แนวคิดในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

โดยที่พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 มีหลักการบางประการที่ยังขาดความชัดเจน ไม่เหมาะสม หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งยังไม่ได้นำหลักกฎหมายที่สำคัญมาบัญญัติเป็นตัวบทกฎหมายในหลายเรื่อง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงเสนอหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์และทันสมัย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 เห็นชอบหลักการดังกล่าวตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ

สำนักงานฯ จึงได้เสนอจัดทำร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และเสนอต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เพื่อพิจารณา ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่สาม โดยร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีแนวคิดสำคัญประการหนึ่งคือการอำนวยความสะดวก ให้ความเป็นธรรม และคุ้มครองสิทธิของบุคคลเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางกฎหมาย ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการที่สำคัญดังต่อไปนี้

1. การยื่นคำขอของประชาชน มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการยื่นคำขอ โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ในการจัดหาและทำสำเนาเอกสารประกอบคำขอบางรายการเอง เช่น เอกสารที่หน่วยงานของรัฐนั้นเป็นผู้ออกให้แก้ผู้ยื่นคำขอเอง และกำหนดให้เจ้าหน้าที่ต้องออกหลักฐานการรับคำขอซึ่งต้องระบุข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนสามารถติดตามทวงถามความคืบหน้าในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ได้ รวมทั้งในกรณีที่ประชาชนยื่นคำขอผิดหน่วยงาน เจ้าหน้าที่ซึ่งรับเรื่องไว้มีหน้าที่ต้องส่งต่อคำขอดังกล่าวไปยังหน่วยงานที่ถูกต้องต่อไป

2. การพิจารณาออกคำสั่งทางปกครอง ได้กำหนดขอบเขตการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ โดยกำหนดให้การใช้ดุลพินิจจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ให้อำนาจและอยู่ภายในขอบเขตของกฎหมาย กำหนดหลักเกี่ยวกับแนวทางการใช้ดุลพินิจ และการคุ้มครองความเชื่อถือของบุคคลในการตีความกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ รวมทั้งกำหนดให้ต้องมีการรับฟังคู่กรณีก่อนออกคำสั่งปฏิเสธการก่อตั้งสิทธิ เช่น คำสั่งไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงาน คำสั่งไม่ออกใบอนุญาต ทั้งนี้ เพื่อให้การพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองมีความถูกต้อง เหมาะสม และเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน

3. ระยะเวลาออกคำสั่งทางปกครอง เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าในการพิจารณาทางปกครอง ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต อนุมัติ ขอความเห็นประกอบการพิจารณา หรือให้ความเห็นชอบระหว่างส่วนราชการด้วยกัน รวมทั้งระยะเวลาในการพิจารณาคำขอซึ่งมีสภาพบังคับทำให้เกิดคำสั่งทางปกครองโดยปริยาย โดยบางกรณีกฎหมายเฉพาะอาจกำหนดให้การครบระยะเวลามีผลเป็นการเห็นชอบคำขอหรืออนุมัติอนุญาตโดยปริยาย (tacit authorization) ส่วนคำสั่งทางปกครองบางประเภทที่มีความสำคัญ เช่น คำสั่งเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยและสุขอนามัยของประชาชน หากเจ้าหน้าที่พิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา จะมีผลเป็นการปฏิเสธคำขอโดยปริยาย ซึ่งผู้ยื่นคำขอมีสิทธิร้องขอให้เจ้าหน้าที่ชี้แจงเหตุผลที่ปฏิเสธคำขอได้ หรือจะนำคำสั่งปฏิเสธโดยปริยายไปฟ้องคดีขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายและเพิกถอนก็ได้

4. การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง มีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์ให้มีความเป็นธรรมยิ่งขึ้นสำหรับประชาชน เช่น การขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้ยาวขึ้นจาก 15 วันเป็น 30 วัน เปิดโอกาสให้ผู้ยื่นอุทธรณ์สามารถแก้ไขคำอุทธรณ์ที่มีรูปแบบหรือเนื้อหาไม่ถูกต้องได้ การออกหลักฐานการรับคำอุทธรณ์ รวมทั้งกำหนดกลไกการเกิดคำสั่งโดยปริยายให้ยกอุทธรณ์ในกรณีที่เจ้าหน้าที่มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาพิจารณาอุทธรณ์ที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ เพื่อที่ผู้อุทธรณ์จะได้นำคำสั่งโดยปริยายยกอุทธรณ์ไปฟ้องคดีต่อศาลขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายได้โดยเร็ว

5. การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง มีการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ให้ประโยชน์เพื่อคุ้มครองความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะของบุคคลที่สุจริตมากยิ่งขึ้น โดยเจ้าหน้าที่ไม่อาจเพิกถอนคำสั่งที่ให้ประโยชน์ซึ่งกระทำไม่ถูกต้องตามขั้นตอน วิธีการ หรือรูปแบบที่กฎหมายกำหนด หากมิใช่ความบกพร่องที่มีผลกระทบต่อเนื้อหาสาระของคำสั่งนั้น เพราะถือว่ามิใช่ความบกพร่องในสาระสำคัญ นอกจากนี้ ยังกำหนดระยะเวลาขั้นสูงในการเพิกถอนคำสั่งไว้ไม่เกินสามปีนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ทำคำสั่ง เพื่อมิให้มีการเพิกถอนคำสั่งภายหลังระยะเวลาได้ล่วงพ้นไปนานแล้ว หรือกรณีที่มีการเพิกถอนคำสั่งที่ให้ประโยชน์ซึ่งมิใช่การให้เงินหรือทรัพย์สิน แต่เป็นคำสั่งที่ก่อตั้งสิทธิตามกฎหมาย เช่น การออกใบอนุญาตที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ได้กำหนดเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนในการร้องขอค่าทดแทนความเสียหายจากการเพิกถอนคำสั่งและขั้นตอนการยื่นคำขอให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาคำขออย่างเป็นระบบ

นอกจากหลักการที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ในอีกหลายประเด็น เพื่อให้กฎหมายทั่วไปในการพิจารณาทางปกครอง  มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยท่านที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดตามร่างพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ซึ่งจะมีการเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) เร็ว ๆ นี้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การใช้มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมคุณภาพยาเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน

การจะพัฒนากฎหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามวิสัยทัศน์ “Better Regulation for Better Life” ได้นั้น นอกจากการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทางด้านเศรษฐกิจแล้วนั้น

บทบาทของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับการขับเคลื่อนงานด้านกฎหมายเกี่ยวกับ “Soft Power”

นโยบายสำคัญอย่างหนึ่งที่ได้รับความสนใจและมีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี (นายเศรษฐา ทวีสิน) เข้ามาบริหารประเทศ

การยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐจะดำเนินการที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจเท่านั้น

Regulate to elevate : บทบาทของกฎหมายกับการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

โลกหลังจากวิกฤติโควิด-19 ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการพัฒนาด้านสังคมและเศรษฐกิจด้วยแนวคิดความยั่งยืนเป็นหลักการสำคัญ การจัดทำนโยบายแห่งรัฐและกระบวนการกฎหมายจึงจำเป็นต้อง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับการพัฒนากฎหมายที่ช่วยส่งเสริมสตาร์ทอัพ

การพัฒนาระบบเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบธุรกิจสตาร์ทอัพใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเป็นเครื่องมือ

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านกฎหมาย ซอฟต์พาวเวอร์ที่เอื้อมถึง

หลายท่านอาจไม่ทราบว่า นอกจากภารกิจด้านการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมายแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพ