"เศรษฐา" ลั่นยังไม่คิดปรับ ครม.ตอนนี้ ขออย่าโยง 3 คดีทางการเมืองเดือน ส.ค. หวั่นทำ รมต.ไขว้เขว มั่นใจ 314 เสียงแน่นปึ้กไม่คิดถึง ปชป. "อนุทิน" หวานเจี๊ยบรับการนำของ "นายกฯ" ตั้งแต่ยกมือหนุน ยันไม่คิดเสียบแทน ชี้เก้าอี้ผู้นำเป็นของ พท. "ชัยชนะ" ปัดคุย "ธรรมนัส" ขอเข้าร่วมรัฐบาล "เทพไท" เชื่อหากเกิดอุบัติเหตุ "เสี่ยหนู" นายกฯ ตัวจริง "สวนดุสิตโพล" เผยดัชนีการเมืองไทยเดือน ก.ค. "พิธา" ยังเหนือกว่า "เศรษฐา" ปชช.กังวลรัฐบาลแก้ปัญหาปากท้อง
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 2 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองช่วงเดือน ส.ค. มีความน่าเป็นห่วงว่า บอกไปเมื่อวันที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ส่งคำแถลงปิดคดีไปเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในกระบวนการยุติธรรม เรื่องที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือปัญหาบ้านเมือง ปัญหาเศรษฐกิจ
ถามว่า จาก 3 คดีช่วงเดือน ส.ค. ทำให้เกิดกระแสข่าวจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐาปฏิเสธว่าไม่มีการพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว ทุกคนยังคงทำงานกันอย่างเต็มที่ เมื่อคืนนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็เดินทางไปร่วมงานสวดพระอภิธรรมมารดาของตน ซึ่งก็มีการพูดคุยถึงปัญหาบ้านเมือง และการเตรียมพร้อมลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในวันที่ 3 ส.ค.เท่านั้น
ซักว่า หากวันที่ 14 ส.ค.คดีของนายกฯ ไม่มีปัญหา จะมีการปรับ ครม.หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ได้คิดเรื่องนี้เลย อย่างที่บอกในคดีของตนก็จบแล้ว เพราะศาลไม่ได้เรียกขอข้อมูลเพิ่มเติมมา ซึ่งได้ทำคำแถลงปิดคดีไปเรียบร้อยแล้ว วันนี้ก็ต้องดูปัญหาบ้านเมืองอย่างเดียว
"ผมไม่อยากคิดไปไกล การปรับเปลี่ยน ครม. เชื่อว่าตลอดระยะเวลาที่เหลือ 3 ปี แน่นอนว่าอาจมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ไม่มีการโยงใยกับวันที่ 14 ส.ค. หรือกรณีของพรรคก้าวไกลที่มีการตัดสินวันที่ 7 ส.ค. ดังนั้นขออย่าไปโยง เพราะจะทำให้เกิดความซับซ้อนและเข้าใจผิด เบี่ยงเบนความสนใจในประเด็นบางเรื่องที่เราต้องทำ อยากให้รัฐมนตรีทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ ไม่มีความไขว้เขวในเรื่องนี้" นายกฯ กล่าว
พอถามว่า หากมีการปรับ ครม. พรรคร่วมรัฐบาลเดิมยังอยู่ครบหรือไม่ หรือจะมีการนำของเก่าออกและเอาของใหม่เข้ามาบ้าง นายกฯ นิ่งไม่ตอบคำถามดังกล่าว เมื่อถามต่อว่ามีความหวาดระแวงหรือไม่ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าวการปรับเปลี่ยนตัว จะมีคนในรัฐบาลเข้ามาแทนนายกฯ หากศาลตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง นายเศรษฐากล่าวว่า เรื่องการเมืองเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ 314 เสียงมันก็แน่นอยู่แล้ว ถ้ามัวแต่พะว้าพะวังกับคำว่าอาจจะแบบนี้ อย่างที่บอกตนไม่อยากให้ทุกคนที่ดูแลบ้านเมืองมาไขว้เขวกับเรื่องนี้
ถามย้ำว่า จะต้องดึงคนจากพรรคประชาธิปัตย์มาเพิ่มเพื่อให้ 314 เสียงแน่นขึ้นหรือไม่ นายกฯ ส่ายศีรษะเล็กน้อยก่อนจะตอบว่า เรื่องนี้ยังไม่ได้คิดเลย โยงใยเรื่องปรับ ครม. ดึงคนมาเสียบ และการดึงคนเข้าคนออกยังไม่มีในตอนนี้ เพราะปัญหาเยอะเหลือเกิน ซึ่งเราต้องช่วยเหลือกัน ซึ่งท่านก็เห็นอยู่แล้วว่าปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างในทุกวัน และรัฐบาลก็ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป
'หนู' ไม่คิดเสียบแทนนายกฯ
ขณะที่นายอนุทินให้สัมภาษณ์หลังร่วมประชุมกับนายเศรษฐาหารือโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ ถึงท่าทีนายกฯ มีความหวั่นไหวเกี่ยวกับคดีในวันที่ 14 ส.ค.หรือไม่ว่า ไม่เห็นนายกฯ แสดงอาการอะไรเลย ท่านทำงานเข้มแข็งมากกว่าปกติด้วยซ้ำ และตอนนี้ท่านอยู่ในช่วงเศร้าโศกเสียใจหลังการเสียชีวิตของมารดา แต่ก็ยังแยกเรื่องส่วนตัวกับเรื่องงานอย่างชัดเจน
ถามว่า ได้ให้กำลังใจนายกฯ เกี่ยวกับเรื่องคดีความอย่างไร นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ต้องพูด แต่วัตรปฏิบัติของตนชัดเจนอยู่แล้ว ยอมรับความเป็นหัวหน้ารัฐบาลของนายเศรษฐามาตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งแล้ว ตั้งแต่ตอนตัดสินใจมาร่วมรัฐบาล หนึ่งในมือที่โหวตนายเศรษฐาเป็นนายกฯ คือมือนายอนุทินและ สส.พรรคภูมิใจไทยอีก 70 คน รวม 71 คน เรายอมรับในการนำของนายเศรษฐาตั้งแต่ช่วงนั้นมาแล้ว
“คำอวยพรทั้งหลายที่ว่าผมจะคาดหวังอย่างโน้นอย่างนี้ ขอพูดเลยนะเราว่ากันเลือกตั้งต่อเลือกตั้ง ในระหว่างการเป็นรัฐบาลร่วมกันไม่ต้องกังวลใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องอุบัติเหตุสังคมก็คงวิเคราะห์ตามสถานการณ์ที่แย่ที่สุด ซึ่งลึกๆ ผมคิดว่าไปไม่ถึงจุดนั้น" นายอนุุทินกล่าว
ถามว่า หากนายกฯ ถูกศาลตัดสินเป็นลบ พรรคเพื่อไทยจะปล่อยตำแหน่งนายกฯ หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่เคยคิดตรงนั้น ตำแหน่งนายกฯ ต้องเป็นของพรรคเพื่อไทย เพราะเขาเป็นพรรคที่มีจำนวน สส.มากที่สุดในรัฐบาล และเป็นแกนนำรัฐบาล ถึงต้องมีกติกาและมารยาท ซึ่งก็คืออย่าพูดอะไรที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของตัวเอง
เมื่อถามเรื่องปรับ ครม. พรรคภูมิใจไทยที่ถือเป็นหุ้นส่วนรัฐบาลไม่ใช่ผู้ใต้บังคับบัญชาควรปรับหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ประชาชนทุกคนเป็นหุ้นส่วนรัฐบาลนี้ ไม่ว่าเป็นคนที่เลือกเราหรือไม่เลือกเราก็ต้องทำงานให้ทุกคน ถามอีกว่าได้ยินกระแสข่าวว่าพรรค ปชป.จะมาร่วมรัฐบาล แล้วปรับบางส่วนของพรรคพลังประชารัฐออกหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่ได้ข่าว แต่ตนก็มองว่ารัฐบาลนี้มีความเข้มแข็งอยู่แล้ว
ด้านนายชัยชนะ เดชเดโช สส.นครศรีธรรมราช ในฐานะรองหัวหน้าพรรค ปชป. ยืนยันว่าไม่มีการพูดคุยที่จะไปร่วมรัฐบาล ตนยังไม่ทราบเรื่องที่บอก 21 สส.ของพรรคแสดงเจตจำนงเข้าร่วมรัฐบาล ซึ่งข่าวก็คือข่าว ในข้อเท็จจริงยังไม่มีการพูดคุยกัน
ถามว่า มีข่าวไปพูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เรื่องเข้าร่วมรัฐบาล นายชัยชนะปฏิเสธทันทีว่า ไม่จริง ที่ตนไปพูดคุยกับ ร.อ.ธรรมนัส เพราะเจอกันปกติอยู่แล้ว แต่ไม่มีพูดคุยกันในเรื่องการร่วมรัฐบาล
"หากมีการส่งเทียบเชิญก็จะต้องมีการหารือกันภายในพรรค และใช้มติของพรรค เพราะพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังไม่มีการเชิญ" รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าว
ส่วน น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกระแสข่าวนายกฯ สำรอง หากนายเศรษฐาต้องออกจากตำแหน่งว่า เรายังคงคาดหวังว่าทางนายเศรษฐาจะไม่ต้องหลุดออกจากเก้าอี้นายกฯ ด้วยประเด็นแค่นี้ และคิดว่าแต่ละพรรคก็คงต้องมีการเตรียมการสำหรับสถานการณ์ต่างๆ และไม่ได้มีความเห็นว่าสำหรับพรรคเพื่อไทยจะต้องเป็นอย่างไร
ถามว่า หากต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ จริงๆ มองว่าจะเกิดแรงกระเพื่อมทางการเมือง แล้วมีการเปลี่ยนขั้วตัดพรรคใดพรรคหนึ่งออกหรือไม่ น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า เรื่องนี้คงต้องไปถามพรรครัฐบาล แต่ทางฝั่งของฝ่ายค้านเองเราคิดว่าเราก็ยังคงทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านต่อ
โพลชี้พิธายังเหนือกว่าเศรษฐา
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ "อุ๊งอิ๊ง-ชัยเกษม คือนายกฯ สำรอง แต่อนุทินคือนายกฯ ตัวจริง" ตอนหนึ่งระบุว่า ถ้าพูดถึงนายกฯ สำรองก็มีเฉพาะในส่วนที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย คือ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กับนายชัยเกษม นิติสิริ เท่านั้น ส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งรับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ถือว่าเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีสำรองตามที่พูดถึงกัน
นายเทพไทกล่าวว่า หากในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกลจริง ก็จะทำให้กรรมการบริหารพรรคก้าวไกลถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปด้วย ตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา จะว่างลงทันที ตามมารยาทจะเป็นโควตาของพรรคร่วมรัฐบาลลำดับ 2 คือพรรคภูมิใจไทย เว้นแต่จะมีการล้างไพ่กันใหม่ ทั้งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ ลาออกกันหมด ตำแหน่งประธานสภาฯ เป็นโควตาของพรรคเพื่อไทย รองประธานสภาฯ คนที่ 1 จะเป็นของพรรคภูมิใจไทย รองประธานสภาฯ คนที่ 2 จะเป็นของพรรคพลังประชารัฐ ตามธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง มีตำแหน่งว่างเฉพาะรองประธานสภาฯ คนที่ 1 เพียงตำแหน่งเดียว โควตาจะต้องเป็นของพรรคภูมิใจไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้
"ส่วนกรณีของนายเศรษฐา ทวีสิน หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไป นายอนุทิน ชาญวีรกูล ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง ไม่ใช่ตัวสำรอง" นายเทพไทระบุ
วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนกรกฎาคม 2567” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,318 คน ระหว่างวันที่ 23-30 ก.ค.2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนกรกฎาคม 2567 เฉลี่ย 4.59 คะแนน เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2567 ที่ได้ 4.33 คะแนน
ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุดคือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.35 คะแนน (เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน) ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ การแก้ปัญหาความยากจน เฉลี่ย 4.09 คะแนน (เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน) นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือนคือ เศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 52.13 ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือนคือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 58.93
ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือนคือ การเปิดให้ลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ต ร้อยละ 46.42 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบประจำเดือนคือ การตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ร้อยละ 55.09 สุดท้ายสิ่งที่กังวลเมื่อมีการเริ่มลงทะเบียนดิจิทัลวอลเล็ตคือ กังวลเรื่องระบบของแอป เช่น การใช้งาน ความปลอดภัย ระบบล่ม ร้อยละ 36.57
ผศ.ดร.ดังนภสร ณ ป้อมเพชร อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตร์ โรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า ท่ามกลางความท้าทายต่อกระแสผันผวนทางเศรษฐกิจและสังคม รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเศรษฐายังคงได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนเพิ่มมากขึ้น โดยได้รับความเชื่อมั่นทั้งในฐานะผลงานของรัฐบาลและผลงานในฐานะนายกฯ ผ่านการดำเนินการนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลได้มีการผลักดันให้มีความชัดเจน ในการกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และระบบการลงทะเบียน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลงานในการบริหารประเทศตามนโยบายหนึ่งที่พรรคในคณะรัฐบาลชุดนี้ได้ประกาศไว้
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นต่อประเด็นการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวกับความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชน เช่น การแก้ปัญหาความยากจน การว่างงาน ค่าครองชีพ ปัญหาเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณให้รัฐบาลต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการเพิ่มแนวทางหรือผลักดันนโยบายอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมให้ครบถ้วนทุกมิติ ซึ่งผลลัพธ์จากการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ก็จะสะท้อนให้เห็นผลงานที่แท้จริงของรัฐบาลในท้ายที่สุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ อิ๊งค์บอกข่าวดี! เมียนมาจะปล่อย 4 คนไทยหลังปีใหม่
นายกฯ เผยข่าวดีปม 4 คนไทยเรียบร้อยหลังปีใหม่ ส่วนเรื่องคดีความต้องคุยกันต่อ
ท้านายกฯอิ๊งค์ ถ้าให้เกียรติสภา ควรมาตอบกระทู้สดผู้นำฝ่ายค้าน
'ปธ.วิปค้าน' ลั่น 'หัวหน้าเท้ง' ถามกระทู้สดนายกฯ แน่นอน ข้องใจทำไมต้องแถลงผลงานวันเดียวกัน ทั้งที่รู้ล่วงหน้าแล้ว เหน็บ 'อิ๊งค์' ถ้าเห็นความสำคัญสภา สะดวกตอบสัปดาห์ไหนก็พร้อมเสมอ
นายกฯ อิ๊งค์รับลางานไปสัมมนาพรรคที่หัวหิน!
'นายกฯอิ๊งค์' เผยลางานร่วมสัมมนาเพื่อไทย 13 ธ.ค.นี้
เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70
รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม
อาลัย‘สันติ’ นักร้องปลุกใจ เพลงรักชาติ
อาลัย "สันติ ลุนเผ่" ศิลปินแห่งชาติ ถึงแก่กรรมด้วยวัย 88 ปี
‘ในหลวง’เสด็จฯเปิดสวนเปรมประชาวนารักษ์
"ในหลวง-พระราชินี" เสด็จฯ ทางชลมารค ทรงเปิดสวนเฉลิมพระเกียรติ