'ธีรภัทธ์' ชงเลือกตั้งผู้อำนวยการ 50 เขตใน กทม.

ดร.ธีรภัทธ์ออกบทความเรื่องผู้อำนวยการเขต 50 เขตกรุงเทพฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ชี้เพื่อให้สอดคล้องกับการเป็นประชาธิปไตยท้องถิ่น

24 มี.ค.2565 - เพจโฟกัสเลือกตั้งผู้ว่า กทม. คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิตได้เผยแพร่บทความของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธีรภัทธ์ เสรีรังสรรค์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ในหัวข้อ “ผู้อำนวยการเขต 50 เขตกรุงเทพฯ ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน” มีเนื้อหาว่า ปัญหาการบริการของเขตในด้านต่างๆ เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของกรุงเทพมหานคร อันเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของไทยเรา

หลายปีที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เขต เจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ เราจะรู้สึกได้ว่าแทบไม่ได้ออกมาพบปะประชาชน ตรงกันข้าม เราจะเห็นนักการเมืองทุกระดับออกมาเคลื่อนไหวพบปะและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพฯ รู้สึกว่าจะเน้นอยู่ในที่ตั้งแบบตั้งรับมากกว่าการออกไปพบปะเพื่อสอบถามปัญหาและการช่วยเหลือแก้ไขประชาชนในเชิงรุก เรียกได้ว่า เจ้าหน้าที่กรุงเทพฯ ห่างเหินจากประชาชนอย่างมาก

เรื่องการให้บริการบางอย่างจากเขต ต้องใช้ความรู้จักหรือระบบอุปถัมภ์เป็นการส่วนตัว จึงจะได้รับบริการที่เร็วและที่ดี แทนที่จะให้บริการเป็นที่รับรู้และเข้าถึงได้อย่างกว้างขวางโดยประชาชนทั่วไปอย่างเท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ ยังควรขยายบริการด้านต่างๆ ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นของทุกเขต เช่น การตัดต้นไม้ใหญ่ของบ้านประชาชน สวนสาธารณะที่กระจายไปยังชุมชนต่างๆ พื้นที่และเครื่องมือออกกำลังกายที่เข้าถึงจากชุมชนต่างๆ เรื่องการขออนุญาตก่อสร้างต่อเติมที่อยู่อาศัยรวมทั้งอาคารสูงใหญ่ ทำอย่างไรจะให้กระบวนการเร็วขึ้น เป็นที่รับรู้ของประชาชน มีความละเอียด อันจะทำให้ประชาชนบ้านข้างเคียงไม่ต้องกังวลใจว่าจะได้รับผลกระทบด้านต่างๆ เป็นต้น

ปัญหาการบริการประชาชนและความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กรุงเทพฯกับประชาชนที่เป็นไปในลักษณะนี้หลายปีที่ผ่านมา น่าจะมีปัจจัยสัมพันธ์กับการรัฐประหาร 2557 และผู้ว่ากรุงเทพฯ มาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

สมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ยังเป็นสิ่งจำเป็นในระบบการเมืองท้องถิ่นกรุงเทพฯ

นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะเป็นบุคคลที่คลุกอยู่กับประชาชน ทั้งเห็นและเข้าใจปัญหาของประชาชนได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่จากรัฐส่วนกลาง เหมือนกับเจ้าหน้าที่ กทม. หากไม่มีการเลือกตั้ง ก็จะทำให้เจ้าหน้าที่เหล่านี้มีความคิดความเชื่อและการปฏิบัติเหมือนข้าราชการประจำเท่านั้นเอง ซึ่งคงค่อนข้างขาดหัวจิตหัวใจที่จะมาคำนึงถึงประชาชน นี่ขนาดเพียง 7-8 ปีเท่านั้น

หากเราย้อนกลับไปสู่ยุคสิบยี่สิบปีก่อนที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ สมาชิกสภากรุงเทพ (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) รวมทั้ง ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง เราจะเห็นนักการเมืองเหล่านี้เคลื่อนไหวพบปะช่วยเหลือประชาชน และหาทางแก้ไขปัญหาในวิถีทางใหม่ๆ ตลอดเวลา

ดังนั้น สมาชิกสภาเขตจึงยังเป็นสิ่งจำเป็นของกรุงเทพฯ เพื่อคอยตรวจสอบและให้ความคิดเห็นต่อการทำงานของเขตได้อย่างละเอียดละออยิ่งขึ้น นอกจากนั้น นักการเมืองเหล่านี้ทั้งที่ได้รับเลือกตั้งและที่ไม่ได้รับเลือกตั้งก็จะยังคงมีทีมปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องหลายปี นักการเมืองท้องถิ่นเหล่านี้มีวิญญาณมีหัวใจในการให้บริการประชาชน และมีมากกว่าเจ้าหน้าที่เขตที่เป็นข้าราชการประจำอย่างแน่นอน

ถึงเวลาแล้วที่ผู้อำนวยการเขตต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

กรุงเทพมหานครมีทั้งหมด 50 เขต แม้เราจะได้ผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ผู้ว่ากรุงเทพฯ ก็สามารถแต่งตั้งข้าราชการประจำให้มาเป็นผู้อำนวยการเขตได้เท่านั้น ซึ่งมันก็จะวนเวียนกันไปมาในหมู่ข้าราชการประจำ ที่เมื่อเราพิจารณาจากประเด็นข้างต้นทั้งหมด เราก็จะเห็นว่า ข้าราชการประจำมีบุคลิกลักษณะความคิดการทำงานและจิตวิญญาณที่ห่างเหินและขาดหัวใจในการบริการประชาชน มีลักษณะทำงานแบบประจำวันมากกว่าการทำงานเชิงรุกและสร้างสรรค์ รวมทั้งแต่ละเขตเองก็มีพื้นที่กว้างใหญ่ มีชุมชนและประชากรจำนวนมาก

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับปรุงโครงสร้างและระบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษของกรุงเทพมหานคร โดยให้ผู้อำนวยการเขตทุกเขตมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ละเขตโดยตรง และน่าจะเป็นผลดีกว่าที่จะให้ผู้ว่ากรุงเทพฯ เป็นผู้แต่งตั้งผู้อำนวยการเขตแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งมันมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจที่ผู้ว่ากรุงเทพฯ คนเดียว และการเลือกตั้งผู้อำนวยการเขตจะสอดคล้องกับการสร้างความเป็นประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นยิ่งขึ้น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' ควง 'ภริยา' เดินตลาดเช้าหัวหิน คุยสงกรานต์ปีนี้คึกคัก

“เศรษฐา“ ควง “ภริยา” เดินตลาดเช้าหัวหิน ใส่บาตรพระ โอ่ สงกรานต์เศรษฐกิจคึกคัก ลั่น ปีหน้าดีกว่านี้ ย้ำไตรมาส4 ได้เงินหมื่นแน่ พร้อมโพสต์ ฝากปชช. ให้ความรักเวลาคนในครอบครัว