สภาจ่อสอบทักษิณจุ้นเมียนมา

กรมคุกงานเข้า หลังนักโทษเทวดาโชว์พาวนักสันติภาพเดินสายคุยชนกลุ่มน้อยเมียนมา “บิ๊กราชทัณฑ์-คุมประพฤติ” โยนเผือกร้อนกันวุ่น หนีตายตอบสังคมผิดเงื่อนไขพักโทษหรือไม่     ด้าน "กมธ.มั่นคงฯ-ก้าวไกล" รุมขย้ำ ตามจี้หน่วยงานรับผิดชอบมาชี้แจง มึนหนักเพื่อไทยใครนายกฯ ตัวจริง หยันยิ่งซ้ำเติมลดภาวะผู้นำเศรษฐา เขย่าปมเบื้องลึกโยง "ปานปรีย์" หลุดเก้าอี้   "ปณิธาน" เตือนสุุ่มเสี่ยง ล่อแหลม ระบุเจรจาเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องเดินตามกฎหมาย ประเทศชาติได้ประโยชน์ ชี้สถานการณ์ซับซ้อน ผกผัน ไทยต้องตั้งหลักให้ดีโดยเฉพาะ “ต่างประเทศ-สมช.”

เมื่อวันพุธ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่สำนักข่าวต่างประเทศระบุว่า นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ซึ่งได้รับการพักโทษ ได้พบผู้นำกลุ่มกองกำลังชนกลุ่มน้อยในพม่าหลายกลุ่มมาตั้งแต่เดือน มี.ค.-เม.ย. เช่น กองกำลังของฉานสเตทอาร์มี SSA ที่นำโดยเจ้ายอดศึก, กะเหรี่ยงเนชันยูเนียน KNU,  กะฉิ่นเนชันออร์แกไนเซชัน KNO และอีกหลายกลุ่มกองกำลัง รวมถึงรัฐบาลพลัดถิ่นของพม่า National Unity Government (NUG) เพื่อพูดคุยเรื่องปัญหาของพม่าที่กำลังรบกันภายในประเทศขณะนี้

โดยช่วงเช้าวันนี้ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้ระบุว่า  ทางกรมคุมประพฤติอาจอยู่ระหว่างพิจารณาว่าตรงไหนที่อดีตนายกรัฐมนตรีสามารถกระทำได้หรือกระทำไม่ได้ ก็คงจะต้องมีการพูดคุยและทำความเข้าใจกับอดีตนายกฯ ที่อยู่ระหว่างการพักโทษ ซึ่งผู้พักโทษทำผิดเงื่อนไข เป็นดุลพินิจของนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าวอีกว่า ส่วนความประพฤติใดของผู้ที่อยู่ระหว่างการพักโทษที่ไม่ถูกต้อง ทางกรมคุมประพฤติก็จะเป็นผู้แจ้ง และให้ผู้ถูกคุมประพฤติปฏิบัติให้ถูกต้อง ส่วนกรณีหากจะต้องส่งผู้ถูกคุมประพฤติกลับเรือนจำนั้น ต้องเป็นการกระทำที่ผิดเงื่อนไข

 “ซึ่งถ้าหากผิดเงื่อนไขแต่ไม่ได้รุนแรงก็สามารถทำความเข้าใจ บอกหรือตักเตือนได้ ทั้งนี้ จำนวนครั้งของการตักเตือนค่อนข้างมีความยืดหยุ่น เพราะบางครั้งผู้ที่อยู่ระหว่างพักโทษอาจจะไม่ทราบ หรือเข้าใจว่าทำได้ ดังนั้น กรมคุมประพฤติจะต้องไปทำความเข้าใจ เป็นดุลพินิจของนายเรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุมประพฤติ” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีความพยายามในการสอบถามประเด็นดังกล่าวผ่านทางโทรศัพท์กับนายเรืองศักดิ์ ซึ่งไม่ได้รับสายผู้สื่อข่าวแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าก่อนหน้านี้นายเรืองศักดิ์ได้ระบุว่ามอบหมายการชี้แจงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนายทักษิณให้ พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็นผู้ชี้แจง แต่ในปัจจุบันพ.ต.ท.มนตรีได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม จึงทำให้ขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนชี้แจงผ่านสื่อมวลชนในประเด็นดังกล่าว

ด้านนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ระบุว่า ยังไม่ทราบข้อเท็จจริง และตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล และคิดว่าหากไปจริงก็เป็นเรื่องส่วนตัว และการจะพูดคุยหรือไม่นั้น ปกติจะต้องได้รับความไว้วางใจจากคนที่เกี่ยวข้องจึงจะสามารถไปพูดคุยได้

ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ  สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า กังวลว่าสิ่งที่นายทักษิณดำเนินการนั้นจะสร้างความสับสนต่อบทบาทประเทศไทยในการสร้างสันติภาพในเมียนมา เพราะนายทักษิณไม่มีตำแหน่งใดในรัฐบาล และรัฐบาลไม่ได้มอบหมายให้ไปในฐานะตัวแทนรัฐไทยไปดำเนินการ

“เป็นประเด็นที่กังวล เพราะหน้าที่พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นตัวแทนประเทศไทยคือ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งกรณีดังกล่าวมีรัฐสภากำกับ แต่นายทักษิณไม่มีตำแหน่งใดในรัฐบาล ดังนั้นจึงไม่มีกลไกกำกับความสัมพันธ์ หากนายทักษิณเจรจารับคำเหมือนกับผูกพันรัฐบาลด้วย จะทำให้เป็นปัญหาในเชิงการทำงานและการตรวจสอบ เรื่องนี้ กมธ.ต้องตรวจสอบอย่างแน่นอน โดยเบื้องต้นในวันที่ 12 พ.ค. กมธ.จะลงพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งจะมีกรณีของนายทักษิณแทรกมา จากเดิมที่จะไปดูเรื่องการสนับสนุนด้านมนุษยธรรม และเก็บข้อมูลเรื่องนโยบายความมั่นคง และนอกจากนั้นจะเรียกหน่วยงานอื่นๆ คุย เพราะมีนัยสำคัญกับประเทศ” นายรังสิมันต์ระบุ

นายรังสิมันต์กล่าวอีกว่า บทบาทการเจรจาเพื่อสร้างสันติภาพเมียนมา ควรเป็นบทบาทและใช้กลไกของหน่วยงานรัฐบาล ทั้งฝ่ายความมั่นคงและกระทรวงการต่างประเทศ ไม่ใช่ในฐานะบุคคล ขณะเดียวกัน ท่าทีของรัฐบาลต่อกรณีของนายทักษิณ ที่นายเศรษฐา และนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงออกในลักษณะปัดความรับผิดชอบ ไม่รับรู้ จะเป็นปัญหาได้ในภาวะผู้นำตัวจริงของรัฐบาล

 “เมื่อรัฐบาลไม่ปฏิเสธสิ่งที่นายทักษิณทำ เท่ากับเพิ่มพลังของนายทักษิณ ทำให้การเจรจาที่ทำนั้นไม่แตกต่างอะไรจากการเจรจาของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลลดภาวะผู้นำของนายกฯ ลงไป อีกทั้งเมื่อไม่ปฏิเสธที่ชัดเจน ถือเป็นปัญหาที่น่าปวดหัว ว่าใครคือนายกฯ ตัวจริง ใครคือผู้มีอำนาจตัดสินใจ” นายรังสิมันต์ระบุ

ขณะที่ นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า ในส่วนของนายทักษิณเองเราคงไปห้ามอะไรไม่ได้ แต่ที่ตนแปลกใจ ทั้งนายกรัฐมนตรี และกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กลับบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแน่ๆ เพราะกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

นายจุลพงศ์กล่าวต่อว่า ถ้ามองกลับไป ตนเองสงสัย แต่ไม่ทราบว่าประเด็นนี้จะเป็นเหตุหนึ่งที่กดดันนายปานปรีย์  พหิทธานุกร อดีตนายกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือไม่ เนื่องจากนายปานปรีย์ยึดตามหลักการ ส่วนตัวจากที่มีโอกาสคุยกัน นายปานปรีย์พยายามจะสร้างสันติภาพด้วยการชูบทบาทอาเซียน ไม่เอาประเทศไทยแยกออกจากอาเซียน ไม่เหมือนกับรัฐบาลสมัยที่แล้ว ที่ลอบไปเจรจากับทหารเมียนมาโดยไม่บอกอาเซียน ซึ่งทำให้ประธานอาเซียนคนเก่าไม่พอใจ

ด้านนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องตอบว่านายทักษิณไปในฐานะอะไร เหตุผลสำคัญคือทุกคนทราบดีว่านายทักษิณกับรัฐบาลเป็นเนื้อเดียวกัน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และรัฐมนตรีอีกหลายคนต้องไปกราบไปไหว้ ฉะนั้นความสัมพันธ์กับรัฐบาลต้องฟังเป็นยุติว่ารัฐบาลปัดออกไม่พ้นตัวแน่นอน ที่สำคัญนายทักษิณเป็นเจ้าของพรรคเพื่อไทยตัวจริงที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล รัฐบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้อย่างแน่นอน

 “เรื่องสำคัญเช่นนี้ต้องระวังเป็นกรณีพิเศษ เพราะประเทศไทยมีกรอบของอาเซียนในการดำเนินการเป็นหลัก หากจะตอบว่าไปในฐานะส่วนตัวเอง แล้วถ้าเกิดความผิดพลาด เฉพาะนายทักษิณจะรับผิดชอบไหวอย่างไร เชื่อว่ารัฐบาลรู้ความจริงดีที่สุด อย่าให้นายทักษิณเอาประเทศไทยไปตอบสนองความต้องการ แสดงอำนาจบารมีในเรื่องที่จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยในวันข้างหน้า  รัฐบาลต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อประเทศเป็นสำคัญด้วย” โฆษก ปชป. กล่าว

นายราเมศกล่าวต่อว่า ในประเด็นการพักโทษของนายทักษิณที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมราชทัณฑ์และกรมคุมประพฤติ ซึ่งมีข้อห้ามในการประพฤติตนกำหนดไว้อยู่แล้ว และการจะเดินทางออกนอกเขตพื้นที่ เชื่อว่าเจ้าหน้าที่จะต้องมีข้อมูลทั้งหมด ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้ทั้งสองหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ละเอียดตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ แล้วออกมาตอบสังคมด้วยว่าความจริงเป็นอย่างไร

วันเดียวกัน นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์” ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร เดินสายไปพูดคุยกับกลุ่มชาติพันธุ์ของเมียนมาว่า ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและล่อแหลม การเจรจาเป็นเรื่องที่ดี แต่จะเสริมอย่างไรให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และประเทศชาติได้ประโยชน์จริงๆ

"สถานการณ์ขณะนี้ค่อนข้างผกผัน  ดังนั้นการไปคุยอย่างไม่เป็นทางการ โดยที่บางกลุ่มไม่อยากเจรจา แต่ต้องการให้เราไปบอกรัฐบาลเมียนมาให้ลงจากอำนาจและถอยออกไปเพื่อสถาปนารัฐอิสระดูแลตัวเองปกครองตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ประเทศไทยต้องตั้งหลักให้ดี โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ และสภาความมั่นคงแห่งชาติ หลายกลุ่มถอยร่นลงมาติดชายแดนไทยตามรายงานของทางสหรัฐ ทำให้การประสานฝ่ายกองกำลังของไทย กระทรวงการต่างประเทศ สมช. ต้องมีหัว ในการกำหนดเป็นนโยบาย และมีการเดินในลักษณะที่แตกต่างกันออกไป” นายปณิธานระบุ

 เมื่อถามว่า คิดว่าฝันของนายทักษิณต่อกรณีเมียนมา จะเป็นเหมือนในอดีตที่ไทยเคยประสบความสำเร็จในการเจรจาเขมรสามฝ่ายมาแล้วหรือไม่  นายปณิธานกล่าวว่า คงจะยากพอสมควร แต่ต้องไปถึงจุดนั้นให้ได้ นำไปสู่การวางอาวุธและเข้าสู่ระบบของการเมืองที่มีดุลยภาพมากขึ้น ขณะนี้ติดอยู่ที่ว่ากองกำลังชนกลุ่มน้อยต้องการยึดพื้นที่ ยังไม่มีการวางอาวุธ กรณีของเขมร กว่าจะวางอาวุธก็มีการสู้รบ ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เสียชีวิตคนเป็นหลายล้านคน ซึ่งเราต้องตัดวงจรอย่าให้เป็นเช่นนั้นเด็ดขาด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จ่อผุด13อรหันต์นิรโทษ

กรมคุกร่อนแถลงการณ์ ยันทัณฑสถานราชทัณฑ์ช่วยชีวิต ‘บุ้ง ทะลุวัง‘ ตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเต็มกำลัง