บทบาทภารกิจของกองกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กองกฎหมายต่างประเทศเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดำเนินภารกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Better Regulation for Better Life เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลกฎหมายและคำแปลกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตได้โดยสะดวก รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลการค้นคว้าเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างความเข้าใจแก่บุคคลทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ปฏิบัติงานภาครัฐเกี่ยวกับบริบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ การค้าการลงทุน การศึกษาวิจัยกฎหมายสำหรับนิสิตนักศึกษา การคาดการณ์ทิศทางและแนวโน้มของความร่วมมือระหว่างประเทศที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมทางกฎหมายของประเทศไทยและต่างประเทศ ตลอดจนการเป็นฐานข้อมูลสำหรับผู้ปฏิบัติงานภาครัฐด้วยกันในการพิจารณายกร่างกฎหมายในประเด็นต่าง ๆ โดยกองกฎหมายต่างประเทศได้ผลักดันผลงานคุณภาพ ประกอบด้วย
- ฐานข้อมูลกฎหมายต่างประเทศและบทความทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับ Law for ASEAN การวิเคราะห์พันธกรณีด้านกฎหมายของไทยภายใต้อาเซียน ตลอดจนฐานข้อมูลงานค้นคว้าเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศที่สำคัญ เช่น พัฒนาการทางกฎหมายเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และโลกแห่งเทคโนโลยีเสมือนจริง (Metaverse, Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR) and Mixed Reality (MR)) เพื่อเป็นฐานข้อมูลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับขอบเขตและความพร้อมทางกฎหมายของไทยในประเด็นดังกล่าว เพื่อที่จะสามารถเตรียมความพร้อมและวางแผนรับมือด้านกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเผยแพร่ข้อมูลผ่านทั้งเว็บไซต์สำนักงานฯ และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวก โดยกองกฎหมายต่างประเทศได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้บริการที่จะนึกถึงฐานข้อมูลนี้เป็นฐานข้อมูลในลำดับต้นในการค้นคว้าข้อมูลกฎหมายต่างประเทศและกฎหมายเปรียบเทียบ
- ฐานข้อมูลคำแปลกฎหมายไทยเป็นภาษาอังกฤษ โดยได้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เป็นจำนวนมากกว่า ๕๘๐ ฉบับ (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๗) ผู้ที่สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลคำแปลกฎหมายฉบับภาษาอังกฤษได้ที่ www.ocs.go.th (หัวข้อ ความรู้/คำแปลกฎหมาย/สารบัญคำแปลกฎหมาย)
- งานจัดทำร่างกฎหมาย โดยกองกฎหมายต่างประเทศได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันกฎหมายที่สำคัญ เช่น ร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง พ.ศ. .... อันเป็นกฎหมายที่สนับสนุนให้เกิดการสร้างความโปร่งใสและความเข้มแข็งแก่ประชาชนในกระบวนการทำหนังสือสัญญา และร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเอกสิทธิ์สำหรับศูนย์อาเซียนเพื่อเสริมสร้างศักยภาพและคุณค่าสังคมผู้สูงอายุด้วยนวัตกรรม พ.ศ. .... อันเป็นกฎหมายที่เอื้ออำนวยให้เกิดนวัตกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน
- งานสนับสนุนการขับเคลื่อนภารกิจของภาครัฐในภาพรวม ไม่ว่าจะเป็นงานความเห็นทางกฎหมายประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี งานความเห็นทางกฎหมายแก่หน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนงานประสานความร่วมมือด้านกฎหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศผ่านช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางหนังสือราชการ สารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ อีเมล
- งานพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการกับต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันรัฐประศาสนศาสตร์แห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KIPA) สถาบัน National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) รวมถึงเข้าร่วมการประชุมวิชาการกับหน่วยงานต่างประเทศ เช่น การประชุม ASEAN Law Association (ALA) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักกฎหมายของประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อที่จะเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกและสามารถวางแผนรับมือต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ทันท่วงที
นอกจากนั้น กองกฎหมายต่างประเทศได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำข้อมูลวารสารกฎหมายเปรียบเทียบ บทสัมภาษณ์บุคคลที่น่าสนใจด้านกฎหมายเปรียบเทียบ รวมทั้งความรู้ทั่วไปในทางกฎหมายและสาระน่ารู้เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำร่างกฎหมายทั้งของไทยและต่างประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
๙๑ ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา “พัฒนากฎหมายที่ดี เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน” ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรถวายคำปรึกษาแก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17
Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย
ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ
ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น
กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม
นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ