"กลุ่มฮักครอบครัว" ต้นแบบ..ช่วยเลิกดื่ม โมเดลชุมชนสุขภาวะ

นักดื่มที่เชียงใหม่ติดอันดับ 20 ของประเทศ ภาคเหนือครองแชมป์นักดื่มสูงสุด รองลงมาเป็นพื้นที่อีสาน อันดับ 3 ภาคใต้และกรุงเทพฯ ภาคกลางดื่มน้อยที่สุด สสส. สานพลัง "สมาคมฮักชุมชน" ลงพื้นที่ถอดบทเรียนความสำเร็จ “เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่” มีศักยภาพพร้อมเป็น “พื้นที่ต้นแบบชุมชนสุขภาวะ” ขับเคลื่อนการเลิกสุราผ่านกิจกรรม “กลุ่มฮักครอบครัว” ช่วยเลิกดื่มสำเร็จ   

จังหวัดเชียงใหม่ ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีนักดื่มอายุน้อยที่สุดแห่งหนึ่ง โดยมีนักดื่มอายุเพียง 15 ปี ซึ่งถือว่าติดอันดับที่ 20 ของประเทศ แต่มาถึงวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป จนกลับกลายเป็นพื้นที่ตัวอย่าง มีการถอดบทเรียนความสำเร็จในการลด ละ เลิกดื่ม เพื่อเป็นโมเดลสำหรับโครงการขับเคลื่อนการเลิกสุรา

นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนที่ 2 และประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้งานบูรณาการความปลอดภัยทางถนนและการลดปัจจัยเสี่ยงด้านแอลกอฮอล์ ในระดับพื้นที่เทศบาลตำบลสบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ว่า จากผลสำรวจสถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในภูมิภาคของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 พบว่าภาคเหนือมีความชุกของนักดื่มมากที่สุดในประเทศคือ 33.1% โดยมีสัดส่วนผู้ที่ดื่มหนัก (ดื่มสุรา 5-7 วัน/สัปดาห์) 39.3% ของนักดื่มทั้งหมดที่มี 2.2 ล้านคน

ผลกระทบจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุและอาชญากรรม ส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ 165,450 ล้านบาท และเป็นปัจจัยทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร สร้างความสูญเสียแก่ประเทศในวงกว้าง สสส.จึงร่วมกับสมาคมฮักชุมชน ริเริ่มโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าสู่กระบวนการ ลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเน้นการทำงานผ่านชุมชนและวัด เพราะใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมายและการป้องกันแก้ไขปัญหาในชุมชนร่วมกัน

“เจ้าตัวต้องพร้อมที่จะเลิกเหล้า ส่วนหนึ่งเขามีความสุขจากการดื่มเหล้า มึนๆ ตึงๆ เมาๆ ให้ลืมความทุกข์ คนไทยส่วนใหญ่มีฐานะยากจนรายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง มีความทุกข์ทางใจจากปัญหาเศรษฐกิจ ครัวเรือนมีหนี้สิน 90% ของ GDP สูงสุดในเอเชีย การสร้างชุมชนให้มีศักยภาพเป็นฐานในการพัฒนาการทำงาน ลดผลกระทบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พื้นที่ ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคีของหน่วยงานและคนในพื้นที่ ที่ตระหนักถึงปัญหาน้ำเมาและช่วยกันทำให้ชุมชนห่างไกลปัจจัยเสี่ยง เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้คนทุกช่วงวัยมีกาย จิต ปัญญา และสังคมที่ดี ตรงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ สสส.ต้องการสร้างสังคมให้มีสุขภาวะ ทั้งนี้ สสส.ตั้งเป้าหมายให้พื้นที่ ต.สบเตี๊ยะ เป็น 1 ในพื้นที่ต้นแบบการสานพลังภาคีเครือข่ายลด ละ เลิกการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และมุ่งขยายให้เกิดพื้นที่ต้นแบบในทุกภูมิภาคต่อไป” นพ.สุรเชษฐ์ชี้แจง

นางสาวรักชนก จินดาคำ นายกสมาคมฮักชุมชนขับเคลื่อนผู้มีปัญหาสุรา ชี้แจงว่า โครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชนของสมาคมฮักครอบครัว ทำงานมาแล้ว 5 ปี มีกระบวนการทำงาน 2 รูปแบบ คือ ธรรมนำทาง และกลุ่มฮักครอบครัว ดำเนินการใน 26 พื้นที่ 9 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด  ภาคเหนือ 3 จังหวัด และกรุงเทพฯ เป็นรูปแบบธรรมนำทาง 10 พื้นที่ รูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว 16 พื้นที่ โดยสร้างกลไกขับเคลื่อนงานที่ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของปัญหา มีความเข้าใจ มีความรู้ทักษะ มีเครื่องมือดูแลผู้มีปัญหาสุรา ที่พร้อมดำเนินการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาสุรา โดยที่ ต.สบเตี้ยะ มีการขับเคลื่อนงานร่วมกับ อปท.และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เป็นกลไกการทำงานขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราโดยชุมชน เพื่อให้ผู้มีปัญหาสุรามีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิก ดื่มสุรา ดื่มอย่างมีสติ ตระหนักรู้ว่าดื่มหนักจะส่งผลให้เกิดปัญหาครอบครัว มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนในครอบครัวและชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สนับสนุนให้เกิดความยั่งยืน

“การทำงานในพื้นที่นำร่อง 8 หมู่บ้านใน ต.สบเตี๊ยะ เป็นรูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว เพื่อเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นด้วย ดำเนินการในระยะ 2 ปี มีการอบรม พัฒนาทักษะคนในพื้นที่ 124 คนให้มีความรู้ด้านบริหารจัดการ และการจัดกิจกรรมกลุ่มฮักครอบครัว บำบัดการเลิกเหล้า โดยมีผู้มีปัญหาจากการดื่มสุรา ที่มีแนวโน้มดื่มจนทำให้เกิดปัญหากับตนเอง ครอบครัว และชุมชน เข้าร่วม 55 คน สามารถปรับพฤติกรรมการดื่มสุรา มีผู้ที่เลิกดื่มสำเร็จ 12 คน  (22%) ลดการดื่ม 38 คน (69%) ดื่มในระดับเดิม 4  คน (7%) และเสียชีวิตด้วยโรคประจำตัว 1 คน ทั้งนี้ ผู้มีปัญหาสุราส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยลดการดื่มสุรา มีสุขภาพดีขึ้น ได้รับโอกาสมีการจ้างงาน มีความเข้าใจในครอบครัวมากขึ้น และเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชนมากขึ้น ไม่ถูกตีตราว่าเป็นคนขี้เหล้า” นางสาวรักชนกเปิดเผย

คนที่ติดเหล้าสมองติดยาเหมือนกับการติดบุหรี่  ครอบครัวมีส่วนร่วมให้กำลังใจเพื่อหยุดดื่ม ด้วยการพูดให้ข้อคิด ลูกยังเล็กควรเลิกดื่มเหล้า เข้าการบำบัดได้แล้วจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เพราะคนดื่มเหล้าต้องใช้เงินถึงเดือนละ 4 หมื่นบาท เงินจำนวนนี้นำมาใช้จ่ายในครอบครัวได้อย่างดี สบเตี๊ยะประสบความสำเร็จที่เทศบาลใช้เวลา 2 ปี  ให้องค์ความรู้ปฏิบัติการ 8 ครั้ง ชุมชนสมัครใจเข้ามาเลิกเหล้า เมื่อลดละเลิกส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น มีกิจกรรมฟื้นฟูสุขภาพโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและยังมีปัญหาภายในครอบครัว

นายอภิวัฒน์ วังใจชิด ผู้ใหญ่บ้านบ้านห้วยโจ้ หมู่ที่ 8 ต.สบเตี๊ยะ ซึ่งเป็น 1 ใน 8 หมู่บ้านนำร่องกลุ่มฮักครอบครัว จากทั้งหมด 21 หมู่บ้านใน ต.สบเตี๊ยะ ในฐานะผู้นำกลุ่มฮักครอบครัว เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาสุราเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะคนในพื้นที่มองเป็นเรื่องส่วนบุคคล ความสนุกสนาน ไม่ผิดกฎหมาย อีกทั้งประเพณี วิถีวัฒนธรรมของชุมชนก็มีเรื่องเหล้าเกี่ยวข้องมายาวนาน  ปัญหาการดื่มสุราในพื้นที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ความรุนแรงในครอบครัว และความปลอดภัยในชุมชน จึงตัดสินใจเข้าร่วมกลุ่มฮักครอบครัวในปี 2564 ปัจจุบันในหมู่บ้านมีผู้ดื่มสุรา 40 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีปัญหาจากการดื่ม 6 คน จาก 6 ครอบครัวเข้าร่วมโครงการ ทำให้คณะทำงานได้เรียนรู้การมีส่วนร่วม มีทักษะการนำกลุ่ม มีความรู้มีทักษะประเมินปัญหาสุรา สามารถสร้างแรงจูงใจให้ตระหนักถึงปัญหาสุราและผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้คนในพื้นที่มีความเข้าใจกันมากขึ้น

“ขณะนี้มีผู้เลิกดื่มสุราได้ 3 คน ส่วนอีก 3 คนมีการปรับพฤติกรรมลดการดื่มสุราลง ส่งผลให้เกิดความเข้าใจในครอบครัวกันมากขึ้น เกิดความอบอุ่นในครอบครัว ช่วยลดปัญหาการขาดงานลางานจากการดื่มสุรา ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ทั้งนี้ปัญหาสุราต้องใช้เวลา ต้องเริ่มมาจากความสมัครใจ ตระหนักถึงปัญหา ข้อดีการลด ละ เลิก และได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัว ชุมชน เทศบาล  รพ.สต. และมี สสส. และภาคีให้ความช่วยเหลือให้แนวทางการทำงาน ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นพลัง ไม่โดดเดี่ยว ทำให้ ต.สบเตี๊ยะสามารถเป็นต้นแบบจูงใจ ให้เกิดการทำงานในระดับตำบลให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น” นายอภิวัฒน์เล่าถึงที่มา

ทั้งนี้ รูปแบบกิจกรรมของโครงการมี 2 รูปแบบ คือ 1.ธรรมนำทาง ระยะเวลา 12 เดือน มีกิจกรรม รู้ธรรม อยู่วัด 7 วัน 6 คืน และกิจกรรมติดตาม นำ หนุน ใจ 7  ครั้ง โดยมีกลไกขับเคลื่อนงาน 3 ภาคีหลักในชุมชน คือ 1.พระสงฆ์ ให้หลักธรรม สร้างสติ หนุนเสริมปัญญา 2.บุคลากรสุขภาพ ให้ความรู้ผลกระทบสุรา การดูแลสุขภาพ  การเฝ้าระวังภาวะถอนพิษสุรา และผู้นำชุมชน และ อสม. ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้มีปัญหาสุราสมัครใจเข้าร่วมกิจกรรม สนับสนุนกระบวนการติดตามผล สร้างความเข้าใจ ให้โอกาสแก่ผู้ที่อยากเลิกสุรา และลดการกระตุ้นการกลับไปดื่มซ้ำ 2.กลุ่มฮักครอบครัว ระยะเวลา 12 เดือน  มีกิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชุดทักษะความรู้  8 ครั้ง 8 สัปดาห์ และกิจกรรมติดตาม นำ หนุน ใจ 8 ครั้ง โดยผู้มีปัญหาสุราและสมาชิกในครอบครัวจะต้องมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง.


บันทึกภูมิใจ:ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มฮักครอบครัวด้วยการเลิกเหล้า

สมุดบันทึกภูมิใจ 1.อภัย ฮ่องแฮ่งสุน (บวชเป็นพระ) 47 ปี

2.นายบูรณ์ลือ ปัญญาจันทร์ 49 ปี

3.นายยมลพร ปัญญจันทร์ 30 ปี

4.น.ส.ศุภกานต์ ทนันชัย 45 ปี

5.น.ส.ฉันทนา สุทธะนะ (พิการ) 47 ปี

6.น.ส.สมบัติ มูลย่อง 59 ปี

การลงบันทึกจะช่วยทบทวนการดื่มสุรา ความคิดเมื่อพลั้งพลาดเผลอดื่ม การยอมรับคือสิ่งสำคัญต่อการกลับมาตั้งความหวังและฮึดสู้มีพลังให้มุ่งสู่จุดมุ่งหมาย อย่าเพิ่งยอมแพ้ จุดเริ่มต้นนั้นมักจะยากที่สุดเสมอ

บันทึกหน้านี้ยินดีกับคุณ จุดเริ่มต้นการนำตนเองสู่คนใหม่ที่ดีกว่าเดิม “คุณทำได้”

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่าย “ชุมชนล้อมรักษ์” ต้นแบบช่วยผู้ติดยามีความหวัง

ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาองค์รวม การแก้ไขไม่ใช่แค่เพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น แต่ถือเป็นปัญหาสุขภาพความเจ็บป่วย เมื่อเป็นแล้วก็เป็นใหม่ได้อีก

สสส. ปลื้ม ครบรอบ 4 ปี ThaiHealth Academy พัฒนานวัตกรรมหลักสูตรสุขภาวะ 82 หลักสูตร

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2567 ที่โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ แพลทินัม ประตูน้ำ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือ ThaiHealth Academy

"ออมสุขภาพ” รับวัยเกษียณ เตรียมพร้อมสู่สังคมผู้สูงวัย

สังคมไทยเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ขณะนี้มีผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน จากจำนวนคนไทย 66 ล้านคน และในอนาคตคืออีก 60 ปีข้างหน้า

เด็กไทย 1 ใน 10 น้ำหนัก/ส่วนสูงหลุดเกณฑ์ กระทบสมอง เสี่ยงปัญหาสุขภาพจิต ป่วย NCDs

นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากข้อมูลพัฒนาการเด็กปฐมวัยของไทย ปี 2566 โดยกรมอนามัย

วิจัยพบสังคมไทยเหลื่อมล้ำทุกมิติ สื่อสารในครอบครัวลดช่องว่างได้

ผลสำรวจเด็กและเยาวชนไทยปลอดภัยจากความรุนแรงออนไลน์ รั้งท้ายโลกเป็นอันดับที่ 29 เหนือกว่าอุรุกวัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบ 30 ประเทศทั่วโลกเมื่อปี 2022

กทม.เนรมิตเมือง 15 นาทีเป็นจริง สร้างพื้นที่สีเขียวอิ่มเอมใจทั่วกรุง

กทม.ทวีความรุนแรง เมืองจมฝุ่น การจราจรติดขัด ขาดแหล่งอาหาร สำรวจคนกรุงเผชิญรถติดเฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง หรือใน 1 ปีชีวิตติดหนึบอยู่บนรถเท่ากับ