‘เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองอ้อมน้อย’ จ.สมุทรสาคร ก้าวย่างสู่การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง

คณะนายกเทศมนตรีนครอ้อมน้อยเยี่ยมชาวชุมชนที่โดนไล่ที่และกำลังสร้างบ้านใหม่ที่ชุมชน ‘กลุ่มออมทรัพย์ร่วมใจพัฒนา’

ชุมชน ‘กลุ่มออมทรัพย์ร่วมใจพัฒนา’  กำลังสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่

เมื่อเมืองเจริญขึ้น  คนจนที่เคยเช่าที่ดินราคาถูกปลูกสร้างบ้าน  จากเดิมที่เคยเป็นไร่เป็นสวน  กลายเป็นศูนย์การค้า  ยิ่งมีแนวรถไฟฟ้าพาดผ่าน  ที่ดินที่เคยรกร้างจึงกลายเป็นทำเลทอง  เหมาะที่จะสร้างที่อยู่อาศัยราคาแพง  ชุมชนคนจนจึงถูกเบียดขับ  ต้องไปหาที่อยู่อาศัยใหม่ในย่านชานเมืองหรือจังหวัดที่อยู่ติดกับกรุงเทพฯ ที่มีราคาถูกกว่า 

เมืองเจริญ  ที่ดินราคาแพง   คนจนถูกเบียด

สำราญ  เกิดนพคุณ ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงศรีสวัสดิ์พัฒนา จำกัด ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครอ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน  จ.สมุทรสาคร  เล่าว่า  ก่อนหน้านี้เธอและเพื่อนบ้านประมาณ 110 ครอบครัว  เช่าที่ดินปลูกสร้างบ้านอยู่ในซอยเพชรเกษม 56  เขตภาษีเจริญ  ใช้ชื่อว่า ชุมชนสวัสดี’  สมัยก่อนแถบนั้นยังเป็นที่ดินรกร้าง  เจ้าของที่ดินให้เช่าปลูกสร้างบ้าน  คิดค่าเช่าแค่ตารางวาละ 10 บาทต่อปี  อยู่อาศัยกันมานานตั้งแต่รุ่นพ่อแม่  ประมาณ 40-50 ปี 

เมื่อที่ดินตกทอดมาถึงลูกหลาน  มีการแบ่งที่ดินกัน  เจ้าของจะเอาที่ดินไปขายให้บริษัทเพื่อสร้างคอนโดมิเนียม  เพราะแถวนั้นมีศูนย์การค้าใหญ่  มีรถไฟฟ้าผ่าน  เป็นทำเลทองเหมาะที่จะสร้างที่อยู่อาศัย  ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าจึงขยับราคาสูงขึ้น  เจ้าของจึงขายดีกว่าที่จะให้ชาวบ้านเช่า  เพราะปีหนึ่งได้เงินไม่กี่บาท  ในปี 2556  เจ้าของจึงมาบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดิน  เพื่อให้ชาวบ้านเตรียมย้ายออก

“พอรู้ข่าวว่าเจ้าของบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดิน  พวกเราไม่รู้จะทำอย่างไร   ไม่รู้จะไปอยู่ที่ไหน  เพราะส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ  แต่มีเครือข่ายชาวบ้านที่ทำเรื่องที่อยู่อาศัยที่รู้ข่าวชุมชนของเรา  คือ ‘สอช.’ (สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ) เข้ามาให้คำแนะนำเรื่องการรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  เช่น  การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์   เพื่อจะทำโครงการบ้านมั่นคงของ พอช.   และพาไปดูโครงการบ้านมั่นคงที่สร้างเสร็จแล้วในเขตภาษีเจริญ  พวกเราสนใจจึงเริ่มรวมกลุ่มกัน”  พี่สำราญบอก

สำราญ  เกิดนพคุณ 

แต่การรวมกลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อน  ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก  เพราะบางครอบครัวที่พอจะมีฐานะก็มีที่ไปหรือเตรียมหาที่อยู่อาศัยใหม่  บางคนอยู่บ้านเช่าก็จะไปหาบ้านหรือห้องเช่าที่อื่น  บางคนไม่อยากรวมกลุ่ม  ไม่อยากเข้าร่วม   หรือไม่เชื่อว่าคนจนด้วยกันจะทำโครงการที่อยู่อาศัยเองได้

 สุดท้ายจึงเหลือคนที่อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองเข้าร่วมจัดทำโครงบ้านมั่นคง 41 ครอบครัว   โดยมีเจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.’ มาให้คำแนะนำ  ขั้นตอน  กระบวนการจัดทำโครงการบ้านมั่นคง   โดยจัดประชุมชาวบ้านเพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจอย่างต่อเนื่อง  และต่อมาจึงได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์

“พอขึ้นปี 2558  พวกเราได้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมา  ให้สมาชิกแต่ละครอบครัวที่จะเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงออมเงินเป็นรายเดือน  เดือนละ 2-3 พันบาท  เพื่อเป็นทุนในการหาที่ดินและสร้างบ้านใหม่  ถือว่าเป็นการฝึกนิสัยการออมของชาวบ้านด้วย  เพราะต่อไปเมื่อสร้างบ้านเสร็จแล้วเราจะต้องผ่อนค่าที่ดินและค่าบ้านทุกเดือน  จะได้เอาเงินตรงนี้มาจ่าย”

พี่สำราญบอกถึงการเตรียมการหาที่อยู่อาศัยใหม่  และบอกว่า  ระหว่างนี้ชาวบ้านได้ช่วยกันตระเวนดูที่ดินที่มีการประกาศขายในย่านภาษีเจริญและหนองแขม  แต่ที่ดินในกรุงเทพฯ มีราคาแพง  แม้ทำเลไม่ดี  อยู่ไกล  แต่ตารางวาหนึ่งไม่ต่ำกว่า 10,000 บาทขึ้นไปจนถึง 20,000 บาท  ต้องไปดูแถวอ้อมน้อย  เพราะไม่ไกลจากชุมชนเดิมมากนัก  พอถึงปี 2560 จึงหาที่ดินที่เหมาะสมได้

บ้านมั่นคงทางออกของคนจน

ที่ดินแปลงดังกล่าว  ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังที่ทำการเทศบาลนครอ้อมน้อย  อ.กระทุ่มแบน  จ.สมุทรสาคร ห่างจากชุมชนเดิมย่านภาษีเจริญประมาณ 13 กิโลเมตร   เนื้อที่  680 ตารางวา  เจ้าของบอกขายราคา ตรว.ละ 9,800 บาท   ราคารวม  6.6 ล้านบาทเศษ  แม้ว่าที่ดินแปลงนี้เนื้อที่ไม่มาก  แต่ก็เหมาะกับจำนวนครัวเรือนและกำลังเงินของชาวบ้าน 

จากการคำนวณ  การจัดสรรแบ่งแปลงที่ดินของสถาปนิก พอช.  เมื่อแบ่งพื้นที่สาธารณูปโภคส่วนกลางและถนนออกแล้ว  สามารถสร้างบ้านแถวแบบทาวน์เฮ้าส์  ขนาด 4x7 ตารางเมตร  ได้ 38 หลัง  และ 5x5 ตารางเมตร  ได้ 3 หลัง  รวมทั้งหมด 41 หลัง  ราคาที่ดินและค่าก่อสร้างประมาณหลังละ 360,000 บาท

ตามกระบวนการบ้านมั่นคงของ พอช.นั้น  เมื่อชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการจัดสร้างที่อยู่อาศัยแล้ว  จะต้องร่วมกันจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล  สำหรับทำนิติกรรมสัญญา  เช่น  ซื้อที่ดิน  เสนอโครงการเพื่อขอใช้สินเชื่อและงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.  รวมทั้งบริหารโครงการที่อยู่อาศัย  ฯลฯ 

ส่วนชาวชุมชนสวัสดี  เมื่อจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ในปี 2558  แล้ว  ต่อมาในปี 2559 จึงจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ ใช้ชื่อว่า สหกรณ์บ้านมั่นคงศรีสวัสดิ์พัฒนา  จำกัด’  มีคณะกรรมการบริหาร 7 คน  แบ่งหน้าที่กันทำงาน  เช่น มีประธาน  รองประธาน  เหรัญญิก  ทำบัญชี  ตรวจสอบ  ฯลฯ 

เมื่อได้แปลงที่ดินที่เหมาะสมในปี 2560  แล้ว  สหกรณ์จึงจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  โดยเสนอขอใช้สินเชื่อและงบประมาณอุดหนุนจาก พอช.   เพื่อจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน  รวมงบทั้งหมดประมาณ  14 ล้านบาทเศษ  โดย พอช.อนุมัติโครงการและงบประมาณในปี 2560 นั้นเอง  หลังจากนั้นจึงเริ่มก่อสร้างบ้าน  จนแล้วเสร็จทั้ง 41 หลังในปีต่อมา

บ้านมั่นคงศรีสวัสดิ์พัฒนา รูปแบบทาวน์เฮ้าส์สวยงาม 41 หลัง

สำหรับสินเชื่อที่สหกรณ์ขอใช้จาก พอช. เพื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน  เฉลี่ยประมาณครัวเรือนละ 360,000  บาท  อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 บาทต่อปี  ระยะเวลาผ่อนชำระ 15 ปี  ชาวบ้านต้องผ่อนชำระผ่านสหกรณ์เป็นรายเดือนประมาณ 2,800-2,900 บาทต่อเดือน  รวมทั้งชำระค่าหุ้นเข้าสหกรณ์เดือนละ 100 บาท  และออมทรัพย์อย่างน้อยเดือนละ 100 บาทต่อครอบครัว  เมื่อมีเงินมากขึ้นก็จะนำมาให้สมาชิกกู้ยืมในยามเดือดร้อนจำเป็น

“การทำโครงการบ้านมั่นคง  คณะกรรมการสหกรณ์จะต้องมีความตั้งใจ  มีความซื่อสัตย์  เพื่อให้ชาวบ้านเกิดความเชื่อถือ  ไว้วางใจ  ส่วนชาวบ้านก็จะต้องรวมตัวกัน  มีความสามัคคี  มีวินัยในการออมเงิน  เพื่อนำเงินมาผ่อนชำระค่าซื้อที่ดินและสร้างบ้าน  ผ่อนไม่เกินเดือนละ 3,000 บาท   15 ปี  เราก็จะมีบ้านเป็นของตัวเอง  ลูกหลานก็จะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง   แต่ถ้าเราไม่รวมตัว  ไม่ร่วมกันทำโครงการบ้านมั่นคง  เราจะเอาเงินจากที่ไหนมาซื้อบ้าน  ธนาคารจะให้คนจนๆ กู้เงินหรือ ?”  ประธานสหกรณ์บอก

‘พลังสตรีอ้อมน้อย-เทศบาล’ ช่วยคนจนให้มีบ้าน

จากความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวสหกรณ์บ้านมั่นคงศรีสวัสดิ์พัฒนาในปี 2561  ในเวลาต่อมาพวกเขาได้มีบทบาทเป็นพี่เลี้ยง  ช่วยให้คนจนในเขตเทศบาลนครอ้อมน้อยที่กำลังโดนไล่ที่หลายชุมชนได้มีที่อยู่อาศัยใหม่ โดยมีการจัดตั้ง คณะกรรมการที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงเมืองอ้อมน้อย’ ขึ้นมา   โดยมีสำราญ  เกิดนพคุณ  ประธานสหกรณ์บ้านมั่นคงศรีสวัสดิ์พัฒนา  เป็นผู้ประสานงาน  เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง  เช่น  ชุมชนหลังวัดอ้อมน้อย 2 ชุมชน             

ยายบุญส่ง  เพ็งปรีชา  อายุ 71 ปี  ประธานกลุ่มออมทรัพย์ร่วมใจพัฒนา  บอกว่า  เดิมชาวบ้านเช่าที่ดินปลูกสร้างบ้านอยู่หลังวัดอ้อมน้อยมานานหลายสิบปี  เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ  มีประมาณ 100 ครอบครัว  ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง  งานในโรงงานอุตสาหกรรม  ค้าชายเล็กๆ น้อยๆ  เก็บของเก่าขาย  ขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง  ฯลฯ   

“เมื่อปี 2560  เจ้าของที่ดินไม่ต่อสัญญาเช่า  ยายจึงติดต่อไปที่ พอช.เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือ  เพราะชาวบ้านอยากจะทำโครงการบ้านมั่นคง  เจ้าหน้าที่ พอช.ก็เข้ามาให้คำแนะนำให้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ก่อน   ตอนหลังจึงมีคณะกรรมการที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงเมืองอ้อมน้อยเข้ามาช่วยด้วยเพราะอยู่ไม่ไกลกัน   ใครอยากมีบ้านก็ให้เข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์  ออมเดือนละ 2,000 บาทขึ้นไป   ออมกันได้  3 ปี  ตอนแรกวางแผนว่าจะซื้อที่ดินเพื่อทำบ้านมั่นคงของ พอช. แต่อีกกลุ่มหนึ่งเขาแยกออกไปทำโครงการต่างหาก  กลุ่มของยายเหลือเพียง 16 ครอบครัว  รวมเงินไม่พอซื้อที่ดิน  จึงต้องขอเช่าที่ดินวัดปลูกสร้างบ้าน  โดยทางเทศบาลฯ ช่วยประสานงาน  เริ่มสร้างบ้านเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  ตอนนี้สร้างบ้านเสร็จไปแล้วหลายหลัง”  ยายบุญส่งบอก

ยายบุญส่งและครอบครัวยังสร้างบ้านไม่เสร็จสมบูรณ์แต่เข้าอยู่ก่อน

สำราญ  เกิดนพคุณ  ผู้ประสานงานคณะกรรมการที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงเมืองอ้อมน้อย  เสริมว่า  กลุ่มออมทรัพย์ร่วมใจพัฒนามีสมาชิกเพียง 16 ครอบครัวจึงรวมเงินไม่พอที่จะซื้อที่ดิน  เพราะในย่านนี้ที่ดินที่จะขายส่วนใหญ่เป็นที่ดินแปลงใหญ่กว่า  1 ไร่  เธอจึงประสานงานกับนายกเทศมนตรีนครอ้อมน้อยเพื่อช่วยหาที่ดินให้ชาวบ้านเช่าปลูกสร้างบ้าน  จนมาได้ที่ดินของวัดอ้อมน้อยอยู่ข้างโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง  ห่างจากที่ดินเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร  เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่  โดยทางเทศบาลฯ เป็นฝ่ายเช่าที่ดินจากวัด  สัญญาเช่าช่วงแรก 10 ปี  แล้วให้ชาวบ้านจ่ายค่าเช่าให้วัดครอบครัวละ 300 บาทต่อปี  นอกจากนี้เทศบาลยังช่วยทำเรื่องสาธารณูปโภค  เช่น  ถนน  ระบบประปา  ไฟฟ้า  ให้ชาวบ้านด้วย

  “ชาวบ้านเสนอโครงการเข้าไปที่ พอช.เพื่อขอรับการสนับสนุนในปี 2563  พอปี 2564  จึงได้รับงบสนับสนุนครอบครัวละ 48,000 บาท  เป็นงบช่วยเรื่องโดนไล่รื้อ 18,000 บาท  และงบสนับสนุนสร้างบ้านอีก 30,000 บาท  ชาวบ้านต้องเอาเงินที่ออมทรัพย์มาสมทบ  ครอบครัวนึงไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท   มีเจ้าหน้าที่ พอช. มาช่วยออกแบบบ้าน  แบ่งที่ดินสร้างบ้านได้หลังละ  20  ตารางวา  เริ่มสร้างบ้านเมื่อต้นปีนี้  โดยชาวบ้านจ้างผู้รับเหมาเอง  บางคนก็ให้ลูกหลานมาช่วยสร้างเพื่อประหยัดเงิน  ส่วนใหญ่จะสร้างเป็นบ้านเดี่ยวขนาด 2 ชั้น  ใครที่มีงบน้อยก็ทำชั้นเดียว”  สำราญช่วยแจงรายละเอียด

ชาวบ้านหลังวัดอ้อมน้อย 64 ครอบครัวกับแปลงที่ดินใหม่กำลังจะสร้าง ‘บ้านมั่นคงอ้อมน้อยสามัคคี’

ส่วนอีกชุมชนที่เคยเช่าที่ดินสร้างบ้านอยู่ด้วยกัน  ได้แยกไปทำโครงการต่างหาก   โดยชาวบ้าน  64 ครอบครัวรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เมื่อปี 2560  ต่อมาในปี 2563 ได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อทำโครงการบ้านมั่นคง  ใช้ชื่อว่า บ้านมั่นคงอ้อมน้อยสามัคคี’  โดยซื้อที่ดินเนื้อที่ประมาณ  4 ไร่เศษ  บริเวณหลังวัดศรีสำราษฎร์บำรุง  ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครอ้อมน้อย  ขณะนี้ถมที่ดินเพื่อเตรียมก่อสร้างบ้าน  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณและสินเชื่อตามโครงการบ้านมั่นคง  ขณะที่เทศบาลนครอ้อมน้อยสนับสนุนการก่อสร้างสาธารณูปโภค  เช่น  ถนนคอนกรีต  ท่อระบายน้ำ ฯลฯ

ก้าวย่างสู่การแก้ไขปัญหาทั้งเมือง

บุญชู  นิลถนอม  นายกเทศมนตรีนครอ้อมน้อย  บอกว่า  เทศบาลนครอ้อมน้อยมีชุมชนต่างๆ ตั้งอยู่ทั้งหมด 28 ชุมชน  (ไม่รวมหมู่บ้านจัดสรร  เคหะชุมชน) ในจำนวนนี้มีหลายชุมชนที่เป็นชุมชนแออัด   มีปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย  เช่น  บางชุมชนเป็นชุมชนบุกรุก  บางชุมชนเช่าที่ดินปลูกสร้างบ้าน เมื่อชุมชนเหล่านี้ถูกไล่ที่หรือเจ้าของที่ดินไม่ต่อสัญญาเช่า  จึงต้องหาที่อยู่อาศัยใหม่  เช่น  ชุมชนหลังวัดอ้อมน้อย  2 ชุมชน  ซึ่งทางเทศบาลฯ ก็ได้ให้การสนับสนุนชุมชนตามระเบียบที่สามารถทำได้  เช่น  ประสานงานเรื่องจัดหาที่ดินรองรับ  การเช่าที่ดินวัด  ช่วยเรื่องสาธารณูปโภค  ถนน  ฯลฯ 

“แต่ยังมีอีกหลายชุมชนที่มีปัญหาความไม่มั่นคงเรื่องที่อยู่อาศัย   จึงอยากจะให้ พอช.เข้ามาสนับสนุนและช่วยเหลือชาวบ้าน   ส่วนเทศบาลฯ ก็ยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่  เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง”

บุญชู  นิลถนอม 

สำราญ  ผู้ประสานงานคณะกรรมการที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงเมืองอ้อมน้อย  บอกว่า  ในเขตเทศบาลนครอ้อมน้อยยังมีชุมชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยอีกหลายชุมชน  คณะกรรมการที่อยู่อาศัยฯ เมืองอ้อมน้อยจึงจะร่วมกับเทศบาลฯ จัดเวทีเพื่อให้ชุมชนที่มีความเดือดร้อนได้มาพูดคุยกันเพื่อเสนอปัญหาและหาทางแก้ไข  ถือเป็นการสำรวจข้อมูลชุมชนที่มีความเดือดร้อนไปด้วย  โดยจะประสานงานกับนายกฯ นครอ้อมน้อยเพื่อเปิดเวทีในเร็วๆ นี้   นอกจากนี้จะร่วมกันสนับสนุนเรื่องการพัฒนาอาชีพ  สร้างรายได้ให้แก่ชาวชุมชน  ปลูกผักเอาไว้กินเอง   รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วย

ขณะที่ผู้บริหาร พอช.  ​ผู้แทนพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรสาคร​  พร้อมด้วยเครือข่ายชาวบ้าน      ได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร​เมื่อเร็วๆ นี้  เพื่อหารือแผนการขับเคลื่อนงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยในจังหวัด  โดยมีแนวทางการพัฒนาร่วมกัน  เช่น

1.การใช้เครื่องมือที่มีอยู่ เช่น​ การแก้ไขปัญหาผ่านนโยบาย คทช. (คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ-และ คทช.จังหวัด)   2. การใช้กลไกภาคประชาชนร่วมทำงานและรวบรวมข้อมูล​ผ่านสภาองค์กรชุมชนตำบล​  โดยการสำรวจและจำแนกประเภทผู้เดือดร้อน​  สำรวจที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ในพื้นที่​  เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์และวางแผนร่วมกัน  3.การพัฒนาคน​ และคุณภาพชีวิต  4.สร้างพื้นที่รูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งเมือง  5. เชื่อมโยงและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ​ โดยใช้พื้นที่เทศบาลนครอ้อมน้อยเป็นพื้นที่นำร่อง ฯลฯ

นี่คือตัวอย่างและก้าวย่างการพัฒนาที่อยู่อาศัยแนวใหม่ที่เมืองอ้อมน้อย  โดยให้ชุมชนผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลัก พร้อมทั้งเชื่อมโยงกลไกในท้องถิ่น  เช่น  เทศบาล  จังหวัด  และหน่วยงานต่างๆ  ให้เข้ามามีส่วนร่วม  และขยายเป็นการแก้ไขปัญหาทั้งเมือง  ครอบคลุมทุกมิติ  เพื่อให้เมืองเจริญไปพร้อมกัน  !!

 

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พระราม 2 ไม่แผ่ว! สั่งสอบด่วน บันไดเหล็ก 14 เมตร พังล้มทับถนน

'อธิบดีทางหลวง' สั่งสอบด่วน เหตุบันไดเหล็กเสาตอม่อมอเตอร์เวย์ ล้มบนถนนพระราม 2 ยันทุกโปรเจกต์หยุดก่อสร้าง คืนผิวจราจรให้ประชาชนสัญจรช่วงสงกรานต์

ตามเจออีก 500 ตัน 'กากแคดเมียม' ขนซุกโกดังย่านกระทุ่มแบน ล่องหน 1,000 ตัน

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายวรณัฏฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ์ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร พ.ต.ท.ปฐมพงศ์ ทองจำรูญ รอง ผกก.5 บก.ปทส พ.ต.ท. ชุมพร ฉัตร์สงวนชัย

กากแคดเมียม โผล่สมุทรสาครอีก 1.5 พันตัน นายกฯ สั่ง ก.อุตฯตั้งคณะทำงานเร่งด่วน

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณีการขนย้ายกากสังกะสีปนแคดเมียมจากหลุมฝังกลบของโรงงานต้นทางที่จังหวัดตาก มายังโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร

ผงะ! ผลตรวจพบ 8 คนงาน มีสารแคดเมียมสูงเกินมาตรฐาน

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เปิดเผยผลการปฏิบัติงานเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพเพิ่มเติม กรณีพบกากแคดเมียมและกากสังกะสีผลการเก็บตัวอย่างแคดเมียมในปัสสาวะของพนักงานโรงงาน

'ผบช.ก.' สั่งเร่งสืบสวนเอาผิด 'แก๊งลอบขนสารพิษ' เข้าสมุทรสาคร

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เปิดเผยว่า จากกรณีผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พบกากแคดเมียมก่อมะเร็งซุกในบริษัทหนึ่ง