ตรึง‘ดีเซล-ก๊าซ’ลดค่าไฟ เอกชนค้านขึ้นค่าแรง400

ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการบรรเทาค่าครองชีพประชาชน ตรึงดีเซล 33 บาท-ก๊าซหุงต้ม-ลดค่าไฟ "พีระพันธุ์"  เร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานครั้งใหญ่ในปีนี้ นายกฯ ชื่นชม "รมว.แรงงาน" เมินหอการค้าฯ ค้านขึ้นค่าแรง 400 บาท

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 7  พฤษภาคม นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร จะมีการจะดูแลกองทุนน้ำมันอย่างไรว่า จะให้ใช้กองทุนน้ำมันไปก่อน หากไม่พอจะให้นำงบกลางออกมาใช้ โดยกระทรวงพลังงานจะมีการแถลงผลการดำเนินการต่อไป

ด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้นำเสนอ 3 มาตรการเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อช่วยเหลือประชาชน และได้รับการพิจารณาเห็นชอบ โดยจะช่วยลดภาระค่าครองชีพ ประกอบด้วย 1.การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ถึง 31 ก.ค.2567 โดยใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2.การขยายระยะเวลาการตรึงราคาขายปลีกก๊าซหุงต้ม 423 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.2567 และ 3.การลดค่าไฟที่ 19.05 สตางค์ จาก 4.18 บาท เป็น 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค.2567

 “ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันราคาพลังงานเกือบทุกชนิดมีความผันผวนในระดับสูง ซึ่งกระทรวงพลังงานภายใต้การนำของผมได้พยายามที่จะช่วยเหลือประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งในส่วนของน้ำมัน รัฐบาลได้กำหนดเพดานไว้ที่ 33 บาทต่อลิตร เนื่องจากสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้อุดหนุนติดลบกว่าแสนล้านบาทแล้ว หากไม่อุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลที่แท้จริงจะอยู่ที่ 34-35 บาทต่อลิตร และอาจจะมีการปรับเพดานหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาขายปลีกในไทยจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป" นายพีระพันธุ์ระบุ

ทั้งนี้ ทั้ง 3 มาตรการถือว่าเป็นมาตรการช่วยเหลือในระยะสั้น ตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  ผมได้เตรียมรื้อระบบราคาพลังงานใหม่ ซึ่งผมกำลังเร่งดำเนินการอยู่ คาดว่าจะยกร่างกฎหมายใหม่ ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายในปีนี้ คนไทยจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานที่มีความยุติธรรม สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และจะเป็นการปรับรูปแบบพลังงานของประเทศที่จะมีความยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วย

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพลังงานคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้ง 3 มาตรการ รวมทั้งสิ้น 8,300 ล้านบาท ดังนี้ มาตรการด้านน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 6,500 ล้านบาท ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 6,000 ล้านบาท ช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ก๊าซ LPG จำนวน 500 ล้านบาท และมาตรการด้านไฟฟ้า จำนวน 1,800 ล้านบาท) โดยในที่ประชุม ครม. นายกฯ ได้สั่งการให้การดำเนินการของมาตรการดังกล่าวพิจารณาใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงก่อน ในส่วนที่เหลือค่อยขอรับจัดสรรจากงบฯ ปี 2567 งบกลาง ในรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

วันเดียวกัน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ได้แถลงข่าวคัดค้านนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ

โดยนายพจน์ได้อ่านแถลงการณ์คัดค้านพร้อมระบุว่า ได้รับการร้องเรียนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวและภาคบริการ 54 สมาคมการค้า ได้ส่งรายชื่อไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรงดังกล่าว เพราะเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนจนไม่เหลือผลกำไร และทางหอการค้าไทยจะนำรายชื่อสมาคมที่คัดค้านไปยื่นให้กับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 13 พ.ค.นี้ ซึ่งคาดว่าจะมีถึง 100 สมาคมการค้า ทั้งนี้การปรับค่าแรงจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น บางจังหวัดจะขึ้นไปถึง 21% ดังนั้นการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่คำนึงถึงตามที่กฎหมายกำหนดจะทำให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการหยุดกิจการ ลดขนาดกิจการหรือปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานในที่สุด

ด้านนายธนวรรธน์กล่าวว่า การปรับค่าจ้างครั้งนี้คือการกระชากด้วยนโยบายจากการหาเสียง ไม่ได้ปรับขึ้นตามความจำเป็น โดยปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียงแค่ร้อยละ1.9 และเมื่อมองย้อนหลังไป 3 ปี เศรษฐกิจไทยเติบโตแค่ร้อยละ 6  ซึ่งจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า การปรับค่าจ้างแรงงาน ควรปรับตามกลไกและตามค่าครองชีพที่สูงขึ้น การปรับครั้งนี้จะทำให้การจ้างงานไม่สดใส ผู้ประกอบการจะหันไปใช้เครื่องจักรมากขึ้นในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนภาคเอกชนจะเข้าพบ รมว.แรงงาน ในวันที่ 13 พ.ค. ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี ที่ประกอบด้วย นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ในวันที่ 14 พ.ค. นี้ ทั้งนี้ หากยังเดินหน้าที่จะขึ้นค่าแรง จะมีการฟ้องต่อศาลปกครอง

นายอรรถยุทธ ลียะวณิช คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ชุดที่ 22 (บอร์ดค่าจ้าง หรือคณกรรมการไตรภาคี) ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า กรรมการไตรภาคียังไม่มีการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ซึ่งมติในการประชุมเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ให้ทำวิจัยว่าหากปรับเป็นรายอาชีพนั้นเหมาะที่จะทำในช่วงนี้หรือไม่ โดยในการประชุมวันที่ 14 พ.ค.นี้ จะมาพูดคุยกันในรายละเอียดดังกล่าว ส่วนที่มีการประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท ในเดือน ต.ค.นั้น นี่คือการแทรกแซงแล้ว การเมืองไม่ควรจะพูด กรรมการค่าจ้างเหมือนคณะกรรมการควบคุมดอกเบี้ย ราคาน้ำมันต่างๆ ต้องปราศจากการเมือง แต่นี่นายกฯ พูดบ้าง ปลัดกระทรวงพูดบ้างเหมาะหรือไม่

ขณะที่นายเศรษฐากล่าวถึงกรณีเอกชนแถลงคัดค้านการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท พร้อมกันทั่วประเทศเดือน ต.ค.ว่า เรื่องค่าแรงตนชัดเจนอยู่แล้ว โดยมองว่าความเป็นอยู่ รากฐานของพี่น้องประชาชน และฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ถือเป็นสิ่งสำคัญ แล้วอย่างที่เคยบอกไปว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 300 บาท และในวันนี้ขึ้นมาที่ 340-350 บาทนั้น ระยะเวลา 10 ปี ขึ้นมา 10% แต่ค่าครองชีพขึ้นมาเท่าไหร่ ซึ่งต้องขอชื่นชม รมว.แรงงาน ที่มุ่งมั่นและผลักดันในเรื่องนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง