ดุสิตโพลเปิดผลสำรวจ 'ชัชชาติ' ยังนำโด่งตัวเต็งผู้ว่ากทม.ชี้ 'ผู้สมัครอิสระ' ครองใจคนกรุง

สรุปผลการสำรวจ : การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในสายตาคนกรุงเทพฯ

19 ธ.ค. 2564 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จำนวนทั้งสิ้น 1,135 คน (สำรวจด้วยการเก็บข้อมูลภาคสนามและออนไลน์) ระหว่างวันที่ 13-16 ธันวาคม 2564 พบว่า คนกรุงเทพฯ คิดว่าถึงเวลาเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” แล้ว ร้อยละ 90.57 โดยการเลือกตั้งครั้งนี้น่าสนใจเพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวง มีความสำคัญ ร้อยละ 54.55 เรื่องที่ควรพัฒนาอย่างเร่งด่วน คือ การจราจร ระบบขนส่งสาธารณะ ร้อยละ 85.14 “ผู้ว่าฯ กทม.” ควรมีคุณสมบัติทำงานเร็ว แก้ปัญหาไว พร้อมที่จะทำงาน ร้อยละ 85.40 จะเลือกผู้ว่าฯ กทม.ที่สังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ร้อยละ 65.72 ถ้าพรรคการเมืองส่งผู้สมัครก็จะเลือกผู้สมัครอิสระมากที่สุด ร้อยละ 38.65 รองลงมาคือ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 20.52 ก้าวไกล ร้อยละ 16.06 เพื่อไทย ร้อยละ 13.58 และว่าที่ผู้สมัคร ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 56.72 รองลงมาคือ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ29.60 จากผลโพลครั้งนี้จะเห็นได้ว่าผู้สมัครอิสระครองใจคนกรุงเทพฯ ถึงแม้จะมีพรรคหรือไม่มีพรรคสังกัดก็ไม่มีผล เมื่อพิจารณาข้อมูลเชิงลึกยังพบว่า กลุ่มผู้ตอบอายุ 40 ปีขึ้นไปชื่นชอบผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนกลุ่มอายุไม่เกิน30 ปี ชื่นชอบผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล (ถึงแม้จะยังไม่เปิดตัวก็ตาม) ที่สำคัญในช่วง 8 ปีที่ไม่ได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ นี้ ก็ได้มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากขึ้น ต้องมาลุ้นกันต่อไปว่าผู้สมัครอิสระอย่าง รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะยังคงฐานคะแนนนิยมไว้ได้หรือไม่ เพราะสนามเลือกตั้ง กทม. ถึงแม้จะนอนมาแต่ก็ใช่ว่าจะไว้ใจได้

ผู้ช่วยศาสตราจารย์สร้อย ไชยเดช อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิตโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วันนี้คนกรุงเทพฯ คิดว่าถึงเวลาเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แล้ว กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงมีความสำคัญ แต่กลับไม่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กันมายาวนาน คนส่วนใหญ่ยังต้องการผู้นำหรือผู้บริหารที่มาจากการตัดสินใจเลือกของตนเอง โดยปัญหาสำคัญที่ต้องพัฒนาเร่งด่วน คือเรื่องเดิม ๆ อย่างการจราจร ระบบขนส่งสาธารณะที่ไม่เคยแก้ไขสำเร็จว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ท่านใดที่ชูนโยบายแก้ไขปัญหานี้น่าจะถูกใจคนกรุงเทพฯ นอกจากนี้คนกรุงเทพฯ ยังต้องการผู้ว่าฯ กทม.ที่ทำงานได้รวดเร็ว แก้ปัญหาฉับไว ถ้าพรรคการเมืองส่งผู้สมัครคนกรุงเทพฯจะเลือกผู้สมัครอิสระมากที่สุด ซึ่งประเด็นนี้น่าสนใจมาก สะท้อนให้เห็นว่าคนมองที่ตัวบุคคลและนโยบายมากกว่า ส่วนว่าที่ผู้สมัครที่ได้รับความนิยมมากที่สุดขณะนี้ก็ยังยืนหนึ่งที่ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รองลงมาคือ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หลังจากนี้คงจะมีผู้ที่น่าสนใจคนอื่น ๆ ทยอยประกาศตัวเป็นตัวเลือกให้ชาวกรุงเทพฯ ได้พิจารณาเพิ่ม คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ราเมศ’ แย้ง ‘วิโรจน์’ ถ่วงดุลโดยศาลรธน. ยึดกฎหมาย แนะไม่ทำผิดอย่ากลัว

หลักการสำคัญในระบบประชาธิปไตยได้มีการแบ่งแยกอำนาจกันอย่างชัดเจนฝ่ายบริหารฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ แต่ละฝ่ายมีหน้าที่ตามครรลองในระบบประชาธิปไตย ศาลรัฐธรรมนูญถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจในทางตุลาการย่อมถือได้ว่าเป็นหนึ่งในสามอำนาจอำนาจหลัก

ปชป. เดินหน้าตรวจสอบงบปรับปรุงทำเนียบฯ กว่า 100 ล้าน

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกปชป. กล่าวถึงพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงว่า กลไกการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ถือเป็นกระบวนการตรวจสอบอีกช่องทางหนึ่งของฝ่ายนิติบัญญัติ แม้จะไม่มีการลงมติ

จับตาก้าวไกลชก(ไม่)เต็มหมัด ชำแหละรบ.เศรษฐาผ่านศึกซักฟอก

ในที่สุด พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเป็นธรรม พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคใหม่ ได้หารือเห็นพ้องร่วมกันสัปดาห์หน้า จะยื่นญัตติต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152