UNรุมตำหนิรัสเซีย สมาชิก141ประเทศจี้ถอนทหารพ้นยูเครนไทยร่วมด้วย

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ลงมติเห็นชอบข้อมติตำหนิการรุกรานยูเครนและเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารทันที เมื่อวันพุธที่ 2 มี.ค. 2565 (Getty Images)

ประชาคมโลกรุมตำหนิ "รัสเซีย" รุกราน "ยูเครน" สมัชชายูเอ็นผ่านข้อมติด้วยคะแนนท่วมท้นเรียกร้องรัสเซียถอนทหารพ้นยูเครนทันที จีน-อินเดียงดออกเสียง ขณะศาลไอซีซีเปิดสอบสวนอาชญากรรมสงคราม ยูเอ็นเผยมีคนอพยพหนีภัยสู้รบเกินล้านแล้วพลเรือนบาดเจ็บล้มตายรวมกว่า 750 คน รัสเซียยอมรับสูญเสียทหารเกือบ 500 นาย ขณะรัฐมนตรีต่างประเทศจุดประเด็นสงครามนิวเคลียร์ กต.เผยจุดยืนไทยหนุนมติยูเอ็นให้ทุกฝ่ายหาทางออกอย่างสันติ

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2565 ว่าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จัดการประชุมสมัชชาสมัยเร่งด่วนตามข้อเสนอของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งยูเอ็น โดยการอภิปรายอย่างดุเดือดยาวนานกว่า 2 วัน ปิดฉากลงด้วยการลงคะแนนร่างข้อมติที่ไม่มีผลผูกพันเมื่อวันพุธที่ผ่านมาตามเวลานิวยอร์กสหรัฐ โดยมีสมาชิก 141 ประเทศจาก 193 ประเทศ ลงคะแนนเห็นชอบร่างข้อมตินี้ ขณะที่ 5 ประเทศคัดค้าน และอีก 35 ประเทศงดออกเสียง

 ประเทศที่คัดค้านนอกจากรัสเซีย ยังมีเอริเทรีย, เกาหลีเหนือ, ซีเรีย และเบลารุส ส่วนจีน, อินเดีย และปากีสถาน อยู่ในกลุ่มประเทศที่งดออกเสียง ระหว่างการอภิปรายผู้แทนรัฐบาลจีนย้ำว่า โลกไม่ได้ประโยชน์อะไรจากสงครามเย็นครั้งใหม่

 ข้อมติของยูเอ็นฉบับนี้ ซึ่งผ่านการปรับแก้หลายครั้งในช่วงไม่กี่วัน ไม่ได้ใช้คำว่า "ประณาม" การรุกรานของรัสเซียอย่างที่คาดหวังกันไว้แต่แรก แต่เลือก "ตำหนิด้วยถ้อยคำที่รุนแรงที่สุดต่อการรุกรานยูเครนโดยสหพันธรัฐรัสเซีย" ข้อมตินี้เรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานและถอนกำลังทหารออกจากยูเครน "โดยทันที"

 ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าวในแถลงการณ์ภายหลังการลงมติว่า โลกกำลังปฏิเสธคำโกหกของรัสเซีย "รัสเซียต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงและวิกฤตด้านมนุษยธรรมระหว่างประเทศที่พวกเรากำลังมองดูการเกิดขึ้นในยูเครนแบบเรียลไทม์"

ที่ประชุมสมัชชายูเอ็นยังได้ประณามการตัดสินใจของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่สั่งการให้กำลังรบนิวเคลียร์ของรัสเซียอยู่ในภาวะเตรียมพร้อมขั้นสูง

 เมื่อวันพุธ เซอร์เกย์ ลัฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของรัสเซีย ได้จุดประเด็นเรื่องสงครามนิวเคลียร์ขึ้นอีกครั้ง โดยกล่าวว่า รัสเซียยังคงต้องการทำให้ยูเครนปลอดการทหาร และควรมีรายการของอาวุธบางชนิดที่ไม่ควรถูกวางกำลังในดินแดนของยูเครน เขาอ้างว่า รัสเซียจะเผชิญกับ "อันตรายอย่างแท้จริง" หากยูเครนซึ่งต้องการเข้าร่วมนาโต มีอาวุธนิวเคลียร์

 รายงานข่าวของสำนักข่าวอาร์ไอเอของรัสเซียอ้างคำกล่าวของเขาด้วยว่า หากเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 ขึ้น ก็จะเป็นสงครามนิวเคลียร์และจะทำลายล้าง อย่างไรก็ตาม ลัฟรอฟกล่าวหาพวกนักการเมืองตะวันตกว่ากำลังพิจารณาเรื่องสงครามนิวเคลียร์ แต่เขายืนยันว่า ความคิดเรื่องสงครามนิวเคลียร์ไม่ได้อยู่ในหัวของรัสเซีย

 การรุกรานยูเครนที่ปูตินใช้คำเรียกว่า "ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ" ยังคืบหน้าอย่างเชื่องช้า โดยล่วงเข้าสู่วันที่ 8 รัสเซียเพิ่งยึดเมืองใหญ่ของยูเครนได้เพียงเมืองเดียว คือเมืองเคอร์ซอน ในภาคใต้ที่มีประชากร 290,000 คน แต่เมืองท่าแห่งนี้มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ มีแม่น้ำนีเปอร์ไหลผ่านก่อนลงสู่ทะเลดำ การควบคุมเมืองนี้ได้เป็นความคืบหน้าสำหรับรัสเซียที่ประกาศว่าพร้อมจะพูดคุยสันติภาพกับยูเครนอีกครั้งในวันพฤหัสบดี

 มีไคโล โพโดลยัก ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน เผยกับรอยเตอร์ว่า คณะผู้แทนของยูเครนเดินทางไปเจรจารอบที่ 2 กับเจ้าหน้าที่ของรัสเซียเกี่ยวกับการหยุดยิง ในสถานที่ที่ไม่เปิดเผยบริเวณชายแดนเบลารุส-โปแลนด์ รัฐบาลยูเครนประกาศไว้ล่วงหน้าด้วยว่าพวกเขาจะไม่ยอมรับ "การยื่นคำขาด"

 ในพื้นที่อื่น รัสเซียยังคงรุกคืบหน้าต่อไปในแนวรบภาคใต้ โดยกำลังโอบล้อมเมืองท่าขนาดใหญ่มาริอูโปลที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ ขณะเดียวกับก็กำลังเบิกเส้นทางในทิศตะวันตกและเหนือ

 ที่มาริอูโปล นายกเทศมนตรีวาดิม บอยเชนโก กล่าวเมื่อวันพุธว่า รัสเซียถล่มเมืองนี้นานหลายชั่วโมง ตอนนี้ชาวเมืองไม่มีไฟฟ้า, ไม่มีน้ำ และไม่มีเครื่องทำความร้อน ในขณะที่อุณหภูมิต่ำระดับจุดเยือกแข็ง วันนี้เป็นวันที่หนักหน่วงที่สุดและโหดร้ายที่สุดในช่วง 7 วันที่เกิดสงคราม วันนี้พวกรัสเซียแค่ต้องการทำลายพวกเราทั้งหมด

 ทหารรัสเซียยังคงเดินหน้าถล่มเป้าหมายที่เป็นพลเรือนอย่างประปรายทั่วยูเครน โดยเฉพาะในกรุงเคียฟ และเมืองคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับสองในภาคตะวันออกที่ผู้คนพูดภาษารัสเซีย กองทัพยูเครนเผยว่า เขตชุมชนและพื้นที่อื่นๆ ของคาร์คิฟโดนถล่มหนักตลอดทั้งคืนวันพุธ

 กระทรวงกลาโหมรัสเซียยอมรับเป็นครั้งแรกว่า กองทัพรัสเซียสูญเสียทหารแล้ว 498 นาย ในการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้ และอีก 1,597 นายได้รับบาดเจ็บ ข้อมูลนี้แตกต่างอย่างมากจากของยูเครน ที่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี อ้างว่า มีทหารรัสเซียถูกฆ่าตายไปแล้วประมาณ 9,000 นาย พร้อมกับคุยว่า ยูเครนสามารถทำลายแผนใช้เวลาร่างนานหลายปีของศัตรูได้ในเวลาแค่ 1 สัปดาห์

 รายงานกล่าวว่า ปฏิบัติการบุกของปูตินคืบหน้าเชื่องช้าทั้งเพราะปัญหาการส่งกำลังบำรุง, ความผิดพลาดทางยุทธวิธี และการรบต้านอย่างดุเดือดจากกองทัพยูเครนที่ด้อยกว่าทั้งด้านขุมกำลังและอาวุธ รวมไปถึงจากนักรบอาสาสมัครที่เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ เจ้าหน้าที่สหรัฐกล่าวกันด้วยว่า ขบวนรถทหารยาวเหยียดหลายสิบกิโลของรัสเซียทางตอนเหนือของกรุงเคียฟ "หยุดชะงัก" เพราะขาดแคลนเชื้อเพลิงและอาหาร

 เมื่อวันพฤหัสบดี สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (โอเอชซีเอชอาร์) ยืนยันว่า มีพลเรือนเสียชีวิตแล้ว 227 คน นับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ จนถึงเที่ยงคืนวันอังคารที่ 1 มีนาคม และมีผู้บาดเจ็บ 525 คน แต่หน่วยงานของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แห่งนี้ยอมรับว่าตัวเลขที่แท้จริงสูงกว่านี้มาก เนื่องจากความล่าช้าของการรายงาน

 สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งยูเอ็นเปิดเผยด้วยว่า ถึงขณะนี้มีชาวยูเครนอพยพหนีภัยข้ามชายแดนเข้าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งโปแลนด์, สโลวาเกีย, ฮังการี, โรมาเนีย และมอลโดวา แล้วมากกว่า 1 ล้านคน

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประณามว่า การยิงมิสไซล์, ปืนใหญ่ และจรวด ถล่มยูเครนถือเป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม และเมื่อวันพุธ อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) ในกรุงเฮก ประกาศว่าได้เริ่มเปิดการสอบสวนอาชญากรรมสงครามในยูเครนแล้ว หลังจากสำนักงานอัยการไอซีซีได้รับคำร้องจาก 39 รัฐภาคี ซึ่งเป็นจำนวนที่มากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

ด้านกระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ข้อความบนทวิตเตอร์ @MFAThai เปิดเผยคำอธิบายการลงคะแนนเสียงของประเทศไทย ที่กล่าวหลังการลงคะแนนเสียงโดย นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยเร่งด่วนเป็นพิเศษ วันที่ 2 มีนาคม 2565 มีดังนี้

1.ประเทศไทยได้พิจารณาร่างข้อมติฯอย่างรอบคอบ และได้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนข้อมติฯ เนื่องจากประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อหลักการที่กำหนดไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติและหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหลักการเคารพอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และการไม่ใช้กำลังต่อรัฐต่าง ๆ

2.การที่ประเทศไทยสนับสนุนข้อมติฯ ยังเป็นการย้ำถึงความห่วงกังวลอย่างลึกซึ้งต่อความยากลำบากของพลเมืองที่เดือดร้อน และผลกระทบด้านมนุษยธรรมต่อบริเวณที่มีการสู้รบและความรุนแรง ในการนี้ เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามพันธกรณีของตนตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน

3.เรายังมีความห่วงกังวลต่อผลกระทบระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นต่อความเป็นระเบียบระหว่างประเทศที่อิงพื้นฐานของกฎเกณฑ์ และขอย้ำถึงข้อเรียกร้องให้เกิดสันติภาพและขอให้ทุกฝ่ายเพิ่มการหารือผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้สามารถนำไปสู่การหาทางออกอย่างสันติให้แก่สถานการณ์นี้

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังคงติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือคนไทยในยูเครนอย่างใกล้ชิด แม้ได้ให้ความช่วยเหลือคณะชาวไทย 2 กลุ่มแรกจำนวน 96 คน ที่เดินทางกลับถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมาแล้ว แต่เนื่องด้วยสถานการณ์ความตึงเครียดในยูเครนที่เพิ่มสูงขึ้น นายกฯ ยังคงแสดงความห่วงใยต่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนชาวไทยในยูเครนที่เหลืออยู่และเจ้าหน้าที่ชาวไทยที่ปฏิบัติหน้าที่ในยูเครน รวมทั้งได้กำชับให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเตรียมความพร้อมในทุกด้านเพื่อให้ความช่วยเหลือพี่น้องชาวไทยในยูเครนอย่างทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โยนรบ.ปลดล็อกม.112 กมธ.นิรโทษฯชง3ข้อเสนอทะลุฟ้า/ก.ก.ย้ำสิทธิประกันตัว

"กลุ่มทะลุฟ้า" บุกทำเนียบฯ-รัฐสภา ร้องรัฐบาลตรวจสาเหตุ  "บุ้ง" เสียชีวิตให้โปร่งใส จี้คืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องหาคดีการเมือง