รวมพลังคนจนเมืองขอนแก่นรณรงค์ ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ เสนอหน่วยงานแก้ปัญหาเร่งด่วนชุมชนในที่ดิน รฟท.

ส่วนหนึ่งของขบวนรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น (16 ตุลาคม)

ขอนแก่น  / เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์รวมพลังคนจน-ชุมชนริมราง-บ้านมั่นคง-คนไร้บ้าน-สลัม 4 ภาค  จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องใน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ ที่จังหวัดขอนแก่น  โดยส่งตัวแทนร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดร่วมกับ รฟท. เทศบาล  พอช. เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย  ขณะที่ พอช.เดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมรางนำร่องปีนี้ 14 ชุมชนทั่วประเทศ  ใช้งบ 119 ล้านบาท

UN – HABITAT   หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’  กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’  เริ่มตั้งแต่ปี 2528  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก   

วันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม  กลุ่ม  องค์กร  และเครือข่ายที่ทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย  เช่น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ฯลฯ  ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตลอดช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายนนี้  โดยจัดกิจกรรมขึ้นในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ

ขบวนรณรงค์รอฟังผลการเจรจาแก้ไขปัญหาที่หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น

ประชุมแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดิน รฟท. ขอนแก่น

ล่าสุดวันนี้ (16 ตุลาคม)  ที่จังหวัดขอนแก่น  เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ (ขอนแก่น) ร่วมกับพี่น้องเครือข่ายที่อยู่อาศัยในภาคอีสาน  เช่น  เครือข่ายชุมชนริมราง  เครือข่ายบ้านมั่นคง   คนไร้บ้าน  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  ฯลฯ  จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2566  โดยมีตัวแทนกลุ่มต่างๆ ประมาณ 300 คนร่วมเดินรณรงค์จากศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่นไปยังศาลากลางจังหวัดขอนแก่น   และร่วมประชุมกับผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  เช่น  การรถไฟแห่งประเทศไทย (แขวงการทางรถไฟขอนแก่น) เทศบาลนครขอนแก่น   สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  โดยมีนางสาวธนียา นัยพินิจ  รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  เป็นประธานการประชุม  เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนริมรางรถไฟในจังหวัดขอนแก่นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ

นางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ หากพี่น้องไร้ที่อยู่อาศัยที่เป็นหลักแหล่งก็เป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพได้ ที่ผ่านมาทางจังหวัดขอนแก่นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของหน่วยงานรัฐอื่น  เช่น   การรถไฟ กรมธนารักษ์ เป็นต้น ซึ่งในวันนี้ได้มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้านไปช่วยกันแก้ไขปัญหาให้พี่น้องในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น

ส่วนประเด็นที่มีการประชุมเพื่อหารือแก้ไขปัญหา  เช่น  1.กรณีที่ดินสาธารณะชุมชนหลักเมือง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  คือ  สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น, เทศบาลนครขอนแก่น  2.เรื่องระบบสาธารณูปโภคชุมชนในเขตของการรถไฟฯ  ที่มีสัญญาเช่าที่ดิน เช่น ท่อระบายน้ำ, ไฟฟ้า,ประปา , ชุมชนพัฒนาเทพารักษ์โซน1  ชุมชนเทพารักษ์ 5  ชุมชนหนองวัด 2 ริมราง    มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ  การรถไฟฯ  เทศบาลนครขอนแก่น

3.เรื่องทางเข้า-ออกชุมชนหนองแวงใหม่ที่ได้สัญญาเช่าในที่ดินการรถไฟฯ  บริเวณย่านสถานีรถไฟสำราญ   มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เทศบาลตำบลศิลา  สำนักงานทางหลวงที่7 กรมทางหลวงขอนแก่น  4.เรื่องการจดจัดตั้งสหกรณ์ในการเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ  5.เรื่องการหาที่ดินใหม่รองรับให้กับพี่น้องชุมชนริมรางรถไฟเทศบาลเมืองศิลา  ฯลฯ

นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า แผนงานการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  คือ  รถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ - หนองคาย) ช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น-หนองคาย รวม  5 จังหวัด 61 ชุมชน จำนวน  3,899 หลังคาเรือน 

โดยที่ผ่านมา พอช.ได้จัดทีมปฏิบัติงานเดินหน้าแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมทางรถไฟนำร่องในพื้นที่ต่างๆ  เช่น  ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง  จ.นครราชสีมา  166  ครอบครัว  ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง จ.ขอนแก่น 169  ครอบครัว   โดย พอช.จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้แก่ชุมชนที่ต้องรื้อย้ายออกจากแนวรางรถไฟตามโครงการบ้านมั่นคง   เช่น  ส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหา  การจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย  อุดหนุนงบประมาณก่อสร้างบ้าน  สินเชื่อก่อสร้างบ้าน  ฯลฯ  ขณะที่ รฟท.จะอนุญาตให้ชาวชุมชนเช่าที่ดินเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ระยะเวลา 30 ปี  (เช่าที่ดินผ่าน พอช.)

นางสาวธนียา รอง ผวจ.ขอนแก่น (ที่ 4 จากซ้าย) และนายสยาม ผช.ผอ.พอช. (ที่ 5 จากซ้าย) เจรจากับผู้ชุมนุม

เส้นทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ

ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  มีนโยบายการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2561 เช่น  โครงการรถไฟรางคู่ในภาคใต้  รถไฟความเร็วสูงในภาคอีสาน  รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา  ฯลฯ   ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและประชาชนที่อาศัยอยู่สองข้างทางรถไฟ  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)  และเครือข่ายสลัม 4 ภาค  จึงร่วมกันเจรจาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  จนคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ปัญหา

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566   เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ   ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน  27,084  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ   

โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ พอช. จัดทำแผนงานรองรับ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ส่วน รฟท.จะอนุญาตให้ชุมชนเช่าที่ดิน รฟท. ผ่าน พอช. เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ 

ชาวชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี  กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  อยู่ในระหว่างการเตรียมการเช่าที่ดิน รฟท.ย่านบึงมักกะสันเพื่อสร้างบ้าน-ชุมชนใหม่

ความคืบหน้าและข้อเสนอจากชาวริมทางรถไฟ

โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  พอช.มีแผนดำเนินการภายใน5  ปี  เริ่มตั้งแต่ปี 2566-2570   ขณะนี้ชุมชนต่างๆ จำนวน 300 ชุมชน 35 จังหวัด จำนวน  27,084  ครัวเรือน  (ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ)  ขณะนี้ พอช.และภาคีเครือข่ายกำลังเร่งสำรวจข้อมูลชุมชน  ครัวเรือน  เพื่อจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท. (กรณีอยู่ในที่ดินเดิมได้)  หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่ 

อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากมีอุปสรรคบางประการในการทำงาน  เช่น  ชาวบ้านบางส่วนยังไม่เชื่อว่าจะมีโครงการพัฒนาระบบรถไฟ  ยังไม่เข้าร่วม  ฯลฯ   ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา  เครือข่ายชุมชนริมราง  สลัม 4 ภาค จึงเจรจาร่วมกับ รฟท. และ พอช.  โดยมีข้อสรุปเพื่อเร่งรัดการดำเนินการ  เช่น  ให้ รฟท.และ พอช. จัดตั้งคณะทำงานร่วมลงไปในพื้นที่  เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจกับกับชุมชนให้รวดเร็วขึ้น

การจัดเวทีเสวนาแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท. เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่ พอช. กรุงเทพฯ

โดย รฟท. และ พอช. จะทำแผนปฏิบัติการ หรือ action plan และเร่งดำเนินการใน 3 ระยะ คือ 1. ให้ชุมชนแจ้งความจำนงค์ว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ 2. ต้องดำเนินการให้เช่าที่ดิน รฟท. ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2571 และ 3.เมื่อสิ้นสุดงบประมาณปี 2570 ต้องวางแผนว่า จากจำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ  27,084 ครัวเรือน  จะเข้าร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยจำนวนเท่าไหร่ ? 

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากเครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟในประเด็นต่างๆ  เช่น  การโดนคดีฟ้องร้องข้อหาบุกรุกที่ดิน รฟท. อยากให้ รฟท.เจรจากับชุมชนก่อน  เพราะปัจจุบันมีคณะทำงานร่วมกันระหว่างชาวชุมชนกับ รฟท.แล้ว   เสนอให้ต่อระยะเวลาการทำโครงการเรื่องที่อยู่อาศัยของ พอช.เกิน 5 ปี (เดิมภายในปี 2566-2570)

เร่งรัดการจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท. สำหรับชุมชนที่ดำเนินการยื่นขอเช่าที่ดิน และจัดทำ ทด.3 เรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่แปลงสถานีสำราญ สถานีขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น , พื้นที่แปลงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ , พื้นที่แปลงที่ดินจังหวัดตรัง 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา ชุมชนทางล้อ  และชุมชนคลองมวน   ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม  ในช่วงวันที่อยู่อาศัยโลกเมื่อ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา  ผู้แทนกระทรวงคมนาคมได้มอบสัญญาเช่าที่ดินให้แก่ชุมชนต่าง ๆ นำร่อง จำนวน 4 ชุมชน คือ   ชุมชนหนองแวงตาชู  จ.ขอนแก่น  106 ครัวเรือน  ที่ดิน 8,520 ตารางเมตร  ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดตรัง 3 ชุมชน  รวม 133  ครัวเรือน  เนื้อที่รวมกว่า 10,000 ตารางเมตร  ระยะเวลาเช่า 30 ปี  ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566-31 ตุลาคม 2596  อัตราค่าเช่าผ่อนปรนตารางเมตรละ 9 บาท  

โดยในปีนี้ พอช. มีแผนดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมรางรถไฟนำร่องจำนวน 14 ชุมชนทั่วประเทศ  รวม 883 ครัวเรือน  ใช้งบประมาณทั้งหมด 119 ล้านบาทเศษ  ส่วนที่เหลือจะเร่งดำเนินการในปี 2567 เป็นต้นไป

ผู้แทน 4 ชุมชนที่ได้รับมอบสัญญาเช่าที่ดิน รฟท.จากผู้แทนกระทรวงคมนาคม  เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก 2 ตุลาคมที่ผ่านมา  ที่หน้ากระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนินนอก

*********

เรื่องและภาพ  :  ธิปไตย ฉายบุญครอง  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สวัสดิการชุมชนตำบลยายชา พัฒนาศูนย์เรียนรู้หลากหลาย ดูแลกันและกันเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน

ตำบลยายชา อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ประกอบด้วย 6 หมู่บ้าน จำนวนประชากร 7,958 คน รวม 4,969 ครัวเรือน มีประชากรแฝงเข้ามาใช้แรงงานกว่า 3,000 คน

จากเคมีสู่เกษตรอินทรีย์ล้านเปอร์เซ็นต์ ที่ตำบลเขาไม้แก้ว “ความเปลี่ยนแปลงจากเกษตรเคมีสู่แหล่งผลิตอาหารปลอดภัย”

สุนทร คมคาย เกษตรกรหนุ่มใหญ่วัยเกือบ 50 ปี คนในพื้นที่เรียกกันติดปาก “เกษตรแหลม” แกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว เล่าให้ฟังว่า ผมเรียนจบปริญญาตรีด้านเกษตร สาขาไม้ผล

พอช. ร่วมขบวนชุมชน ถอดบทเรียนพื้นที่รูปธรรม “คนสร้างบ้าน พัฒนาชีวิตที่มั่นคง” Collective Housing : ให้คนเป็นแกนหลักในการพัฒนา พัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน

การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจการค้า ทำให้เมืองขยายตัว เกิดชุมชนแออัด ชุมชนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมีทั้งเช่าที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้าน

บ้านมั่นคงคนสุพรรณบุรี บ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน พัฒนาเมืองน่าอยู่ชุมชนเข้มแข็ง

สถานที่ท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของจังหวัดสุพรรณบุรี ถ้ามาแล้วไม่ควรพลาด!!! นั่นก็คือ "ตลาดสามชุก" นับว่าเป็นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีของกินอร่อย

แพปลา ธนาคารปูชุมชนแหลมผักเบี้ยเพชรบุรี ต้นแบบในการฟื้นฟูท้องทะเลไทย

ความอุดมสมบูรณ์ของทะเลเมืองเพชร ตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ได้ถูกฟื้นฟูโดยชาวประมงกลุ่มหนึ่ง เริ่มจากจุดเล็กๆ ทำแพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ย

คนลิบงร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล “พะยูนอยู่ไม่ได้ คนเกาะลิบงก็อยู่ไม่ได้”

“ถ้าไม่มีพะยูน คนเกาะลิบงก็อยู่ไม่ได้ เพราะถ้าที่ไหนมีพะยูน ท้องทะเลตรงนั้นก็จะแสดงถึงความอุดมสมสมบูรณ์ และคนเกาะลิบงส่วนใหญ่ก็หากินกับท้องทะเล