ตามคาด เพื่อไทยโผล่อยู่ฝั่งนิรโทษฯ 112 แบบมีเงื่อนไข 'เชิดชัย-สมคิด' อ้างปีมหามงคล แต่ 'นพดล อดีตทนายทักษิณ' ค้านสุดตัว 'ก้าวไกล'เสียงแตก 'ทนายแจม' หนุนล้างผิดแบบไม่มีเงื่อนไข สวนทาง 'ชัยธวัช-โรม'
31 ก.ค.2567 - ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า หลังมีข่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นประธาน จะส่งรายงานผลการศึกษาฯ ของ กมธ. ต่อประธานสภาฯภายในสัปดาห์นี้ โดยมีการเปิดเผยจากนายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จากพรรครวมไทยสร้างชาติที่เปิดเผยว่า กมธ.ใช้วิธีบันทึกความเห็นอย่างมีอิสระ ไม่มีการโหวต โดยผลความเห็นล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2567 ต่อเรื่อง การนิรโทษกรรม คดี 112 คือ ไม่นิรโทษกรรม 112 จำนวน 13 เสียง, นิรโทษกรรม 112 จำนวน 3 เสียง และนิรโทษกรรม 112 แบบห้ามกระทำผิดซ้ำ จำนวน 12 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากการตรวจสอบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพื่อดูบันทึกความเห็นของ กมธ. โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย พรรคแกนนำรัฐบาล ว่ามีท่าทีอย่างไรต่อการนิรโทษกรรมคดี 112 หลังปัจจุบันนายทักษิณ ชินวัตร ตกเป็นจำเลยคดี 112 ที่ศาลอาญา
พบว่า ในส่วนของแนวทางที่ 1 ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวคือคดีมาตรา 110 และ 112 ปรากฏว่า นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กรรมาธิการและที่ปรึกษา กมธ.ที่เคยเป็นอดีตทนายความให้กับนายทักษิณ สมัยหนีคดีอยู่ต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า “ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและเป็นเรื่องความมั่นคง”
ขณะที่แนวทางที่ 2 เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหวโดยมีเงื่อนไข มีคนจากพรรคเพื่อไทย เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว 2 คนคือ นายเชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยและอดีตแนวร่วมเสื้อแดงภาคอีสาน ในฐานะ กมธ. ซึ่ง นพ.เชิดชัยให้ความเห็นว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญได้มีความเห็นตรงกันว่า ต้องมี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผู้กระทำความผิดในคดีอาญาซึ่งไม่ใช่คดีแพ่ง โดยจำแนกการกระทำเป็นคดีหลัก คดีรอง และคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง โดยใช้วิธีการนิรโทษกรรมแบบผสมผสาน ให้มีการนิรโทษกรรมคดีความผิดที่ชัดเจนแบบอัตโนมัติและให้มีคณะกรรมการนิรโทษกรรมพิจารณาวินิจฉัยคดีที่มีการอุทธรณ์ และคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองแบบมีเงื่อนไข ซึ่งจากการสอบถามผู้ที่จะก่อเหตุประท้วงก็เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมลักษณะเช่นนี้ จึงควรหาแนวทางที่จะทำให้เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ อีกทั้งเมื่อการ ดำเนินคดีกับเยาวชนเป็นเรื่องละเอียดอ่อนก็ต้องเปิดโอกาสให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดที่เป็นเยาวชน
“การนิรโทษกรรมผู้กระทำ ความผิดตามมาตรานี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงหรือลบล้างมาตรา 112 รวมถึงในช่วงนี้เป็นเวลา ที่เหมาะสมที่จะมีการนิรโทษกรรม จึงขอยืนยังความเห็นเดิมว่าให้มีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด ตามมาตรานี้แบบมีเงื่อนไขตามรูปแบบที่เสนอ และยืนยันให้ใช้คำว่า “คดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง” ซึ่งจะรวมถึงคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ด้วย แต่การจะกำหนดเงื่อนไขในการ นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้อย่างไร ควรพิจารณาจากการกระทำความผิดเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ ปี 2567 เป็นปีมหามงคลจึงเหมาะสมที่จะให้มีการนิรโทษกรรมในปีนี้ เพื่อให้เกิดความสงบ ในประเทศไทยซึ่งอาจจะเปลี่ยนมุมมองของเยาวชนบางส่วนได้”
และอีกคนหนึ่งคือ นายสมคิด เชื้อคง อดีต สส.อุบลราชธานี เพื่อไทย รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และเคยเป็นแกนนำ สส.เพื่อไทยปี 2556 ในการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่เรียกกันว่านิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ให้ความเห็นไว้ว่า ควรมีการนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข เพราะผู้ที่ถูกดำเนินคดีในแต่ละคดีอาจกระทำความผิดแตกต่างกัน บางคดีเป็นการจงใจ กระทำความผิด และบางคดีไม่ใช่การจงใจกระทำความผิด จึงสามารถแยกนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด ในคดีเหล่านั้นแบบมีเงื่อนไขได้
ขณะที่ในส่วนของ กมธ.จากพรรคก้าวไกลเอง โดยเฉพาะที่เป็น สส. ตรวจสอบแล้วพบว่า มีความคิดเห็นที่ต่างกันอยู่เช่นกัน โดยในกลุ่มกมธ.ที่เห็นด้วยกับการให้นิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว (มาตรา 110 และ 112) มีนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคกับนายรังสิมันต์ โรม เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไข เช่นนายชัยธวัชให้ความเห็นว่า การนิรโทษกรรมแบบมีเงื่อนไขโดยกำหนดเงื่อนไขและมาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำที่เหมาะสม เช่น การไม่กระทำผิดซ้ำภายในระยะเวลาที่กำหนดสามปีหรือห้าปี โดยระบุตอนหนึ่งว่า
“การนิรโทษกรรมจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน และจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้ไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับองค์พระมหากษัตริย์หรือสถาบันพระมหากษัตริย์โดยตรง แต่มีความเห็นทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ ดังนั้น การนิรโทษกรรมจะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งในปัจจุบัน และเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพิ่มความศรัทธาใน เรื่องสถานะความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ และลดเงื่อนไขที่จะนำเอาประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง”
ส่วน ส.ส.-กมธ.จากพรรคก้าวไกลที่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว อย่างคดี 112 โดยไม่มีเงื่อนไข คือ น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.กทม. หรือทนายแจม อดีตทนายความคดี 112 ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดเหตุผล นายกฯกัมพูชา กล้าประกาศว่าจะได้พื้นที่จากฝ่ายไทยมากขึ้นกว่าเดิม
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง แผนที่เขมรที่เตรียมใช้สู้ในศาลโลกรอบใหม่ มีเนื้อหาดังนี้
'นพดล' ร่ายยาวย้ำรัฐบาลเพื่อไทยจะไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางมิลลิเมตรเดียว
'นพดล' ยัน MOU 44 ไม่มีเรื่องกระทบสิทธิด้านเขตแดน วอนอย่าใส่ความเท็จ ลั่น รบ.เพื่อไทย จะไม่ยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางมิลลิเมตรเดียว
‘นายกฯอิ๊งค์’ ไม่ได้ไปงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ส่ง ‘ชูศักดิ์’ เปิดงานแทน
‘นายกฯอิ๊งค์’ มอบ ‘ชูศักดิ์’ เปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ยัน ให้ความสำคัญปราบโกง ลั่น พร้อมผลักดักกม.สกัดซื้อตําแหน่ง-เรียกรับสินบน
'ชูศักดิ์' ชวนคนไทยสักการะพระเขี้ยวแก้ว 5 ธ.ค.67-14 ก.พ.68
'ชูศักดิ์' เชิญชวนคนไทย สักการะพระเขี้ยวแก้ว 5 ธ.ค.-14 ก.พ. ที่ท้องสนามหลวง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
รมต.ประจำสำนักนายกฯ ฟันธงใช้ศพสอนธรรมะไม่ได้
'ชูศักดิ์' ชี้ใช้ศพสอนธรรมะไม่ได้ - บิดเบือนคำสอน บอกดูไม่ยากผิดอาญา-วินัยหรือไม่
'ชูศักดิ์' ชู 8 ข้อป้องพุทธศาสนาขึงขังตั้ง กก.แก้ปัญหาที่ดินวัด
'ชูศักดิ์' สั่ง 8 ข้อ ให้ พศ.ลุยป้องกันคุ้มครองพระพุทธศาสนา หาแนวทางป้องทำผิดกม.ในวัด ดำเนินการเด็ดขาดพวกแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ เร่งตั้ง กก.ระดับชาติแก้ปัญหาที่ดินวัด-สำนักสงฆ์