พื้นดินส่วนที่แคบที่สุดในประเทศไทย
ตำบลหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ชุมชนชาวประมงเล็กๆ เป็นชุมชนชายฝั่งชายแดน อยู่ทะเลด้านตะวันออกสุด และมีพื้นดินส่วนที่แคบที่สุดในประเทศไทย บนเส้นทางสายตราด-คลองใหญ่ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 81-82 ซึ่งสามารถวัดระยะความกว้างจากชายฝั่งทะเลถึงเส้นแบ่งเขตแดนทิวเขาบรรทัดไทย–กัมพูชา จุดที่แคบที่สุดวัดจากชายฝั่งทะเลจรดทิวเขาได้เพียง 450 เมตร ต.หาดเล็ก เป็นหมู่บ้านที่มีพื้นที่ราบวัดจากขอบถนนถึงชายฝั่งทะเลเพียง 200 เมตร ด้านฝั่งภูเขาก็ไม่สามารถอยู่ได้เพราะเป็นเขตหวงห้ามตามแนวเขตเส้นพรมแดนประเทศ จึงทำให้ประสบกับปัญหาความแออัดของที่อยู่อาศัย ชุมชนต้องรุกล้ำลงไปในทะเลซึ่งเป็นพื้นที่ของกรมเจ้าท่า
ชุมชนชาวประมงตำบลหาดเล็ก
มารู้จักกับหาดเล็กดินแดนตะวันออกสุดของประเทศ
ตำบลหาดเล็กประกอบด้วย 5 หมู่บ้านที่อยู่รวมกัน แต่ละหมู่บ้านมีจุดเด่นและปัญหาแตกต่างกันไป ด้านเหนือสุดของหาดเล็ก มีลักษณะเป็นป่าชายเลนอยู่แล้ว แต่ด้วยการสร้างบ้านเรือนและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ป่าเลยหายไปมาก บริเวณกึ่งกลางหาดเล็ก มีปัญหาเรื่องคลื่นซัดแรงและลมพัดแรง เป็นหมู่บ้านที่บ้านเรือนเสียหายหนักที่สุด สิ่งแรกที่ต้องแก้ไขจึงเป็นการออกแบบแนวกันคลื่นโดยใช้ไม้ไผ่ คอนกรีต และป่าชายเลนเป็นตัวกรองแรงคลื่นรวมกัน 3 ชั้น ถัดลงมาด้านใต้เป็นหมู่บ้านที่ยังทำประมงเรือเล็กอยู่อย่างชัดเจน และยังมีวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวหาดเล็กหลงเหลืออยู่มาก จึงเน้นการชวนนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้ชีวิต อยู่โฮมสเตย์ กินอาหารทะเล และเรียนรู้วิถีชาวประมงด้านใต้สุดแหลม ติดชายแดนกัมพูชา จึงเป็นที่ตั้งของตลาดสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้า หมู่บ้านนี้มีตลาดและลานกิจกรรมให้คนได้ออกมานัดเจอพบปะกัน ถัดลงมาด้านใต้ เป็นบริเวณที่มีคนอยู่เยอะที่สุด ทำให้เกิดปัญหาความเป็นอยู่ที่แออัด มีขยะเยอะ รวมถึงมีทั้งคนไทยและกัมพูชา เวลาจะคุยอะไรก็ต้องใช้เวลามากหน่อย แต่ข้อดีคือที่นี่มีประเพณีดั้งเดิมน่ารักๆ หลายอย่าง เช่น ลอยกระทง 2 แผ่นดิน ไทย-กัมพูชา และงานแข่งเรือ สิ่งที่พวกเขาต้องการจึงเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับส่งเสริมให้กิจกรรมเหล่านี้เข้าถึงง่าย ปลอดภัย และเหมาะกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
สภาพบ้านเรือนของตำบลหาดเล็ก
ผลกระทบจาก พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560
หลังจากรัฐบาล ออก พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2560 ส่งผลให้ผู้ที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ในน้ำต้องแจ้งขออนุญาตกับกรมเจ้าท่า ในเวลากำหนด หากเพิกเฉยจะมีความผิด มีโทษปรับย้อนหลัง ส่งผลให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว จึงมีการสั่งชะลอการบังคับใช้กฎหมายไว้ก่อนพื้นที่ ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด ถือเป็นชุมชนชาวประมง ปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่กรมเจ้าท่ามาช้านาน จำนวน 738 ครัวเรือน พื้นที่ครอบคลุมทั้งหมด 5 หมู่บ้าน จึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากจะให้ย้ายขึ้นบนบก ย่อมไม่มีพื้นที่ราบ เพราะอยู่ติดภูเขา เทศบาลตำบลหาดเล็ก จึงร่วมกับผู้นำชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)-กรมเจ้าท่า ลงพื้นที่ทำการสำรวจพบบ้านเรือนที่อยู่ริมน้ำ-ในน้ำ 504 ครัวเรือน ตามวิถีชุมชนดั้งเดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรมใกล้พัง เจ้าของบ้านต่างได้รับความเดือดร้อนและวิตกกังวล ไม่สามารถซ่อมแซมด้วยตัวเองได้ เนื่องจากฐานะยากจน และติดข้อกฎหมาย
ด้วยความร่วมมือของชุมชนในการช่วยกันดูแลรักษาพื้นที่อย่างเต็มที่ จึงทำให้ได้รับการปลดล็อกจากกรมเจ้าท่าในการอนุญาตให้อยู่ในพื้นที่ได้โดยมีข้อตกลงในการรักษาความสะอาดและห้ามบุกรุกเพิ่มเติม ปัจจุบันพื้นที่นี้กำลังกลายเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติริมทะเล และถูกยกให้เป็นพื้นที่นำร่องในการจัดการที่อยู่อาศัยบนพื้นที่ของกรมเจ้าท่า ภายในชื่อ “หาดเล็กโมเดล”
พอช.ทุ่ม 31 ล้าน พัฒนา “หาดเล็กโมเดล” เป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนบนที่ดินกรมเจ้าท่า
จากการสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนในที่ดินรัฐเพื่อซ่อมแซมปลูกสร้างที่อยู่อาศัยใน ต.หาดเล็ก ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. พบว่า จำเป็นต้องมีการปรับปรุงที่ดินใหม่และที่ดินเดิมภายใต้งบประมาณกว่า 31 ล้านบาท ทั้งการจัดซื้อที่ดินสร้างบ้านใหม่ เพื่อลดการแออัดของจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ชุมชน และการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ทรุดโทรม สร้างตลาดชุมชน พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน นอกจากการทำประมงของชาวบ้านตำบลหาดเล็ก
ปัญหาการบุกรุกที่ดินรัฐทั่วประเทศพบว่ามีทั้งที่ดินกรมเจ้าท่า ป่าไม้ และป่าชายเลน ที่ถูกประชาชนบุกรุกเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ซึ่งรัฐมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างระมัดระวัง ขณะที่ ต.หาดเล็กเอง จะเป็นต้นแบบของประเทศไทยในการแก้ไขปัญหาด้วยการไม่รื้อบ้านของผู้บุกรุก แต่กำหนดให้ไม่มีการรุกล้ำเพิ่ม รวมทั้งพัฒนาบ้าน พัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นตามนโยบาลของรัฐบาล
พอช.จึงสนับสนุนงบประมาณจำนวน 31 ล้านบาทเศษ ใช้ซ่อมแซมบ้านเรือน วงเงิน 2.5 หมื่นบาท/หลัง และพัฒนาสาธารณูปโภค 2.5 หมื่นบาท ภายใต้ชื่อ “หาดเล็กโมเดล” ถือเป็นการเดินหน้าพัฒนา “โครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่กรมเจ้าท่า”
ชูหาดเล็กต้นแบบบ้านมั่นคงในที่ดินกรมเจ้าท่า
ความไม่มั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัยของประชาชนที่ปลูกสร้างบ้านเรือนในที่ดินกรมเจ้าท่าเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานานหลายสิบปี เนื่องจากที่ดินริมแม่น้ำและชายฝั่งทะเลที่กรมเจ้าท่าดูแลอยู่ทั่วประเทศ มีประชาชนเข้าไปปลูกสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยต่อเนื่องมานาน แต่ส่วนใหญ่ปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง เมื่อบ้านเรือนทรุดโทรมก็ไม่สามารถซ่อมแซมหรือปรับปรุงสภาพให้ดีขึ้นได้ เนื่องจากติดขัดกฎระเบียบของกรมเจ้าท่า เช่น พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย,พ.ร.บ.การประมง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา รัฐบาลชุดปัจจุบันได้พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยใช้ชุมชนในเขตเทศบาลตำบลหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาที่ดินกรมเจ้าท่า โดยกรมเจ้าท่าออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำแก่ชาวบ้านเพื่อซ่อมสร้างบ้าน รวมทั้งหมด 738 หลัง และจะร่วมกับกรมท่าแก้ปัญหาทั่วประเทศ
นาย ศุรศักดิ์ คุ้มปลี รองนายกเทศมนตรีตำบลหาดเล็ก กล่าวว่า ชาวชุมชนหาดเล็กได้ร่วมกันพิจารณาวางหลักเกณฑ์ กำหนดกติกา หลักเกณฑ์และจัดระบบการบริหารจัดการพื้นที่ร่วมกัน และป้องกันการปลูกสร้างอาคารล่วงล้ำลำน้ำขยายเพิ่มขึ้น เกิดการปรับปรุง ซ่อมแซมหรือก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้มีความมั่นคงแข็งแรงเหมาะสม ในการอยู่อาศัย ควบคู่กับการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม การพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนการพัฒนาตามแผนงานของชุมชน บูรณาการการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า เกิดรูปธรรมการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ส่วนการซ่อมแซมบ้านจะซ่อมแซมบ้านเรือนที่ทรุดโทรมทั้งหมด ใช้แรงงานจากสมาชิกในชุมชน ช่างชุมชนอาสา และทหารเรือ มาช่วยซ่อมสร้างบ้านให้กับชุมชน
จะเห็นว่าตำบลหาดเล็ก มีมีความโดดเด่นและหลากหลาย ชาวบ้านมีการสร้างบ้าน อยู่ในน้ำและจอดเรือไว้ บริเวณที่อยู่อาศัย ในอดีตที่นี้เคยมีปัญหาเกี่ยวกับการปลูกบ้านในน้ำ แต่ชาวบ้านรวมทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น ดูแลรักษาผืนน้ำผืนป่าและระบบนิเวศน์ จึงทำให้กรมเจ้าท่าเห็นถึงความตั้งใจและการรวมพลังเพื่อพัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลและนำมาสู่การอนุญาต ให้มีการสร้างที่อยู่อาศัยในน้ำภายใต้ชื่อ "หาดเล็กโมเดล" ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเดินหน้าพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ของกรมเจ้าท่าและในที่สุดทำให้ "หาดเล็กโมเดล" ชุมชนในน้ำ ต้นแบบบ้านมั่นคงในที่ดินกรมเจ้าท่าแห่งแรกในประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’
พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล
'อนุทิน' ลุย 'เกาะกูด' ยันของไทย ไม่มีวันยอมเสียดินแดนให้ใคร
'อนุทิน' ลงพื้นที่เกาะกูด ลั่นรัฐบาลนี้ไม่มีวันยอมเสียดินแดนแม้แต่ตารางนิ้วเดียว พร้อมขอบคุณก๋งวัย 92 ปี ยืนยันเป็นของไทย 100%
‘ภูมิธรรม’ ทุบฝ่ายต้านบิดเบือน MOU เกาะกูด ทำผลประโยชน์ชาติสั่นคลอน
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "ผลประโยชน์ชาติสั่นคลอน เมื่อการเมืองบิดเบือน MOU เกาะกูด" ระบุว่าการจุดประเด็นทางการเมืองเรื่อง MOU 44 ในช่วงนี้ ได้สร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยในหลา
สกัดไฟลามทุ่ง! ฮึ่ม ผู้ว่าฯตราดเร่งแจงปมร้อนเกาะกูด
รองปลัดกระทรวงมหาดไทยเตือนผู้ว่าฯตราด,นายอำเภอเกาะกูดทำความเข้าใจกับชาวตราด ปัญหาเขตแดน ก่อนบานปลาย
เด็ก 3 ขวบติดในรถ! พ่อลงไปกดเงิน กู้ภัยเร่งช่วย
สมาคมกู้ภัยสว่างบุญช่วยเหลือจังหวัดตราด รับแจ้งมีเหตุเด็กติดในรถ บริเวณหน้าธนาคารออมสิน สาขาเขาสมิง อ.เขาสมิง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’