ส.ส.เพชรชมพู กิจบูรณะ ยื่นหนังสือลาออกจากสมาชิกพรรค รปช. ส่งผลให้ความเป็นส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ สิ้นสุดลงทันที ขอบคุณ 'กำนันสุเทพ' ผู้ก่อตั้งพรรค ให้โอกาสเข้าสู่ถนนสายการเมือง
18 ต.ค. 2564 - นางสาวเพชรชมพู กิจบูรณะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมพลังประชาชาติไทย(รปช.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก แจ้งการลาออกจากสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทย
โดยมีรายละเอียดดังนี้
เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับใช้ทุกท่าน
วันนี้ เพชรได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรครวมพลังประชาชาติไทยกับท่านหัวหน้าพรรคและนายทะเบียนสมาชิกพรรค รวมถึงได้ส่งสำเนาให้กับ กกต. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของเพชร สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเพชรเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ผู้ที่มีชื่ออยู่ในลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคจะเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส. แทน
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมาที่เพชรมีโอกาสเข้ามาทำงานการเมือง เพชรได้พบเห็น เรียนรู้ และเข้าใจประเด็นปัญหาต่างๆ ของประเทศมากขึ้นทั้งในเชิงมหภาคและจุลภาค บ่อยครั้งที่ "ทางออก" ของปัญหานั้นไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้ จึงตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายนโยบายที่จะหา "จุดสมดุล" ให้เจอเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนทุกกลุ่ม
สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เรามีส่วนร่วมในการหาจุดสมดุลนี้ได้ผ่านที่ประชุมสภาฯ และกรรมาธิการชุดต่างๆ กว่า 2 ปีที่เพชรดำรงตำแหน่ง ส.ส. เพชรได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะในที่ประชุมสภาฯ ในคณะกรรมาธิการ หรือในการประชุมระหว่างประเทศ ขอขอบคุณทุกท่านที่เพชรได้พบเจอและร่วมงานตลอดเส้นทางการเมืองของเพชร สำหรับท่านต่อไปนี้ เพชรต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ถือว่าเป็นโชคดีของเพชรที่ได้มีโอกาสเรียนรู้งานจากท่านในบทบาทต่างๆ
- ท่านชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร
- ท่านสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 และที่ปรึกษาชมรมสมาชิกรัฐสภา Young Parliamentarian
- ท่านศราวุธ เพชรพนมพร ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ
- ท่านจักรพันธ์ พรนิมิตร รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คนที่ 1 และประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฯ
- ท่านเกียรติ สิทธีอมร รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คนที่ 2 ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน และประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่…) พ.ศ…
- ท่านศุภชัย ใจสมุทร รองประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ คนที่ 4
- ท่านชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางในการบริหารจัดการการชำระหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา
- ท่านสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2565 ครุภัณฑ์และ ICT
- ท่านสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ…
- ศาสตราจารย์โกวิทย์ พวงงาม ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการข่มขืนกระทำชำเราและการล่วงละเมิดทางเพศ
- เจ้าหน้าที่รัฐสภาทุกคนที่เป็นแรงสนับสนุนสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ประจำคณะกรรมาธิการการต่างประเทศที่เป็นคณะสามัญที่เพชรนั่งอยู่ 2 ปีกว่า เจ้าหน้าที่สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ และเจ้าหน้าที่กลุ่มงานสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) ที่เพชรได้มีโอกาสร่วมงานอย่างใกล้ชิดในเข้าร่วมประชุมใหญ่ของ AIPA ทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา
ขอบพระคุณท่านสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ให้โอกาสเพชรได้เข้ามาทำงานการเมือง ขอบพระคุณหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรคคนแรกที่ท่านได้ให้ข้อคิดและแนวทางในการทำงานเพื่อประเทศชาติ ขอบพระคุณท่านอาจารย์ทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง หัวหน้าพรรคคนปัจจุบันสำหรับคำแนะนำต่างๆ ที่ท่านมีให้เพชรเสมอมา
และสุดท้ายนี้ ต้องขอขอบพระคุณพี่น้องประชาชนที่ได้ให้ความไว้วางใจให้เพชรเข้ามาทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนของท่านในสภาฯ เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับใช้ทุกท่านค่ะ
ต่อมา นางสาวเพชรชมพู ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เข้าไปลานายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ก่อตั้งรปช. และนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง หัวหน้าพรรคเรียบร้อยแล้ว และเป็นการจากกันด้วยดี จากนี้นางสุเนตตา แซ่โก๊ะ อดีตกรรมการบริหารพรรค จะได้เลื่อนขึ้นมาเป็นส.ส.บัญชีรายชื่อแทน
นางสาวเพชรชมพู กล่าวต่อว่า ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าจะย้ายไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์นั้น ขอชี้แจงว่ายังไม่ได้พูดคุยกับพรรคการเมืองใด และขออยู่นิ่งๆก่อน และไปเรียนเนติบัณฑิตต่อให้จบ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อนุทิน' ยอมรับพา 'เนวิน' พบทักษิณ ลั่นไม่เคยได้ยินคำนี้ 'มันจบแล้วครับนาย'
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวนายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ยูไนเต็ด เดินทางไปที่บ้านจันทร์ส่องหล้า
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 31)
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
จัดการพ่อก่อนลูก! ‘จตุพร’ ถามหา ‘ทักษิณ’ หายไปไหนแฉแหลกสอบชั้น 14 คึกคัก
ตามหาคนหาย! "จตุพร" ถามหา "ทักษิณ" อยู่ไหน ช่วยแสดงตนหน่อย ได้ข่าวกรณีนักโทษเทวดาชั้น 14 กำลังถูกตรวจสอบอย่างหนัก ลั่น! เขาจัดการพ่อก่อนอยู่แล้ว
'จตุพร' เปิดจุดตาย 'แพทองธาร-ผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต'
"จตุพร" ซัดนโยบายรัฐบาล "แพทองธาร" ขายชาติ อ้างประชาชนแต่ผลประโยชน์ส่วนตัวล้วนๆ ชี้จุดตาย "นายกฯอิ๊งค์" คือสนามกอล์ฟอัลไพน์ ย้อนถามสื่อไม่เข้าใจอีกหรือ คนได้รางวัลไทม์ "ผู้ทรงอิทธิพลแห่งอนาคต" ไปทุกราย
เปิดผลึก 'จักรภพ' อย่าคิดแบ่งรุ่นยึดเมือง ต้องนิรโทษฯ-เลิกสีเสื้อ | อิสรภาพแห่งความคิด กับ สำราญ รอดเพชร
อิสรภาพแห่งความคิด กับ สำราญ รอดเพชร : วันเสาร์ที่ 5 ตุลาคม 2567
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 30)
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490