กสม. ชี้ คณะวิจิตรศิลป์ มช. ไม่แจ้งผลการพิจารณาคำขอใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม และขัดขวางไม่ให้นักศึกษาเข้าใช้พื้นที่ในการจัดแสดงผลงานศิลปะ เป็นการละเมิดเสรีภาพทางวิชาการ
19 พ.ค.2566 - นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า จากกรณีนักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ขอใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมเพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะนิพนธ์ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 แต่คณะวิจิตรศิลป์ไม่พิจารณาอนุญาตให้ใช้พื้นที่ และต่อมาคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับนักศึกษาและอาจารย์ที่ร่วมกันเข้าไปในหอศิลปวัฒนธรรมในความผิดฐานร่วมกันบุกรุก กระทั่งพนักงานสอบสวนได้ออกหมายเรียกให้นักศึกษาและอาจารย์เข้ารับทราบข้อกล่าวหา เหตุเกิดระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เห็นว่า การขัดขวางไม่ให้นักศึกษาแสดงผลงานศิลปะในพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม และการแจ้งความดำเนินคดีดังกล่าวอาจขัดต่อหลักเสรีภาพทางวิชาการ จึงมีมติหยิบยกตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ได้รับรองสิทธิของบุคคลที่จะมีความคิดเห็นโดยปราศจากการแทรกแซง และมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงมีเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นทุกประเภทโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน ทั้งนี้ ไม่ว่าด้วยวาจา ลายลักษณ์อักษร หรือการตีพิมพ์ในรูปศิลปะ หรือโดยอาศัยสื่อประการอื่นตามที่ตนเลือก
จากการตรวจสอบปรากฏข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปบัณฑิต สาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ได้มีหนังสือถึงคณะวิจิตรศิลป์เพื่อขอใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมให้นักศึกษาจัดแสดงผลงานและให้อาจารย์ประจำสาขาวิชาตรวจให้คะแนน โดยกำหนดจัดแสดงผลงานระหว่างวันที่ 16 – 22 ตุลาคม 2564 ซึ่งในขั้นตอนการพิจารณาก่อนมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ คณะกรรมการดำเนินงานหอศิลปวัฒนธรรมได้มีหนังสือขอให้นักศึกษาจัดส่งรายละเอียดผลงานศิลปะและเอกสารหลักฐานเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง แต่ยังไม่พิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่ โดยในการขอใช้พื้นที่ของนักศึกษาได้มีการระบุระยะเวลาในการขอใช้พื้นที่ไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งประธานกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปบัณฑิต ได้มีหนังสือสอบถามผลการพิจารณาและขอให้แจ้งผลอย่างเร่งด่วน เพื่อให้นักศึกษาได้จัดเตรียมติดตั้งผลงานให้ทันตามกำหนดระยะเวลา นอกจากนี้ การที่คณะวิจิตรศิลป์ได้ล็อคประตูรั้ว ประตูทางเข้า และตัดน้ำตัดไฟ ส่งผลเป็นการขัดขวางไม่ให้นักศึกษาเข้าไปใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม ทั้งที่เคยเปิดให้อาจารย์และนักศึกษาเข้าไปปฏิบัติงานได้เป็นการทั่วไป จนนำไปสู่เหตุการณ์ที่อาจารย์และนักศึกษาต้องตัดโซ่ล็อคประตูรั้วและประตูทางเข้าเพื่อเข้าไปใช้พื้นที่ และเป็นที่มาของการแจ้งความดำเนินคดีกับอาจารย์และนักศึกษาซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้น การที่คณะวิจิตรศิลป์โดยคณะกรรมการฯ ไม่แจ้งผลการพิจารณาให้นักศึกษาทราบในเวลาอันสมควร และขัดขวางไม่ให้อาจารย์และนักศึกษาเข้าไปใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมในการจัดแสดงผลงานศิลปะ จึงกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการอันเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าท้ายที่สุดนักศึกษาจะสามารถเข้าไปจัดแสดงผลงานศิลปะในหอศิลปวัฒนธรรมและผลการศึกษาผ่านการรับรองจากคณะวิจิตรศิลป์ อันถือได้ว่ามีการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมแล้ว แต่เมื่อพิจารณาขั้นตอนการพิจารณาคำขออนุญาตใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมของคณะวิจิตรศิลป์ การขอใช้พื้นที่ไม่ได้มีการกำหนดรายละเอียดหรือหลักเกณฑ์ให้ผู้ขอใช้พื้นที่ต้องจัดส่งเอกสารหลักฐานประกอบการขออนุญาตไว้ให้ชัดเจน และไม่มีการแจ้งมาตรการว่าหากผู้ยื่นคำขออนุญาตใช้พื้นที่ไม่จัดส่งเอกสารดังกล่าวจะมีผลต่อการพิจารณาอนุญาตอย่างไร รวมทั้งไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาคำขอที่ชัดเจน แต่ให้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการฯ เพียงฝ่ายเดียว จึงอาจทำให้การพิจารณาคำขอล่าช้าไม่สอดคล้องกับช่วงเวลาในการขอใช้พื้นที่ และอาจส่งผลให้มีการใช้ดุลพินิจที่ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ขอใช้พื้นที่เกินความจำเป็น
สำหรับประเด็นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่แจ้งความเพื่อให้ดำเนินคดีกับอาจารย์และนักศึกษาที่ร่วมเข้าไปในพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์นั้น เป็นคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการซึ่งอยู่ในขั้นตอนเรียกหลักฐานเพิ่มเติม หากอาจารย์และนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีเห็นว่าตนเองถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ก็สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ใช้ความระมัดระวังในการใช้ดุลพินิจที่อาจกระทบต่อเสรีภาพทางวิชาการ และให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะวิจิตรศิลป์ปรับแก้ระเบียบ ข้อบังคับ หรือประกาศเกี่ยวกับขั้นตอนในการขอใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมเพื่อจัดแสดงผลงานของนักศึกษา และกำหนดกรอบระยะเวลาในการยื่นคำขอและระยะเวลาในการพิจารณาคำขออนุญาตให้ชัดเจน รวมทั้งให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์ประจำสาขาวิชาและ/หรือนักศึกษาที่ขอใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมได้เข้าชี้แจงหรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการดำเนินงานหอศิลปวัฒนธรรมเพื่อประกอบการพิจารณาคำขอโดยให้คำนึงถึงเสรีภาพทางวิชาการด้วย ทั้งนี้ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบฉบับนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม.ชงนายกฯทบทวนโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรภายในเขตอุทยานฯหวั่นกระทบสิทธิปชช.
กสม. เสนอแนะนายกรัฐมนตรี ขอให้ทบทวนและชะลอพระราชกฤษฎีกาที่เกี่ยวกับโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตอุทยานแห่งชาติ หวั่นกระทบสิทธิของประชาชนในวงกว้าง
กสม.แนะตร.แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีผู้ต้องขังถูกอายัดตัวกว่า 10 ปี
กสม. แนะ ตร. แก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการยุติธรรม กรณีพนักงานสอบสวนไม่ดำเนินคดีอาญาผู้ต้องขังที่ถูกอายัดตัวนานกว่า 10 ปี เสนอเรือนจำงดเว้นการร้องทุกข์ในคดีลหุโทษ
กสม. ประกาศ 9 บุคคลและองค์กร ที่ส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
กสม. ประกาศผลการคัดเลือกผู้ได้รับรางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 - 2567
กสม. ชื่นชมรัฐบาล เร่งรัดกระบวนการกำหนดสถานะบุคคลแก่ผู้ที่ยังมีปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงว่า ตามที่รัฐบาลประกาศเจตนารมณ์ไว้ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยความไร้รัฐ (High-Level Segment on Statelessness) เ
กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่
'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่
กสม. ชี้การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ
กสม. ชี้ การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุการณ์ที่ 'สารวัตรกานต์' เสียชีวิต เป็นการละเมิดสิทธิฯ แนะ ตร. อบรมเสริมความรู้ด้านการบริหารเหตุการณ์วิกฤติ