'คำนูณ' แนะ 'อนุทิน' เร่งแก้ประกาศ สธ.เรื่องคุมกัญชาเมื่อ 16 มิ.ย.

'คำนูณ' กางข้อกฎหมายสอนรัฐบาล แนะ 'เสี่ยหนู' เร่งแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ก่อนที่จะถูกร้องผิดมาตรา 157 ในเรื่องควบคุมกัญชา

21 ก.ค.2565 - นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์เฟซบุ๊กพร้อมข้อกฎหมายในหัวข้อ “เสี่ยงผิด 157 สธ.ต้องเร่งแก้ประกาศ 16 มิถุนา” ระบุว่า การควบคุมกัญชาสามารถทำได้เต็มที่ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่ได้ทำสภาพ ‘เสรี’ และ ‘สุญญากาศ’ หรือภาษาที่ใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านคือ Legal gab ของกัญชา เคยมีอยู่จริง แต่เป็นช่วงสั้น ๆ แค่ 8 วัน ระหว่างวันที่ 9 - 16 มิถุนายน 2565
เท่านั้น !

เนื่องจากประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 8 มภาพันธ์ 2565 ที่ไม่มีชื่อกัญชาอยู่อีกต่อไป มีผลใช้บังคับในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 แต่นับจากวันที่ 17 มิถุนายน 2556 มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 มีผลใช้บังคับ กัญชาก็มีสถานภาพใหม่เป็น…“สมุนไพรควบคุม”

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้สันนิษฐานได้ไม่ยากว่าเพราะพลันที่เกิดสภาพ ‘เสรี’ แบบช็อกซีเนม่า สังคมและโดยเฉพาะแพทย์และสื่อก็พูดถึงด้านลบของกัญชาเสรีกันอย่างอึงมี่ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจึงหันไปหยิบพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ขึ้นมาใช้ เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างรอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง พ.ศ. … เพื่อให้สังคมสบายใจว่าในระหว่างรอการพิจารณาร่างกฎหมายจากรัฐสภา ก็จะมีการควบคุมกัญชา และคุ้มครองเด็ก เยาวชน สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ผ่านกฎหมายที่มีอยู่ตั้งแต่ปี 2542 ได้ นี่น่าจะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ไม่ได้มีการวางแผนล่วงหน้ากันมาก่อน

โดยที่กฎหมายฉบับนี้ที่ผ่านมามีการใช้น้อยมาก ที่ผ่านมา 23 ปีมีการประกาศ ‘สมุนไพรควบคุม’ เพียงชนิดเดียวเมื่อปี 2559 วัตถุประสงค์หลักก็ไม่ตรงกับกรณีกัญชาที่จะนำมาปรับใช้เสียทีเดียว จึงทำให้มีการตีความกฎหมายที่แตกต่างกันแม้ในแวดวงกระทรวงสาธารณสุขเอง กฎเกณฑ์ในพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 มีมาก และครอบคลุมแทบทุกด้าน

ขอโฟกัสเฉพาะมาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้การกระทำกิจกรรมใด ๆ แทบทุกอย่างต่อสมุนไพรควบคุมทุกชนิด (และ ‘ทุกส่วน’) ต้อง ‘ขออนุญาต’ และมี ‘ใบอนุญาต’ ก่อนจึงจะทำได้ “ห้ามมิให้ผู้ใดศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า เว้นจะได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต” เน้น ๆ นะครับ “ศึกษาวิจัย” “ส่งออก” “จำหน่าย” “แปรรูปเพื่อการค้า” ครอบคลุมแทบทุกกิจกรรม

ขออนุญาตจากใคร ขั้นตอนอย่างไร อ่านมาตรา 46 มีรายละเอียดระบุไว้ในกฎกระทรวง “กฎกระทรวง การอนุญาตให้ศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า พ.ศ. 2559”

ในขั้นนี้รู้หลัก ๆ แต่เพียงว่า ผู้ใดก็ตามจะกระทำกิจการใด ๆ เกี่ยวกับกัญชา ต้องไปขออนุญาตเป็นราย ๆ จากกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข หรือถ้าอยู่ในต่างจังหวัดก็ไปขออนุญาตจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ใบอนุญาตมีอายุ 3 ปี ถ้าไม่ปฏิบัติตาม หมายถึงกระทำกิจการใด ๆ ไปโดยไม่ได้ไปขออนุญาตและมีใบอนุญาตก่อน มีโทษทางอาญาตามมาตรา 78 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน
จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

พวกที่ตั้งแผงขาย หรือเปิดร้านขาย หรือแปรรูปมาผสมในอาหารหรือน้ำดื่ม ด้วยเชื่อว่าทำได้โดย ‘เสรี’ ในมุมมองของผม และในมุมมองล่าสุดของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ถือว่าผิดกฎหมายทั้งนั้น !
ข้อกำหนดที่ต้องให้ผู้ประกอบการต้อง ‘ขออนุญาต’ ตามมาตรา 46 นี้เองที่จะทำให้กระทรวงสาธารณสุขสามารถกำหนดนโยบายและเงื่อนไขต่าง ๆ ขึ้นมาเป็นกรอบได้

แต่ไม่ว่าจะเพราะเกรงว่าการอนุญาตเป็นราย ๆ จะสร้างความโกลาหลอลม่าน และไม่สะท้อนนโยบายปลดปล่อยกัญชาเท่าที่ควร หรือจะเพราะเหตุอื่นใดก็ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 กลับย้อนแย้งกับมาตรา 46 ข้อ 2, 3 และ 4 ที่ขึ้นต้นประโยคด้วยคำว่า ‘อนุญาต’ นั่นแหละ

โดยในข้อ 2 ระบุว่า… “อนุญาตให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไปสามารถครอบครอง ใช้ประโยชน์ ดูแล เก็บรักษา ขนย้าย จำหน่ายสมุนไพรควบคุมตามข้อ 1 ได้ ยกเว้นการกระทำ ดังต่อไปนี้ “(1) การใช้ประโยชน์ในที่สาธารณะโดยการสูบ “(2) การใช้ประโยชน์กับสตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร “(3) การจำหน่ายให้กับบุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์ หรือสตรีให้นมบุตร” ข้อ 3 และ 4 เป็นเรื่อง ‘อนุญาต’ ทางการแพทย์และการรักษาพยาบาล

กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงหลังจากออกประกาศว่านี่คือการออกประกาศอนุญาตให้กับบุคคลทุกคนที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปกระทำกิจกรรมเกี่ยวกับกัญชาได้ โดยมีข้อยกเว้น 3-4 ประการ พูดง่าย ๆ ว่าเป็น ‘อนุญาตรวม’ !

ทั้ง ๆ ที่เห็นได้ชัดเจนว่าตามมาตรา 46 นั้น การอนุญาตมีกฎเกณฑ์กำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ไม่ใช่อำนาจ รัฐมนตรี และไม่ได้มีข้อความตรงไหนเปิดช่องให้มีการอนุญาตรวมได้ มาตรา 46 พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เป็นกฎหมายแม่ มีกฎหมายลูกเป็นกฎกระทรวงปี 2559 กำหนดขั้นตอนปฏิบัติในรายละเอียดไว้ชัดเจน จะใช้ประกาศกระทรวงซึ่งเป็นกฎหมายลำดับรองมา overrule กฎหมายแม่ได้หรือไม่ ? ผมเคยให้ความเห็นส่วนตัวไว้แล้วว่าทำไม่ได้ !

ในเมื่อวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เห็นว่าจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 46 อย่างเคร่งครัด ทั้งที่ปรากฎในเอกสารแถลงข่าวเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ย่อหน้าที่ 3 ทั้งในการให้สัมภาษณ์ของอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกต่อรายการเจาะลึกทั่วไทยอินไซด์ไทยแลนด์เช้าวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 ถึงขนาดระบุว่าจะส่งนิติกรออกไปตรวจสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการจำหน่ายกัญชาในรูปแบบต่าง ๆ กัน และดำเนินการจับกุม ทำไปเถอะครับ ผมเชื่อว่าเดินมาถูกต้องและถูกทางแล้ว โดยต้องแจ้งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตามแนวทางมาตรา 46 นี้ด้วย

แต่ถ้าจะเดินแนวทางนี้ ที่ต้องไม่ลืมทำอีกอย่างหนึ่งคือ…ต้องแก้ไขประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 โดยเร็ว ปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาในข้อ 2, 3 และ 4 เสียใหม่ !
แก้ไขให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อไม่ให้เป็นการ ‘อนุญาตรวม’ ที่ขัดต่อมาตรา 46 และไม่มีกฎหมายรองรับ
เพราะไม่อย่างนั้น ผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 46 จะมีข้อต่อสู้ได้ว่าเขาเข้าใจว่าได้รับอนุญาตรวมเป็นการทั่วไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 16 มิถุนายน 2565 ข้อ 2 แล้ว

และที่หนักไปกว่านั้น ยังเสี่ยงต่อการที่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2565 จะถูกกล่าวหาว่าอาจเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ แก้ไขเสียเถอะครับ

_________

พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/A/120/49.PDF
กฎกระทรวง การอนุญาตให้ศึกษาวิจัยหรือส่งออกสมุนไพรควบคุม หรือจําหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า พ.ศ. 2559
https://www.fda.moph.go.th/.../ministerial-KwaoKrua.PDF
เอกสารแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก เมื่อ 19 กรกฎาคม 2565
https://www.dtam.moph.go.th/.../dtam.../dn0093-20072565.pdf
อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ให้สัมภาษณ์รายการเจาะลึกทั่วไปอินไซด์ไทยแลนด์เมื่อ 20 กรกฎาคม 2565
https://youtu.be/coVG0LOlywU

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เปิดระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวานนี้ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน​กรรม​การ​การเลือกตั้ง​ (กกต.)​ ได้ลงนามในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2567

ประธาน กมธ.พัฒนาสังคมฯ ย้ำจุดยืนไม่ไปดูงาน ตปท.

'ครูหยุย' ย้ำจุดยืน กมธ.การพัฒนาสังคมฯ ไม่ไปดูงาน ตปท. ชี้หากใครไปต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ แนะกำหนดแนวทางให้ชัด เศรษฐกิจแย่ -แจกเงินหมื่น ไม่ให้ไปดูงานต่างประเทศ

'ธนาธร' ปลุกหนักมาก! ชวนลงสมัคร 'สว.ประชาชน' เข้าไปรื้อรัฐธรรมนูญ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า แถลงเปิดตัวแคมเปญ ‘สว.ประชาชน’ ของคณะก้าวหน้า ว่า คณะก้าวหน้าเห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง สว.ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่จะมาถึง จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนให้มาร่วมกันลงสมัคร สว.

สว.2567 เสี่ยงได้ วุฒิสภา สายพรรคการเมือง เชื่อมโยงผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

เข้าสู่ช่วงเตรียมนับถอยหลังใกล้โบกมือลา สิ้นสุดการทำหน้าที่ของ สมาชิกวุฒิสภา ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน ที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. แต่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะมี สว.ชุดใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่