สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT   หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’  กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ World Habitat Day’  เริ่มตั้งแต่ปี 2528 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก

ทั้งนี้ที่ผ่านมา  ภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs  ทั่วโลก  จะจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกทุกปี  เพื่อให้รัฐบาลในประเทศนั้นๆ  แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย  รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจน

ในประเทศไทย  เครือข่ายคนจนที่ทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายที่อยู่อาศัยเมืองและชนบท สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) สหพันธ์ชุมชนแออัดคลองเตย   ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move ) เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ  ฯลฯ  ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาต่างๆ  เช่น  ชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  การแก้ไขปัญหาที่ดินชาวเล  ที่ดิน ส.ป.ก.  ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ  ฯลฯ

ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 7 ตุลาคม  UN – HABITAT มีคำขวัญว่า ENGAGING YOUTH TO CREATE A BETTER URBAN FUTURE” หรือ “คนรุ่นใหม่กับการพัฒนาเมือง”   โดยองค์กร  ภาคีเครือข่ายที่ทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนในประเทศไทยได้ร่วมกันจัดงานรณรงค์แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ  เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา ไปจนถึงเดือนธันวาคมนี้

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 เครือข่ายบ้านมั่นคงจังหวัดต้องเป็นหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในทุกมิติ

ล่าสุด วันที่ 28-30 ตุลาคม 2567  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) หรืแ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายที่อยู่อาศัยเมืองและชนบท เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ  และภาคีเครือข่าย จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกประเทศไทย ปี 2567 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้แบ่งการจัดงานออกในหลายส่วนทั้งการจัดงานในพื้นที่ 3 พื้นที่   ได้แก่ พิธียกเสาเอก “การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต”  โครงการบ้านมั่นคงเมืองท่าข้าม เทศบาลเมืองท่าข้าม อำเภอพุนพิน    เวทีเสวนาการบริหารจัดการในที่ดินรัฐ โดยขบวนองค์กรชุมชนอำเภอชัยบุรี เวทีความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดินและที่อยู่อาศัย พร้อมศึกษาดูงานโครงการบ้านมั่นคงเกาะสมุย  เทศบาลนครเกาะสมุย  เวทีสัมมนาคณะทำงานบ้านมั่นคงจังหวัด สู่วาระจังหวัดในการ “การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต” รวมทั้งการ ประกาศเจตนารมณ์ คณะทำงานเครือข่ายบ้านมั่นคงจังหวัดเป็นหลักในการขับเคลื่อนทุกมิติอย่างมีส่วนร่วม

เวทีความร่วมมือการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดินและที่อยู่อาศัยสมุย

“สมุย ทำทั้งเกาะ” ตั้งเป้า 4 ปีแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

เกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวและเป็นแหล่งงานที่คนทั่วประเทศเดินไปหางานทำอย่างไม่ขาดสาย จนทำให้เกาะสมุยเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยที่ท้องถิ่นหรือหน่วยงานภาครัฐ ไม่อาจสร้างที่อยู่อาศัยและระบบสาธารณูปโภครองรับได้เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อยู่อาศัยของประชากรแฝงเหล่านี้จากข้อมูลพบว่ามีครอบครัวที่เข้ามาอยู่อาศัยบนเกาะสมุยเพื่อหางานทำไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นครอบครัว

ในปี พ.ศ.2554 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.  ได้เข้าไปทำงานเพื่อสนับสนุนให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่โครงการบ้านมั่นคง  รวมกลุ่มกันคิดค้นความต้องการร่วมกัน ซึ่งก็มีผู้ประสงค์เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงจำนวน 2 โครงการ เนื่องจากยังไม่มั่นใจ ประกอบกับที่ดินบนเกาะสมุยราคาแพงจนหาพื้นที่สร้างบ้านมั่นคงได้ยากแต่ความสำเร็จของ 2 โครงการดังกล่าวก็ได้จุดประกายความคิดให้ชาวบ้านและผู้บริหารท้องถิ่นมองเห็นแนวทางในการสนับสนุนผู้ด้อยโอกาสเหล่านี้ให้มีที่ดินที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

นายรามเนตร ใจกว้าง นายกเทศมนตรีนครเกาะสมุย ได้กล่าวถึง เกาะสมุยเกือบ 20 ปี ที่ผ่านมา เกิดโครงการบ้านมั่นคงที่เกาะสมุย โครงการที่ 1 ชาวบ้านมีการเช่าที่ดินก่อสร้างบ้าน หลังจากนั้นได้มีโครงการที่ 2 ต.แม่น้ำเกิดขึ้น ชุมชนได้มีที่ดิน บ้านเป็นของตนเอง ต่อมาเกิดโครงการที่ 3 ของชุมชนมุสลิม ต.หัวถนน การมีบ้านให้กับชาวบ้าน ที่อยู่อาศัยที่เป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องพัฒนาควบคู่ไปในทุกๆด้าน ทั้งคุณภาพชีวิต สังคม แม่และเด็ก การศึกษา สุขภาพ อาชีพ รายได้ ปัจจุบันเริ่มมีการพัฒนาเข้าสู่โครงการที่สี่ เกาะสมุยต้องไม่เจริญไปอย่างรวดเร็ว แต่คนไม่เหลือ เขาอยู่ได้ เราอยู่ด้วย ต้องมีคุฯภาพชีวิตที่ดีในทุกๆด้าน

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและจัดการที่ดิน ได้ให้แนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย ของเกาะสมุยว่า  สมุย ต้อง ทำ ทั้ง เกาะ สร้างความชัดเจนเรื่องที่ดินที่คลุมเครือ เจรจาเจ้าของที่ดิน สร้างระบบให้ชัดเจน  เราเห็นความสำเร็จ รูปธรรมที่เกิดขึ้น ว่ามันคุ้มค่ากว่า ดีกว่า การอยู่อาศัยในห้องเช่า บ้านเช่า ไม่มีเหตุผลใด ที่เราจะไม่ทำต่อ บ้านมั่นคงเป็นโครงการพิเศษ เพราะชาวบ้านเป็นเจ้าของ เป็นผู้สร้าง ดูแล พัฒนา เป็นอิสระต่อคนจน และหน่วยงานท้องถิ่น  การสร้างสังคม การอยู่ร่วมกัน ไม่่ได้ยาก พิสูจน์ได้จากชุมชนบ้านมั่นคงเกาะสมุยที่เกิดขึ้นนี้ การสร้างระบบชุมชน ทำให้เราเห็นภาพสังคมการอยู่ร่วมกันที่มีคุณค่า เกิดทรัพย์ใหม่ทางสังคม ที่นอกเหนือจากตัวเงิน เป็นทรัพย์จิตใจ ทรัพย์การช่วยเหลือ สิ่งดีๆเหล่านี้ ในโครงการบ้านมั่นคงเกาะสมุย 15 ปี ที่ผ่านมากับการพัฒนาโครงการบ้านมั่นคงเกาะสมุย เราได้ลองผิด ลองถูก เกิดประสบการณ์ การเรียนรู้ คนในชุมชนเกิดความเชี่ยวชาญ ส่งต่อสิ่งเหล่านี้ไปยังชุมชนอื่นๆได้

“ชัยบุรี บริหารจัดการที่ดินโดยองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก”

ภาพรวมการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยตำบลไทรทอง อำเภอชัยบุรี เดิมเป็นเพียงหมู่บ้านหนึ่งของตำบลสองแพรก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสลับภูเขาสูงต่ำ ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน และสวนผลไม้ มีแม่น้ำ ลำธารไหลผ่าน 8 สาย ในฤดูแล้งบางพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ในฤดูฝนเกิดอุทกภัย การปลูกพืชผักจะมีบ้างเล็กน้อย

โครงการบ้านมั่นคงชนบท สหกรณ์การเกษตรไทรทอง จำกัด ตั้งอยู่ในแปลงนายสุทัศน์ คุณรักษ์พงษ์  (แปลง 2 NO.44) ท้องที่ตำบลไทรทอง อ.ชัยบุรี เนื้อที่ประมาณ 897-1-60 ไร่ 114 ครัวเรือน เป็นที่ดินกรมป่าไม้ โดยการจัดสรรคที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล สามารถดำเนินการในพื้นที่ได้ ตามความเห็นของ สคก.  ปี 2528 บริษัทรวมชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด ขอเช่าที่ดินจากกรมป่าไม้ เนื้อประมาณ 15,000 ไร่  ปี 2531 มีการยกเลิกการดำเนินการของบริษัท ที่ดินทั้งหมดถูกแยกการถือครองเป็นรายบุคคล 4 ราย คือ นายสุทัศน์/นายธนภัทร/นายเกษม /นายสมโภช และยื่นขออนุญาตจากรมป่าไม้แต่ไม่ได้รับอนุญาต   ปี 2536 กรมป่าไม้ประกาศเป็นป่าเสื่อมโทรม ประกาศเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  ปี 2546 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเสนอรัฐบาลให้ตรวจสอบการถือครองที่ดิน มติ ครม. 14 ส.ค. 2546 ตรวจสอบการถือครองที่ดิน   ปี 2558 สปก. ฟ้องขับไล่ ทุกคดีอยู่ช่วงศาลฎีกา แปลงนายสุทัศน์ 2 แปลง ยอมความคืนที่ดินให้รัฐโดยไม่มีการคัดค้าน   ปี 2559 คทช จังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศดำเนินการจัดที่ดินตามกระบวนการจัดที่ดินให้ชุมชนตามนโยบายของคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินจังหวัด

โครงการบ้านมั่นคงชนบทไทรทอง

โครงการบ้านมั่นคงชนบท สหกรณ์การเกษตรไทรทอง จำกัด ได้รับการสนับสนุนการแก้ปัญหา ในรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัย สร้างชุมชนใหม่ในที่ดินรัฐ จำนวน 1 โครงการ โดยมีผู้เดือดร้อนที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับการสนับสนุนโครงการ จำนวน 114 ครัวเรือน งบประมาณรวมทั้งสิ้น 4,960,000 บาท โดยแบ่งเป็น งบอุดหนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย จำนวน  4,560,000 บาท งบพัฒนากระบวนการ จำนวน 400,000 บาท  ปัจจุบัน ได้ดำเนินการสร้างบ้านแล้วเสร็จ 144 ครัวเรือน อยู่ระหว่างดำเนินการปิดโครงการกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

“การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ท่าข้าม”

เทศบาลเมืองท่าข้าม เป็นเมืองขนาดใหญ่  มีที่ดินของรัฐอยู่หลายประเภท และหลายชุมชน ทั้งที่ดินรถไฟ/ราชพัสดุ/เจ้าท่า/และที่ดินวัด ส่วนใหญ่ที่ดินรถไฟ และราชพัสดุ  จะอยู่ในตัวตลาด ใกล้ๆ สถานีรถไฟสุราษฎร์ธานี ชาวบ้านในที่ดินรถไฟที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางคู่ ส่วนใหญ่จะบุกรุกที่ดินรถไฟ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี บ้านเรือนทรุดโทรม ส่วนชาวบ้านที่อยู่ที่ดินราชพัสดุก็ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางไปด้วย  ด้านหน้าติดรถไฟ  ด้านหลังติดที่ราชพัสดุ หากมีการพัฒนาระบบรางคู่ในอนาคต ชาวบ้านที่อยู่ในดินราชพัสดุ ก็จะโดนปิดทางเข้า-ออก วิถีชีวิตก็จะเปลี่ยนแปลง และที่ดินราชพัสดุชาวบ้านต้องต่อสัญญาปีต่อปี ทำให้ชาวบ้านไม่มีความมั่นคงในที่ดิน  ที่ดินราชพัสดุส่วนใหญ่จะเป็นชุมชนแออัด

จากการสำรวจข้อมูลมีผู้เดือดร้อนทั้งเมือง พบว่ามีผู้เดือดร้อนทั้งหมด จำนวน 2,350 หลังคาเรือน ประกอบด้วย อาศัยอยู่ในที่ดินรถไฟ จำนวน 385 หลังคาเรือน ที่ดินราชพัสดุ จำนวน 1,842 หลังคาเรือน ที่ดินเจ้าท่า จำนวน 53 หลังคาเรือน ที่ดินวัด จำนวน 70 หลังคาเรือน ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยภายใต้โครงการบ้านมั่นคง “สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเมืองท่าข้าม 2023 จำกัด” ในรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัยสร้างชุมชนใหม่ในที่ดินใหม่ โดยมีผู้เดือดร้อนที่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับการสนับสนุน จำนวน 44 ครัวเรือน

นางนงค์เนตร ศรีทอง เครือข่ายริมรางรถไฟเมืองท่าข้าม  การพัฒนาที่อยู่อาศัยในพื้นที่ริมรางรถไฟเมืองท่าข้าม เริ่มมาจากมีบ้านมั่นคงในพื้นที่เทศบาลเมืองท่าข้าม ชุมชนที่อยู่ในพื้นที่รถไฟมีการรวมกลุ่มกัน มีเจ้าหน้าที่ พอช. และเครือข่ายมาแนะนำว่ามีโครงการบ้านริมรางรถไฟ มีการนัดประชุมชาวบ้านชุมชนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองท่าข้ามมาเข้าร่วม แต่มีอุปสรรค เนื่องด้วยบางคนอยู่มานานตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ไม่เชื่อว่าจะมีใครมาไล่ จึงไม่เข้าร่วมกลุ่มอยู่หลายหลัง    ปัจจุบันเริ่มมีการดำเนินโครงการแล้วในพื้นที่ชุมชนท้ายควน บนควน ซึ่งอยู่ในขั้นตอนออมทรัพย์ แต่ก็มีคำถามว่าออมไปทำอะไร บางคนอยากเข้าร่วมแต่ไม่ออม (ส่งชื่อแต่ไม่ส่งเงิน) จึงได้มีการจัดเป็น 2 เฟส เพื่อให้เห็นรูปธรรม ส่วนการขอเช่าที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตามความพร้อมในการพัฒนาโครงการของแต่ละชุมชน เนื่องด้วยไม่สามารถรอดำเนินการพร้อมกันได้ อีกทั้งเป็นการสร้างรูปธรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่ยังไม่มีความมั่นใจในโครงการ ดังนี้  กลุ่ม A พร้อมพัฒนาโครงการปี 2568 จำนวน 5 ชุมชน รวม 134 ครัวเรือน ประกอบด้วย ชุมชนพรุพี ชุมชนหมู่ 3 (คลองปราบ) ชุมชนห้วยมุด 2 ชุมชนหน้าสถานีรถไฟนาเดิม วัดดอนกระดินกลุ่ม B พร้อมพัฒนาโครงการ ปี 2569 จำนวน 5 ชุมชน 289 ครัวเรือน ประกอบด้วย ชุมชนห้วยมุด 1 ชุมชนห้วยมุด 3 ชุมชนท้ายควน ชุมชนบ้านกลางและบ้านล่าง  กลุ่ม C พร้อมพัฒนาโครงการปี 2570 จำนวน 9 ชุมชน 495 ครัวเรือน ประกอบด้วย ชุมชนบ้านตลาดมะลวน ชุมชนบ้านไทรห้อง ชุมชนตลาดบ้านส้อง ชุมชนยุพราช ชุมชนเหมืองแกะ ชุมชนสะพานหนึ่ง ชุมชนพูลศิริ ชุมชนหน้าสถานีรถไฟนาสาร ชุมชนตลาดบ้านส้อง ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มรอการตัดสินใจ โดยมีแผนดำเนินการ ปี 2568 – 2570 รวม 24 ชุมชน 1,000 ครัวเรือน 

โครงการบ้านมั่นคงเกาะสมุย

พอช.  แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนกว่า 1 ล้านครัวเรือน

จากปัญหาการขาดแคลนที่ดินที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย  รัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)  มีเป้าหมายกว่า 3 ล้านครัวเรือนมีวิสัยทัศน์ “คนไทยมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579”  กระทรวง พม.มอบหมายให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. จัดทำแผนดำเนินการ  จำนวน 1 ล้าน 5  หมื่นครัวเรือน   กลุ่มเป้าหมายเป็นชุมชนที่มีรายได้น้อยที่ไม่มีที่ดินและที่อยู่อาศัยที่มั่นคงทั่วประเทศ  เช่น  ชุมชนในที่ดินเช่าหรือบุกรุก  

พอช. ได้ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  ทั้งในเมืองและชนบท  เช่น  โครงการบ้านมั่นคง  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร  โครงการบ้านพอเพียง  (สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่ยากจน  สภาพทรุดโทรม  ไม่ปลอดภัย)  กลุ่มคนไร้บ้าน ชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนริมแม่น้ำ ชุมชนที่โดนไฟไหม้  ไล่รื้อ  (บ้านพักชั่วคราว)  ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม   พอช.ได้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา  มีแนวทางดำเนินงานที่สำคัญคือ “ให้ชุมชนที่เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  ส่วน พอช.ทำหน้าที่สนับสนุน”  ถือเป็นการพัฒนาชุมชนแนวใหม่ที่ให้ผู้เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  นำไปสู่การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ไม่ต้องอยู่ในที่ดินบุกรุก  สภาพแออัด  เสื่อมโทรม  หรือถูกขับไล่อีกต่อไป

แนวทางและทิศทางการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยวันที่อยู่อาศัยโลกปี2567

1.ทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่อยากให้เกิดในอนาคต  จังหวัดเป็นกลไกกลางในการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ (ที่อยู่อาศัย/รายได้/เศรษฐกิจ/สังคม)  บูรณาการการทำงานร่วมกับภาคี และทรัพยากรจากทุกภาคส่วน (ข้อมูล/คน/งบประมาณ/งาน) ฐานข้อมูลการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัย (แผน 5 ปี /10 ปี /20 ปี)  เชื่อมโยงงานระดับนโยบาย (TP MAP /กฎหมาย/สังคมและการเมือง) ขยายฐานการทำงานภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง (พัฒนาคนทำงาน)  ประชาสัมพันธ์สื่อสารพื้นที่รูปธรรมการทำงานพื้นที่ด้านที่อยู่อาศัย  สร้างพื้นที่รูปธรรมและขยายผลการทำงาน

2.กลไกคณะทำงานเครือข่ายบ้านมั่นคงระดับจังหวัด เชื่อมโยง มองภาพรวม สร้างดุลย์ สร้างเวทีกลางเพื่อสนับสนุนการทำงานบ้านมั่นคงในจังหวัด ทำให้เกิดแผน และนโยบายระดับจังหวัด ครอบคลุมพื้นที่ชุมชนทั้งเมืองและชนบทในจังหวัดเชื่อมโยงการสนับสนุน รับรู้ จากกลไกรัฐและหน่วยงานเกี่ยวข้องระดับจังหวัด  สนับสนุนการทำงานพื้นที่เพื่อให้เกิดพื้นที่รูปธรรม  สร้างคนทำงานทีมย่อยในการลงหนุนเสริมการทำงานในพื้นที่ จัดทำทำแผนพัฒนาที่อยู่ระดับจังหวัด เชื่อมโยงสนับสนุนโครงการที่พัฒนาแล้วเป็นศูนย์เรียนรู้ และมีแผนแก้ปัญหาโครงการที่ทำยังไม่แล้วเสร็จ พัฒนาความรู้ พัฒนาคน สร้างคนรุ่นใหม่ ทีมย่อยในการหนุนเสริม/ทีมย่อยเรื่องที่ดิน/ทีมย่อยช่างชุมชน/ทีมย่อยบริหารจัดการ พัฒนาคุณภาพการจัดการโดยชุมชน พัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงาน สาธารณะ พัฒนาสื่อสารประชาสัมพันธ์  เติมเต็มแลกเปลี่ยนเพื่อพัฒนาแผนงานโครงการ

3.แผนการขับเคลื่อนงาน เปิดเวทีทำความเข้าใจร่วมกับหน่วยงาน/ภาคี วิเคราะห์สถานการณ์ที่ผ่านมาของแต่ละจังหวัด (ปัญหาและแนวทางแก้ไข) สร้างความเข้าใจทิศทางการทำงาน/บทบาทหน้าที่ร่วมกัน  จัดทำ/ทบทวนระบบข้อมูลในระดับพื้นที่ให้สมบูรณ์ (ชุมชน/ตำบล/เมือง/อำเภอ/จังหวัด) กำหนดแผนพัฒนาในระดับพื้นที่ (ชุมชน/ตำบล/เมือง/อำเภอ/จังหวัด) /ข้อมูลร่วม  ประชุมจัดทำแผนการขับเคลื่อนระดับจังหวัดร่วมกับหน่วยงานภาคี พัฒนาศักยภาพคนทำงาน/คนรุ่นใหม่สนับสนุนความรู้ใหม่/เทคโนโลยีการถ่ายทอดองค์ความรู้พื้นที่รูปธรรม

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'พล.อ.เกรียงไกร' ร่วมรำลึก 83 ปีสงครามมหาเอเชียบูรพา

“พล.อ.เกรียงไกร” รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 นำประชาชนชาวสุราษฎร์ธานี รำลึก 83 ปีสงครามมหาเอเชียบูรพา นำสักการะอนุสาวรีย์ครูลำยอง วิศุภกาญจน์ เนื่องในวันวิญญาณ ประจำปี 2567 โรงเรียนสุราษฎร์ธานี

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ