เพิ่มเกณฑ์ผ่าน‘ประชามติ’

"กมธ.ประชามติ" ปรับระดับเกณฑ์ผ่านประชามติด้วยเสียงข้างมาก เพิ่มเงื่อนไขต้องได้คะแนนสูงกว่า  "งดออกเสียง" พบ กมธ.ฝั่งรัฐบาลขอเพิ่มเกณฑ์คนมาใช้สิทธิ 1 ใน 4    "ปกรณ์วุฒิ" หวัง “นายกฯ อิ๊งค์” มาสภา ตอบกระทู้-ให้เกียรติตัวแทน ปชช. รอดูสถานการณ์ส่งชื่อชิงรอง ปธ.สภาฯ 1  สานงาน "หมออ๋อง" ลั่นหากต้องเลือกขอ "ผู้นำฝ่ายค้าน" โอด กกต.ยังไม่ส่งเอกสารเป็น "สส.พรรคประชาชน”มาสภา "เท้ง" มั่นใจชนะเลือกตั้งซ่อม พิษณุโลก-นายก อบจ.ราชบุรี

ที่รัฐสภา ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 21 สิงหาคม ซึ่งมีวาระพิจารณาสำคัญคือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ..… ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ที่มีนายวุฒิสาร ตันไชย เป็นประธาน กมธ. ได้พิจารณาแล้วเสร็จ ทั้งนี้ มี สส.ที่เสนอคำแปรญัตติ 1 คนคือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน

ขณะนี้สาระของการแก้ไขเนื้อหา กมธ.มีการแก้ไขเนื้อหา 7 มาตรา จากร่าง พ.ร.บ.ฉบับหลักที่เสนอ 9 มาตรา และมีเพิ่มขึ้นใหม่ 3 มาตรา โดยมีสาระสำคัญที่แก้ไขคือ 1.การกำหนดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการทำประชามติที่เป็นวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง สส. เป็นการทั่วไป หรือการเลือกตั้งท้องถิ่นเนื่องจากครบวาระ ต้องไม่เร็วกว่า 60 วัน และไม่ช้ากว่า 150 วัน นับจากวันที่รับแจ้งจากประธานรัฐสภา 2.กรณีที่ประชาชน 5 หมื่นชื่อ จะยื่นเรื่องต่อ ครม.ให้พิจารณาทำประชามติ ได้เพิ่มรายละเอียดให้สามารถทำผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้

3.เกณฑ์การผ่านประชามติที่กำหนดให้ใช้เกณฑ์เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง กมธ. ได้เพิ่มหลักเกณฑ์คือ นอกจากจะได้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงแล้ว ต้องเป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนที่ไม่แสดงความคิด (งดออกเสียง) ในเรื่องที่ทำประชามตินั้น ในเกณฑ์ผ่านประชามติตาม พ.ร.บ.ประชามติ พ.ศ.2561 กำหนดให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือต้องมีผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และเสียงเห็นชอบต้องเป็นกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ

ส่วนมาตราที่ กมธ.เพิ่มใหม่นั้น พบความน่าสนใจคือ การกำหนดรายละเอียดให้เผยแพร่และจัดทำข้อมูลนำเสนอต่อประชาชนก่อนการออกเสียงประชามติที่ต้องมุ่งหมายให้ประชาชนเข้าใจในรายละเอียดที่ถูกต้อง ไม่ชี้นำว่าให้ออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มี กมธ.ที่สงวนความเห็น โดยพบว่าเป็นฝั่งของ สส.ร่วมรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งขอแก้ไขในข้อความเดียวกันคือ กำหนดเกณฑ์ผ่านประชามติ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิไม่ต่ำกว่า 1 ใน 4 ของผู้มีสิทธิออกเสียง เพิ่มเติมจากการได้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง และคะแนนเสียงข้างมากต้องสูงกว่าคะแนนเสียงที่ไม่แสดงความคิดเห็นในเรื่องทำประชามติ

ทั้งนี้ ในรายละเอียดของการพิจารณานั้น ต้องจับตาการแปรญัตติเพิ่มเติมของ สส.พรรคประชาชน อาทิ แก้ไขคุณสมบัติผู้มีสิทธิออกเสียงและมีหน้าที่ไปใช้สิทธิออกเสียงอย่างอิสระ ที่ให้เพิ่มบุคคลที่มีอาศัย ทำงาน หรือ ศึกษา อยู่ในเขตออกเสียงมาแล้วติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันออกเสียงจากเดิมที่กำหนดให้เฉพาะผู้ที่มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตออกเสียงมาแล้วไม่น้อยกว่า 90 วันนับจากวันออกเสียง

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน รักษาการประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการทำงานในสภาของฝ่ายค้านหลังได้นายกฯคนใหม่ว่า วาระการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 22 ส.ค.นี้ ประธานสภาฯ ไม่ได้บรรจุวาระกระทู้ถาม เข้าใจว่าคงไปปรึกษาหารือถึงข้อกฎหมายต่างๆ และอาจจำเป็นต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.)ชุดใหม่ เข้ามาแถลงนโยบายต่อรัฐสภาก่อน ถึงจะพิจารณาวาระกระทู้ถามได้ ทั้งนี้ หวังว่านายกฯ คนใหม่จะมาตอบกระทู้ เพราะนายกฯ ต้องยึดโยงกับสภาที่เป็นอำนาจในระนาบเดียวกัน ก็ควรที่จะเข้ามาสภาเพื่อให้ สส.ตรวจสอบการทำงานและตั้งคำถามที่สำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ จึงคาดหวังว่านายกฯ คนใหม่จะเข้ามาตอบกระทู้และให้เกียรติสภา ให้เกียรติตัวแทนของประชาชน

เมื่อถามว่า การที่ยังไม่มี ครม.และรองประธานสภาฯ คนที่ 1 จะทำให้งานสภาชะงักหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ถ้ายังไม่มี ครม.อาจทำให้งานสภาบางอย่างชะงักลงไปบ้าง บางเรื่องเรายืนยันว่าทำต่อได้ แต่อาจจะมีข้อกังวลเกี่ยวกับข้อกฎหมายว่า ครม.รักษาการ ทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ส่วนตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่ยังว่างอยู่นั้น คิดว่าควรจะมีโดยเร็ว เพราะการมีแค่ประธานและรองประธานสภาฯ คนที่ 2 สลับกันทำหน้าที่ในวันที่มีการประชุมยาวนาน ทั้ง 2 ท่านก็ทำงานหนักเหมือนกัน จึงคิดว่าต้องมีคนมาช่วยทำหน้าที่และในที่ประชุม และงานที่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา อดีตรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำค้างไว้ ก็จำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อ

ต่อข้อถามว่า พรรคประชาชนเตรียมส่งนายสิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส.บัญชีรายชื่อ เป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งรองประธานสภาฯ คนที่ 1 หรือไม่ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เรายังไม่ได้ตัดสินใจ 100% ว่าจะส่งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้าน คิดว่าคงต้องดูจังหวะเวลา ณ ตอนนั้น ว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ส่วนจะส่งใครนั้นมีการหยิบยกชื่อในวง สส.ว่ามีชื่อใดบ้างที่มีความเหมาะสม ซึ่งตอนนี้เหลือประมาณ 3-4 ชื่อ ยังไม่ได้มีความชัดเจนใดๆ ตอนนี้เอกสารจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องยืนยันกลับมายังสภาว่าเราคือ สส.พรรคประชาชน กกต.ยังไม่ส่งกลับมา ฉะนั้นขนาดนี้ยังไม่มีอะไรเป็นทางการทั้งสิ้น

"เราต้องการตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน แต่ก็ส่งชื่อแข่งชิงประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ ด้วย เพื่อแข่งกับพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องปกติของสภา  เพราะมองเห็นว่าใครที่อาจจะมีความเหมาะสมมากกว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลส่งรายชื่อมา แม้เราเป็นเสียงส่วนน้อยโหวตไปอย่างไรก็แพ้ ดังนั้นจึงต้องมีจุดยืนบางอย่างที่เราจะต้องยืนยัน โดยเฉพาะสิ่งที่นายปดิพัทธ์ทำไว้ ประชาชนสามารถมองออกได้ว่า ไม่เคยมีรองประธานสภาฯ คนที่ 1 คนไหน ใช้อำนาจหน้าที่เพื่อทำในสิ่งที่นายปดิพัทธ์ทำ จึงมองว่าควรจะสานต่อเพื่อประโยชน์ของสภา" นายปกรณ์วุฒิ  กล่าวถึงกรณีหากจะต้องเลือกระหว่างรองประธานสภาคนที่ 1 กับผู้นำฝ่ายค้านฯ

นายปกรณ์วุฒิกล่าวถึงความเคลื่อนไหวเวทีการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยยืนยันว่า พรรคก้าวไกลและพรรคประชาชนไม่ได้ส่งคนลงสมัครนายก อบจ.พิษณุโลก มีเท่าที่ปรากฏในเว็บไซต์ของพรรคเท่านั้น คือ จ.ราชบุรี เป็นสนามแรกที่พรรคประชาชนส่งผู้สมัครนายก อบจ. อย่างเป็นทางการ ก่อนหน้านี้ ที่ จ.พิษณุโลก คนที่ไปช่วยหาเสียงคือนายปดิพัทธ์  สันติภาดา อดีต สส.พิษณุโลก พรรคเป็นธรรม ไม่ใช่พรรคก้าวไกล ส่วนที่ อบจ.พิษณุโลกหรือจังหวัดอื่นที่มีกระแสข่าวว่าพรรคก้าวไกลแพ้ พรรคประชาชนแพ้ เราไม่เคยส่ง ดังนั้นยังไม่เคยแพ้การเลือกตั้ง แผนเดิมคือเราทุ่มสรรพกำลังไปที่การเลือกตั้ง อบจ.ราชบุรี แกนนำพรรคประชาชนก็ไปที่นั่นตลอด

เมื่อถามถึงสนามเลือกตั้งซ่อม สส.พิษณุโลก มีความมั่นใจแค่ไหนว่าจะชนะการเลือกตั้งกลับคืนมา นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เรามั่นใจมากว่าจะได้ สส.เขตคนแรกของพรรคประชาชนที่ชนะเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ตอนนี้เริ่มจัดสรรทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือกันระหว่างสนามนายก อบจ.ราชบุรี และเวที สส.พิษณุโลก จึงยังมีความมั่นใจอยู่มากว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร

ที่วิหารหลวงพ่อพระพุทธชินราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร หรือวัดใหญ่ จ.พิษณุโลก นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน  พร้อมด้วยนายปดิพัทธ์ สันติภาดา นายณฐชนน ชนะบูรณาศักดิ์ หรือโฟล์ค ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พิษณุโลก เขต 1 ในนามพรรคประชาชน ได้มากราบไหว้พระพุทธชินราชเพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนที่มีการสมัคร สส.พิษณุโลก เขต 1 ในระหว่างวันที่ 21-25 ส.ค.นี้ และจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 15 ก.ย.2567 นี้ จากนั้นได้เดินหาเสียงขอคะแนนและแนะนำตัว โฟล์ค จากพ่อค้าแม่ค้าภายในร้านค้าวัดใหญ่ เป็นการเบิกฤกษ์นำร่องในการหาเสียงเลือกตั้งซ่อมในครั้งนี้

นายณัฐพงษ์กล่าวว่า ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ทางพรรคถือว่ามีความพร้อมมากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่เดิมของนายปดิพัทธ์ ที่ชนะการเลือกตั้งมาถึง  2 สมัย ทำให้ในพื้นมีความพร้อมในการหาเสียงอยู่แล้ว ซึ่งความหวังขั้นต่ำเราจะต้องคืนพื้นที่ สส.เดิมเอาไว้ให้ได้ เพราะว่า 1 เสียงเก้าอี้ผู้แทนราษฎร ที่จะเข้าไปทำหน้าที่ก็ถือว่าเป็นเสียงที่สำคัญ ถือว่าเป็นการปักธงที่สำคัญที่ในการเลือกตั้ง ที่ จ.ราชบุรี และพิษณุโลก ถือว่าเป็น 2 ก้าวแรกที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยทางพรรคจะนำแกนนำที่สำคัญมาลงพื้นที่หาเสียงช่วยเหลือที่ จ.พิษณุโลกกันอย่างเต็มที่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง 15 ก.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ กกต. กำหนดวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 1 แทนตำแหน่งที่ว่าง หรือแทนนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ในวันที่ 15 ก.ย. 2567 และกำหนดวันรับสมัคร ผู้รับการเลือกเป็น สส. ตั้งแต่วันที่ 21-25 ส.ค.นี้ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.30 น. ณ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวังหวัดพิษณุโลก ชั้น 1 ตำบลท่าทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก ล่าสุด กกต.ได้ออกเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนการรับสมัครและคุณสมบัติผู้สมัครแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"