'ชัชชาติ' ลั่นฟื้นตลาดจตุจักรเป็นตลาดระดับโลก

ผู้ว่าฯ กทม.หารือผู้ว่ารถไฟ เตรียมคืนชีพตลาดนัดจตุจักรให้เป็นตลาดระดับโลก ลั่นไม่ต้องกังวลเรื่องหนี้เป็นเรื่องของรัฐกับรัฐเคลียร์กันได้

06 ก.ค.2565 - ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(ผู้ว่าฯกทม.) ร่วมประชุมนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. โดยนายชัชชาติเปิดเผยภายหลังประชุม ว่า กทม.และ รฟท. มีความร่วมมือกันหลายเรื่อง เรื่องแรกคือตลาดนัดจตุจักร ซึ่ง กทม.ยังเป็นผู้บริหารตลาดอยู่ แต่มีสัญญาที่ต้องจัดการร่วมกับ รฟท. รวมถึงการวางแผนในอนาคตที่จะทำให้ตลาดนัดจตุจักรเป็นตลาดระดับโลกได้อย่างไร ซึ่งจะมีคณะกรรมการตลาดชุดใหม่หารือร่วมกับ รฟท. อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ สัญญา กทม.เหลือแค่ 6 ปีสุดท้าย จากนั้น รฟท.จะเป็นผู้ดูแลตลาดนัดจตุจักรต่อหรือไม่ ต้องหารือกันเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องด้วย

เรื่องที่ 2 ถนนริมทางรถไฟ อาทิ ถนนกำแพงเพชร เพราะที่ผ่านมาประชาชนมีข้อร้องเรียนสภาพถนนเป็นคลื่น เป็นหลุมบ่อ ซึ่งมีบางส่วนที่ รฟท.ดูแล และบางส่วน กทม.ดูแล ก็จะประสานงานอย่างเข้มข้น เพื่อให้ประชาชนได้รับสะดวกมากขึ้น

นายชัชชาติ กล่าวว่า เรื่องที่ 3 เป็นเรื่องที่ดิน มี 3 ประเด็นที่หารือกับ รฟท. คือ 1.การปลูกต้นไม้ กทม.มีโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น ซึ่ง รฟท.น่าจะมีที่ให้ปลูกได้ โดยเฉพาะตามเส้นทางรถไฟที่พอจะให้ปลูกต้นไม้ได้ อาจจะไม่ใช้พื้นที่มาก แต่ปลูกเป็นแนวกันชุมชนกับทางรถไฟ ให้เกิดร่มเงาสวยงาม และระยะทางไกลทั้งสายเหนือ สายตะวันออก และสายใต้ หรือพื้นที่ รฟท. เองที่ กม.11 ก็สามารถปลูกได้ ซึ่งนายนิรุฒ แจ้งว่าจะเริ่มปลูก 2,000 ต้น โดยจะทำต่อเนื่องในพื้นที่ที่ รฟท. ปลูกต้นไม้อยู่แล้ว

2.เรื่องหาพื้นที่ทำมาหากินให้ประชาชนกลุ่มหาบเร่แผงลอย โดยมีแนวคิดทำตลาดเล็กๆ ที่นำหาบเร่แผงลอยเข้ามา ให้ประชาชนทำมาหากินได้ในราคาไม่แพง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ซึ่ง รฟท. ได้ทำไว้แล้วบริเวณคลองตัน จะพยายามหาความร่วมมือขยายผลต่อไป และ 3.เรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่อาจต้องมีหลายหน่วยงานมาเกี่ยวข้อง ทั้งการเคหะแห่งชาติ รฟท. และ กทม. มีแนวคิดหาพื้นที่ให้ผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงาน โดยจัดหาพื้นที่ทำอาคารเช่า และสามารถทำให้เกิดแหล่งที่อยู่อาศัยที่อยู่ในเมือง เดินทางไม่ไกล ก็จะช่วยเรื่องปัญหาจราจรและช่วยค่าครองชีพของคนรุ่นใหม่ โดยให้เช่าแบบกำหนดระยะเวลา ซึ่งจะหารือกันต่อไป

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการหารือเรื่องของการบริหารจัดการสวนสาธารณะ เช่น สวนรถไฟ ซึ่ง กทม.เป็นผู้บริหารจัดการ ขณะที่ รฟท. ดูแลโครงสร้างพื้นฐาน มีบางส่วนที่ กทม.ต้องปรับปรุง เช่น ทางจักรยาน ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานชุดย่อยในแต่ละเรื่อง ประสานงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน

นายชัชชาติ กล่าวถึงประเด็นเรื่องหนี้กับ รฟท. ว่าไม่ต้องกังวล เป็นเรื่องระหว่างรัฐกับรัฐ เคลียร์กันได้ แค่ตกลงให้ถูกต้องตามสัญญา เรามองไปอนาคตมากกว่า ตอนนี้ตลาดนัดจตุจักรคนเดินน้อย ผู้ค้าไม่มี แต่นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาแล้ว จะกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมียุทธศาสตร์อย่างไรในการวางแผนตลาดนัดจตุจักรในอนาคต เรื่องนี้สำคัญกว่า

“ขอบพระคุณ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เราก็คงมีความร่วมมือกันในทุกๆ ด้านและเห็นผลได้ในเวลาอันใกล้นี้” ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พอช. แจงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากรถไฟทางคู่ 9 จังหวัด ภาคใต้

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.เดินหน้าแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ ทั่วประเทศตาม มติ ครม.14 มีนาคม 2566 ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ

เอาแน่! ‘พท.’ หนุนรัฐบาลเคาะมาตรการที่อยู่อาศัย จี้แบงก์ชาติทำงานเป็นทีม

‘ชนินทร์’ หนุน ซื้อ-สร้าง-ซ่อม ที่อยู่อาศัยกระตุ้นเศรษฐกิจ จี้ ‘แบงค์ชาติ’ ทำงานเป็นทีม เป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า

รฟท.โชว์ขบวนรถไฟท่องเที่ยวสุดหรู “SRT ROYAL BLOSSOM”ปักหมุดเปิดบริการกลางปีนี้

ได้รับความสนใจไม่น้อย หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เปิดวาร์ปรถไฟท่องเที่ยวขบวนใหม่ SRT ROYAL BLOSSOM ที่ดัดแปลงมาจากขบวนรถญี่ปุ่น Hamanasu