคุยกับอูฐมาสิบกว่าปี กลับแล้วจะมาทำตัวว่าเชี่ยวชาญกับปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ของกลุ่มอาเซียน แล้วเข้าไปยุ่งกับปัญหาภายในของพม่า คงได้แต่ขี้โม้และสร้างปัญหาให้กับประเทศไทย รัฐบาลไทย และกองทัพไทยเสียมากกว่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง