2 อดีตประธานรัฐสภา สับเละรัฐประหารทำลายประชาธิปไตย ตุลาการจับคนหมิ่นยัดคุก

เสวนา รัฐสภา90ปี ‘2อดีตปธ.รัฐสภา’ ผิดหวัง ‘รัฐสภา’ ยังไม่ถึงเป้าหมายทำงานเพื่อปชช. “วันนอร์” เสียดาย เส้นทาง 90 ปี ถูก ‘ขุนศึก-นายทุน’ รวมหัวทำรัฐประหารเตะตัดขา ชี้ กระทู้ถามสด มีไว้วัดกึ๋นรัฐบาล ‘นายกฯ’ ควรตอบเอง ถาม ‘ฝ่ายตุลาการ-ศาล’ จับคนหมิ่นยัดคุก แต่รับรองคนทำรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ เป็น ‘รัฏฐาธิปัตย์’ ด้าน “โภคิน” ผิดหวัง 90 ปีปชช.บนเส้นทางปชต. จี้ผู้แทนลุกขึ้นต่อสู้ “รัฐประหาร” งัดมาตรการปิดทาง ลั่นต้องฟ้องศาลเอาผิดคนฉีกรธน. ก่อนออกกฎหมายนิรโทษกรรมตัวเอง

27 มิ.ย.2565 - ที่รัฐสภา รัฐสภาจัดเสวนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 90 ปี รัฐสภา หัวข้อ “90 ปี รัฐสภา การเดินทางและความหวัง” โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภาและประธานสภาฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและอดีตผูนำฝ่ายค้านในสภาฯ ร่วมเสวนา

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ตนเข้ามาในรัฐสภาตั้งแต่ปี 2522 โดยได้เป็นประธานรัฐสภาในปี 2539 ทำงานเกี่ยวเนื่องกับรัฐสภามาปีนี้ก็ 43 ปีแล้ว แต่ตนคิดว่าเรายังเดินทางไม่ถึงเป้าหมาย และไม่ถึงความฝัน นอกจากนี้ ยังรู้สึกผิดหวังลึกๆ ในบทบาทของรัฐสภา ที่ควรจะเป็นสภาของประชาชน และเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ ต้องเป็นสภาที่ได้เลือกผู้บริหารประเทศอย่างแท้จริง และทำเรื่องที่เป็นประโยชน์มากกว่านี้ เช่น การกระจายอำนาจ ให้ประชาชนทุกจังหวัดมีสภาจากการเลือกตั้ง และมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นของตัวเอง สภาต้องไม่ทำงานให้รัฐบาลกลางอย่างเดียว

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงสิ่งที่ประทับใจในทางบวกของการเดินทางของรัฐสภาตลอด 90 ปี ว่า คือ 1.ช่วงที่ตนเป็นประธานสภาฯ คือการร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน พ.ศ.2540 ที่มาจากประชาชนจริงๆ เพราะ มี ส.ส.มาจากการเลือกตั้ง มีความเป็นประชาธิปไตย มีองค์อิสระ และมีส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังมีการกำหนดขอบเขตอำนาจอย่างชัดเจน แต่น่าเสียดายที่ใช้ได้เพียง 9 ปี เพราะเกิดการปฏิวัติ เมื่อปี 2549 2.การตั้งสถาบันพระปกเกล้าที่ทำงานควบคู่กับรัฐสภา เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย

และ 3.รัฐสภาปัจจุบัน มีช่องทางในการถ่ายทอดสดการประชุมรัฐสภา ทำให้ประชาชนมีโอกาสติดตามบทบาทสมาชิกได้อย่างใกล้ชิด อันจะส่งผลต่อการเลือกตั้งสมาชิกตามลำดับ และจะส่งผลต่อรัฐบาลด้วย แต่ต้องไม่มีการซื้อเสียง งูเห่า และการแจกกล้วย ส่วนปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการทำงานของรัฐสภา คือ เราถูกเตะตัดขาจากการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะมีขุนศึก บวกนายทุน และอำนาจนิยมที่ชอบในอำนาจ ซึ่งวันนี้เราก็ยังไม่พ้นวังวนนี้ จนเราได้รัฐบาลที่มาจากการก่อเหตุนี้ ที่ต้องมาคอยดูแลขุนศึก และนายทุน จนทำให้ประชาชนเดือดร้อน เราจึงต้องสร้างจิตสำนึกประชาธิปไตยให้ประชาชน และสร้างความรู้สึกนึกคิดว่า การปฏิวัติเป็นสิ่งชั่วร้าย เพราะประชาธิปไตยที่กินได้ ไม่ได้เกิดจากรัฐประหาร

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวถึงการทำงานของรัฐสภาที่ยึดโยงประชาชน ว่า ตนคิดว่ารัฐสภาต้องยึดโยงกับประชาชน โดยส.ว.ควรมีหน้าที่แค่การกลั่นกรองกฎหมาย ไม่ใช่มามีส่วนในการทำกฎหมายปฏิรูป หรือกฎหมายสำคัญอื่นๆ ทั้งนี้ ตนอยากฝากไปถึงรัฐบาลเรื่องกระทู้ถามสด ที่มีขึ้นเพื่อเป็นการวัดกึ๋นการทำงานของรัฐบาล ถ้าทำงานไม่เก่งจะมาตอบไม่ได้ เพราะเป็นการถามเดี๋ยวนั้น ตอบเดี๋ยวนั้น และต้องไม่ใช่การมอบให้รัฐมนตรีมาตอบแทน นายกฯ ต้องฟังและเข้าใจเอง อย่าบอกว่างานเยอะ เพราะมีการกำหนดแล้วว่า วันพุธ และวันพฤหัสบดี มีการประชุมสภาฯ รัฐบาลต้องว่าง และที่รัฐสภามีห้องมากมายรองรับการทำงานของรัฐบาล

ดังนั้นรัฐบาลต้องมาสภา เพราะคุณมาจากสภา เพราะเบอร์หนึ่งคือประธานรัฐสภา และสภาคือฝ่ายที่ให้เงินรัฐบาลไปบริหารประเทศ ส่วนนายกฯ คือเบอร์สอง นอกจากนี้ ตนอยากถามว่าเวลาละเมิดอำนาจศาล ทำไมถึงติดคุก แต่เวลาที่มีการทำปฏิวัติละเมิดอำนาจประชาชนทั้งประเทศ และมีการฉีกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ศาลกลับวินิจฉัยว่าเป็นอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ดังนั้นจึงอยากฝากให้ศาลทบทวนแนวทางวินิจฉัยนี้เพราะจะเป็นเรื่องที่ทำให้เราเดินต่อไปไม่ได้ และไม่เช่นนั้นจะเจอการรัฐประหารอีกหลายรอบ

ด้านนายโภคิน กล่าวว่า 90 ปีรัฐสภา คือ 90 ปีประชาชนบนเส้นทางประชาธิปไตย ตนผิดหวังพอสมควร เพราะคิดว่ารัฐธรรมนูญปี 40 นั้นตกผลึกที่สุด อีกทั้งตอนนี้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติที่ระบุว่าคนไทยจะพ้นกับดักความยากจน แต่ตอนนี้หนี้ครัวเรือนมีกว่า 90% และยังคงมีหนี้ภาครัฐอีก แต่ตนเชื่อว่าประเทศเรายังมีโอกาส อีก10ปีจะครบ100 ปีรัฐสภา เราจะมีมาตรการทางกฎหมายป้องกันการทำรัฐประหารอย่างไร เพราะเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แต่ทุกครั้งที่มีรัฐประหาร พวกเราที่มาจากประชาชน มีจำนวนน้อยมากที่จะลุกขึ้นสู้กับรัฐประหาร ด้วยการไปฟ้องศาลว่าการยึดอำนาจนั้นผิดกฎหมาย เพราะช่วงแรกพวกยึดอำนาจไม่กล้านิรโทษกรรมตนเอง แต่ปัจจุบันมีการยืนยันออกกฎหมายในรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมให้กับตนเอง ตนอยากให้ผู้ที่มาจากประชาชนทุกคนลุกขึ้นสู้กดดันศาล อย่าให้คนทำลายประชาธิปไตยกลับมาสร้างประชาธิปไตยใหม่เพื่อให้เส้นทางรัฐสภามีความสง่างาม ตนมองว่า 90 ปีการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่นำมาซึ่งอำนาจนิยมฝั่งรากกดทับประชาชน ดังนั้นเราต้องขจัดความคิดนี้เพื่อให้รัฐเอื้อต่อประชาชน เพราะไม่เช่นนั้น อีก 10 ปีก็แก้ไขไม่ได้

นายโภคิน กล่าวต่อว่า ข้อดีการมีรัฐสภา โดยเฉพาะสภาผู้แทนราษฎร ถ้าไม่มีอะไรสะดุดทุกอย่างก็จะไหลลื่น และนายกฯมาตอบคำถาม แต่เมื่อยึดอำนาจมา เขาก็ด้อยค่าสภาฯ แม้ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะมีวิป แต่ฝ่ายรัฐบาลมักเลือกหยิบร่างกฎหมายที่ตนเองเสนอมาพิจารณาแซงลำดับร่างกฎหมายที่ส.ส.เข้าชื่อ ทำให้กฎหมายดีๆหลายฉบับ เมื่อยุบสภาก็ต้องตกการพิจารณาไป ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญปี 2540 ได้เขียนไว้ว่าหากพิจารณาร่างกฎหมายถึงตรงไหน เมื่อมีสภาฯชุดใหม่เข้ามาก็ต้องพิจารณาต่อตรงนั้น เพื่อเดินหน้ากฎหมายดีๆ นอกจากนี้ตนเห็นด้วยกับการตั้งกระทู้ถาม ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะคำถามเหล่านั้นสะท้อนความทุกข์ยากของประชาชน และสิ่งที่ตนอยากให้สภาฯทำคือช่วยรับฟังเสียงประชาชน จากนั้นจัดทำรายงานเสนอเพื่อนำไปแก้ไขปัญหากันต่อไป ผู้แทนต้องสะท้อนปัญหาพื้นที่ สะท้อนปัญหาโครงสร้าง กดดันรัฐบาลและคณะรัฐมนตรี โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมช่วยกันผลักดัน เพื่อให้เกิดอำนาจต่อรอง หากส.ส.ทุกคนทำแบบนี้ ประชาชนก็จะสนใจสภาฯ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุวัจน์' หวนคืนชื่อเดิม 'พรรคชาติพัฒนา' แต่งตั้ง สส.แจ้ เป็นรองหัวหน้าพรรค

พรรคชาติพัฒนากล้า เปิดการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2567 นำโดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า , นายเทวัญ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ,

'ชัยเกษม' ออกตัวไม่เกี่ยวปรับครม. ผู้บริหารพรรคจะใช้ให้ทำอะไรก็ได้ สบายๆ

นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย เดินทางมาไหว้ศาลพระภูมิเจ้าที่ ศาลตา ศาลยาย โดยผู้สื่อข่าวได้สอบถามว่า การเดินทางมาไหว้วันนี้เกี่ยวอะไรกับการปรับ ครม.หรือไม่

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

'เผ่าภูมิ' ปัดนายกฯ ส่งสัญญาณนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวได้เดินทางมารับเอกสารกรอกแบบฟอร์มตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว ว่า ตนไม่ให้คอมเมนท์ ยืนยันว่าขณะ

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ