‘วันนอร์’ผวาไฟใต้เกิดถี่ ปริญญาชงยืดอายุความ

“วันนอร์” รับกังวลเหตุไฟใต้ถี่อาจเชื่อมโยงคดีตากใบใกล้หมดอายุความ หวัง ตร.จับผู้ต้องหาส่งศาลก่อน 25 ต.ค. "อ.ปริญญา" ชี้ 5 วันที่เหลือแนะรัฐบาลออก พ.ร.ก.แก้ไขอายุความได้ ย้ำ รธน.รองรับ

 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2567 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงสถานการณ์ความไม่สงบรายวันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยอมรับว่ามีความกังวล อยากให้พื้นที่ทุกภาคส่วนของประเทศไทยเกิดความสงบ มีสันติสุข ซึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มีความพยายามของทุกฝ่ายแต่ก็ยังไม่สงบ เนื่องจากยังมีความเห็นที่แตกต่างระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนบางส่วน ขณะที่รัฐบาลก็พยายามแก้ไขด้วยการพูดคุยสันติสุข ซึ่งมาเลเซียก็รับที่จะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้มีการพูดคุยกัน แต่ความคืบหน้ายังน้อยมาก

เมื่อถามว่า คดีตากใบที่เหลือไม่กี่วันจะหมดอายุความกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นค่อนข้างถี่ มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรกล่าวว่า อาจจะเชื่อมโยงหรือไม่เชื่อมโยงก็ได้ เพราะก่อนคดีตากใบจะหมดอายุก่อนหน้าเป็นปี สถานการณ์ก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่ช่วงนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 10 วันคดีจะหมดอายุความ ทุกคนก็อยากให้ผู้มีหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจับกุมผู้ที่มีหมายจับมาส่งศาลก่อน 25 ตุลาคม ถ้าจับได้ความคลี่คลายในเรื่องความเห็นต่างอาจจะลดลงไปก็ได้ มันอาจจะเกี่ยวข้องบ้างแต่ไม่ทั้งหมด เพราะเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นก่อนอยู่แล้วเพียงแต่ช่วงนี้ถี่มากขึ้น อาจเพราะประชาชนในพื้นที่อยากแสดงออกให้เจ้าหน้าที่มีความเข้มแข็งในการจับผู้ที่มีหมายจับ ถ้าตำรวจใช้ความพยายามจริงๆ ก็น่าจะจับได้บ้าง

รศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีคดีตากใบใกล้หมดอายุความว่า ในแง่ตัวกฎหมายเรื่องอายุความ เรามีปัญหา แม้ศาลจะรับฟ้องแล้วที่จังหวัดนราธิวาส แต่คดีก็ขาดอายุความได้ทั้งที่รับฟ้องแล้ว เพราะเงื่อนไขที่จะไม่ขาดอายุความคือยื่นฟ้องต่อศาล และนำจำเลยมาขึ้นศาล ซึ่งปกติในประเทศอื่นถ้าศาลประทับรับฟ้อง อายุความต้องสะดุดหยุดลงหรือหยุดอยู่ ไม่นับเวลาต่อ หรือนับเวลาใหม่ แต่ในประเทศไทยอายุความยังนับต่อไป ประเทศไทยจึงหนีจนขาดอายุความ ดังนั้นในระยะยาวมีแบบนี้หลายคดีทำเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ต้องแก้ในระยะยาว

นายปริญญากล่าวต่อว่า หากต้องแก้กฎหมายถ้าจะให้ทันภายใน 5 วันนี้ อาจต้องให้รัฐบาลออกเป็นพระราชกำหนด เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 22 ต.ค.นี้ ทั้งนี้ในมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ บุคคลจะรับผิดในทางอาญาตามที่กฎหมายบัญญัติ และรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติขณะนั้น ซึ่งแนวทางของศาลฎีกาใช้เรื่องนี้ได้ และถ้ารัฐบาลจะออก พ.ร.ก.ก็มีรัฐธรรมนูญข้อนี้รองรับที่จะย้อนหลังได้ เพราะคดีตากใบเป็นคดีอาญา เป็นคดีฆ่าผู้อื่น ร่วมกันฆ่าผู้อื่น และกักขังหน่วงเหนี่ยว

“ขั้นต่ำสุดที่เราคาดหวังจากรัฐบาลคือ ต้องแก้ไขกฎหมายอายุความ เพราะสังคมคาดหวัง เรื่องนี้เป็นเรื่องขั้นต่ำมาก ส่วนที่ระหว่างนี้รัฐบาลจะทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่ ความจริงหลักแค่ว่า การจะได้ตัวจำเลยมาขึ้นศาลหรือไม่ก็เรื่องหนึ่ง ถ้ารัฐบาลทำเต็มที่แล้วคนวิจารณ์ได้ลำบาก เพราะทำเต็มที่แล้ว ถ้าถึง 25 ต.ค.นี้สังคมเห็นว่าไม่เต็มที่ จะมีเสียงวิจารณ์หรือข้อที่จะกล่าวหารัฐบาลว่าช่วยกันหรือไม่” นายปริญญากล่าวย้ำ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี

"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ  สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล