ไฟไหม้ในซินเจียงกระตุ้นความโกรธสาธารณชนต่อนโยบายปลอดโควิดของจีน

ไฟไหม้รุนแรงในเขตซินเจียงทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนได้กระตุ้นความโกรธแค้นต่อนโยบายปลอดโควิดของประเทศ ขณะที่ประชาชนจีนเริ่มเหนื่อยล้าและหมดความอดทนมากขึ้นจากแนวทางที่เข้มงวดในการควบคุมโควิด

แฟ้มภาพ พนักงานโรงงานฟ็อกซ์คอนน์ในเมืองเจิ้งโจวปะทะกับตำรวจปราบจลาจลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควบคุมโควิดในชุดปลอดเชื้อ หลังพนักงานหลายร้อยคนออกมาเดินขบวนประท้วงร้องเรียนเกี่ยวกับค่าจ้างและสภาพแวดล้อมในการทำงาน เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน (Photo by AFPTV TEAMS / ESN / STILL SALTY / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2565 กล่าวว่า เกิดเหตุไฟไหม้อาคารที่พักอาศัยในเมืองอูรุมชี เมืองหลวงของเขตปกครองตนเองซินเจียง ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเมื่อคืนวันพฤหัสบดี ทำให้มีผู้เสียชีวิต 10 ราย และบาดเจ็บ 9 คน

มีรายงานว่า ความช่วยเหลือที่ไม่ทันท่วงทีเพราะมาตรการล็อกดาวน์อย่างยาวนานตามนโยบายปลอดโควิด เป็นอุปสรรคต่อการเข้าพื้นที่เพื่อกู้ภัยและช่วยเหลือทั้งรถดับเพลิงและรถพยาบาล จนหลังจากนั้นผู้คนจำนวนมากออกมาเดินขบวนในเมืองอูรุมชีเพื่อประท้วงมาตรการโควิด พร้อมตะโกนว่า "เลิกล็อกดาวน์ !" ก่อนที่จะเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ที่สวมชุดป้องกันเชื้อและตำหนิเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วยความโกรธ ทั้งนี้เมืองอูรุมชีมีประชากร 4 ล้านคน และอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ให้อยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานานหลายสัปดาห์

นโยบายปลอดโควิดและการล็อกดาวน์อย่างต่อเนื่องสร้างความคับข้องใจต่อสาธารณชนที่มีต่อแนวทางการบริหารของรัฐบาล และตามมาด้วยการประท้วงในหลายๆเมืองเพิ่มมากขึ้น

จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่แห่งเดียวที่ยังดำเนินกลยุทธ์มุ่งเน้นการปลอดโควิด โดยทางการใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างรวดเร็ว, การกักตัวที่ยาวนาน และการทดสอบหาเชื้อจำนวนมากเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดใหม่ทุกครั้ง

ความเหนื่อยล้าจากมาตรการรับมือโรคโควิดทวีความรุนแรงมากขึ้นในจีน โดยเหตุประท้วงรุนแรงปะทุขึ้นล่าสุดที่โรงงานฟ็อกซ์คอนน์ในเมืองเจิ้งโจวในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เนื่องจากความขัดแย้งเรื่องค่าจ้างและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

จีนรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 34,909 รายเมื่อวันเสาร์ โดยส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ปานปรีย์' แจงปมกักตัวชาวอุยกูร์ 40 คน ยังอยู่ในขั้นตอนกฎหมาย ไม่เกี่ยวเกรงกลัวจีน

นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีชาวอุยกูร์ที่ยังอยู่ในสถานกักกันกว่า 40 คน ว่า การเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายก็ดำเนินการตามกฎหมายของไทย เข้าใจว่าขั้นตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการของกฎหมาย