พม.-พอช.-ภาคีจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ ที่เชียงใหม่ การแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิต‘คนแม่แจ่ม-คลองแม่ข่า’

ส่วนหนึ่งของชาวบ้านตำบลท่าผา  อ.แม่แจ่ม  จ.เชียงใหม่ จาก 1,300 รายที่รับมอบหนังสือแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวม 2,100 แปลง  เนื้อที่ประมาณ 16,000 ไร่  เนื่องในการจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’

เชียงใหม่ /  กระทรวง พม.  พอช. จังหวัดเชียงใหม่ และภาคีเครือข่าย  ร่วมจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’  ที่จังหวัดเชียงใหม่  ชูประเด็นรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย  และการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ  โดยที่ตำบลท่าผา อ.แม่แจ่ม พอช.หนุนซ่อม-สร้างบ้านมั่นคง 205 ครัวเรือน  เทศบาลตำบลท่าผามอบเอกสารแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินให้ชาวบ้าน 1,300 ราย  รวม 2,100 แปลง  เนื้อที่กว่า 16,000 ไร่

เนื่องในโอกาส ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ หรือ ‘World Habitat Day 2023’ (องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ทุกวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็นวันที่อยู่อาศัยโลก) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หน่วยงานภาคี  และเครือข่ายองค์กรชุมชน  ได้ร่วมกันจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก 2566 ตลอดช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมนี้  ตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย  และนำเสนอรูปธรรมการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น

‘งานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ ที่จังหวัดเชียงใหม่

ระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคมนี้  มีการจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ ที่จังหวัดเชียงใหม่  โดยมีการจัดกิจกรรมใน 2 พื้นที่สำคัญ  คือที่ตำบลท่าผา  อำเภอแม่แจ่ม  และที่ชุมชนริมคลองแม่ข่า  เทศบาลเมืองเชียงใหม่  ร่วมจัดงานโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  กรมการปกครอง  จังหวัดเชียงใหม่  เทศบาลเมืองเชียงใหม่  อำเภอแม่แจ่ม  มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)  เครือข่ายสลัม 4 ภาค ใจบ้านสตูดิโอ สภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่   และเครือข่ายคนแป๋งเมืองเชียงใหม่   โดยมีชาวบ้านในพื้นที่  เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภูมิภาค  ขบวนองค์กรฃุมฃนภาคเหนือ  และผู้แทนภาคีเครือข่าย  เข้าร่วมงานทั้ง 2 วันประมาณ 1,500 คน

ทั้งนี้อำเภอแม่แจ่ม  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,700,000 ไร่  สภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูง มีที่ราบตามเชิงเขา  ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม  มีทั้งหมด 7 ตำบล  106 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ  59,000 คน   มีทั้งคนเมือง  ม้ง  ลัวะ  ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง)  ฯลฯ 

ชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่อาศัยต่อเนื่องมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ  ก่อนจะมีกฎหมายป่าไม้ เช่น พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504  และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507  แต่กฎหมายที่เดินทางมาถึงทีหลัง  ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกป่า ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย  นอกจากนี้ยังมีปัญหาผลกระทบจากการปลูกข้าวโพด  พืชเชิงเดี่ยว  ส่งผลต่อการขยายพื้นที่ทำกิน  เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ปัญหาการเผาซากไร่  ฝุ่นควัน  ปัญหาหนี้สินจากการปลูกข้าวโพด ฯลฯ  นำไปสู่การแก้ไขปัญหาทุกมิติ คือ  โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสMae Chaem Model Plus (ดูรายละเอียดที่ ‘แม่แจ่มโมเดล’...การแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิต ปลูกไผ่-กาแฟแทนข้าวโพด สร้างธุรกิจ ‘ต้นน้ำ-ปลายน้ำ’ www.thaipost.net)

การจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566  มีเป้าหมายเพื่อ 1.ยกระดับแผนที่อยู่อาศัยจังหวัดผ่านยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ โดยเชื่อมการดำเนินงานทั้งเมืองและชนบท  2.เรียนรู้รูปธรรมการพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอ/เมือง 3.เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยงานทุกภาคส่วน โดยการทำ MOU การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  และ 4.เพื่อสื่อสารการทำงานของเครือข่ายภาคประชาชนในการเป็นแกนหลักการพัฒนา

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช. (แถว 2 เสื้อขาว)  กับชาวท่าผาที่มารับหนังสือแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินฯ

เทศบาลตำบลท่าผามอบเอกสารการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินให้ชาวบ้าน 1,300 ราย 

โดยวันนี้ ( 8 ธันวาคม) ที่เทศบาลตำบลท่าผา  อ.แม่แจ่ม      จ.เชียงใหม่   มีการจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกภาคเหนือ 2566’ เพื่อนำเสนอรูปธรรมการแก้ไขปัญหาด้านที่ดิน  ที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในตำบลท่าผา  เนื่องจากที่ผ่านมาชาวบ้านในตำบลท่าผา  และตำบลต่างๆ อำเภอแม่แจ่มเกือบทั้งหมดมีปัญหาเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย ชาวบ้านส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม  และอุทยานแห่งชาติแม่โถ  ไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดิน  เกิดผลกระทบจากการปลูกข้าวโพด  ปัญหาฝุ่นควันจากการเผาซากไร่  การบุกรุกทำลายป่าต้นน้ำ  ปัญหาหนี้สินจากการทำเกษตร  ฯลฯ

การจัดงานในวันนี้มี  นายปิยะพงษ์  ประพันธ์วัฒนะ   รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ (ทส.จังหวัดเชียงใหม่) เป็นประธานในพิธี  มีนายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ นางสาวสมสุข  บุญญะบัญชา  ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  นายอุทัย  บุญเทียม  นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าผา  และประชาชนในตำบลท่าผาประมาณ 1,300 คนร่วมงาน

ภายในงานวันนี้มีพิธีการสำคัญคือ  การมอบเอกสารแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินทำกินที่ออกโดยเทศบาลตำบลท่าผาให้แก่ประชาชนตำบลท่าผาประมาณ 1,300 ราย  รวมประมาณ 2,100 แปลง  เนื้อที่ประมาณ 16,000 ไร่  ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่ดินทำกิน  และจะนำไปสู่การออกหนังสือรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน คทช.(คณะกรรการนโยบายที่ดินแห่งชาติ : คทช.)  โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต่อไป

ชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) รับมอบหนังสือแสดงการใช้ประโยชนท์ที่ดิน  ครอบครัวหนึ่งประมาณ 15 ไร่

นายชัชช์  แก้วบุตร  ปลัดอำเภอแม่แจ่ม กล่าวว่า  อำเภอแม่แจ่มมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจาก พอช. ที่ได้คัดเลือกพื้นที่อำเภอแม่แจ่มในการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2566 ร่วมกับเทศบาลตำบลท่าผา เพื่อมอบที่ดินรายแปลงและการเสนอรูปธรรมการพัฒนาในอำเภอ  เพราะแม่แจ่มเป็นหนึ่งในอำเภอที่ทุรกันดาร มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมสูง   อำเภอแม่แจ่มมี 7 ตำบล พื้นที่ 1.7 ล้านไร่ 70เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ป่าและพื้นที่ป่าสงวน การพัฒนาให้เกิดความยั่งยืน โดยเฉพาะกลไกในการแก้ไขปัญหานั้น เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

นายอุทัย บุญเทียม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าผา และประธานโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลท่าผา กล่าวว่า  การแก้ไขปัญหาที่ดินในตำบลท่าผาเริ่มมีการสำรวจข้อมูลชาวบ้านที่เดือดร้อนด้านที่ดินและที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2561 และต่อมาในปี 2563 ได้จัดทำโครงการบ้านมั่นคงชนบทเทศบาลตำบลท่าผา  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช.จำนวน 11 ล้านบาทเศษ  นำไปสู่การซ่อมสร้างบ้านครอบครัวที่เดือดร้อน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  ฐานะยากจน  รวม 205 ครัวเรือน  ปัจจุบันการซ่อมสร้างบ้านเรือนแล้วเสร็จ  ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม  มีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย

ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีการปรับปรุงระบบประปา และสร้างถังเก็บน้ำ ติดตั้งเครื่องกรองน้ำ ให้พี่น้องประชาชนได้บริโภคน้ำให้สะอาด รวมถึงการสร้างสระน้ำ เพื่อใช้ในการทำพืชผลทางการเกษตร  ฯลฯ  ด้านเศรษฐกิจ มีการส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ ให้มีการปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น ปลูกกาแฟ  ไผ่  เพื่อลดพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว เพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงส่งเสริมพี่น้องประชาชนปลูกผักอินทรีย์เพื่อบริโภคและสร้างรายได้ ส่งเสริมอาชีพ การจักสานไม้ไผ่ ส่งเสริมกลุ่มทอผ้าตีนจก สามารถสร้างรายได้ให้กับพี่น้องในชุมชน

“ส่วนการแก้ไขปัญหาที่ดินนั้น  เราเริ่มตั้งแต่ปี 2562  โดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทุกหมู่บ้าน ๆ ละ 5 คน  รวม 10 หมู่บ้าน  ทำงานร่วมกับป่าไม้  อำเภอ  โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส และเทศบาลท่าผา  มีการจัดประชาคมหมู่บ้าน  เพื่อชี้แจง  สร้างความเข้าใจแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกัน  เช่น  ถ้าใครทำกินหรือขยายพื้นที่ทำกินหลังปี 2557 จะไม่ได้รับสิทธิ์  เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่า  มีการจัดเก็บข้อมูลที่ดินทำกิน  ใช้เครื่องมือ GPS จับพิกัดที่ดินทำกินรายแปลง  แนวเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน  จนได้ข้อมูลที่ดินทั้งตำบลในปี 2563  จากนั้นจึงเอาข้อมูลมาทำประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับรองข้อมูล  รับรองสิทธิ์ให้ถูกต้องอีกครั้ง”  นายกเทศมนตรีตำบลท่าผาบอกถึงกระบวนการแก้ไขปัญหา

สำรวจ/ปักหมุดที่ดินเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินที่ตำบลท่าผาตั้งแต่ปี 2563 (ภาพจากเทศบาลตำบลท่าผา)

นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าผาบอกว่า  การจัดทำข้อมูลการครอบครองที่ดินทำกินรายแปลงในตำบลท่าผา  เป็นการแก้ไขปัญหาที่ดินตามแนวทางมติ ครม. 26 พฤศจิกายน 2561 และนำไปสู่การมอบสิทธิประโยชย์การใช้ที่ดิน คทช. โดยทางอำเภอแม่แจ่มและกรมป่าไม้เป็นผู้อนุญาตอย่างถูกต้อง  นำมาสู่การมอบเอกสารแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่ชาวบ้านในวันนี้  รวมประมาณ 1,300 ครอบครัว  ประมาณ 2,100 แปลง  เนื้อที่ประมาณ  16,000 ไร่  (เฉลี่ยครอบครัวหนึ่งประมาณ 15 ไร่)

ทั้งนี้หลังจากการมอบเอกสารแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่ชาวตำบลท่าผาในวันนี้แล้ว  กระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จะจัดทำหนังสืออนุญาตรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน คทช.(คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ : คทช.)ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม  อ.แม่แจ่ม  จ.เชียงใหม่  ให้แก่ประชาชนแม่แจ่มทั้งอำเภอ ประมาณ 38,000 ราย  เนื้อที่ประมาณ 420,000 ไร่ต่อไป

(กรมป่าไม้จะมอบหนังสืออนุญาตตามมาตรา 16 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และการอนุมัติโครงการตามมาตรา 19  พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เพื่อแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1,2 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติได้ถูกต้องตามกฎหมาย)

หนังสือหรือเอกสารแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดินออกให้โดยเทศบาลตำบลท่าผา  และกระทรวง ทส.จะออกหนังสืออนุญาตรับรองสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน คทช.(คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ : คทช.) ให้แก่ชาวแม่แจ่มทั้งอำเภอ ประมาณ 38,000 ราย  เนื้อที่รวมประมาณ 420,000 ไร่ต่อไป

‘บ้านมั่นคง’ สู่การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนทุกมิติ

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวว่า ในนามตัวแทนของ พอช. ภาคภูมิใจมากที่มีส่วนสนับสนุนตำบลท่าผาให้ได้รับการสนับสนุนและฟื้นฟูทั้งระบบ   ซึ่งการจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ ที่จัดขึ้นทั่วประเทศ วันนี้พิเศษมากที่มาจัดที่แม่แจ่ม หน่วยงานพัฒนาทั่วประเทศได้รู้จัก ‘แม่แจ่มโมเดล’

“การจัดครั้งนี้ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เท่ากับการให้เอกสารสิทธิ์กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ที่ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ทำให้พี่น้องได้รับการพัฒนาทั้งเศรษฐกิจ ที่อยู่อาศัยที่มั่นคง และรวมถึงด้านอื่นๆ เป็นการพัฒนาและฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น บ้านมั่นคงไม่ใช่เรื่องบ้านอย่างเดียว แต่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างบ้าน บ้านคือท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นทั้งหมดที่มั่นคง ผู้คนมีความรักสมัครสมาน  มาที่นี่เห็นแต่ความร่ำรวย ทุกคนยิ้มแย้มแจ่มใส ผ้าตีนจกสวยงาม เรามีความรวยในพื้นที่  การทำบ้านมั่นคงเป็นเครื่องมือให้ทุกท่านได้ใช้ระบบการพัฒนาให้พวกเราเข้มแข็ง เป็นการฟื้นฟูความร่ำรวยที่พวกเรามีอยู่ ให้ทุกสิ่งกลับมา”  นางสาวสมสุขกล่าวและว่า  แม่แจ่มโมเดลจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการพัฒนาพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

นางสาวสมสุขร่วมมอบหนังสือรับรองการใช้ประโยชน์ที่ดินให้แก่ชาวท่าผา

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’  กล่าวถึงบทบาทการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม มีใจความสำคัญว่า  ชุมชนท้องถิ่นเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ เรามีความเชื่อมั่นว่า ถ้าชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง ประเทศไทยไปรอด

พอช. คือองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการที่จะทำให้เกิดความร่วมมือของพี่น้องชุมชนกับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งได้ เกิดพลังในการประสานทุกภาคส่วน มาช่วยกัน ร่วมไม้ร่วมมือในการพัฒนาร่วมกัน พอช. ทำทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งชุมชนเมืองและชนบท เป็นเครื่องมือในการพัฒนา  คนมีบ้านแล้ว ยังไม่ถือว่าประสบผลสำเร็จ เพราะจะต้องมีทั้งเรื่องของเด็ก อาชีพ รายได้

นายกฤษดา  ผอ.พอช.

นอกจากนี้ในการเติมเต็มในมิติต่างๆ ทั้งสภาองค์กรชุมชน เป็นพื้นที่ให้พวกเราร่วมคิด หาทางออก มีระบบหนุนเสริมพี่น้อง มีการจัดสวัสดิการชุมชนมาเสริมระบบการดูแลกันของคนในชุมชน ให้เรามีทางเลือกของเราเอง ผสานความร่วมมือกับท้องถิ่นและรัฐบาล

 “ถ้าเราทำเรื่องราวต่างๆ ให้เข้มแข็งในท้องถิ่น งบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล หรือ พอช. ถือว่าเป็นวงเงินนิดเดียว ภาคเอกชนก็เป็นอีกส่วนที่จะนำงบประมาณมาลงในพื้นที่ แต่สิ่งที่ลงมาแล้วต้องทำให้เห็นผลเป็นรูปธรรมความสำเร็จ การทำให้กลไกของภาคประชาชนที่จะไปเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนผ่านความร่วมมือต่างๆ ไปสู่ความสำเร็จไปด้วยกัน”  นายกฤษดา  สมประสงค์ ผอ.พอช.กล่าวในตอนท้าย

โครงการบ้านมั่นคงในตำบลท่าผาที่ พอช.สนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านที่มีฐานะยากจน  รวม 205 ครอบครัว

นอกจากสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย  โครงการบ้านมั่นคงยังสนับสนุนการพัฒนาอาชีพ  สร้างรายได้  เช่น การทอผ้าตีนจก  ราคาผืนหนึ่ง 2,500-15,000 บาท  สืบสานศิลปวัฒนธรรมชาวแม่แจ่มให้ยืนยาวสืบต่อไป

*********

เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สิงห์อาสา ร่วมกับ ม.เชียงใหม่ ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจสุขภาพ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่

สิงห์อาสา โดย มูลนิธิพระยาภิรมย์ภักดี และ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ต่อเนื่องเป็นปีที่ 37 โดยได้ลงพื้นที่แรกที่อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ ร่วมกับ 3 มหาวิทยาลัย 7 คณะทางการแพทย์ ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์, คณะทันตแพทยศาสตร์, คณะเทคนิคการแพทย์ ม.เชียงใหม่

'บุญทรง' รายงานตัวที่เชียงใหม่ หลังได้พักโทษคดีทุจริตจีทูจีข้าว

นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เดินทางรายงานตัวที่สำนักงาน

โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด

เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล

'บุญทรง' พ้นคุก! ได้พักโทษกลับบ้านเชียงใหม่ คุมประพฤติ 3 ปี 5 เดือน

เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคุมประพฤติ 7 กทม. เดินทางไปที่ ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อติดกำไลอีเอ็ม ให้กับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้รับการอภัยโทษ