นักกฎหมายชำแหละแผนเพื่อไทย-ฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายฯก่อนเลือกตั้ง

ณัฐวุฒิ22 ธ.ค.2565 - ดร.ณัฐวุฒิ วงศ์เนียม นักกฎหมายมหาชน กล่าวถึงกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เตรียมยื่นอภิปรายทั่วไป โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่าในระบบรัฐสภา กลไกลฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหารเพื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ รัฐธรรมนูญมาตรา 152 เปิดช่องให้สามารถกระทำได้ โดย ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อกันเสนอต่อประธานรัฐสภา สิทธิดังกล่าวนี้ เปิดช่องให้ สว.สามารถกระทำได้เช่นกัน ตามความในมาตรา 153 ช่องทางนี้ การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีผลทางกฎหมาย ดังนี้

1.การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ลงมติ มาตรา 152 เป็นกลไกในระบบรัฐสภาฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร

2.หากได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว รัฐธรรมนูญมาตรานี้ ไม่ได้บัญญัติห้ามนายกรัฐมนตรียุบสภา

3.แม้ไม่ได้ลงมติ แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรายบุคคลหรือทั้งคณะรัฐมนตรี หากฝ่ายค้านมีข้อมูลชัดแจ้งหรือความปรากฎโดยชัดแจ้งพบว่ารัฐมนตรีนั้นกระทำการทุจริต ประพฤติมิชอบ ฝ่ายค้านย่อมนำข้อมูลเสนอต่อ ปปช.เชือดรัฐมนตรีนั้นได้

การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามช่องทางมาตรา 151 ฝ่ายค้านได้ใช้สิทธิไปแล้ว รัฐธรรมนูญบัญญัติให้กระทำได้ปีละหนึ่งครั้ง พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่สามารถใช้ช่องทางนี้ได้ ใช้สิทธิซ้ำในปีเดียวกันไม่ได้ เพราะยุทธการนั่งร้านของฝ่ายค้านหักไปแล้ว การเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตามมาตรา 151 ผลทางกฎหมายจะตรงข้ามกับมาตรา 152 คือ ลงมติได้และรัฐบาลจะชิงยุบสภาหนีการตรวจสอบไม่ได้ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติห้ามไว้ ตามมาตรา 151 วรรคสอง แต่การที่พรรคเพื่อไทย/พรรคร่วมฝ่ายค้าน ใช้ช่องทางกลไกตรวจสอบมาตรา 152 รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้าม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียุบสภา ฝ่ายค้านย่อมรู้ข้อกฎหมายนี้ เป็นอย่างดีเพราะมีประสบการณ์เคยเป็นรัฐบาลมาก่อน อาทิ สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แถลงยุบสภา วันที่ 9 ธันวาคม 2556 เป็นต้นรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้กลไกฝ่ายบริหารสามารถยุบสภาได้ แต่จะหนีการตรวจสอบหรือไม่ คนละเรื่องกัน แม้ได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว ช่องมาตรา 152 ไม่มีกฎหมายห้ามให้ยุบสภา

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวว่าจะเห็นได้จาก การปรับคณะรัฐมนตรี 3 ตำแหน่ง ตามประกาศราชกิจจานุเบกษาวันที่ 30 พ.ย.2565 ประกอบกับระยะเวลาสิ้นปี 2565 ตัวแปร คือ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายเลือกตั้งที่แก้ไขใหม่ ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้ ประกอบกับ กระทรวงมหาดไทยจะต้องอัพเดทข้อมูลประชากร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในปี 2565 ล่าสุดส่งให้แก่ กกต.ทราบ เพื่อเป็นเกณฑ์กำหนดการคำนวณสูตรหาร 100 และแบ่งเขตพื้นที่เลือกตั้งเพิ่มเติม เพื่อให้สอดคล้องกับประชากรและ จำนวนเขตเลือกตั้งเพิ่มเติมจาก 350 เขต เป็น 400 เขต เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 83 วรรคหนึ่ง(1) ที่แก้ไขจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน การที่พรรคเพื่อไทย/พรรคร่วมฝ่ายค้านแถลงข่าว เกรงว่า รัฐบาลจะยุบสภาหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นการคาดคะเน พูดดักทาง ตีปลาหน้าไซ ทั้งๆ ขณะนี้ยังไม่ได้ยื่นญัตติ เหมือนกับความผิดยังไม่เกิด แต่ไปบอกกับประชาชนแล้วว่า ผู้ต้องจะหลบหนี ไม่ต่างกัน เรียกว่า ตีกินทางการเมือง หากเทียบให้เห็นชัด ส.ส.ในพรรคเพื่อไทย/พรรคร่วมฝ่ายค้าน ลาออกจากพรรค ย้ายไปสังกัดพรรคภูมิใจไทย ไม่เห็นจะสามารถยับยั้งได้

เพราะกลไกรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา คืนอำนาจให้แก่ประชาชน ยังเป็นรัฐบาลรักษาการต่อ หากพบเห็นความผิดย่อมสามารถใช้สิทธิกล่าวโทษต่อ ปปช.ได้ เหมือนประชาชนทั่วไป เป็นการตรวจสอบได้อีกช่องทางหนึ่ง พรรคเพื่อไทย ออกแบบมาเพื่อเป็นรัฐบาล พอเป็นฝ่ายค้าน การตรวจสอบฝ่ายบริหารไปไม่เป็น แตกต่างจากพรรคประชาธิปัตย์ การตรวจสอบเข้มข้นกว่า ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา คอการเมืองลุ้นหน้าจอ สุดท้ายเกรงว่า ข้อมูลเด็ดที่ว่านั้น ประชาชนเกรงว่าจะเป็นมวยล้มต้มคนดูมากกว่า ตั้งข้อสังเกตว่า ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจล่าสุด มีการจัดธีมฝ่ายค้าน เหมือนแสดงละครเช่น ยุทธการ “เด็ดหัว สอยนั่งร้าน” แต่สุดท้ายมีแต่น้ำ ไม่สมราคาคุย หากพิจารณาจากสถิติการตรวจสอบ เกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลต่างๆ น้ำหนักน้อยยัง ไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลได้ ที่แถลงข่าวเกรงว่า จะยุบสภาก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ลงมติ ไม่น่าจะใช่ แต่เป็นเพียงโชว์หนังตัวอย่างว่ามีข้อมูลเด็ด ให้ประชาชนติดตาม สุดท้าย ไม่มีข้อมูลอะไรใหม่ สวนทางกับโพลที่ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นต้นแบบแห่งความซื่อสัตย์สุจริตเชิงประจักษ์

"เทคนิคของพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมฝ่ายค้านใช้ช่องมาตรา 152 อภิปรายไม่ไว้วางใจโดยไม่มีการลงมติ การซักถามหรือเสนอแนะ ประชาชนอาจไม่เข้าใจข้อกฎหมาย ให้เปรียบเทียบกับการตั้งกระทู้สดหรือปรึกษาหารือรัฐบาล ไม่สามารถล้มรัฐบาลได้ แต่กลยุทธ์ดังกล่าว อาจมีผลกระทบโดยทางตรงในการเลือกตั้งสมัยหน้า คือ ลดความน่าเชื่อถือของพรรคฝ่ายรัฐบาล เพราะการประชุมถ่ายทอดสดให้ประชาชนทางบ้านได้ชม หากเป็นภาษาชาวบ้าน อาจเรียกว่า ประจาน ก็ได้ แล้วแต่ประชาชนหรือคอการเมืองจะเรียก"

ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่าประกอบกับตัวแปรสำคัญ ในช่วงโค้งสุดท้าย อายุของสภาจะสิ้นลงในวันที่ 23 มีนาคม 2566 เกมศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่สามารถทำอะไรฝ่ายรัฐบาลได้ เป็นเพียงกลไกระบบรัฐสภาที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาใช้เพื่อทำลายความชอบธรรมของฝ่ายบริหารเท่านั้น ขณะเดียวกัน โพลต่างๆ ระบุว่า พรรคเพื่อไทย จะครองเสียงข้างมาก แต่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เกมการเมืองที่พรรคเพื่อไทย เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญตัดอำนาจ สว.ตามมาตรา 272 และการแก้ไขที่มาของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 เพื่อตัดสิทธิบุคคลภายนอก(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เพื่อให้นายกรัฐมนตรีสวมหมวก 2 ใบ คือ เป็น ส.ส.สังกัดพรรค และนายกรัฐมนตรี ที่เคยปรากฎตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 201 วรรคสอง และตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 171 วรรคสอง ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสองประกอบมาตรา 159 เป็นการดิ้นเพื่อชิงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ออกแบบมาแก้ยาก โดยมี สว.มีสิทธิโหวตนายกรัฐมนตรี

"ดังนั้น แผนกลยุทธ์หมัดเด็ดที่ฝ่ายค้านคุยโวนักหนา และตีตนไปก่อนไข้ กลัวถูกตรวจสอบ สวนทางกับ ปปช.แผลงฤทธิ์ ทยอยแจ้งผลคำวินิจฉัยชี้ขาด นักการเมืองในอดีตของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตั้งข้อสังเกตว่า ระยะเวลาที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ จัดใหญ่ไฟกระพริบแทบเกือบทุกครั้ง ประชาชน คอการเมือง ทั้งประเทศติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจ สุดท้ายข้อมูลน้ำหนักเบาหวิว แพ้โหวตทุกครั้ง แม้ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ แม้ยังไม่เปิดเผยรายละเอียด แต่เชื่อว่า สถิติเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา เสนอข้อมูลมาทุกช่องทาง จนหมดมุกแล้ว ประชาชนลุ้นติดจอ จากกองเชียร์ฝ่ายค้าน ตอนนี้เปลี่ยนไปกองแช่งให้เป็นฝ่ายค้านตลอดไป" ดร.ณัฐวุฒิ กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เผ่าภูมิ' ปัดนายกฯ ส่งสัญญาณนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวได้เดินทางมารับเอกสารกรอกแบบฟอร์มตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว ว่า ตนไม่ให้คอมเมนท์ ยืนยันว่าขณะ

พรรคร่วมฯ เพียงเห็นชอบเชิงหลักการ รัฐบาลเล่นกลแจกเงินหมื่น หาเสียงนิยมให้พท.

'จตุพร' ซัดรัฐบาลเล่นกลซ่อนเจตนากู้เงินแจกหมื่น เชื่อปั่นความหวังเคลมดิจิทัลหาเสียงนิยมให้เพื่อไทย แต่ ปท.ชิบหายแบกหนี้ก้อนโต ชี้พรรคร่วมฯ เพียงเห็นชอบเชิงหลักการเท่านั้น

จับตา ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ '1ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์' ผ่าน THACCA

นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ในฐานะนิสิตเก่าคณะรัฐศาสตร์ รุ่น 30 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ว่า

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ

'หมอชัย' สยบข่าวเปลี่ยนตัวโฆษกรัฐบาล ยันนายกฯไม่ส่งสัญญาณ

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงโฆษกรัฐบาล ว่า ไม่มีนะ ตนไม่เคยได้ยินข่าว และขอย้ำว่าไม่มีตนกองเชียร์ไม่เยอะ