วุ่น!เลื่อนรับรองสว. กกต.ไม่ทันแห่ร้องฮั้วอื้อ จับตาเลือก‘ปปช.-ตศร.’

"กกต." วุ่น! เจอแห่ร้องเรียนเลือก สว.รายวัน ต้องเพิ่มเวลาตรวจสอบ เล็งขยับประกาศรับรองผล 200 ว่าที่ สว.ชุดใหม่ จาก 3 ก.ค.ไปเป็นสัปดาห์หน้า "นิกร" ห่วงหากล้มกระดานจะฟ้องร้องกันไม่จบ "พริษฐ์" แนะรีบประกาศผลดันตั้ง "ส.ส.ร." แก้ กม.เจ้าปัญหา จับตา “สภาน้ำเงิน” จ่อเลือกองค์กรอิสระ 12 ตำแหน่ง "เลขาฯ  ป.ป.ช." ขอ สว.ใหม่เลือกองค์กรอิสระปลอดการเมือง

เมื่อวันที่ 2 ก.ค. มีความคืบหน้าภายหลังการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)  ระดับประเทศแล้วเสร็จ และได้ผู้รับเลือก เป็น สว. จำนวน 200 คน และสำรองอีก 100 คน ซึ่งเดิมคาดว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะประกาศรับรองรายชื่อ สว.ได้ในวันที่ 3 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้เข้ามาร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือก สว.จำนวนมาก ทำให้ช่วงวันที่ 1-2 ก.ค. ทาง กกต.ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับคำร้องเหล่านี้ตลอดทั้ง 2 วัน แต่เนื่องจากข้อมูลร้องเรียนมาเรื่อยๆ จน กกต.ต้องนัดประชุมหารือเพิ่มอีกในช่วงบ่ายวันที่ 3 ก.ค. จึงมีกระแสข่าวว่า กกต.จะสามารถรับรองสว.ได้ในต้นสัปดาห์หน้า ซึ่งสอดคล้องกับที่มีรายงานว่า ทางสำนักเลขาฯ วุฒิสภาได้มีการเตรียมความพร้อมในการรับรายงานตัว สว.ใหม่ในช่วงกลางสัปดาห์หน้า

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. กกต.สรุปภาพรวมการเลือก สว. พบมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาจำนวน 614 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติให้ลบชื่อคิดเป็น 65% ส่วนคำร้องไม่สุจริต 14% เช่น ประเด็นการให้ทรัพย์สินตามมาตรา 77 ส่วนที่เหลือเป็นคำร้องจ้างลงสมัคร เรียกรับให้ ลงคะแนน ขณะที่การร้องว่ามีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยเหลือ มีอยู่ 3% 

"กรณีที่มีข้อสงสัยว่าทาง กกต.จะสามารถรับรอง สว.ใหม่รวดเร็วทั้ง 200 คน แล้วค่อยมาตามสอยคนที่มีปัญหาในภายหลัง หรือรับรองเพียงบางส่วนที่ไม่มีปัญหาไปก่อนข้อสงสัยหรือไม่นั้น การพิจารณาว่าใครทำผิดกฎหมาย หรือทุจริตการเลือก สว.นั้น ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าผิดจริงๆ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดมากพอที่จะสั่งเอาผิด หรือลบชื่อออกได้ในทันที ต้องใช้เวลาในการตรวจสอบข้อมูล หลักฐาน การหาหลักฐานเพิ่มเติม การประสานหน่วยงานนอกที่มีความเกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น" แหล่งข่าวจาก กกต.ระบุ

มีรายงานด้วยว่า ขณะนี้ กกต.ต้องจัดหมวดหมู่คำร้องเรียนเกี่ยวกับการเลือก สว. ว่าเป็นเรื่องอะไร อย่างไรก็ดีในส่วนของการตรวจสอบการเลือกตั้ง หรือเลือก สว.ก็ตาม ไม่ได้มีกฎหมายระบุชัดว่าให้ทำให้เสร็จภายในระยะเวลากี่วัน กี่เดือน แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว กกต.จะดำเนินการราวๆ 1 ปี 

นายนิกร จำนง ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวถึงกรณีมีการร้องเรียนให้รระงับการประกาศผลการเลือกสมาชิกวุุฒิสภา (สว.) และยกเลิกการเลือก สว.ให้เริ่มใหม่ว่า

เรื่องนี้น่าจะสร้างปัญหาตามมามากมาย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดมาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ฉบับเจ้าปัญหา ในมาตรา 107 ที่กำหนดว่า "วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจํานวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทํางาน หรือเคยทํางานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยในการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งในลักษณะที่ทําให้ประชาชน ซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคนสามารถอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้" และตอนท้ายของมาตราหักกลับย้อนเกล็ดเป็นบอกว่า "จะกําหนดมิให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันก็ได้ โดยให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภากำหนด"

"ปัญหาส่วนใหญ่ทั้งหมดนี้เกิดจากรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดอยู่ ซึ่งคงต้องรอให้ ส.ส.ร. ที่กำลังจะมีขึ้นเสนอแก้ไขกันต่อไปให้ดีกว่านี้ เพราะเราได้เห็นสภาพปัญหากันได้ชัดเจนพอสมควรแล้ว ในขณะนี้กับระบบการได้มาซึ่ง สว.ที่เป็นระบบริเริ่มใช้หนึ่งเดียวในโลก ต้องเรียนรู้ข้อผิดพลาดแล้วแก้ไขกันในโอกาสต่อไป" นายนิกรกล่าว

ปธ.คกก.ยุทธศาสตร์ ชทพ.กล่าวว่า  ขณะนี้เราจะต้องพิจารณว่าดำเนินการอย่างไรกับว่าที่ สว.ชุดที่อยู่ตรงหน้านี้ จะให้ กกต.ยกเลิกไปทั้งหมด แล้วให้สมัครใหม่เลือกกันเองขึ้นใหม่ตามกฎหมายเดิมตามที่มีผู้รู้เสนอหรือ? ถ้าจะทำเช่นนั้น เราท่านแน่ใจหรือว่าส่วนใหญ่ของว่าที่ สว.ใหม่นั้น ได้มาด้วยการทุจริตไม่ชอบตามกฎหมายที่มีอยู่ เรามีหลักฐานการทำผิดชัดเจนกันแล้วหรือ แล้วถ้าเขาเหล่านั้นฟ้องร้องเพื่อรักษาสิทธิอันชอบธรรมของเขา ใครจะรับผิดชอบได้

อย่างไรก็ตาม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล (ก.ก.) กล่าวว่า ปัญหาการคัดเลือก สว.ทุกอย่างเป็นผลลัพธ์กระบวนการเลือก สว.ในรัฐธรรมนูญ แต่เรื่องสำคัญเฉพาะหน้า คือทำอย่างไรให้ กกต.เร่งตรวจสอบข้อร้องเรียนให้เสร็จโดยเร็วที่สุด จะได้รับรองผลการเลือก สว.โดยเร็ว เพราะตั้งแต่ก่อนจะเริ่มกระบวนการเลือก สว. ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ได้เคยชี้ให้เห็นว่าในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ไม่ได้กำหนดไว้ว่า กกต.จะต้องประกาศผลภายในกี่วัน ไม่เหมือนกับการเลือกตั้ง สส. กฎหมายเขียนเพียงแค่ว่า ให้รอไว้ 5 วัน ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านมาแล้ว

"สว.ชุดใหม่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นยิ่งมี สว.ชุดใหม่เข้ามาเร็ว การพูดคุยหารือกันเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญก็จะรวดเร็วมากขึ้น รวมถึงบทบาทในการรับรองบุคคลในองค์กรอิสระ และการกลั่นกรองกฎหมายต่างๆ ซึ่งพรรคก้าวไกลก็มีกฎหมายหลายฉบับ ที่รอการเสนอ แต่อาจจะถูกมองว่าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ จึงรอให้ สว.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก่อน" นายพริษฐ์กล่าว

ถามว่า สว.ชุดไหนจะมีโอกาสเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าระหว่าง สว.ชุดเดิมที่รักษาการต่อกับ สว.ชุดใหม่ นายพริษฐ์มองว่า สำหรับ สว.ชุดเดิม ไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์ก็ได้ เพราะดูจากสถิติการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาประมาณเกือบ 30 ร่าง ก็ผ่านไปได้แค่ร่างเดียวคือ เรื่องระบบเลือกตั้ง เราจึงได้เห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ของ สว.ชุดเก่า ส่วน สว.ชุดใหม่ก็คงได้พิสูจน์กัน หลังเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ เพราะปัจจัยหลักในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคือการกำหนดองค์ประกอบของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% รวมถึงอาจมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา คู่ขนานไปกับการแก้ไขทั้งฉบับ ก็จะเป็นบทพิสูจน์ว่า สว.ชุดใหม่จะมองเรื่องนี้อย่างไร

ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สว.ชุดใหม่ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ นอกจากการกลั่นกรองพิจารณากฎหมาย และการติดตามตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลแล้ว อีกภารกิจสำคัญคือการให้ความเห็นชอบบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐ และให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปี 2567 นี้มีกรรมการในหลายองค์กรที่จะครบวาระ

โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) จะมีผู้ที่พ้นจากตำแหน่ง 1 คน ในเดือน เม.ย.67 ที่ผ่านมา คือ น.ส.จินดา มหัทธนวัฒน์ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ที่พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 24 เม.ย.2567 เหตุอายุอายุครบ 70 ปี และในวันที่ 22 ก.ย.นี้จะมี พล.อ.ชนะทัพ อินทามระ ประธานและกรรมการตรวจเงินแผ่นดินอีก 4 คน ได้แก่ นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์, นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์, นายสรรเสริญ พลเจียก และนางอรพิน ผลสุวรรณ์ สบายรูป ที่ครบวาระดำรงตำแหน่ง 7 ปี

นอกจากนี้ ยังมีผู้ตรวจการแผ่นดิน  ที่ลาออกจากตำแหน่ง 1 คน เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2567 นายอิสสรีย์  หรรษาจรูญโรจน์

ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยในวันที่ 9 ก.ย.นี้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. จะพ้นจากตำแหน่งเหตุอายุครบ 70 ปี ตามที่กฎหมายกำหนด และยังมีอีก 2 คนที่ดำรงตำแหน่งครบวาระ 9 ปี ในวันที่ 30 ธ.ค.67 คือ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ และนางสุวณา สุวรรณจูฑะ

ขณะที่ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ จะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญพ้นจากตำแหน่งอีก 2 คน เหตุครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพ้นจากตำแหน่งในวันที่ 16 พ.ย.67 กับนายปัญญา อุดชาชน ที่จะครบวาระดำรงตำแหน่งในวันที่ 26 พ.ย.67

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า การสรรหากรรมการองค์กรอิสระบางองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป.ป.ช. ติดปัญหาในการคัดเลือกคณะกรรมการที่ยังว่างมากว่า 2 ปีแล้ว เหตุใดจึงไม่สามารถสรรหามาทดแทนได้ ที่ผ่านกระบวนการสรรหาแล้ว แต่ยังไม่ผ่านขั้นตอนในชั้นวุฒิสภา มีกระบวนการยุ่งยากซับซ้อนในการสรรหาตัวบุคคลที่เหมาะสม ไม่มีบุคคลที่เหมาะสมจริงๆ หรือ สว.ชุดใหม่ต้องทำให้การได้มาซึ่งกระบวนการสรรหากรรมการองค์กรอิสระจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง