สั่งลดระบายนํ้า เขื่อนเจ้าพระยา รับมือทะเลหนุน

“ศปช.” เตรียมรับมือน้ำทะเลหนุน  สั่งเขื่อนเจ้าพระยาปรับลดระบายน้ำ นายกฯ ส่ง  "สุริยะ" ลงพื้นที่ช่วยท่วมลำพูน มท.1 ขอบคุณทุกภาคส่วนร่วมบรรเทาความทุกข์ผู้ประสบอุทกภัย  กำชับ ปภ.เร่งสำรวจจ่ายเงินเยียวยาโดยเร็ว  กทม.กางมาตรการ 2+3 พร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือ

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์  โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย  วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช.ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ตามที่ได้ประกาศแจ้งเตือนให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 13-24 ต.ค.67 ประกอบกับปัจจุบันพื้นที่ลุ่มต่ำและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำเริ่มได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ที่ระดับ 2,200 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาที ทำให้เกิดความกังวลว่าในช่วงน้ำทะเลหนุน จะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น

ในที่ประชุม ศปช.ได้เน้นย้ำให้กรมชลประทาน ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ  (สทนช.) วางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มชะลอตัวลง  นำไปสู่การปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา และในวันเดียวกันนี้ เวลา 15.00 น. จะมีการปรับลดการระบายน้ำลงอีก เหลือที่ระดับ 2,100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำที่เข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ริมคลองบางบาล โผงเผง แม่น้ำน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา และลดความเสี่ยงของพื้นที่นอกคันกั้นน้ำในพื้นที่ จ.นนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร

นายจิรายุกล่าวว่า จากการติดตามการคาดการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าขณะนี้มีพื้นที่ 16 จังหวัดทางภาคตะวันตกและภาคใต้ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อย่างไรก็ตาม ทั้ง 16 จังหวัดได้มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำ 552 เครื่องเข้าไปเตรียมความพร้อมจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมเตรียมเครื่องจักร เครื่องผลักดันน้ำ รวม 1,100 หน่วย พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนทันที

ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศปช. มอบหมายให้ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย  ในฐานะประธาน ศปช.ส่วนหน้า และ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ในฐานะที่ปรึกษา ศปช.ส่วนหน้า ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟู อ.แม่สาย และ อ.เมืองฯ จ.เชียงราย ซึ่งขณะนี้คืบหน้าไปแล้ว 93% โดยมี  2 ชุมชนที่ดำเนินการฟื้นฟูแล้วเสร็จ คือชุมชนวังดินและชุมชนแควหวาย ส่วนในพื้นที่ อ.แม่สาย  ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 จุด คือหมู่บ้านปิยะพร   แต่ยังมีบางจุดที่มีข้อจำกัดในการทำงาน เช่น หัวฝาย สายลมจอย เกาะทราย และไม้ลุงขน ซึ่งได้ขอให้หน่วยงานรับผิดชอบแจ้งข้อจำกัดเพื่อจะได้เร่งช่วยกันฟื้นฟูพื้นที่ดังกล่าวต่อไป

ส่วนสถานการณ์อุทกภัย จ.ลำพูน ขณะนี้ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.เมืองลำพูน โดยเฉพาะที่ ต.เหมืองง่า ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำต่อจาก ต.อุโมงค์ และ ต.หนองช้างคืน ก่อนไหลลงคลองสาขาและแม่น้ำกวง โดยกรมชลประทานได้ระดมติดตั้งเครื่องสูบน้ำตามจุดต่างๆ และเปิดประตูระบายเหมืองปิงห่างเร่งระบายน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้มากที่สุด โดยขอให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งยังมีเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรืออีก 20 ลำ มาช่วยผลักดันน้ำที่จุดสะพานเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ.2540 อ.ป่าซาง จ.ลำพูน จุดเชื่อมต่อกับ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ เพื่อระบายน้ำลงแม่น้ำปิง

นายจิรายุกล่าวว่า บ่ายวันที่ 10 ต.ค. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างประชุมอาเซียนที่ สปป.ลาว ได้รับรายงานว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม พร้อมคณะลงพื้นที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หนองช้างคืน อ.เมืองลำพูน ให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบอุทกภัย ยืนยันทุกภาคส่วนเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และนายกฯ ได้ฝากความห่วงใย ขอให้มีกำลังใจฝ่าฟันเหตุการณ์ครั้งนี้

สำหรับถนนทางหลวงชนบทในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยและน้ำหลาก ดินถล่ม ได้รับรายงานว่า สำนักงานทางหลวงชนบทที่ 10 (เชียงใหม่) แขวงทางหลวงชนบทเชียงใหม่ ได้ติดตั้งป้ายเตือน ป้ายทางเลี่ยง อุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย พร้อมสัญญาณไฟ เพื่อให้ประชาชนที่สัญจรไปมาทราบ และระดมเจ้าหน้าที่-เครื่องมือเข้าเคลียร์ทุกสายทางที่ยังมีดินโคลนถล่มทับเส้นทาง จนสามารถเปิดให้ประชาชนใช้สัญจรได้แล้ว

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ขอขอบคุณกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ได้เร่งหารือกับกรมบัญชีกลาง ในกรณีการรับเงินชดเชยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการขนย้ายดินโคลนออกจากบ้านเรือนที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือได้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ประกาศเขตให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยใช้เงินทดรองราชการจ่ายในอัตรา 10,000 บาทต่อหลัง ซึ่งหลังจากนี้ขอให้ ปภ.ร่วมกับจังหวัด เร่งสำรวจและจ่ายเงินช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ในส่วนการเยียวยาฟื้นฟูผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ 9,000 บาทต่อครัวเรือน ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในฐานะตัวแทนของรัฐบาลที่ได้ทำงานอย่างเข้มแข็งในพื้นที่  อำนวยความสะดวกและให้การช่วยเหลือพี่น้องประชาชน

"ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้ช่วยกันดูแลประชาชน เพราะแม้ทุกท่านต้องรับแรงกดดันอย่างหนักหนาสาหัส แต่ก็ได้เร่งแก้ไขปัญหา ระดมกำลังพลเครื่องมือเครื่องจักรกลไปช่วยกำจัดเป่าดินโคลนที่ยังคงค้างอยู่ รวมถึงจัดหาอาหารสิ่งของดำรงชีพ ทั้งทหาร ตำรวจ อส. หน่วยกู้ภัย หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งทุกส่วนได้ทำงานอย่างเต็มที่ และทำงานบรรเทาสาธารณภัยเป็นอย่างดี สิ่งสำคัญคือในเรื่องของการป้องกันสาธารณภัย ต้องรบกวนทาง สทนช.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาอุทกภัยในระยะยาว" นายอนุทินระบุ

วันเดียวกัน นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายเจษฎา จันทรประภา ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ ร่วมแถลงถึงความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือ-น้ำหนุนของกรุงเทพฯ ว่าได้วาง 2 มาตรการ ประกอบด้วย 1.ตรวจสอบแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา และเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม 2.การเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และมี 3 มาตรการพร้อมรับสถานการณ์น้ำฝน ประกอบด้วย 1.ลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝน 2.เตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ 3.เตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่

ทั้งนี้ กรณีเผยแพร่ข้อมูลในโลกออนไลน์ว่ามีพื้นที่เขตใดที่น้ำไม่ท่วม เขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเจ้าพระยาขึ้น-ลง เขตใดเสียหายบางส่วนจากน้ำเหนือ หรือเขตใดจะรับผลกระทบบ้างนั้น  กทม.ขอย้ำว่าไม่เป็นความจริง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา

"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"