นายกฯจ่อควงครม.ลงพื้นที่ แม่สายฟื้นสนามบินชร.อ่วม

ภาพมุมสูงชุมชนฮ่องลี่ ถนนบายพาสฮ่องอ้อ อ.เมืองฯ จ.เชียงราย ที่ถูกน้ำท่วม
อย่างหนัก เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 67 ภาพโดย : มูลนิธิสยามเชียงราย

"นายกฯ" ถกแก้น้ำท่วม หาปมวิกฤตเชียงรายรุนแรง เตรียมควง รมต.ลงพื้นที่พบประชาชน หลังถูกอัดยับมัวแต่ประชุม "นักวิชาการ"  ชำแหละ กลไกแจ้งเตือนล้าหลัง ขณะที่สถานการณ์น้ำแม่สายลดระดับลง แต่เฝ้าระวังฝนตกเพิ่ม ส่วนน้ำแม่กกยังไหลเข้าเมือง "สนามบินแม่ฟ้าหลวง" ถูกล้อม ยกเลิกทุกเที่ยวบิน 

เมื่อวันที่ 12 ก.ย. หลังจากแถลงนโยบายเสร็จสิ้น น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกประชุมแก้ปัญหาน้ำท่วมที่รัฐสภา โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม, นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย, นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข, พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังหัวหน้าส่วนราชการที่อยู่ในพื้นที่ อาทิ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

นายกฯ กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าสถานการณ์ทั้งจังหวัดเชียงรายและจังหวัดเชียงใหม่ค่อนข้างหนักพอสมควร จึงอยากให้ทางข้าราชการที่เกี่ยวข้องรายงานให้ทราบ ซึ่งตอนนี้น้ำเข้ามาถึงอำเภอเมืองฯ แล้ว และทราบว่าเข้ามาตรงสนามบินด้วย แต่รันเวย์ยังใช้ได้ จึงอยากสื่อสารให้ทราบว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาหลังจากที่รอการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อที่จะสั่งการได้ และรัฐมนตรีและรองนายกฯ ทุกท่านได้ดำเนินการล่วงหน้าเพื่อเป็นการดูแลประชาชนไปก่อนหน้านี้แล้ว  ขอส่งความห่วงใยไปให้พี่น้องภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย แน่นอนเราจะต้องทำในเรื่องของระบบการเตือนภัยและการเยียวยารักษาต่อไป ซึ่งอยากให้ทางราชการเล่ารายละเอียดให้ฟัง เพื่อที่จะบอกแนวทางการดำเนินการต่อไปจะทำอย่างไร ทั้งนี้ ทางรองนายกฯ และรัฐมนตรีทุกกระทรวง ถ้ามีคำแนะนำอย่างไร ขอให้เสนอได้เลย เพราะอันนี้เป็นวิชั่นที่เราต้องร่วมมือกัน

ด้านนายสุทธิพงษ์ ได้รายงานสถานการณ์ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากจังหวัดเชียงราย ช่วงหนึ่งว่า  อยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดและรองผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึง ผบ.มณฑลทหารบก ทั้งทุกภาคส่วนในพื้นที่ ซึ่งที่จังหวัดเชียงรายปีนี้ โดยเฉพาะอำเภอแม่สาย สถานการณ์หนักหน่วงที่สุดในรอบ 80 ปี มีน้ำท่วมมา 7 ครั้งแล้ว และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 8 นับตั้งแต่เดือน ส.ค.67 จนถึงปัจจุบัน สาเหตุที่น้ำท่วมหนักคือ ส่วนที่ 1 ฝนตกหนักมาเป็นระยะถึง 7 ครั้ง ทำให้ลำน้ำแม่สายและพื้นแผ่นดินฝั่งประเทศไทยและฝั่งเพื่อนบ้านชุ่มน้ำ อิ่มน้ำ บวกกับพายุลูกล่าสุด ทำให้กระแสน้ำมีจำนวนมหาศาล ส่งผลให้เกิดความเสียหายในวงกว้างของตลาดแม่สาย

นายสุทธิพงษ์กล่าวว่า ด้วยความกรุณาของนายกฯ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ระดมสรรพกำลังและลงพื้นที่มาอำนวยการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตร่วมกับผู้ว่าฯ และตนเอง ภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนก็มาช่วยกันเต็มที่ ถึงเวลานี้ที่แม่สายเรามีจุดพักพิงที่มีประชาชนอยู่รวมกันประมาณกว่า 600 คน และสถานการณ์ต่างๆ ในตัวเทศบาลแม่สายที่เป็นเขตย่านเศรษฐกิจถึงเช้านี้น้ำลดลงไปในระดับที่อยู่ในภาวะที่เริ่มเข้าสู่สีเขียว และมวลน้ำจะทยอยไปท่วมในจุดที่เป็นสีเหลือง โดยวันที่ 12-13 ก.ย. จะเข้าสู่โหมดการฟื้นฟูดูแลพื้นที่ที่เสียหาย

นายกฯ ขนรมต.ลงพื้นที่

นายกฯ กล่าวว่า อย่างที่ทราบกันดีในหลายพื้นที่ได้มีการพูดคุยกัน และทราบว่าระบบเตือนภัยสามารถทำงานได้ เราได้รับคอมเมนต์ในเรื่องของพี่น้องประชาชนยังไม่อยากออกมาจากบ้าน เพราะบางทีเสียดายทรัพย์สิน เราก็เข้าใจ แต่ระบบเตือนภัยได้เตือนแล้ว อยากบอกพี่น้องประชาชนว่าขอรับตรงนี้ ให้ดูเรื่องการเยียวยาดูแลประชาชน ให้ตระหนักรักษาชีวิตตัวเองก่อน ออกมาจากพื้นที่ประสบภัยให้เร็วที่สุด อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ขอให้ส่วนราชการที่ทำหน้าที่คาดการณ์สภาพอากาศ รวมทั้งจิสด้าติดตามปริมาณของฝนที่เพิ่มสูงขึ้น วิเคราะห์ประเมินสถานการณ์แนวโน้ม แจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการป้องกันและแก้ปัญหาด้วย

“ส่วนวันที่ 13 ก.ย. ดิฉันและคณะรัฐมนตรีบางท่านได้วางแผนลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ขอให้ผู้ดูแลไม่ว่าจะหน่วยทหารหรือปลัดที่อยู่ตรงนั้น ช่วยพิจารณาประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าเห็นอย่างไร เพราะตอนนี้เชื่อว่าทุกท่านที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีเป็นห่วงพี่น้องประชาชน แต่ที่แน่ๆ ไม่อยากให้ไปแล้วขัดต่อการดำเนินการช่วยเหลือใดๆ จริงๆ ย้ำชัดๆ ขออนุญาตให้ไม่ต้องมาต้อนรับ ขอให้เป็นเรื่องการนำเส้นทางนิดหน่อยพอ ไม่ต้องจัดอะไรใหญ่ เพราะเป็นเหตุการณ์ที่เข้าใจอยู่แล้วว่าไม่สามารถจะมาต้อนรับอะไรทั้งสิ้น ขอให้ความช่วยเหลือระบบราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอยู่หน้างานกับพี่น้องประชาชน ส่วนดิฉันและรัฐมนตรีจะประสานพื้นที่ ลงให้เร็วที่สุดเมื่อสามารถทำได้ และไม่ขัดต่อการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน” นายกฯ กล่าว

นายอนุทิน​ ชาญวีรกูล​ รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย​ กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์การเตือนภัยของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ​(ปภ.) ที่ล่าช้าว่า​ อย่า​เพิ่งโทษว่าใครผิดหรือถูก ตอนนี้ต้องให้ความสำคัญกับการให้ความปลอดภัยกับประชาชน ว่ายังมีใครอยู่ในพื้นที่หรือไม่ รวมถึงอพยพผู้ที่ประสบอุทกภัยออกมายังสถานที่พักพิงได้แล้วหรือยัง​ ซึ่งทุกภาคส่วนกำลังระดมสรรพกำลังในการช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไปเร่งจี้ที่ระบบแจ้งเตือนว่าเป็นอย่างไร เพราะทุกคนก็บอกว่าแจ้งเตือนแล้ว แต่ก็ยังมีคนบอกว่าไม่ได้รับการแจ้งเตือน ซึ่งโดยธรรมชาติของมนุษย์ไม่มีใครอยากออกจากเคหสถานหรือบ้าน และอาจจะประเมินว่าสถานการณ์อาจไม่หนัก และตนจะเร่งลงไปในพื้นที่ เร่งไล่จี้เรื่องนี้​   

​ นายอนุทินกล่าวว่า​ ในวันที่ 13 ก.ย.นี้ ตนอาจเดินทางไปยังพื้นที่จังหวัดเชียงราย จะได้มีการยกเลิกภารกิจการทำบุญเนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบ 58 ปี​ เพียงแต่อาจมีการเดินทางไปไหว้พระที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารและศาลหลักเมืองเป็นการส่วนตัว ก่อนเข้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อสักการะศาล สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับนายกรัฐมนตรี

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ว่า แม้ว่าขณะนี้อำเภอแม่สายกำลังจะเข้าสู่ระยะเวลาการฟื้นฟู ทำความสะอาด นำโคลนตมที่อยู่บริเวณหน้าบ้าน ในบ้าน ในร้าน และบริเวณถนนให้สะอาด แต่อย่างไรก็ดี ทุกภาคส่วนยังคงแจ้งเตือนให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากหน่วยงานอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด โดยขอให้ฝ่ายปกครองได้ร่วมกับเทศบาลตำบลแม่สาย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ประชาชนและผู้ประกอบการ ต้องมีความพร้อมในการเคลื่อนย้ายสิ่งของขึ้นสู่ที่สูง พร้อมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการแจ้งเตือนภัย ให้ประชาชนเคลื่อนย้ายอพยพให้ทันท่วงที โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำ หากฝนตกเกิน 100 มิลลิเมตร พอถึงประมาณ 50 มิลลิเมตร ให้รีบแจ้งเตือน ทั้งนี้ ในพื้นที่แม่สายวันนี้ ถ้าไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มเติม ช่วงเวลาหลังจากนี้ที่แม่สายก็จะเข้าสู่ความเป็นปกติสุขภายใน 4-5 วัน

ขณะที่ ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า วิปโยคแม่สาย แม่อายสะอื้น บทเรียนราคาแพงที่ต้องได้รับการแก้ไข..1.ฝนตกหนักมากจากอิทธิพลของพายุยางิ ขณะที่มีร่องมรสุมความกดอากาศต่ำพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย น้ำท่วมหนักเสียหายมากที่สุดในรอบ 40 ปีมากกว่าปี 65 และที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เกิดดินถล่มจากภูเขาทับบ้านเรือนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

เฉ่ง! กลไกแจ้งเตือนล้าหลัง

2.บทเรียนราคาแพงที่ทำให้เกิดวิปโยคที่แม่สายและแม่อายสะอื้นในครั้งนี้คืออะไร 2.1.ขาดแผนการเตือนภัยที่ชัดเจน กรมอุตุนิยมวิทยาและ สทนช.ได้แจ้งเตือนว่าจะเกิดฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ในช่วงวันที่ 8 ถึงวันที่ 13 กันยายน จะเกิดน้ำท่วมไหลหลากและดินถล่ม แต่การเตือนภัยดังกล่าวอาจลงไปไม่ถึงประชาชนในระดับรากหญ้า  และการเตือนภัยดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุถึงความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ทั้งยังไม่ได้ระบุถึงสถานที่ที่เฉพาะเจาะจงว่าน้ำจะท่วมหนักเกิดขึ้นที่ไหนบ้าง? บอกแต่เพียงกว้างๆ ว่าจะเกิดที่ จ.เชียงรายและ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น ทำให้ประชาชนที่ได้รับข่าวสารในพื้นที่ไม่สนใจเท่าที่ควร  เพราะทุกปีน้ำก็ท่วมประจำอยู่แล้วไม่ได้หนักหนาอะไร 2.2.ขาดการสื่อสารความเสี่ยงที่ให้ประชาชนเกิดความตระหนัก ที่ผ่านมาใช้ช่องสื่อสารทางทีวี วิทยุ เฟซบุ๊ก โดยใช้ภาษาทางวิชาการที่ยากจะเข้าใจทำให้ประชาชนระดับรากหญ้าไม่ค่อยสนใจเท่าที่ควร

การสื่อสารหลังจากที่มีการคาดการณ์ว่าน้ำจะท่วมอย่างรุนแรงที่ไหนบ้าง ควรให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือ อปท. สื่อสารถึงตัวประชาชนโดยตรง โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่าสถานการณ์จะเกิดรุนแรงในระดับใด ที่ไหน จะต้องเก็บข้าวของขึ้นที่สูงหรือต้องอพยพออกมา และไปพักที่จุดใดบ้าง เป็นต้น  โดยทั่วไปผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอต้องเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ หรือเป็น commander สั่งการให้ดำเนินการทันที..ยิ่งในต่างประเทศ จะมีการใช้ระบบ sms สื่อสารเตือนภัยโดยส่งเข้าไปในระบบโทรศัพท์มือถือของคนที่อาศัยในพื้นที่โดย ตรง เป็นต้น

“แต่ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่ได้การเตรียมความพร้อม และยังไม่มีมาตรการป้องกันวิกฤตดังกล่าวเลย ต้องรอให้เกิดวิกฤตก่อนจึงจะประกาศให้พื้นที่เป็นเขตภัยพิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อนำงบประมาณออกมาแก้ไขและเยียวยาได้ ดังนั้น ตามกฎหมายจึงมีแต่เพียงมาตรการบรรเทาทุกข์ แต่ไม่มีมาตรการป้องกันไว้ล่วงหน้า”

2.3.ขาดแผนเผชิญเหตุฉุกเฉิน เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ดินถล่ม ราชการจะต้องประกาศเป็นเขตภัยพิบัติเพื่อนำงบประมาณออกมาใช้บรรเทาทุกข์ให้ประชาชนได้ ซึ่งทำได้ล่าช้ามาก เนื่องจากติดที่ระบบราชการ ต้องมีหนังสือเป็นทางการส่งออกไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร? ต้องมีเวลาในการเตรียม อุปกรณ์และกำลังคน กรณีน้ำท่วมที่อำเภอแม่สาย  จังหวัดเชียงราย ประชาชนจำนวนมากติดอยู่บนหลังคา และติดอยู่ในบ้านเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 2 วัน โดยหน่วยงานที่เข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาทุกข์ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของมูลนิธิ, จิตอาสา, สมาคมและภาคประชาสังคม ส่วนหน่วยราชการยังล่าช้าอยู่เพราะติดระบบราชการ ยกเว้นหน่วยทหารที่สั่งการและออกปฏิบัติงานได้ทันที...

กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์พายุโซนร้อนกำลังแรง "เบบินคา (BEBINCA)" เวลา 04.00 น. เช้าวันที่ 12 ก.ย.2567 พายุโซนร้อนกำลังแรง "เบบินคา (BEBINCA)" มีศูนย์กลางในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ และคาดว่าจะมีกำลังแรงขึ้นอีก พายุนี้ไม่ได้เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย จึงยังไม่มีผลกระทบ                    ขณะที่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) องค์การมหาชน รายงานว่า ระดับน้ำแม่น้ำกก บริเวณสะพานแม่ฟ้าหลวง ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย ได้ขึ้นถึงจุดสูงสุดไปแล้วเมื่อเวลาประมาณ 02.20 น. ของวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าระดับน้ำจะเริ่มทรงตัวและค่อยๆ ลดลง หากไม่มีฝนตกหนักเพิ่ม

วันเดียวกันนี้ นาวาอากาศตรี ดร.สมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยสถานการณ์น้ำท่วมบริเวณสนามบินเชียงรายว่า  ระดับน้ำได้สูงขึ้นและล้อมสนามบิน ด้านทิศใต้จากแม่น้ำกกท่วมบ้านพักพนักงานทั้งหมด ด้านตะวันออกพร้อมจะข้ามไบค์เลน ด้านตะวันตกน้ำทางถนนจากสโมสรเชียงรายเข้าพื้นที่สนามบิน การเดินทางของผู้โดยสารลำบากและไม่ปลอดภัยมาก

 "ถ้ามาจาก กทม. ไม่แนะนำในเวลานี้ครับ เป็นพื้นที่ประสบภัยและออกจากท่าอากาศยานไม่ได้ ถ้ามาจากเชียงรายจะเข้า กทม. ติดต่อสายการบินอย่างใกล้ชิดครับ ส่วนสายการบินที่มาเชียงรายเวลานี้จะมาขนผู้โดยสารที่ตกค้างกลับ กทม."

ขณะเดียวกัน ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง ประกาศสายการบินเวียตเจ็ท และไลอ้อนแอร์ ยกเลิกเที่ยวบินที่ให้บริการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงรายทุกเที่ยวบิน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล

หัวลำโพงคึกคัก! 'อิ๊งค์' นำทีม พท. สัมมนาหัวหิน ตื่นเต้นขึ้นรถไฟรอบ 20 ปี

’แพทองธาร‘ นำทีม ’เพื่อไทย’ ขึ้นรถไฟขบวนพิเศษ มุ่งหน้าสัมมนาหัวหิน ‘เศรษฐา-โอ๊ค-เอม’ ร่วมด้วย ตื่นเต้นนั่งรถไฟรอบ 20 ปี