สส. หนุนเครือข่าย เสริมพลัง ทส. และ มท. ลดขยะอาหาร มุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก

วันนี้ (16  พฤศจิกายน 2566) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การขับเคลื่อนการจัดการขยะอาหารเพื่อรองรับเป้าหมายด้านการลดก๊าซเรือนกระจก โดยมีนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมด้วย นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะอาหารที่เป็น “วาระเร่งด่วน” โดยในปี 2564 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการสำรวจองค์ประกอบขยะมูลฝอย ณ สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยพบว่ามีสัดส่วนของขยะอาหารมากถึงร้อยละ 39 (9.68 ล้านตัน หรือ 146 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) จากปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งประเทศจำนวน 24.98 ล้านตัน โดยนำมาคำนวณเป็นปริมาณขยะอาหารที่เกิดขึ้นของประเทศ และจากการสำรวจ พบว่า องค์ประกอบของขยะอาหาร มีส่วนที่รับประทานได้ ร้อยละ 39 และส่วนที่รับประทานไม่ได้ ร้อยละ 61 ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาขยะอาหารของประเทศมีประสิทธิภาพ จึงจัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (ปี 2566 – 2573) และแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (ปี 2566 – 2570) เป็นกรอบการแก้ไขปัญหาขยะอาหารของประเทศ พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายลดสัดส่วนของขยะอาหารในขยะมูลฝอยชุมชนจากร้อยละ 39 ลงเหลือไม่เกินร้อยละ 28 ภายในปี  2570 โดยมีมาตรการครอบคลุมการลด หรือทิ้งให้น้อยลง ตั้งแต่การจำหน่าย การประกอบอาหาร การบริโภค โดยมุ่งให้เกิดการคัดแยกขยะอาหารจากต้นทาง และนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ เช่น ใช้เป็นอาหารสัตว์ ผลิตพลังงานชีวภาพ ทำให้ลดการตกค้างของขยะที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค ลดมลพิษจากขยะ ลดการปล่อยก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในปี 2565 มท. ส่งเสริมการจัดการขยะอาหาร โดยใช้ถังขยะเปียก ลดโลกร้อน ซึ่งได้รับการรับรองว่าเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโดยสมัครใจ ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซได้มากกว่า 1,870,000 กว่าตัน

บันทึกความเข้าใจนี้ จะก่อให้เกิดการบริหารจัดการขยะอาหารอย่างเป็นรูปธรรม โดยดำเนินการครอบคลุมทั้งระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องกำจัด และลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคของเสียชุมชน ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท โดยเฉพาะขยะอาหารทั้งในชุมชนเมืองและชุมชนชนบท รวมถึงพัฒนากลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะอาหาร

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม มีบทบาทหน้าที่ในการสร้างจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะที่ต้นทางและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะ การคัดแยกขยะมูลฝอยแยกประเภท รวมถึงขยะอาหาร สร้างเครือข่ายความร่วมมือ สนับสนุนองค์ความรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สร้างสังคมปลอดขยะ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ได้อย่างยั่งยืน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' ย้ำไม่เคยคิดแทนที่นายกฯ ลั่นทำวันนี้ให้ดีที่สุด

'อนุทิน' เผย ครม.ทุกคน ให้กำลังใจ 'เศรษฐา' ผ่านเหตุการณ์ 14 ส.ค. ด้วยดี หลังศาล รธน. นัดชี้ชะตา ขออย่ามองผลทางลบ บอกไม่เคยคิดมาแทนนายกฯ ย้ำทุกคนทำงานเข้ากันดี