คะแนนนิยมก้าวไกลพุ่งพท.ดิ่ง

โพลสถาบันพระปกเกล้าเขย่าการเมือง บอกหากเลือกตั้งยามนี้ก้าวไกลผงาดขึ้นเบอร์หนึ่ง กวาดเก้าอี้รวม 208 ที่นั่ง ส่วน “เพื่อไทย” หล่นวูบเหลือแค่ 105 ที่นั่ง คน 46.9% อยากให้ “พิธา” นั่งนายกฯ มากที่สุด ส่วนเศรษฐาได้แค่ 8.7% ตามก้นลุงตู่และอุ๊งอิ๊ง “พริษฐ์” จี้รัฐบาลตอบให้ชัดปมเลือกตั้ง ส.ส.ร. 100% หรือไม่

เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2567 สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง และศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง 76 จังหวัด เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่องความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี : 1 ปีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาฯ 2566 โดยเก็บข้อมูล 1,620 ตัวอย่าง จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทุกจังหวัด

โดยเมื่อสอบถามว่า ถ้ามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่านจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง สส.แบบแบ่งเขต พบว่า ผู้ตอบ 35.7% ระบุว่าจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล (ก.ก.), 18.1% พรรคเพื่อไทย (พท.), 11.2% พรรคภูมิใจไทย (ภท.), 9.2% พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.), 7.8% พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), 5% พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), 1.6% พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.), 1.2% พรรคประชาชาติ (ปช.) ตามลำดับ และมีผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่าจะลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ หรือยังไม่ตัดสินใจเลือกใครในตอนนี้ 10.2%

เมื่อถามต่อว่า ในการเลือกตั้ง สส.แบบบัญชีรายชื่อ ถ้ามีการเลือกตั้ง สส.ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่านจะลงคะแนนให้แก่บัญชีรายชื่อของพรรคใด พบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 44.9% ระบุพรรค ก.ก., 20.2% พรรค พท., 10.9% พรรค รทสช., 3.5% พรรค ภท., 3% พรรค พปชร.และและพรรค ปชป., 1.3% พรรค ปช. และ 0.7% พรรค ชทพ. ตามลำดับ โดยยังมีผู้ตอบที่ระบุว่าจะลงคะแนนให้พรรคการเมืองอื่นๆ หรือไม่ต้องการลงคะแนนให้พรรคใดเลยในตอนนี้ รวมกันถึง 12.6%

โพลสถาบันพระปกเกล้ายังระบุว่า เมื่อนำผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้เปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้ง สส.เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2566  ปรากฏว่า พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นมี 2 พรรคคือ พรรค ก.ก. และพรรค ปช. โดยพรรค ก.ก.ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น 9.67% ซึ่งอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสชนะการเลือกตั้งและได้ สส.เพิ่มขึ้นถึง 49 ที่นั่ง ส่วนพรรค ปช.ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น 0.35% ซึ่งอาจทำให้พรรคมีโอกาสชนะการเลือกตั้งและได้ สส.เพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง

ขณะที่มีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตลดลง 6 พรรค ได้แก่ พรรค พท. ได้รับคะแนนนิยมลดลง 7% และอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสเสียที่นั่งที่มีอยู่เดิมไปราว 28 ที่นั่ง, พรรค พปชร.ลดลง 3.41% มีโอกาสเสียที่นั่ง 11 ที่นั่ง,  พรรค ภท. ลดลง 2.64% มีโอกาสเสียที่นั่ง 10 ที่นั่ง และพรรค ปชป. คะแนนนิยมลดลง 1.13% มีโอกาสเสียที่นั่ง 3 ที่นั่ง ส่วนพรรค รทสช. ที่คะแนนนิยมลดลง 0.47% และพรรค ชทพ.ลดลง  0.02% คะแนนนิยมที่ลดลงดังกล่าวยังไม่มากพอส่งผลให้มีที่นั่งลดลง

ส่วนของการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบพบว่า  มีพรรคการเมือง 5 พรรคได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นคือ พรรค ก.ก. ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้น 8.33%,  พรรค พปชร. เพิ่มขึ้น 1.62%, พรรค ปชป. เพิ่มขึ้น 0.66%, พรรค ภท. เพิ่มขึ้น 0.6% และพรรค ชทพ. เพิ่มขึ้น 0.19% ซึ่งคะแนนนิยมที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่งผลให้พรรค ก.ก.มีโอกาสได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 8 ที่นั่ง และพรรค พปชร.มีโอกาสได้ที่นั่งเพิ่มขึ้น 1 ที่นั่งเพียงสองพรรคเท่านั้น ส่วนคะแนนที่เพิ่มขึ้นของอีก 3  พรรคยังไม่มากพอที่จะทำให้ได้ที่นั่งเพิ่ม ขณะที่มีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อลดลง  3 พรรคคือ พรรค พท. ได้รับคะแนนนิยมลดลง 7.49%,  พรรค รทสช. ลดลง 1.18% และพรรค ปช. ลดลง 0.24% ซึ่งคะแนนนิยมที่ลดลงดังกล่าวมีผลให้พรรค พท.มีโอกาสได้ที่นั่งจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อน้อยลง 8 ที่นั่ง พรรค รทสช.มีโอกาสได้น้อยลง 2 ที่นั่ง และพรรค ปช.มีโอกาสได้ที่นั่งน้อยลง 1 ที่นั่ง ตามลำดับ

โพลสถาบันพระปกเกล้าระบุอีกว่า  เมื่อนำตัวเลขประมาณการที่นั่งที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีโอกาสได้รับจากการเลือกตั้งทั้งสองระบบมารวมกัน พบว่า หากมีการเลือกตั้ง สส.ในช่วงเวลานี้ พรรค ก.ก.เป็นพรรคที่มีโอกาสได้ที่นั่งมากที่สุดรวม 208 ที่นั่ง รองลงมาเป็นพรรค พท. 105 ที่นั่ง, พรรค ภท. 61 ที่นั่ง, พรรค รทสช. 34 ที่นั่ง, พรรค พปชร. 30 ที่นั่ง, พรรค ปชป. 22 ที่นั่ง, พรรค ชทพ. 10 ที่นั่ง และพรรค ปช. 9 ที่นั่ง ส่วนที่นั่งที่เหลือจะกระจายไปยังพรรคการเมืองอื่นๆ รวม 21 ที่นั่ง

เมื่อสอบถามว่า ถ้าเลือกได้ท่านอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในช่วงเวลานี้มากที่สุด ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ 46.9%  ระบุว่าอยากให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ มากที่สุด, 17.7% พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, 10.5% น.ส.แพทองธาร ชินวัตร, 8.7% นายเศรษฐา ทวีสิน, 3.3% นายอนุทิน ชาญวีรกูล, 1.7% นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ และ 0.4% พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีผู้ตอบที่ระบุชื่อคนอื่นๆ รวมกับที่ยังไม่เห็นว่ามีคนที่เหมาะสมอีก 10.9%

วันเดียวกัน นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรค ก.ก. กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 28 พ.ค.ว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติมีบรรจุในระเบียบวาระในสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้วทั้ง 2 ร่าง  ร่างแรกคือร่างของพรรค ก.ก. และร่างที่ 2 ของพรรค พท. ซึ่งเข้าใจว่า ครม.จะเสนอร่างของตัวเองเข้ามาประกบด้วยเป็นร่างที่สาม ซึ่งภาพรวมของเนื้อหาก็สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 3 ร่างอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญคือการเร่งพิจารณาให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งเมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว ทางวิป 3 ฝ่ายได้ตกลงร่วมกันว่าจะเปิดประชุมสภาวิสามัญเพื่อพิจารณาการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ในวันที่ 18 มิ.ย. 1 วันก่อนการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญวันที่ 19-21 มิ.ย. เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ซึ่งหวังว่าร่างของ ครม.จะเข้ามาทัน เพื่อพิจารณาพร้อมกันทั้ง 3 ร่าง และวิปรัฐบาลก็ให้คำมั่นสัญญาว่า หากร่างของ ครม.เข้าไม่ทันที่ประชุมจริงๆ วิปรัฐบาลก็เห็นตรงกันว่าควรให้เดินหน้าพิจารณาร่างประชามติทั้ง 2 ร่างทันที

 “ภาพรวมเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ประชามติถือว่าสอดคล้องกันแล้ว ยังมีสิ่งที่เห็นต่างอยู่ และอยากเรียกร้องไปถึงรัฐบาล ประกอบไปด้วย 2 ประเด็น  ประเด็นแรก เราอยากให้ทบทวนคำถามประชามติ ให้เป็นคำถามที่เปิดกว้าง  และประเด็นที่ 2 อยากให้รัฐบาลออกมายืนยันว่าจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งทั้งร่างของพรรค ก.ก. และ พท.ยืนยันหลักการว่า ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% แต่เรายังไม่ได้รับคำยืนยันจากฝั่งรัฐบาลว่าจะสนับสนุนหลักการนี้หรือไม่” นายพริษฐ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง