“เศรษฐพุฒิ” ลั่นยังไม่มีอะไรที่ทำให้แบงก์ชาติต้องปรับนโยบายดอกเบี้ย แม้เฟดจะหั่น ดบ.ลง 0.50% เผย ธปท.ต้องมองยาวและมีอิสระในการทำงาน ที่ผ่านมา กนง.ดูกดดันตลอด “สอท.” วอนหั่นดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเกินไป “จุลพันธ์” ย้ำ ต.ค.ลงทะเบียนแจกหมื่นผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนแน่
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2567 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% ต่อปี ว่าปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบกับตลาดการเงินและค่าเงินเป็นหลัก สะท้อนจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง แต่ในมิติผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่ได้ร้ายแรงหรือมากมายขนาดนั้น ส่วนในแง่นโยบายการเงินของประเทศไทย แบงก์ชาติยังคงเน้นพิจารณาจาก 3 ปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ แนวโน้มเศรษฐกิจ ว่ามีการเติบโตเข้าสู่ศักยภาพหรือไม่ อัตราเงินเฟ้อว่าจะเข้ากรอบเป้าหมายหรือไม่ ซึ่งมั่นใจว่าจะค่อยๆ เข้าสู่กรอบเป้าหมาย แม้ว่าจะช้ากว่าที่ประเมินไว้ และเสถียรภาพด้านการเงิน รวมไปถึงจะต้องคำนึงถึงภาพรวมการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินของธนาคารกลางรายใหญ่ของโลกควบคู่กันไปด้วย เพราะการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางในประเทศขนาดใหญ่ ย่อมมีผลกระทบในภาพรวมอย่างมีนัยต่อ 3 ปัจจัยดังกล่าว
“ตอนนี้ยังไม่เห็นอะไรที่ทำให้ภาพการประเมินเศรษฐกิจและภาพรวมอัตราเงินเฟ้อแตกต่างไปจากที่เคยมองเอาไว้ มีเพียงเรื่องเสถียรภาพด้านการเงินที่ ธปท.ห่วง โดย ธปท.ไม่ได้ฟิกซ์หรือยึดติดกับอะไรพวกนี้ ตอนนี้หลักๆ ธปท.เน้น outlook dependent หากมีอะไรเปลี่ยนแปลงจากที่เรามอง และเหมาะที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายดอกเบี้ย เราก็พร้อมที่จะปรับ ซึ่งขอย้ำว่า การที่เรา outlook dependent ผมคิดว่าเป็นกรอบความคิดที่เหมาะสมและถูกต้องแล้ว เพราะที่อื่นเน้น data dependent แต่มันสร้าง noise ต่อตลาดเยอะ ถ้าเราโฟกัสข้อมูลล่าสุดมากเกินไป เป็นอะไรที่มีความผันผวน ไม่แน่นอนอยู่แล้ว เราไม่อยากให้การคาดการณ์เกี่ยวกับนโยบายการเงินไปซ้ำเติมเรื่องความผันผวน”นายเศรษฐพุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิย้ำว่า สิ่งที่ต้องคำนึงว่าการลดดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงแค่ไหน ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างภาระหนี้เดิมกับสินเชื่อใหม่ที่จะเกิดขึ้น โดยภาระหนี้เป็นอะไรที่ ธปท.ก็เป็นห่วง เพราะมีสัดส่วนครัวเรือนไม่น้อยที่มีปัญหาอยู่ แต่ต้องพิจารณาว่าการลดดอกเบี้ยจะส่งผลไปถึงภาระหนี้ได้ไม่เต็มที่นัก เพราะสัดส่วนไม่น้อยที่เป็นหนี้อัตราดอกเบี้ยคงที่ (ฟิกซ์เรต) ซึ่งเป็นภาระหนี้ที่ต้องจ่ายเป็นรายเดือน ดังนั้นแม้จะลดดอกเบี้ย แต่ภาระหนี้ส่วนหนี้ก็ไม่ได้ลด ดังนั้นคงพูดได้ยากว่า เมื่อลดอัตราดอกเบี้ยลงทันทีแล้วภาระหนี้ของประชาชนจะลดตามไปด้วย ตรงนี้คงไม่ใช่
นายเศรษฐพุฒิกล่าวอีกว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่ ธปท.มี แต่ ธปท.ใช้เครื่องมือทางการเงินหลายอย่างในการทำงาน เป็นนโยบายแบบผสมผสาน โดยยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ดำเนินการควบคู่ไปด้วย เช่น การลดภาระหนี้ของคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นการลดดอกเบี้ยอาจไม่ได้ผลมากเท่ากับการปรับโครงสร้างหนี้
“นโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ยกระทบหลายด้าน แต่สำหรับปัญหาบางอย่าง ใช้มาตรการอะไรที่ตรงจุด ตรงนั้นน่าจะเหมาะสมกว่า โดยยอมรับว่าที่ผ่านมามีแรงกดดันมาที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตลอดเวลา ไม่ว่าเฟดจะลดหรือไม่ลดดอกเบี้ย แต่ต้องเรียนว่าการที่เฟดลดดอกเบี้ย ไม่ใช่เราก็จะต้องปรับลดด้วย ซึ่งเรื่องเฟดลดดอกเบี้ยก็กระทบปัจจัยหลายอย่าง กระทบภาพรวม และกระทบตัวแปรที่เราต้องคำนึงถึง เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการพิจารณานโยบายดอกเบี้ย ซึ่งหากเราเป็นประเทศที่ฟิกซ์ค่าเงิน เช่น ฮ่องกง ตะวันออกกลาง เป็นต้น พวกนี้โดยปริยายต้องลดดอกเบี้ย แต่ของไทยไม่ได้เป็นแบบนั้น” ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ
สำหรับสถานการณ์การแข็งค่าของเงินบาทนั้น นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ยอมรับว่าในระยะหลังเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็วและผันผวนมากกว่าบางประเทศ แต่ไม่ได้ผันผวนมากที่สุดในภูมิภาค ซึ่งมีสกุลเงินอื่นผันผวนมากกว่าไทย เช่น มาเลเซีย โดยไทยนั้นมีปัจจัยเฉพาะเพิ่มเข้ามาคือราคาทองคำ ที่เงินบาทมีความสัมพันธ์กับราคาทองคำมากกว่าสกุลเงินอื่นในภูมิภาค รวมทั้งการเมืองในประเทศที่มีความชัดเจนมากขึ้น โดยปีนี้บาทแข็งค่าไปแล้ว 3.1% ซึ่งสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็นคือการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว และไม่ได้มาจากปัจจัยพื้นฐานหรือมาจากการเก็งกำไรค่าเงิน ซึ่งทำให้ความผันผวนของค่าเงินเกิดขึ้นโดยไม่ได้สะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่แท้จริง แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นการเก็งกำไรเข้ามา
“หน้าที่ในการมองยาวของธนาคารกลางจึงต้องมาพร้อมกับอิสระในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุพันธกิจดังกล่าว หลายๆ ครั้งในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางต้องดำเนินนโยบายในลักษณะที่สวนทางกับวัฏจักรเศรษฐกิจ ซึ่งกระทบต่อทุกภาคส่วนเป็นวงกว้าง และย่อมมีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ดังนั้น หากธนาคารกลางไม่อิสระเพียงพอ ก็อาจทำให้เสียหลักการของการมองยาวได้ ซึ่งที่ผ่านมา ธปท.ได้ดำเนินการในหลายๆ ด้าน เพื่อช่วยให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพและประสิทธิภาพในระยะยาว”
ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การที่เฟดลดดอกเบี้ย 0.50% ถือว่ามีอัตราค่อนข้างสูง ดังนั้นต้องติดตามผลกระทบที่จะตามมาด้วย เรื่องกระแสเงินทุนไหลเข้ามายังตลาดเงิน และตลาดทุนเอเชีย โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมามากถึง 1-2 แสนล้านบาท รวมที่จะไหลเข้ามายังประเทศไทยด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือเรื่องค่าเงินบาท เพราะเมื่อสหรัฐลดดอกเบี้ย ย่อมทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น และในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาก็มีการแข็งค่าแล้วถึง 5% ซึ่งถือว่าสูงมาก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาคการส่งออก และกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ดังนั้น จึงหวังว่า ธปท.หรือ กนง.จะพิจาณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของไทยลงตาม เพื่อช่วยสร้างความสมดุลให้ค่าเงินบาทไม่แข็งค่าจนเกินไป หรือมีเสถียรภาพมากขึ้น
วันเดียวกัน นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการเปิดลงทะเบียนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต สำหรับกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟน ผ่าน 3 สถาบันการเงินของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ ภายในเดือน ต.ค.2567 ว่ารอบนี้จะไม่เลื่อนลงทะเบียนออกไปอีก เพราะเป็นช่วงที่ดำเนินการจ่ายเงินให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคนเสร็จแล้ว ส่วนกำหนดวันลงทะเบียนที่ชัดเจน ให้รอหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เป็นประธาน ซึ่งมีการประชุมนัดแรกภายในต้นสัปดาห์หน้า
“วันลงทะเบียนใหม่จะเป็นวันไหน ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนด ต้องรอหลังประชุมบอร์ดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจหารือกันก่อน คาดว่าจะเป็นช่วงต้นสัปดาห์หน้า เมื่อคิกออฟแล้วน่าจะทำงานได้ง่ายขึ้น อยากให้รออีกหน่อย” นายจุลพันธ์กล่าว
นายจุลพันธ์กล่าวอีกว่า กรอบเวลารับลงทะเบียนสำหรับกลุ่มไม่มีสมาร์ทโฟนนั้น จะกำหนดระยะเวลาอยู่ที่ 1 เดือนเหมือนกับกลุ่มที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ และจะไม่ขยายวันเพิ่มอีก ส่วนการโอนเงินไปยังประชาชน จะดำเนินการผ่านระบบวอลเล็ตที่อยู่ในระบบกลางของรัฐบาล โดยรัฐบาลจะโอนตรงไปยังบัญชีธนาคารของประชาชนผู้มีสิทธิ แต่บัญชีธนาคารต้องเป็น 3 สถาบันการเงินของรัฐ คือ ออมสิน, ธ.ก.ส. และ ธอส.เท่านั้น ซึ่งขั้นตอนเมื่อลงทะเบียนแล้ว จะใช้เวลาตรวจสอบคุณสมบัติ รวมถึงใช้เวลาในการประกาศผลไม่นาน ส่วนเงินที่ประชาชนเฟส 2 จะได้รับเมื่อไรนั้น ต้องรอความพร้อมของระบบ
“3 สถาบันการเงินของรัฐ มั่นใจว่ามีความพร้อมรับลงทะเบียน หากรัฐบาลประกาศกดปุ่มเริ่มเมื่อไร ทั้ง 3 แห่งจะสามารถดำเนินการและมีระบบรองรับได้ทัน เนื่องจากกระทรวงการคลังและสถาบันการเงินของรัฐดังกล่าวได้มีการหารือและเทรนด์ระบบร่วมกันนานแล้ว จึงเชื่อว่าเมื่อถึงวันเปิดรับลงทะเบียนตามสาขาแบงก์ จะไม่มีปัญหาใดๆ” นายจุลพันธ์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน
20สส.รอซบ‘กล้าธรรม’ ขอถอยคดี‘ไร่ภูนับดาว’
"พปชร." ลงมติขับ "20 สส.ก๊วนธรรมนัส" พ้นสมาชิกพรรค
ตั้ง2ข้อหาหนัก‘โกทร-ลูกน้อง’ การเมืองท้องถิ่นปมฆ่าสจ.โต้ง
"ผบ.ตร." สั่งเข้มกองปราบฯ ลงพื้นที่สางคดียิง “สจ.โต้ง” ดับคาบ้าน "สุนทร วิลาวัลย์" ฮึ่มเหตุอุกฉกรรจ์ใครเอี่ยวฟันหมด
จ่อถกเหล่าทัพหาจุดตรงกลาง
“ประยุทธ์” ขอแก้ไข 24 ข้อบกพร่อง กม.กลาโหม ก่อนดันเข้าสภาอีกรอบ “บิ๊กเล็ก” จับเข่าคุยเหล่าทัพ-ภูมิธรรม
ประชานิยมภาค2 ‘อิ๊งค์’โชว์เดี่ยวขายฝันปี68แจกแหลก ปชน.ฟันฉับ!สอบตกแค่ฝากงานรมต.
"นายกฯ อิ๊งค์" ร่ายยาวผลงานรัฐบาล 90 วัน เปิดอนาคตปี 68
พปชร.ขับก๊วนธรรมนัส ตัดจบที่ดิน‘หวานใจลุง’
"บิ๊กป้อม" ไฟเขียว พปชร.มีมติขับ 20 สส.ก๊วนธรรมนัสพ้นพรรค "ไพบูลย์" เผยเหตุอุดมการณ์ไม่ตรงกัน