คนไทยจำนวนหนึ่ง หอบฝันพร้อมแรงกาย ไปขายแรงงานแลกค่าตอบแทนที่สูงกว่าในต่างแดน ด้วยความหวังว่า ตัวเองและคนที่รักจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ยิ่งได้ยินได้เห็นจากคนรู้จัก ว่าไปมาแล้ว ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ฝันนั้น…ยิ่งหอมหวานจูงใจ แต่โจทย์สำคัญคือ จะไปอย่างไรให้ไกลจากการ “เสี่ยงไปเอาดีดาบหน้า” เป็นแรงงานคุณภาพที่สร้างทั้งเม็ดเงินหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศบ้านเกิด
นายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้ข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์พิเศษว่า ปัจจุบันวิธีเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย มีทั้งสิ้น 5 วิธี คือ 1.บริษัทจัดหางานจัดส่ง 2.กรมการจัดหางานจัดส่ง 3.เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง 4.นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน 5.นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างไปฝึกงาน “20 ปีที่แล้วมี ‘ขบวนการสายนายหน้า’ ที่หลอกหรือชักชวนไปทำงานแบบผิดกฎหมาย เป็นการหลอกโดยคนต่อคน แต่ปัจจุบันมิจฉาชีพนิยมใช้วิธีโฆษณาทางโซเชียล โพสต์ข้อความจูงใจด้วยค่าจ้างที่สูงกว่าความเป็นจริง ทั้งยังมีรูปภาพสถานที่ ให้เบอร์ติดต่อส่วนบุคคล บ้างก็ใช้เป็นชื่อเล่น หากเจอแบบนี้สันนิษฐานได้เลยว่าหลอกลวง” นายไพโรจน์กล่าว
อธิบดีกรมการจัดหางานยังให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากเป็นการรับสมัครแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ต้องเป็นการรับสมัครงานโดยบริษัทที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการจัดหางาน มีการระบุชื่อ เลขที่ใบอนุญาต ซึ่งสามารถตรวจสอบได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ตาม สถิติการเดินทางของคนไทยไปทำงานต่างประเทศมีแนวโน้มเป็นบวก ตั้งแต่หลังการระบาดของโรคโควิด-19 เรื่อยมา โดยในเดือน ม.ค.-ก.ค.66 มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย ผ่าน 5 วิธีเดินทาง 42,604 คน และมีกลุ่ม Re-entry ซึ่งกลับเข้ามาในประเทศไทยหลังจากที่ได้เดินทางออกนอกประเทศ โดยวีซ่าที่ถืออยู่ยังไม่หมดอายุ 24,353 คน รวมทั้งสิ้น 66,957 คนส่งรายได้กลับประเทศ 148,335 ล้านบาท ซึ่งประเทศที่มีสถิติแรงงานเดินทางไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ไต้หวัน รองลงมาคือ ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอิสราเอล“ข้อดีของการเดินทางไปทำงานอย่างถูกกฎหมาย คือ ได้นวัตกรรมใหม่ๆ จากประเทศที่ไปทำงานกลับมา และนวัตกรรมเหล่านั้น ก็จะถูกนำมาต่อยอดเตรียมความพร้อมให้กับแรงงานในเจเนอเรชั่นใหม่ที่จะไปทำงานด้วย” นายไพโรจน์ กล่าว
อธิบดีกรมการจัดหางาน ยังฉายภาพให้เห็นข้อดีของการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมายว่า จะทำให้แรงงานได้รับสิทธิประโยชน์ มีสิทธิสมัครสมาชิก ‘กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ’ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของประเทศปลายทาง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ไม่ต้องทำงานแบบหลบซ่อน ขณะที่การเดินทางไปอย่างผิดกฎหมาย นอกจากไม่ได้รับสิทธิประโยชน์หรือความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานแล้ว ยังถูกนายจ้างเอาเปรียบ และอาจร้ายแรงถึงขั้น ถูกล่อลวงเข้าสู่ขบวนการค้ามนุษย์ “ปัญหาที่เราพยายามแก้ไขอย่างเข้มข้นคือ ‘แรงงานผีน้อย’ ที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจะมีผลกับ
การพิจารณาให้โควตาของไทย เพราะมีเกณฑ์พิจารณาจากรายงานปัญหาแรงงานเข้าไปทำงานอย่างผิดกฎหมายด้วย แต่โชคดีที่ปีนี้เราได้โควตา 4,400 คน และจัดส่งไปทำงานได้ถึง 4,497 คน (เกินโควตา) แสดงว่าทางการเกาหลีมองแล้วว่า ปัญหาผีน้อยจากบ้านเราลดน้อยลง”
ปัจจุบัน กรมการจัดหางานมุ่งมั่นเพิ่มโอกาส ขยายตลาดแรงงานใหม่ โดยได้มีการทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับหน่วยงานภาครัฐในต่างประเทศ เช่น กระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคมแห่งซาอุดิอาระเบีย 2 ฉบับ ได้แก่ฉบับแรงงานทั่วไป และแรงงานทำงานบ้าน ตลอดจนทำบันทึกความเข้าใจด้านการส่งแรงงานภาคเกษตรตามฤดูกาลกับเกาหลีใต้ (Seasonal Worker) รวมถึง ความร่วมมือกับหน่วยงานในต่างประเทศกับ รัฐอิสราเอล สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่นด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจอยากเดินทางไปทำงานต่างประเทศ อธิบดีกรมการจัดหางานแนะนำว่า ควรเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพ เพื่อรับมือกับสภาพอากาศ หมั่นพัฒนาทักษะฝีมือในตำแหน่งงานที่จะทำ รวมถึงทักษะภาษา เพื่อให้สามารถทำความเข้าใจถึงความต้องการของนายจ้างต่างประเทศได้ ต่อมาคือ ความพร้อมด้านค่าใช้จ่าย เช่น ค่าหนังสือเดินทาง ค่าตรวจโรค ค่าตรวจสอบประวัติอาชญากรรม หรือแม้แต่ค่าใช้จ่ายส่วนตัวในชีวิตประจำวัน ที่สำคัญก่อนไปทำงาน ต้องศึกษาข้อมูลของประเทศที่จะไป โดยเฉพาะข้อกฎหมาย ตลอดจนความรู้เท่าทันโซเชียลมีเดียที่แฝงไปด้วยกลลวงของมิจฉาชีพสามารถศึกษารายละเอียดการเดินทางได้ ที่เว็บไซต์กรมการจัดหางาน www.doe.go.th สายด่วน 1506 กด 2 หรือ 1694 และสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เดินทางไปทำงานต่างประเทศ ได้ที่ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ หรือผ่านเว็บไซต์ของกองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศที่ toea.doe.go.th
‘นี่คือเส้นทางสู่คุณภาพชีวิตที่ดีในต่างแดนที่กรมการจัดหางานการันตีได้ว่า ‘ไม่ขายฝัน’ อย่างแน่นอน!’
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดรับสมัคร แรงงานไทยไปมาเก๊า เงินเดือนสูงสุด 9 หมื่นบาท สวัสดิการดี ถูกกฎหมาย
รบ.เผย แรงงานไทยไปมาเก๊า เงินเดือนสูงสุด 9 หมื่นบาท สวัสดิการดี ถูกกฎหมาย สนใจสมัครที่เว็บไซต์ toea.doe.go.th ตั้งแต่วันนี้ – 16 เม.ย.
จ่ายแล้ว 22 ราย 17.4 ล้าน! ก.แรงงานเยียวยาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว
กระทรวงแรงงานจ่ายเงินเยียวยาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวแล้ว 17.4 ล้านบาท พร้อมเตรียมช่วยเหลือญาติผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ หากเอกสารครบสามารถดำเนินการเสร็จภายใน 7 วัน
“มารศรี” เลขาธิการ สปส. ลงพื้นที่ศูนย์ช่วยเหลือกระทรวงแรงงาน จตุจักร กำชับเจ้าหน้าที่ สปส. ชี้แจงสิทธิประโยชน์ พร้อมเยียวยาลูกจ้างเต็มที่
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม “ศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว (ศปช.รง.)” จตุจักร กรุงเทพมหานคร เพื่อให้กำลังใจเจ้าหน้าที่
เฮ! หอการค้า เซ็น MOU หนุนทหารมีงานทำหลังปลดประจำการ 3 หมื่นอัตรา
ทหารไทยเฮ แรงงาน - กลาโหม - หอการค้า เซ็น MOU หนุนทหารมีงานทำหลังปลดประจำการ รองรับกว่า 3 หมื่นอัตรา
ประกันสังคม แจ้งผู้ประกันตนว่างงาน เช็กสิทธิรับเงินทดแทนด่วน!
สำนักงานประกันสังคมเตือนผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ว่างงาน เช็กสิทธิรับเงินทดแทนสูงสุด 50% ของค่าจ้าง พร้อมเงื่อนไขชัดเจน ย้ำต้องขึ้นทะเบียนว่างงานภายใน 30 วัน และรายงานตัวทุกเดือนผ่านระบบ ห้ามพลาดสิทธิสำคัญ