"เศรษฐา" นั่งหัวโต๊ะประชุม ก.ตร. 26 มิ.ย. ถกปม "บิ๊กโจ๊ก" กลับเข้ารับราชการได้หรือไม่ ลั่นไม่หวั่นโดนฟ้อง ม.157 เข้าใจความร้อนใจรอง ผบ.ตร. "วิษณุ" เบรก "โจ๊ก" ไม่ควรฟ้องนายกฯ แนะรอ "ก.พ.ค.ตร." หากไม่พอใจค่อยไปร้องศาลปกครอง "สุรเชษฐ์" ยื่นฟ้อง "พล.ต.อ." 1 ใน ก.ตร. หมิ่นประมาท จงใจใส่ร้ายเอี่ยวเว็บพนันออนไลน์ ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง 2 ก.ย. "วินัย" ยินดีถูกฟ้อง บอกจะนำหลักฐานศาล-สาธารณชนปกป้องสิทธิ รับมติ อนุ ก.ตร.ชี้ชัด “บิ๊กต่าย” เซ็นสั่งออกจากราชการไว้ก่อนทำถูกต้อง "ตัวแทนโจ๊ก-ษิทรา" ลุยยื่นหนังสือจี้ ผบ.ตร.เร่งคืนสิทธิพร้อมเอาผิด "ต่อศักดิ์"
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 25 มิ.ย. เวลา 09.25 น. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ตอบคำถามสื่อมวลชนเพียงสั้นๆ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ถึงกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) จะฟ้องร้องทางแพ่งและอาญามาตรา 157 หากไม่ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อนว่า “ยึดมั่นตามกฎหมายครับ”
จากนั้นนายเศรษฐาให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ในวันที่ 26 มิ.ย. เวลา 15.00 น. จะเป็นประธานการประชุม ก.ตร. โดยมีประเด็นเรื่องการกลับเข้ารับราชการได้หรือไม่ได้ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เป็นหนึ่งในประเด็นที่จะต้องพิจารณาด้วย
"ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องกลับหรือไม่กลับเพียงอย่างเดียว เพราะมีขั้นตอนทางกฎหมายด้วย คณะกรรมการที่พิจารณาทางวินัยกับคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมฯ ก็จะนำข้อมูลต่างๆ มาร่วมพิจารณา ซึ่งจะต้องฟังให้รอบด้าน" นายเศรษฐากล่าว
ถามว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ระบุหากไม่ได้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ใน ตร.จะฟ้องร้องนายกฯ และทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง นายกฯ กล่าวว่า เรื่องของการทบทวนแก้ไขปัญหาต่างๆ เราไม่ได้นิ่งนอนใจ 3-4 เดือนที่ผ่านมาทุกคนก็เห็นว่าเราพยายามแก้ไข แต่มีขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องทำ ซึ่งการประชุม ก.ตร.ในวันที่ 26 มิ.ย. ก็เป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ต้องเข้าประชุมเพื่อรับฟัง ส่วนกรรมการวินัยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และในส่วนของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมฯ ส่วนตัวก็ไม่ทราบว่าจะเสร็จเมื่อไหร่
"เชื่อว่าถ้าเรื่องเหล่านี้จบลงแล้ว ก็จะสามารถดำเนินการในขั้นตอนต่อไปได้ ผมเข้าใจและเห็นใจทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เราเองก็ไม่ได้มีความลำเอียงเข้าข้างใครคนใดคนหนึ่ง ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ผมเข้าใจ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์มีความเดือดร้อนและร้อนใจ แต่ผมเชื่อว่าในฐานะที่เป็นคนทำงานด้วยกัน เราก็เข้าใจถึงความร้อนใจ และผมเองไม่ได้มองว่าเป็นการขู่ครับ" นายกฯ กล่าว
นายเศรษฐากล่าวว่า อยากจะขอว่าทุกท่านเองก็มีวุฒิภาวะสูงอยู่แล้ว เรื่องของปัญหาส่วนตัวก็จะต้องมีการแก้ไขตามกระบวนการกฎหมาย อยากให้ทุกท่านสำนึกว่าเรามาอยู่ตรงนี้ได้เพื่ออะไร เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชนเรื่องสำคัญ
ถามว่า ได้มีการพูดคุยเป็นการส่วนตัวหรือไม่กับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นายเศรษฐากล่าวว่า ไม่มีครับ แต่ในการประชุม ก.ตร. ถ้าเจอก็จะพูดคุยกัน เพราะเข้าใจว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ก็จะเข้าร่วมประชุมด้วย และก็จะมีการพูดคุยในคณะกรรมการ ก.ตร.ด้วย
"ความจริงแล้วในคณะกรรมการฯ ผมก็เป็นเพียงแค่หนึ่งเสียง แม้จะเป็นประธานก็จริง แต่ก็มีคณะกรรมการ ก.ตร.หลายๆ ท่านซึ่งล้วนแต่เป็นผู้เชี่ยวชาญสูงสุด เป็นอดีตผู้บริหารสูงสุดทั้งนั้นในสำนักงานตำรวจฯ ซึ่งก็ต้องรับฟังความเห็นของพวกท่านเหล่านี้" นายกฯ กล่าว
วิษณุเบรกโจ๊กฟ้องนายกฯ
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์จะฟ้องร้องนายกฯ ว่า มีสิทธิฟ้อง เพราะเป็นการฟ้องส่วนตัว แต่ไม่ควรฟ้อง ที่สำคัญ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ยังมีช่องทางที่จะบำบัดหรือได้รับการเยียวยาหลายช่องทาง ซึ่งควรจะไปใช้ช่องทางปกติ โดยสมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ก็ยื่นฟ้องเช่นกัน เช่น ทางคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) ที่ได้เขียนเอาไว้ว่า หากใครได้รับความเดือดร้อนจากผู้บังคับบัญชาก็สามารถยื่นร้องทุกข์ได้ ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ ก.พ.ค.ตร.ในการตัดสิน หากตัดสินอย่างไรให้เป็นไปตามนั้น เวลานี้เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ ก.พ.ค.ตร. ฉะนั้นที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ระบุว่า อนุ ก.ตร.ไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ต้องถูกส่งไป ก.พ.ค.ตร.เพื่อวินิจฉัยในเร็ววันนี้
นายวิษณุกล่าวว่า ทุกคนควรจะรอ เว้นแต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะไปแก้ไขเยียวยาเอง ส่วนจะนานหรือไม่นั้น มันนาน แต่ว่า ก.พ.ค.ตร.ได้รับเรื่องไว้นานแล้ว ฉะนั้นเวลาน่าจะเหลือประมาณ 1 เดือน
ถามกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์มีการอ้างมติ ครม.ปี 2482 ว่าหน่วยงานใดที่หารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา หน่วยงานนั้นต้องทำตามนั้น นายวิษณุกล่าวว่า มีอยู่จริง ออกมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม และใช้ตั้งแต่นั้นมา ส่วนเรื่องกฤษฎีกาไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด ยิ่งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายฯ ชุดนายฉัตรชัย พรหมเลิศ เป็นประธาน ยิ่งไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด และในวันที่ตนแถลงข่าวก็ไม่ได้ชี้ถูกชี้ผิด แค่มาเล่าให้ฟังเท่านั้นว่าคณะกรรมการทั้งสองชุดว่าอย่างไร
"เรื่องที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ไปยื่นฟ้อง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รอง ผบ.ตร. และคนอื่นๆ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เป็นธรรมดาเหมือนคดีทั่วไปที่จบอีกเรื่องก็มีอีกเรื่องหนึ่งต่อไป และถือเป็นเรื่องตัวบุคคล ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับองค์กร ไม่เกี่ยวกับกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และขอย้ำประโยคนี้ว่า เขาออกแบบไว้ให้ ก.พ.ค.ตร.เป็นผู้ตัดสินปัญหา ก็ต้องใช้ช่องทางนี้ หากผลตัดสินของ ก.พ.ค.ตร.ไม่เป็นที่พอใจ ก็ไปร้องศาลปกครองได้อีก" นายวิษณุกล่าว
ซักว่า ตอนนี้ตกลง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์สามารถกลับเข้ามาเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.ได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าดูจากวันนี้เดี๋ยวนี้ตอบได้ว่ามี แต่ถ้าต่อไป อาจมีการแก้เกมอย่างอื่นจนไม่ได้เป็นก็ได้ เพราะมันยังมีช่องกฎหมายอีกเยอะ ซึ่งตามช่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่ากระบวนการไม่ชอบ และเป็นเอกฉันท์ด้วย
ย้ำว่า กระบวนการทั้งหมดจะไม่สามารถดำเนินการได้หากยังไม่มีการนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ เมื่อถามอีกว่ามีโอกาสที่จะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เขาจะไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแน่ เว้นแต่ ก.พ.ค.ตร.จะสั่งลงมา แต่คณะกรรมการกฤษฎีกาก็ไม่ได้บอกว่าไม่ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย แต่เขาบอกว่าหนังสือที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายนั้นมีข้อสังเกตว่า ควรจะถูกต้องตามกระบวนการ เพราะมีตัวอย่างมาแล้วนับสิบเรื่องที่กระบวนการไม่ถูก แล้วถูกส่งกลับมา ดังนั้นต้องทำทุกอย่างให้ถูกต้องก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับ ก.พ.ค.ตร. และรัฐบาลเองก็ฟัง ก.พ.ค.ตร. จะเอาอย่างไรก็เอาตามนั้น
ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เดินทางมายื่นฟ้อง ก.ตร.ท่านหนึ่ง ยศ พล.ต.อ. และเป็นกูรูด้านกฎหมายที่นายกฯ แต่งตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบประเด็นความขัดแย้งในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.326, 328 กรณีให้สัมภาษณ์ยืนยันข้อเท็จจริงให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเว็บพนันออนไลน์ หลังศาลอนุมัติหมายจับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ในคดีดังกล่าว โดยศาลอาญากรุงเทพใต้กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ในวันที่ 2 ก.ย.2567 เวลา 09.00 น.
ฟ้อง 'พล.ต.อ.' ก.ตร.หมิ่นฯ
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า แม้ว่าศาลจะออกหมายจับตนในคดีเว็บพนันออนไลน์ แต่ก็เป็นเพราะไม่ไปตามหมายเรียก ไม่ใช่เพราะกระทำความผิด แต่การที่กูรูท่านนั้นซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบประเด็นความขัดแย้ง ที่มีหน้าที่เพียงตรวจสอบและรายงานให้นายกฯ ทราบ ไม่ได้มีหน้าที่ออกมาพูดวินิจฉัยเรื่องคดี หรือพิพากษาคดีเองแทนศาล รวมถึงต้องให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจง ฟังความและพยานจากทั้ง 2 ฝ่าย โดยตราบใดที่ศาลยังไม่พิพากษาคดีถึงที่สุด ก็ถือว่าผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นการที่กูรูให้ความเห็นคดีชี้นำสังคม ทำให้สังคมเชื่อไปแล้วว่าตนรับเงินเว็บพนันจริง หรือมีความผิดฐานฟอกเงิน จึงเข้าข่ายหมิ่นประมาท
"กูรูสามารถให้ความรู้ทางกฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกหมายจับหรือหมายเรียก แต่ไม่ใช่ชี้นำสังคมให้เข้าใจว่าบุคคลใดมีความผิด แต่กูรูท่านนี้อาจเกษียณจากราชการตำรวจไปนาน ลืมข้อกฎหมาย จนละเมิดสิทธิ์ทางอาญา" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าว
ถามถึงการประชุม ก.ตร.ในวันที่ 26 มิ.ย. ซึ่งมีประเด็นเรื่องการกลับเข้ารับราชการได้หรือไม่ได้ด้วย พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าวว่า ก็ให้เป็นไปตามดุลพินิจของคณะกรรมการฯ ตนไม่ขอแทรกแซง แต่กระบวนการต้องถูกต้องและชอบธรรม เคารพสิทธิของตนด้วย ซึ่งไม่กังวลว่าจะถูกครหาที่วันนี้ออกมายื่นฟ้องหนึ่งใน ก.ตร. ขอยืนยันมาใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย ไม่ใช่การขู่หรือฟ้องปิดปาก เพียงออกมาต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ใครไม่โดนแบบตนก็คงไม่รู้
"ผลการประชุม ก.ตร. หากออกมาเป็นลบ ก็ยังมีช่องทางที่จะเรียกร้องสิทธิฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดต่อได้ ตอนนี้เพียงรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.) อย่างไรก็ดี วันศุกร์ที่ 28 มิ.ย. ก็เตรียมยื่นฟ้องกูรูอีก 1 คน ในความผิดฐานหมิ่นประมาทเช่นเดียวกัน และสัปดาห์หน้าจะยื่นฟ้องผู้บังคับบัญชาระดับสูงด้วย" พล.ต.อ.สุรเชษฐ์กล่าว
ถามถึงเรื่องที่ถูกดำเนินคดีเรื่องพนันออนไลน์ รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า หากผิดก็น้อมรับ ถ้าไม่ผิดก็คือไม่ผิด แต่จะไม่ขอพูดชี้นำสังคม และปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม ให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน แต่ก็เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ ถ้าตนเป็นผู้รักษากฎหมายเอง แต่ไปรับเงินเว็บพนันเอง ก็คงไม่มียางอาย ที่จะมารับใช้ประชาชน และหากตนผิดชัดเจน ก็ถือว่าเกมโอเวอร์
ด้าน พล.ต.อ.วินัย ทองสอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ และประธานคณะอนุ ก.ตร.เกี่ยวกับดำเนินการทางวินัย กล่าวถึงกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์จะยื่นฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทฯ ที่ให้สัมภาษณ์ยืนยันข้อเท็จจริงให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจเรื่อง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเว็บพนันออนไลน์ว่า ยินดีที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์จะฟ้องร้องตนเอง เพราะจะได้นำพยานหลักฐานทั้งหมดที่มีออกมาเปิดเผยกับศาลและสาธารณชน ซึ่งเรื่องนี้มองว่าเป็นสิทธิ์ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์สามารถทำได้
"หากการฟ้องร้องไปถึงในชั้นศาล จะนำพยานหลักฐานที่มีไปชี้แจง เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิ์ของผมเองเช่นกันว่าผมรู้ข้อมูลพยานหลักฐานหรือการกระทำใดๆ บ้าง" พล.ต.อ.วินัยกล่าว
ถามถึงกระแสข่าวที่ประชุมอนุกรรมการ ก.ตร. มีคะแนนเอกฉันท์ 10 ต่อ 0 กรณีที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐเซ็นหนังสือคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากราชการ ถูกต้องตามระเบียบตาม พ.ร.บ.ตำรวจ 2565 พล.ต.อ.วินัยกล่าวว่า มีการประชุมเรื่องดังกล่าวจริงเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยตนเป็นประธานการประชุมอนุ ก.ตร. ซึ่งจากการพิจารณา พ.ร.บ.ตำรวจฯ รวมถึงกฎหมายลูกอื่นๆ คณะอนุกรรมการฯ ลงความเห็นในครั้งแรกออกมาเป็นเอกฉันท์ว่าการเซ็นหนังสือคำสั่งดังกล่าวถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบต่างๆ แต่มีการลงมติในรอบที่ 2 เนื่องจากมีผู้มาเข้าประชุมเพิ่มอีก 1 คน ทำให้การลงมติเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย โดยส่วนใหญ่ลงมติความเห็นตามเดิม แต่มีอนุกรรมการฯ 1 คนที่งดออกเสียง
ชง ก.ตร.ชี้สถานะสุรเชษฐ์
"ผลการลงมติดังกล่าวจะนำส่งต่อไปให้นายกฯ และที่ประชุม ก.ตร.ชุดใหญ่ ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 26 มิ.ย. โดยมติความเห็นของอนุกรรมการฯ จะถูกนำไปประกอบกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและความเห็นของผู้ร่วมเข้าประชุมคนอื่นๆ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีผลชี้ขาด" พล.ต.อ.วินัยกล่าว
วันเดียวกัน ตัวแทนของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เดินทางไปที่ศูนย์รับ-ส่งหนังสือตำรวจแห่งชาติ สำนักเลขานุการตำรวจแห่งชาติ เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ผบ.ตร. ให้พิจารณายกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อน
เนื้อหาในหนังสือตอนหนึ่งระบุว่า กรณีที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รรท.ผบ.ตร.ในขณะนั้น มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคำสั่งดังกล่าวขัดกับ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2565 (ฉบับใหม่) จึงถือว่าเป็นคำสั่งโดยไม่ชอบ จึงขอให้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่เพื่อระงับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้ดุลยพินิจโดยไม่ชอบ ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมของ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ
"หากพบว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ไม่ดำเนินการ ละเลยหรือประวิงเวลา จนได้รับผลกระทบหรือได้รับความเสียหายต่อสิทธิที่ควรจะได้รับ ถือว่ามีเจตนากระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ" ท้ายหนังสือระบุ
นอกจากนี้ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ เดินทางมายื่นหนังสือถึง ผบ.ตร. เพื่อให้กำชับเร่งรัดการสอบสวนคดีความ ที่ก่อนหน้านี้ได้ไปยื่นที่ สน.เตาปูน เนื่องจากพบว่ามีข้อมูลหลักฐานการรับเงินจากบัญชีม้าเว็บพนันออนไลน์ของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์และครอบครัว
นายษิทรากล่าวว่า คดีที่ สน.เตาปูนไม่มีความคืบหน้า ไม่มีการเรียกใครไปแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งที่เส้นทางการเงินในบัญชีเห็นชัดเจนว่ามีการโอนเงินเข้าบัญชีคนในครอบครัวของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ประเด็นนี้ตนอยากถามนายกฯด้วยว่ากำลังทำอะไรอยู่ ทั้งที่รู้ว่า ผบ.ตร.ถูกดำเนินคดีรับเงินคดีเว็บพนัน แต่กลับไม่มีการทำอะไร และอนุญาตให้กลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิม อีกทั้งอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยข้อเท็จจริงจากการตรวจสอบของคณะกรรมการสอบสวนข้อขัดแย้งที่นายกฯ ตั้งขึ้น
"เชื่อว่าประชาชนอยากรู้ว่าการใช้เวลา 3 เดือนในการตรวจสอบผลตรวจสอบเป็นอย่างไร ประชาชนไม่ได้อยากรู้ใครทะเลาะกับใคร ประชาชนต้องการรู้ว่าใครผิดหรือใครถูก มั่นใจว่าทางคณะกรรมการฯ ต้องมีการเอื้อประโยชน์ให้กับ ผบ.ตร." นายษิทรากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการเดินทางมายื่นคำร้องที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติวันนี้ นายษิทราได้นำรถยนต์ส่วนตัวไปจอดในที่จอดรถของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เมื่อนักข่าวถามว่าเหตุใดจึงนำรถส่วนตัวไปจอดในรถของผู้บังคับบัญชา นายษิทรากล่าวว่า เห็นว่าที่จอดรถว่างอยู่จึงนำรถตัวเองเข้าไปจอดเฉยๆ เพราะใน ตร.หาที่จอดรถยากจะตาย
"ปกติแล้วจะไม่มีการอนุญาตให้รถยนต์ของประชาชนทั่วไปเข้าไปจอดในช่องจอดรถยนต์เฉพาะสำหรับผู้บังคับบัญชา โดยหากมีการประสานงานมาล่วงหน้า เจ้าหน้าที่จะจัดที่จอดรถในอีกพื้นที่ให้ ซึ่งไม่ใช่ช่องจอดเฉพาะของผู้บังคับบัญชา" แหล่งข่าวระบุ
ด้าน ผศ.ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ในฐานะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนภาคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊กประกาศการลาออกจากตำแหน่ง ก.ต.ช. ตอนหนึ่งระบุว่า การตัดสินใจในครั้งนี้เกิดจากการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของการขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และความจำเป็นในการมอบโอกาสให้กรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคประชาชนคนใหม่ที่จะสานต่อภารกิจในการพัฒนาและสนับสนุนการทำงานของตำรวจแห่งชาติในอนาคตให้มีความต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์
"กระผมเชื่อมั่นว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติภายใต้การนำของทุกรัฐบาลจะยังสามารถคงเป็นที่พึ่งของประชาชนและสามารถฟื้นฟูความศรัทธาของประชาชนได้ ถ้านายตำรวจทุกคนทำตามหน้าที่ด้วยความซื่อตรง และขอให้ฝ่ายนโยบายที่จะต้องเดินหน้าต่อไป ช่วยสานต่อและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ลงพื้นที่เข้าถึงประชาชนและไปดูหน้างานตามแนวชายแดนจะได้ข้อมูลแท้จริง จะทำให้ฝ่ายนโยบายตัดสินใจได้ถูกต้องตอบโจทย์ตรงเป้าความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์อันเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมป (Roadmap) ฟื้นฟูความศรัทธาของประชาชน ที่ผมออกแบบและได้เสนอให้กับ สำนักงานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (สนง.ก.ต.ช.) ไปแล้ว" ผศ.ดร.นพดลระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปชน.กระทุ้งกต. ปรับท่าทีเชิงรุก เร่งช่วย4ลูกเรือ
กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้
สจ.จอยประกาศไม่เผาศพ!
7 ผู้ต้องหาคดียิง "สจ.โต้ง" คอตกเข้าคุกเรียบร้อย
กกต.ย้ำ1ก.พ.เลือก47อบจ. พท.จ่อเคาะชื่อเก้าอี้โคราช
กกต.ย้ำเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด 1 ก.พ.2568
พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี
"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล
หัวลำโพงคึกคัก! 'อิ๊งค์' นำทีม พท. สัมมนาหัวหิน ตื่นเต้นขึ้นรถไฟรอบ 20 ปี
’แพทองธาร‘ นำทีม ’เพื่อไทย’ ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ มุ่งหน้าสัมมนาหัวหิน ‘เศรษฐา-โอ๊ค-เอม’ ร่วมด้วย ตื่นเต้นนั่งรถไฟรอบ 20 ปี