การปิดท่อก๊าซของรัสเซีย อาจพลิกฟื้นประเด็นพลังงานนิวเคลียร์ในเยอรมนี

จากประเด็นรัสเซียเตรียมปิดท่อส่งก๊าซ ทำให้เกิดการถกเถียงในเยอรมนีว่า ควรยืดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศออกไปหรือไม่ เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์เลวร้ายหากปราศจากก๊าซของรัสเซีย

แฟ้มภาพ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์กุนเดรมิงเกน (Gundremmingen) ทางตอนใต้ของเยอรมนี (Photo by LENNART PREISS / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน 2565 กล่าวว่า หลายฝ่ายในเยอรมนีเริ่มมีการหยิบยกเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศมาหารือกัน เพื่อเตรียมรับมือด้านพลังงานหากรัสเซียปิดท่อส่งก๊าซที่ส่งมายังยุโรปในช่วงฤดูหนาวที่จะถึงนี้

เวโรนิกา กริมม์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลเยอรมนี แสดงความคิดเห็นผ่านสื่อมวลชนว่า การยืดอายุการใช้งานของเครื่องปฏิกรณ์ที่เหลืออยู่ในประเทศ อาจแก้ปัญหาความขาดแคลนพลังงานได้บ้าง หากเกิดเหตุเลวร้ายขึ้นมาจริงๆ เศรษฐกิจของเยอรมันอาจหดตัวถึง 12% เลยทีเดียว

เยอรมนีเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์มาซักระยะแล้ว หลังเหตุภัยพิบัตินิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะของญี่ปุ่นในปี 2554 โดยโรงงานนิวเคลียร์ 3 แห่งสุดท้ายในประเทศ จะปิดตัวลงถาวรปลายปีนี้

แต่การถกเถียงเรื่องการยืดอายุพลังงานนิวเคลียร์ในเยอรมนีได้เปิดฉากขึ้นอีกครั้ง ท่ามกลางความกังวลว่ารัสเซียอาจงดส่งก๊าซมายังยุโรป เพื่อเป็นการตอบโต้ชาติตะวันตกที่ช่วยเหลือและสนับสนุนยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย

เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆในยุโรป เยอรมนีพึ่งพาการนำเข้าพลังงานของรัสเซียจำนวนมากเพื่อบริโภคในประเทศและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ในสัปดาห์นี้ เยอรมนีได้ตัดสินใจเปิดใช้โรงไฟฟ้าถ่านหินอีกครั้ง เพื่อรับมือปริมาณก๊าซที่ลดลงจากรัสเซีย

โฆษกกระทรวงเศรษฐกิจกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อวันพุธว่า การยืดอายุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปนั้น “ไม่ใช่ทางเลือก” ในปัจจุบัน อย่างน้อยก็ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับคำยืนยันของนายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ที่กล่าวก่อนหน้านี้ว่า จะไม่มีการใช้งานโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ด้านฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการกลับมาใช้ถ่านหินอีกครั้งเพราะสร้างความเสียหายต่อสภาพอากาศ ต้องการให้ลองพิจารณาความเป็นไปได้ในการกลับมาใช้พลังงานนิวเคลียร์

แต่หัวเรือใหญ่ของบริษัทพลังงานสัญชาติเยอรมัน RWE ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการ 1 ในเครื่องปฏิกรณ์ที่เหลืออยู่ในกองทัพเรือ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า "ทุกอย่างสายเกินไปแล้ว" ไม่ใช่แค่เพียงประเด็นด้านความปลอดภัยเท่านั้น แต่ปัญหาคือ แท่งเชื้อเพลิงมีอยู่อย่างจำกัดและมีปริมาณแค่เพียงพอให้โรงไฟฟ้าดำเนินการต่อไปได้จนถึงสิ้นปีเท่านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

องค์กรในซีเรียเรียกร้องต่อรัฐบาลรัสเซีย ให้กดดัน 'อัสซาด' เปิดเผยที่ตั้งเรือนจำลับ

องค์กรคุ้มครองพลเรือนซีเรีย ‘หมวกขาว’ เรียกร้องให้มอสโกกดดัน บาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งมีรายงานว่าได้หลบหนีไปรัสเซีย เปิดเผยสถานที่คุมขั