'อรรถวิชช์' ค้านกกต.แบ่งเขตเลือกตั้งกทม. รูปแบบ 6-8 ชี้ผิดปกติเหมือนจัดวางให้ใครชนะ

"อรรถวิชช์" ค้านกกต.แบ่งเขตเลือกตั้งกทม.รูปแบบ 6-8 มาแบบลอยฟ้าผิดกฎหมาย แบ่งเขตพิสดาร โดยคำสั่งภายในสำนักงาน หวั่นหากเคาะกระทบไพรมารี เลือกตั้งเลื่อนทำประชาชนสับสน

10 ก.พ.2566 - เวลา 13.00 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยื่นคำร้องต่อกกต.เพื่อคัดค้านการประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งเพิ่มเติมแบบที่ 6 - 8 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

นายอรรถวิชช์ กล่าวว่า การแบ่งเขตเพิ่มเติมรูปแบบที่ 6 - 8 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย และขัดต่อพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. หากยังคงประกาศรูปแบบที่ 6 - 8 เกรงว่าจะกระทบกับปฏิทินจัดการเลือกตั้ง เนื่องจากทั้ง 3 รูปแบบ เป็นการแบ่งตามคำสั่งหนังสือภายใน ไม่ได้ดำเนินตามประกาศกกต.เกี่ยวกับรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 31 ม.ค.2566 โดยเห็นว่าการแบ่งเขต 5 รูปแบบเดิมก่อนหน้านี้ ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ และสมบูรณ์แบบ

แต่เมื่อวันที่ 9 ก.พ.2566 กกต.ประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบที่ 6 - 8 ขึ้นมา เห็นว่าดำเนินการผิดขั้นตอน โดยขัดต่อมติกกต.เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่จะต้องดำเนินการแบ่งเขตให้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 3 ก.พ.2566 ไม่สามารถที่จะมาแบ่งเขตเพิ่มเติมได้ เนื่องจากขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและพรรคการเมือง ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 13 ก.พ. แต่การแบ่งเขตเพิ่มเติมเป็นการดำเนินการตามหนังสือภายในคือประกาศสำนักงานกกต.เรื่องรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งส.ส.กทม.เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และพรรคการเมือง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพิ่มเติม ลงวันที่ 9 ก.พ.2566 ซึ่งเป็นเอกสารภายใน แล้วให้กกต.กทม.แบ่งเขตเพิ่มเติม โดยเอกสารฉบับดังกล่าวไม่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แล้วไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะชน ซึ่งไม่สามารถทำได้ จึงทำให้การแบ่งเขตเพิ่มเติมรูปแบบที่ 6-8 ผิดกฎหมาย

นายอรรถวิชช์ ยังกล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งเพิ่มเติมรูปแบบที่ 6-8 มีความผิดปกติ ซึ่งตามหลักพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 27 (1) การแบ่งเขตต้องคำนึงถึงสภาพของเขตเลือกตั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นการเลือกตั้งแบบส.ส. 1 คน ต่อ 1 พื้นที่ จึงต้องใช้เกณฑ์แบ่งเขตเมื่อปี 2554 และ2557 มาเป็นเกณฑ์ แต่แบบที่ 6 - 8 ไม่ได้นำมาใช้ และ (2) การแบ่งเขตให้เป็นลักษณะชุมชนเดียวกัน แต่การแบ่งเขตเลือกตั้งยกตัวอย่างในรูปแบบที่ 6 ที่มีการเลือกรวมบางแขวง จาก 4 เขตการปกครอง เช่นเขตพญาไท ยกเว้นแขวงสามเสนใน นำไปรวมกับเขตจตุจักร เฉพาะแขวงจอมพล รวมกับเขตดินแดง ยกเว้นแขวงดินแดง รวมกับเขตห้วยขว้าง เฉพาะแขวงห้วยขวาง ซึ่งเป็นการเลือกเฉพาะบางแขวง และนำมารวมเป็นเขตเลือกตั้งใหม่ ซึ่งไม่มีใครทำกัน และประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวไม่เคยอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งเดียวกันมาก่อน จะทำให้ประชาชนสับสน ฝั่งถนน ฝั่งหนึ่งอยู่เขตเดียวกัน เคยเลือกอีกที่แต่ครั้งนี้ก็จะไปเลือกอีกที่ จึงตั้งข้อสังเกตว่า 4 เขตปกครองรวมอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกันได้อย่างไร และเลือกเฉพาะเป็นแขวงๆ

"พญาไทมี 2 แขวง แต่เอามาแค่แขวงเดียว เขตจตุจักรมี 5 แขวงแต่เอามาแค่ 2 แขวง เขตดินแดงยกเว้น 1 แขวง เขตห้วยขวาง เอาเฉพาะแขวงห้วยขวาง เหมือนการดีไซน์ให้ใครคนใดคนหนึ่งชนะ เลือกตรงนั้นมาที ตรงนี้มาที และเป็นเขตเลือกตั้งที่ไม่เคยอยู่ด้วยกันซึ่งทำทำไม บางอันขนาดเป็นเขตพวงใหญ่สมัยโบราณยังไม่เคยอยู่ด้วยกันเลย อันนี้เป็นแบบส.ส.คนเดียว เขตเดียวยังเอามาชนกันได้ ผมได้คุยกับเพื่อนต่างพรรค หลายพรรคก็มีปัญหา และแปลกใจรูปแบบที่ 6 - 8 ส่วน 5 รูปแบบแรกผมว่าพรรคการเมืองก็พร้อมยอมรับเพราะมีความยึดโยงกับการแบ่งเขตเลือกตัเงส.ส.คนเดียว เขตเดียว มาตั้งแต่ปี 2554 - 2557 ถึงแม้ไม่เหมือนกันเป๊ะ แต่ก็อยู่ในจุดที่ทุกพรรครับได้หมด แต่ 6 - 8 ผิดปกติอย่างยิ่ง"นายอรรถวิชช์ กล่าว

นายอรรถวิชช์ กล่าวอีกว่า ขณะที่เขตจตุจักรในรูปแบบ 1 - 4 ประชากรอยู่ที่ 153,000 กว่าคน ซึ่งสัดส่วนส.ส.1 คน ต่อประชากร 160,000 คน โดยเขตนี้มีประชาชนเลื่อมล้ำอยู่ 7 เปอร์เซ็นต์ ปรากฎว่ารูปแบบที่ 6 - 8 ย่อยสลายเขตเดียวกันทิ้งหมด แล้วนำไปกระจายเป็นสามเขตเลือกตั้ง ความผิดปกตินี้ตนคิดว่ากกต.จะต้องมีความชัดเจน เพราะอันนี้มันลอยฟ้ามา เป็นคำสั่งที่เป็นคำสั่งภายในแล้วมาแบ่งเขตที่ 6-8 เพิ่มเติม แบบนี้ผิดปกติ ถึงยื่นหนังสือให้กกต.ตรวจสอบวิธีการแบ่งเขต โดยอยากให้ถอนการแบ่งเขตเพิ่มเติมรูปแบบที่ 6-8 เพราะขัดพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.อย่างชัดเจน และหากปล่อยให้ยังอยู่และให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นใน 3 รูปแบบนี้ หากมีการเลือกออกมาและมีการร้องตามมาภายหลังว่ากระบวนการดำเนินการโดยไม่ถูกต้อง จะทำให้กระบวนการนี้ช็อต จะทำให้พรรคการเมืองอื่นๆไม่สามารถทำไพรมารีโหวตได้ เพราะแบ่งเขตไม่เสร็จในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อทำไดรมารีโหวตไม่ได้ก็ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้

"เนื่องจากกกต.กทม.เป็นคนแบ่งเขต และแบ่งโดยคำสั่งภายใน และไม่มีใครเคยเห็นคำสั่งนี้ว่าเป็นอย่างไร เพราะตามหลักการ ต้องลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนรับทราบ ขั้นตอนรูปแบบที่ 1-5 ชัดมากโดยกกต.มีมติและนำไปประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แต่อันนี้เป็นคำสั่งภายใน เป็นคำสั่งภายในของใครมันผิดกฎหมายชัดเจน มันเป็นอย่างนั้นได้อย่างไรในองค์กรที่จะต้องเป็นองค์กรกลางที่จะต้องกำหนดการเลือกตั้ง และการที่กกต.พยายามบอกว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งคำนึงถึงเกณฑ์ 10เปอร์เซ็นต์ เลยทำให้ต้องมีการออกรูปแบบที่ 6-8 เพิ่มเติม ซึ่งเป็นไปได้อย่างไรเขตจตุจักรห่างกันไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ มันอยู่ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้นเอง ไปเอาเขตจตุจักรหั่น ให้กลายเป็น 3 เขตเลือกตั้ง คนจะไปเลือกตั้งอย่างไร ซึ่งแปลกมาก ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นได้กับการแบ่งเขตโดยใช้คำสั่งภายในแล้วไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน" นายอรรถวิชช์ ระบุ

เมื่อถามว่าจะตั้งกรอบให้กกต.พิจารณาเรื่องดังกล่าวเสร็จภายในกี่วัน นายอรรถวิชช์ ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด แต่แบ่งเขตเพิ่มเติมออกมาเมื่อวันที่ 9 ก.พ.2566 และเปิดโอกาสให้แสดงความเห็น 10 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 19 ก.พ. ซึ่งเห็นว่ามีความซ้ำซ้อน คิดว่าการแสดงความคิดเห็นควรสิ้นสุดตั้งแต่ 13 ก.พ. ดังนั้นควรต้องรีบดำเนินการในช่วงเวลานี้ ส่วนตัวเกรงว่าหากกกต. หยิบยกรูปแบบที่ 6-8 เห็นว่ามีความผิดปกติแน่นอน จึงขอให้กกต.จัดการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม แล้วต้องคำนึงถึงการแบ่งเขตที่ไม่เป็นภาระของประชาชนในการไปใช้สิทธิใช้เสียง ดังนั้นขอให้การแบ่งเขตยึดตามกฎหมายโดยดูการแบ่งเขตในอดีต ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2557 โดยขอให้นำรูปแบบนี้มาเป็นตัวตั้ง แล้วปรับจำนวนประชากรให้เกิดความเหมาะสมสอดคล้อง อย่าคิดพิสดารเพราะจะทำให้ประชาชนสับสน อีกทั้งความผูกพันในพื้นที่ที่ผู้สมัครในพื้นที่นั้นๆได้ทำมา ก็จะยิ่งมีความห่างเหินกับประชาชนไปอีก เพราะถ้ากกต.เปลี่ยนเขตเลือกตั้งทุกครั้งแบบนี้ ส.ส.จะดูแลประชาชนได้อย่างไร จึงขอร้องให้ปรับเปลี่ยนเพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องและส่งผลกระทบต่อปฏิทินในการจัดการเลือกตั้ง รวมถึงการจัดทำไพรมารีโหวตไม่มีพรรคไหนทำได้เลย เพราะแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เสร็จ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประธาน กกต. แจงความคืบหน้าเลือก สว. ชุดใหม่

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. กล่าวถึงความคืบหน้าของระเบียบ และประกาศกกต. เกี่ยวข้องกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า เสร็จไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดยมี 1 ฉบับที่ส่งไปแล้ว และอยู่ระหว่างการ

วุฒิสภา นัดถกรายงานเสนอ กกต. แก้กฎหมายเลือกตั้ง-พรรค ใช้โซเชียลหาเสียง

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ได้นัดประชุมในวันที่ 9 เม.ย. โดยมีวาระพิจารณาที่น่าสนใจ คือ การพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.

'ธนกร' ติง 'ชัยธวัช' พูดส่งเดช ปม ศาลรธน.ไม่มีอำนาจยุบพรรค

“ธนกร” ติง “ชัยธวัช” เป็นถึงทนายควรดูข้อกม.ให้ชัด อย่าพูดส่งเดช ปม ศาลรธน.ไม่มีอำนาจยุบพรรค มอง ตั้งใจลดทอนความเชื่อมั่นปชช.ต่อศาล ถาม มีเจตนาแอบแฝงหรือไม่ ชี้ ใครทำผิดต้องยอมรับ ขออย่าก้าวล่วง