“เศรษฐา” ไม่ขัดก้าวไกลอยากได้วันประชุมสภาเพิ่ม “ศุภณัฐ” เหน็บผู้นำไม่เคยทำตัวให้ว่าง บอกจะรอมาตอบกระทู้ นายกฯ ลงพื้นที่ภูเก็ต ติดตามก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดสี่แยกท่าเรือ ลุยฝนเข้าพื้นที่ดินสไลด์ พร้อมสั่งเร่งทำฟลัดเวย์ แก้ปัญหาเร่งด่วนระยะสั้น
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีฝ่ายค้านขอให้เพิ่มวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อผลักดันกฎหมายสำคัญได้เร็วและมากขึ้นว่า ขึ้นอยู่กับฝ่ายนิติบัญญัติ เราพร้อมปฏิบัติอยู่แล้ว และเห็นด้วยที่ต้องพยายามช่วยกันทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ ในการผลักดันกฎหมายให้ออกมาเร็วๆ รวมถึงเห็นว่าการเพิ่มวันเป็นอีกวิธีการหนึ่ง หรือการทำงานเป็นอีกวิธีหนึ่ง พร้อมปฏิบัติตามที่สภานิติบัญญัติจะตกลงกันมา
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเรื่องการตอบกระทู้ในสภา นายกฯ จะกำชับรัฐมนตรีอย่างไรหรือไม่ โดยเฉพาะในส่วนของนายกฯ อาจจะมีภารกิจในวันที่ตรงกับการประชุมสภาแล้วไม่สามารถไปได้ นายเศรษฐาตอบว่า เรื่องนี้เราให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการไปตอบด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปตอบ ต้องมีการคุยกัน
ด้านนายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า แต่ท่านนายกฯ ไม่เคยทำตัวให้ว่าง เพื่อมาตอบคำถามประชาชน นายกฯ ประกาศมาเลย จะว่างมาตอบกระทู้ของ สส.ก้าวไกล สัปดาห์ไหน วันที่เท่าไร สภามีกระทู้สด ทุกวันพฤหัสฯ ช่วง 10.30-12.30 น. วันละ 3 กระทู้ ฝ่ายค้าน 2 กระทู้ รัฐบาล 1 กระทู้ กระทู้ละ 30 นาที พรรคก้าวไกลรอถามกระทู้สดนายกฯ แทนพี่น้องประชาชนมาร่วม 1 ปีแล้ว
ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายเศรษฐาได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจติดตามโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด และปัญหาดินสไลด์ จากเหตุการณ์น้ำท่วมหลังฝนตกอย่างหนักเมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ร่วมคณะ
โดยจุดแรก นายเศรษฐาได้รับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนในการขุดอุโมงค์ทางลอด บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร อ.ถลาง ซึ่งมีปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงเวลา 16.00-19.00 น. ทั้งนี้ นายเศรษฐาได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาเพิ่มเติมถึงการทำบายพาส หรือเส้นทางระบายน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด
จากนั้นนายเศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณโครงการขุดเจาะอุโมงค์ เพื่อแก้ไขสถานการณ์รถติดในจังหวัดแล้ว ซึ่งกระทรวงคมนาคมอธิบายถึงสภาพปัญหาว่า ถนนเส้นนี้มีระยะทางประมาณ 26 กิโลเมตร แต่มีสัญญาณไฟจราจร 7 จุด วงเวียน 1 จุด จุดกลับรถ 12 จุด ทำให้การจราจรเคลื่อนตัวได้ช้า ระหว่างรอการก่อสร้างอุโมงค์จึงมีมาตรการในระยะสั้นในการปิดกั้นบางช่วง เพื่อให้รถสามารถเคลื่อนตัวได้เร็วขึ้น ตลอดจนขยายทางเลียบเมือง เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของรถ ซึ่งโครงการน่าจะแล้วเสร็จในปี 69
“ต้องคำนึงถึงปัญหาน้ำท่วมในอุโมงค์ เพราะเป็นทางผ่านของน้ำ จึงให้ทางจังหวัดเตรียมแผนรองรับ เช่น ปั๊มน้ำ และช่องทางระบายน้ำ ที่ไม่กระทบต่อชุมชนโดยรอบ เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านได้รับผลกระทบถึง 200 หลังคาเรือน ผมเชื่อว่าปัญหาการจราจรในตัวเมืองภูเก็ตและน้ำท่วมน่าจะคลี่คลายลงไปได้มากจากมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว” นายเศรษฐาระบุ
จากนั้นนายกฯ ได้เดินทางต่อมาที่บ้านหัวควนใต้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นพื้นที่ดินสไลด์เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมา โดยมีนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และอธิบดีกรมทางหลวงร่วมคณะ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์และการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากที่มีฝนตกหนักหลายวันทำให้ดินอุ้มน้ำไม่ไหว จนเป็นเหตุให้ดินสไลด์หลายจุด จากการสำรวจเบื้องต้นมีอย่างน้อย 18 จุด ในพื้นที่ 3 อำเภอ
ทั้งนี้ นายกฯ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบแก้ปัญหาที่จำเป็นและเร่งด่วนเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะเรื่องของการทำฟลัดเวย์ หรือทางระบายน้ำ ได้ขอแผนที่ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงดินสไลด์ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต เพื่อไปหารือกับนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อวางแนวทางป้องกันทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพราะจะต้องเร่งดำเนินการในระยะสั้น เพราะช่วงนี้ฝนตกตลอดและยาวไปจนถึงเดือน ก.ย. โดยต้องหาแนวทางป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด ขณะที่ชาวบ้านได้เล่าถึงเหตุการณ์ดินสไลด์ พร้อมระบุว่าอยู่มา 60 ปี เพิ่งเคยมีดินสไลด์ในครั้งนี้
นายกฯ เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่มาดูสถานที่จริงแล้ว มีหลายมาตรการที่ต้องทำ โดยระยะสั้นเราต้องมาดูว่าพื้นที่ตรงนี้ เพราะช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ฝนจะมีปริมาณมากกว่านี้อีก ชาวบ้านบอกว่าอยู่ที่นี่มากว่า 60 ปีไม่เคยเจอ พอมาเจอหนหนึ่งก็มีความเป็นไปได้ และเราไม่อยากตั้งอยู่บนความประมาท เพราะฉะนั้นเรื่องของการทำฟลัดเวย์ เรื่องการขยายร่องน้ำ เพื่อไม่ให้น้ำล้นออกมาจนสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน นี่คือการแก้ปัญหาระยะสั้น
นายกฯ กล่าวอีกว่า ส่วนระยะกลาง ระยะยาว จะต้องมีการตั้งศูนย์เตือนภัย แต่ชาวบ้านบอกว่าน้ำมาเร็ว แต่การเตือนภัยอาจจะช่วยได้บ้าง สิ่งสำคัญที่สุด เราต้องมาดูแผนที่ทั้งหมดว่าจุดที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินถล่ม ไม่ใช่แค่เพียงพื้นที่ตรงนี้เพียงพื้นที่เดียว เพราะเท่าที่ดูจากแผนที่จากอธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีอีกหลายจุด อย่างน้อย 7-8 จุด ที่เราต้องดูแลทั้งการทำฝาย ฟลัดเวย์ เขื่อน หรือขั้นบันได เพื่อชะลอการไหลของน้ำให้ช้าลง ซึ่งตรงนี้เป็นแผลระยะกลางและระยะยาว
ผู้สื่อข่าวถามว่า บ้านเรือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดดินสไลด์ จะมีแนวทางป้องกันหรือช่วยเหลืออย่างไร นายกฯ ตอบว่า จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องเร่งแก้ไข ในเขตที่มีความสุ่มเสี่ยง แผ่นดินถล่ม และต้องมาศึกษาและดูว่าเราจะมีการแก้ไขได้มากน้อยเพียงใด ถ้ามีหนทางแก้ไขได้จะไม่กระทบกับชาวบ้าน
เมื่อถามว่า การบริหารจัดการของจังหวัดที่สามารถแก้ปัญหาได้ภายในวันเดียว มีความพอใจแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า เชื่อว่าทางผู้ว่าราชการจังหวัดทำงานอย่างเต็มที่อยู่แล้ว แต่อย่างที่บอก 60 ปีไม่เคยเจอ ก็เห็นใจ แต่ตอนนี้เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ วันนี้เราควรมองไปข้างหน้ามากกว่า เมื่อเข้าช่วงต้นฤดูฝนเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมาแล้ว ช่วงกลางและช่วงปลายฝนจะชุกมากกว่านี้ เราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมาอีก และไม่ใช่ดูแค่พื้นที่ตรงนี้เพียงแห่งเดียว ยังมีพื้นที่สุ่มเสี่ยงอีกจำนวนมาก คืนวันเดียวกันนี้ (5 ก.ค.) จะได้พูดคุยกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพ บริหารจัดการเรื่องนี้ทั้งหมด
เมื่อถามว่า จะมีการนำแผนพื้นที่เสี่ยงภัยทั้ง 54 จังหวัดเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเร่งผลักดันให้เสร็จโดยเร็วหรือไม่ นายเศรษฐาตอบว่า ในเรื่องเร่งด่วน ตนเชื่อว่าข้าราชการทุกคนเข้าใจถึงความเร่งด่วนอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้รอบคอบและสามารถควบคุมได้ทั้งหมด เชื่อว่าทั้งปลัดและอธิบดีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดูแลอย่างเต็มที่
เมื่อถามว่า พื้นที่ลุ่มต่ำมีบ้านเรือนของประชาชนปลูกสร้างขวางทางน้ำจะแก้ไขปัญหาอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า เชื่อว่าต้องยึดตามกฎหมาย และแผนการก่อสร้างจะต้องเชื่อมต่อกับทางผู้ว่าราชการจังหวัด
จากนั้นนายกฯ ได้เดินทางมาติดตามการระบายน้ำที่คลองระบายน้ำบริเวณหน้าไปรษณีย์กมลา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลุยมาเฟียปราจีนฯ ไร้เงาคนสนิทโกทร
นายกฯ อิ๊งค์พร้อมนั่งหัวโต๊ะทีมเฉพาะกิจปราบมาเฟียตามบัญชาพ่อ
พท.ฝัน‘หน่อย’ ชิงอบจ.โคราช ในนามเพื่อไทย
“อนุทิน” ตอกย้ำ “ภูมิใจไทย” ไม่ลงเล่นสนามท้องถิ่น เด็กเพื่อไทยยังหวัง
ตีปี๊บโลกยกย่องนายกฯ ‘แพทองธาร’ไปมาเลย์
“รมต.น้ำ” แห่ตีปี๊บ “ฟอร์บส์” จัดอันดับ “แพทองธาร” ติดอันดับ 29
เชื่อ2วัน‘น้ำท่วมใต้’ลดลง
นายกฯ กำชับ ศปช.เร่งบรรเทาน้ำท่วมใต้ 4 จังหวัดยังหนัก คาด 2 วันคลี่คลาย
อิ๊งค์แก้ต่างแทนพ่อ อ้างพูดให้พรรคร่วมช่วยกัน/อนุทินชี้ดรามาจบแล้ว
“อิ๊งค์” แจง "พ่อนายกฯ" พูดถึงพรรคร่วมในภาพกว้าง ต้องช่วยกัน
เรืองไกร ไล่บี้นายกฯทวงหลักฐานการลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท
เรืองไกร ทวงข้อมูลหลักฐานการลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทต่าง ๆ จากนายกรัฐมนตรี