การเมืองปี 65 ร้อนแรง 'วิษณุ' ชี้พ.ค. 65 ซักฟอกรัฐบาลได้ ย้ำกฎหมายลูกห้ามถูกคว่ำ

‘วิษณุ’เผยการเมืองร้อนแรงตั้งแต่พ.ค.65 เปิดซักฟอกรัฐบาลได้ ย้ำกฎหมายลูกห้ามถูกคว่ำหวั่นกระทบเลือกตั้ง ชี้ออกพ.ร.ก.ไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เหตุ ส.ส.ไม่ยอมรับรัฐออกฝ่ายเดียว รับรบ.ควรมีอำนาจเต็มถึงเสร็จทำหน้าที่เจ้าภาพเอเปคถึงปลายปี

2 ม.ค. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการทำงานระหว่างการทำงานของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในปี 2565 มีอะไรน่ากังวลหรือไม่โดยเฉพาะการแก้กฎหมายต่างๆ ท่ามกลางปัญหาสภาล่มในปีที่ผ่านมา ว่า สภาฯ ในสมัยประชุมนี้จะจบในวันที่ 28 ก.พ.2565 กฎหมายที่จะต้องเข้า พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมการใช้สารต้องห้ามทางการกีฬาพ.ศ 2555 หรือวาดา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. รวมทั้งกฎหมายอีกหลายฉบับที่เสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งเป็นกฎหมายปฏิรูป ดังนั้นสมัยประชุมนี้จึงไม่มีอะไรตื่นเต้นโลดโผน แม้จะมีอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติก็ตาม

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ส่วนสมัยประชุมหน้าที่เปิดในเดือนพ.ค.2565 นั้น มีกฎหมายงบประมาณปี 2566 และมีกฎหมายที่ไม่ใช่กฎหมายปฏิรูปที่เสนอเข้าสภาเดียว ซึ่งถือเป็นอีกเรื่องที่ต้องว่ากัน รวมทั้งมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติก็จะเข้าสมัยประชุมหน้า
เมื่อถามว่าแสดงว่าเดือนว่าพ.ค.2565 เป็นต้นไป เป็นช่วงตื่นเต้นของรัฐบาลใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ได้พูดว่าเดือนพ.ค. แต่หมายถึงตั้งแต่เดือนพ.ค จนถึงเดือนก.ย.เป็นเวลา 120 วัน เป็นสมัยประชุมที่สามารถมีกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างเกิดขึ้น
เมื่อถามว่าหากกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งผ่านการพิจารณาในช่วงสมัยประชุมเดือนพ.ค.เป็นต้นไป จะทำให้เกิดกระแสเรียกร้องยุบสภาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า กระแสเรียกร้องมีแน่และมีทุกวัน ซึ่งวันนี้ก็มีอยู่แล้ว แต่จะสามารถตอบสนองต่อกระแสดังกล่าวได้หรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะบางที่อยากสนองก็สนองไม่ได้ เพราะกฎหมายลูกแม้มีผลบังคับใช้แล้วก็ยังมีรายละเอียดว่าจะต้องทำอะไรต่อไปภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่วนจำนวนวันที่ระบุไว้จะทำให้เห็นว่าหากยุบสภาไปก่อนก็คงยากลำบาก เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งก็ต้องแบ่งใหม่ ซึ่งไม่แน่ใจว่าต้องแบ่งภายใน 90 วัน ใช่หรือไม่ ดังนั้นจะเกิดอะไรก่อน 90 วันนั้นคงไม่ได้ ตนยังไม่พูดถึงเรื่องการประชุมเอเปคและจี 20 ที่อินโดนีเซียเป็นเจ้าภาพ แต่พูดถึงระยะเวลาตามปกติ ดังนั้นต้องรอผลของกฎหมายลูก

เมื่อถามย้ำว่า หากกฎหมายลูกยังไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา นายกรัฐมนตรีจะยุบสภาได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ยุบได้ แต่ยุบแล้วเกิดปัญหา กติกาต่างๆ ยังไม่มีอะไรชัดเจน รัฐธรรมนูญเป็นเพียงแม่บทวางเอาไว้ ซึ่งเดิมกำหนดให้กกต. เป็นคนวางรายละเอียด แต่ได้มีการตัดออกไปก่อน จึงยังไม่มีใครกำหนดได้ ดังนั้นต้องรอกฎหมายลูกเท่านั้น

เมื่อถามว่า หากเกิดอุบัติเหตุยุบสภา รัฐบาลจะสามารถออกพ.ร.ก.มาแก้ปัญหาได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นความเสี่ยงมาก เพราะการออกพ.ร.ก. รัฐบาลกำหนดฝ่ายเดียว สภาจะยอมหรือไม่ที่จะให้รัฐบาลวางกติกาสำหรับเขาในการไปเลือกตั้งฝ่ายเดียว โดยที่เขาไม่มีสิทธิร่วมพิจารณาว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และหากไม่เห็นด้วยขึ้นมาแต่เลือกตั้งผ่านไปแล้วจะให้ทำอย่างไร หรือหากพ.ร.ก.ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แล้วการเลือกตั้งที่ผ่านไปแล้วและกกต. ได้แจ้งมาว่าใช้เงินประมาณ 5,600 ล้าน จากเดิม 3,000 ล้าน แต่ขณะนี้ตัวเลขขึ้นมาแล้วก็จะเป็นปัญหา

เมื่อถามย้ำว่าที่ระบุถึงเรื่องเอเปคนั้น แปลว่ารัฐบาลต้องมีอำนาจเต็มเพื่ออยู่ทำหน้าที่นี้ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า โดยหลักแล้วความคาดหมายของนานานประเทศ เขาก็อยากประชุมและเจรจาตกลงกับรัฐบาลที่อำนาจเต็มในวันเจรจา แต่หลังเจรจาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะหากช่วงเวลาเจรจารัฐบาลไม่มีอำนาจเต็มก็ไม่รู้จะคุยอะไรกัน

เมื่อถามว่า แสดงว่านายกรัฐมนตรี ควรมีอำนาจเต็มอยู่ถึงการเป็นประธานเอเปคภายในปลายปี 2565 ใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า สื่อมวลชนพูดเองและใครๆ ก็รู้ว่าควรเป็นอย่างไร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 20: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ในสายตาผู้ช่วยทูตทหารฝรั่งเศส)

(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า

'เผ่าภูมิ' ปัดนายกฯ ส่งสัญญาณนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวได้เดินทางมารับเอกสารกรอกแบบฟอร์มตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว ว่า ตนไม่ให้คอมเมนท์ ยืนยันว่าขณะ

อดีตบิ๊กข่าวกรองเตือนสติ! อย่าหลับตาพูดลืมตาดูสถานการณ์โลกด้วย

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ